แม่พระ (The Virgin of Mary)
พระนาม มารีย์ อาจมีความหมายได้ 3 ประการ ดังต่อไปนี้
1. มารีอา ภาษาฮีบรู แปลว่า ดาวทะเล หรือ ดาราสมุทร
2. มารีอา ภาษาซีเรียน แปลว่า คุณนาย (Our Lady, Notre Dame, Ma (Mia) Donna)
3. มารีอา ภาษาอียิปต์ แปลว่า ผู้ที่พระเจ้าทรงรัก โปรดปราน ในสมัยพระเยซูเจ้ามีผู้ตั้งชื่อนี้กันมาก พี่สาวของโมเสส (มีเรียม = มารีอา) สมัยชาวอิสราเอล ตกเป็นทาสของชาวอียิปต์ ตำแหน่งหรือเกียรติที่คริสตชนนิยมถวายแด่พระนางมารีย์ คือ ตำแหน่ง พระแม่ – พระมารดา เป็นตำแหน่งที่มีระบุไว้ในพระวรสารตอนที่พระเยซูเจ้าคริสต์เจ้าก่อนสิ้นพระชนม์ได้มอบยอห์นให้เป็นลูก และให้พระนางมารีย์เป็นแม่ (เทียบ ยน.19:26-27)
นับตั้งแต่สมัยพระสันตะปาปาซิกส์โตที่ 4 ในศตวรรษที่ 15 เรื่อยมา คำสอนเกี่ยวกับพระแม่มารีย์มารดาของชาวเราได้รับการอธิบายและเน้นเด่นชัด
พระแม่เป็นมารดาของชาวเราในความหมาย 3 อย่าง ดังต่อไปนี้
1) ความหมายเปรียบเทียบ พระนางมารีย์ทำตนเหมือนแม่ ภาวนาวอนขอพระหรรษทานเพื่อลูก
2) ความหมายเป็นแม่เลี้ยงหรือแม่บุญธรรม เพราะพระเยซูเจ้าคริสต์เจ้าทรงยกให้เป็นแม่ของชาวเรา
3) ความหมายเป็นแม่จริงๆ คือ ถ่ายทอดชีวิตฝ่ายวิญญาณให้เรา โดยการให้กำเนิดชีวิตเหนือธรรมชาติ (เป็นผู้ร่วมไถ่บาป)
- แม่พระ เป็นตำแหน่งคู่กับตำแหน่ง พระแม่ สังคายนาเอเฟซัส (ค.ศ.431) ประกาศว่า พระนางมารีย์ทรงเป็น มารดาพระเจ้า (Theotokos-Mater Dei) หมายความว่าพระเยซูเจ้าซึ่งเป็นพระบุตรของพระแม่มารีย์ทรงเป็นทั้งหมุษย์แท้และพระเจ้าแท้ พระแม่มารีย์ซึ่งเป็นมารดาของ พระเยซูเจ้าทั้งครบ ก็ย่อมได้รับสมญานามว่า มารดาพระเจ้า โดยปริยาย
- พระนางพรหมจารี เป็นตำแหน่งสำคัญอีกตำแหน่งหนึ่งของพระแม่มารีย์ ในวัฒนธรรมยิว-คริสต์ พรหมจารีหมายถึงบุคคลหรือกลุ่มชนที่ถวายตัวแด่พระเจ้า และยืนหยัดสัตย์ซื่อต่อพระองค์ คนหนึ่งเป็นพรหมจรรย์หรือพรหมจารีต้องเป็นผู้รักษาความบริสุทธิ์ทางกายทั้งครบ เพื่อเป็นเครื่องหมายความสัตย์ซื่อ และการถวายตัวแด่พระเจ้าจริง การถวาย ตัวเป็นพรหมจารีเช่นนี้ทำให้พระนางมารีย์เป็นทั้งพรหมจารีและมารดา เพราะความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าเช่นนี้ ทำให้เกิด ความสมบูรณ์ทางวิญญาณ
พระคุณพิเศษที่พระแม่มารีย์ได้รับจากพระเจ้าเหนือมนุษย์ ใดๆ คือ การปฏิสนธินิรมล เทวดากาเบรียลยืนยันพระคุณนี้ โดยการทักทาย พระนางว่า วันทามารีย์ เปี่ยมด้วยหรรษทาน สันตะปาปาปีโอที่ 9 ทรงประกาศเป็นข้อความเชื่อในสมณสาสน์ Ineffabilis Deus เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.1854
- พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ได้ทรงประกาศ “พระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ” เป็นข้อความเชื่อทางสมณสาสน์ Munificentissimus Deus เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1950 ว่า พระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ
ความศรัทธาต่อแม่พระเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยอัครสาวก ผู้นิพนธ์พระวรสารยกย่องพระแม่มารีย์ เช่น นักบุญลูกา(ลก.1:43, 11:28) นักบุญมาร์โก (มก.3:35) นักบุญยอห์น (ยน.2:1-12) นักบุญเปาโล (กท.4:4)
ในศตวรรษที่ 2 พูดถึงพระแม่มารีย์ว่าเป็นเอวาใหม่ หลังจากประกาศข้อความเชื่อว่า “พระนางเป็นมารดาพระเจ้าที่เมืองเอเฟซัส” (ค.ศ.431) ความศรัทธาต่อพระแม่มารีย์ได้แผ่วงกว้างไกลยิ่งขึ้น มีวัดถวายแด่พระแม่
มารีย์มากมาย เช่น วิหาร St.Mary Major กรุงโรม
มีบทภาวนาต่าง ๆ สรรเสริญแม่พระ เช่น Ave Mari Stella, Salve Regina บทวันทามารีอาเริ่มมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 6
ในศตวรรษที่ 7 พระศาสนจักรตะวันตกเริ่มรับเอาการฉลองอื่น ๆ เกี่ยวกับพระนางมารีย์ ซึ่งพระศาสนจักรทางตะวันออกมีอยู่ก่อนแล้ว
ทั้งนี้เพราะพระสันตะปาปาในช่วงนั้นคือ Theodore I และ Sergius I เป็นชาวกรีก วันฉลองเหล่านี้ได้แก่
1) ฉลองการถวายพระกุมารในพระวิหาร (ชื่อเดิม-แม่พระถือศีลชำระ)
2) สมโภชการแจ้งสารเรื่องพระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์ (ชื่อเดิม-แม่พระรับสาร)
3) วันสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ
4) พระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระนางมารีย์พรหมจารี (แม่พระทรงบังเกิด)
สังคายนาวาติกันที่ 2 ได้ปรับปรุงความศรัทธาต่อพระแม่มารีย์ตามหลักเทววิทยาเสียใหม่
หลักสำคัญที่สุด คือ การที่พระนางทรงเป็นมารดาของ พระเยซูเจ้าคริสตเจ้า มารดาพระเจ้า และมารดาของชาวเรา
ความศรัทธาต่อแม่พระแสดงออกได้หลายวิธี ได้แก่
1) การแสดงเคารพนับถือพระนาง
2) การวิงวอนขอพระนาง
3) การเลียนแบบอย่างพระนาง
4. การสวดบทวันทามารีอา และการภาวนาวอนขอสิ่งที่จำเป็น
5. การสวดสายประคำ
6. การทำนพวารพระมารดานิจจานุเคราะห์
7. การแห่พระรูปพระนางพรหมจารีมารีย์
8.การประพฤติตนเลียนแบบฤทธิ์กุศลของพระนางพรหมจารีมารีย์ เช่น ความสุภาพถ่อมตน ความเชื่อ ความไว้ใจ และความรักที่มีต่อพระเจ้า
อนึ่ง ความศรัทธาต่อพระแม่มารีย์ มิใช่การนมัสการ เพราะการนมัสการเราใช้กับพระเจ้าเท่านั้น
เราเคารพนับถือพระแม่มารีย์เป็นพิเศษ เหนือนักบุญและเทวดาเท่านั้น
ประวัติพระนางมารีย์
พระนางมารีย์เป็นธิดาของนักบุญยออากิมและนักบุญอันนา พระนางเกิดมาโดยไม่มีบาปกำเนิดติดตัวมา เมื่อพระนางอายุ 3 ปี บิดามารดานำไปถวายตัวรับใช้พระเจ้าในพระวิหาร พระนางตั้งใจถวายตัวรับใช้พระเจ้าตลอดชีวิต ต่อมา เข้าพิธีหมั้นกับท่านนักบุญ
โยเซฟ
ขณะที่พระนางเป็นคู่หมั้นกับนักบุญโยเซฟ อัครเทวดากาเบรียลได้มาแจ้งแก่พระนางว่า ให้ตั้งชื่อว่า "เยซู" พระองค์จะปกครองอาณาจักรที่ไม่สิ้นสุด" เทวดากล่าวว่าพระนางจะทรงครรภ์ด้วยอิทธิฤทธิ์ของพระจิตเจ้า ทันที่พระนางตอบ "ตกลง"(Fiat)
พระวจนาตถ์ (พระบุตรพระเจ้า) ก็ทรงรับสภาพมนุษย์และเสด็จมาประทับอยู่ท่ามกลางมนุษย์ (ยน. 1.14) แม้ว่าพระนางมารีย์ทรงครรภ์ก็ยังเดินทางไปช่วยเหลือนักบุญเอลิซาเบ็ธที่ตั้งครรภ์ 6 เดือน
แม่พระเป็นแม่บ้าน พระเยซูเจ้าช่วยนักบุญโยเซฟและพระนางมารีย์ทำงานบ้านและสวดภาวนา ต่อมานักบุญโยเซฟสิ้นใจ พระเยซูเจ้าทรงอยู่กับแม่พระเป็นเวลา 30 ปี จึงทรงจากบ้านเพื่อเทศนาถึงพระอาณาจักรของพระเจ้า
เมื่อพระเยซูเจ้าทรงดำเนินชีวิตสาธารณะ ออกเทศน์สอนประชาชน พระนางมารีย์ได้ติดตามพระองค์พร้อมกับบรรดาอัครสาวก (มก. 3.31) ร่วมแผนการไถ่กู้มนุษยชาติให้รอดพ้นจากความตายนิรันดรหรือเอาตัวรอดไปสวรรค์ด้วย เช่น งานเลี้ยงสมรสที่หมู่บ้านคานาในแคว้นกาลิลี พระนางมารีย์ขอร้องให้พระองค์ทรงกระเครื่องหมายอัศจรรย์ครั้งแรก (ยน. 2.1-12)
พระนางมารีย์ทรงอยู่แทบเชิงไม้กางเขน ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงกับกางเขน พระเยซูเจ้าได้มอบพระนางให้เป็นมารดาของมนุษยชาติโดยมีนักบุญยอห์นเป็นตัวแทน และทรงมอบมนุษยชาติให้แก่พระนาง ดังนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์แล้ว นักบุญยอห์นจึงรับพระนางไปอยู่ที่บ้านของตน (ยน.19.25-27)
เมื่อพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ ทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระนางมารีย์ บรรดาสตรีใจศรัทธาอยู่กับอัครสาวก ร่วมภาวนาเพื่อรอคอยการเสด็จมาของพระจิต (กจ. 1.4) พระศาสนจักรได้เริ่มต้น ณ เวลานั้น ก่อนที่สาวกแยกย้ายกันไปประกาศพระวรสาร พระนางได้สิ้นใจ ได้รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ เป็นการยืนยันว่า พระเจ้าทรงพอพระทัยในพระแม่มารีย์และพระนางมารีย์เหนือมนุษย์ทุกคน พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ได้ประกาศข้อความเชื่อนี้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 1950 และพระศาสนจักรให้ทำการสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ" ทุกวันที่ 15 สิงหาคมของทุกปี
พระนางได้ประจักษ์ในสถานที่ต่างๆในโลก (ที่เมืองลูร์ด ค.ศ 1858 (เพื่อให้กำลังใจคริสตชนในยุควัตถุนิยม) ที่ฟาติมา ประเทศโปรตุเกส ค.ศ 1917 (หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เพียง 1 ปี เพื่อให้ชาวรัสเซียกลับใจ) และที่อื่นๆมากมาย เตือนให้ชาวคาทอลิกสวดสายประคำ ทำพลีกรรม เพื่อให้คนบาปกลับใจและเพื่อคลี่คลายวิกฤตของเหตุการณ์ของโลก
พระนางยังทรงรัก เมตตาและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่วอนขอพระนางให้วิงวอนต่อพระเจ้า
หลังจากนั้น ได้มีองค์กรของพระศาสนจักรที่แสดงความศรัทธาภักดีต่อพระนาง เช่น คณะพลมารี (Legio Mariae) คณะบลูอาร์มี เป็นต้น นอกจากนี้ คณะพระสงฆ์และคณะนักบวช และวัดต่างๆทั่วโลกได้นำพระนามของพระนางเป็นชื่อของคณะและเป็นองค์อุปถัมภ์
วันสมโภชที่เกี่ยวกับพระนางพรหมจารีมารีย์ ได้แก่
วันที่ 1 มกราคม วันสมโภชพระนางมารีย์ พระชนนีพระเจ้า
วันที่ 15 สิงหาคม วันสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่ สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ
วันที่ 8 ธันวาคม วันสมโภชพระนางมารย์ผู้ปฏิสนธินิรมล
เดือนแม่พระ ได้แก่ เดือนพฤษภาคม เดือนมิถุนายน (เดือนแห่งดวงพระทัยของแม่พระ) เดือนตุลาคม (เดือนแห่งแม่พระลูกประคำ)
การแสดงความศรัทธาภักดีต่อพระนางพรหมจารีมารีย์
1. การสวดบทวันทามารีอา และการภาวนาวอนขอสิ่งที่จำเป็น
2. การสวดสายประคำ
3. การทำนพวารพระมารดานิจจานุเคราะห์
4. การแห่พระรูปพระนางพรหมจารีมารีย์
5. การประพฤติตนเลียนแบบฤทธิ์กุศลของพระนางพรหมจารีมารีย์