แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

นักบุญเปาโล (St.Paul)
    นักบุญเปาโลเป็นอัครสาวกแห่งพระศาสนจักรที่มีความโดดเด่นด้วยข้อเขียนมากมายของท่าน  ชีวิต,การกลับใจ,คำสอนและงานธรรมทูตของท่านทำให้ท่านเป็นอัครสาวกที่มีลักษณะเฉพาะตัวและสมควรกับคำเรียกขานว่า “อัครสาวกของคนต่างศาสนา”(Apostle of the Gentiles)

    เปาโลเกิดที่เมืองทาร์ซัส (เทียบ กจ. 9:11)  ประมาณปี ก.ค.ศ. 5  บิดามารดาเป็นชาวยิวที่ศรัทธาและเข้มงวดในพิธีการที่กฎข้อบังคับทางศาสนากำหนด ตามฐานะสมาชิกของตระกูลเบนยามิน (รม. 11:1) จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า เหตุใดจึงตั้งชื่อบุตรว่า “เซาโล” ตามกษัตริย์พระองค์แรกของชาวอิสราเอล (คือ “ซาอูล” )  แม้บางทีจะมีการอ้างว่า เปาโลได้เปลี่ยนชื่อของตนเองขณะที่ท่านได้เริ่มงานธรรมทูตท่ามกลางคนต่างศาสนา  แต่เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติสำหรับคนหนุ่มคนสาวชาวยิวที่จะมีชื่อทั้งในภาษาฮีบรูและในภาษาโรมันหรือกรีก  เพราะชาติทั้งสองมีอิทธิพลต่อชีวิตของชาวยิวในสมัยนั้น
    บิดามารดาของเปาโลเป็นชาวฟาริสี (กจ. 26:4-5; กจ. 23:6)  ท่านจึงได้รับการอบรมให้มีชีวิตตามธรรมบัญญัติ (ฟป. 3:5)  อย่างไรก็ตามบิดามารดาของท่านยังได้เป็นพลเมืองของโรมันจึงทำให้ท่านทั้งสองมีสถานะที่ไม่เหมือนชาวฮีบรูคนอื่นๆ ดังที่ซิเซโล(Cicero) นักเขียนท่านหนึ่งกล่าวว่า “ถ้าพลเมืองโรมันคนหนึ่งถูกผูกมัด สิ่งนี้เป็นการกระทำผิด,  ถ้าเขาถูกตี สิ่งนี้เป็นอาชกรรม,  และถ้าเขาถูกฆ่าตาย สิ่งนี้ก็เลวร้ายเท่าๆกับการฆ่าบิดาของคนๆ หนึ่ง”  ดังนั้น เปาโลจึงไม่สามารถถูกเฆี่ยนได้(กจ. 16:35-40; 22:24-29)  เขาสามารถถือสิทธิที่จะได้รับการปกป้องจากผู้มีอำนาจแห่งอาณาจักรโรมัน(กจ. 23:27)  และถ้าเขาถูกนำตัวขึ้นศาลใดๆในอาณาจักรโรมัน  เขาก็สามารถอุธรณ์ไปยังศาลสูงในกรุงโรมได้(กจ. 25:10-12)
    ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เปาโลได้มากรุงเยรูซาเล็มเพื่อการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นซึ่งบางทีอาจจะเป็นช่วงที่มีอายุ 15 ปี   ท่านได้เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียงอย่างมากในเวลานั้นคือ กามาลิเอล (Gamaliel) เป็นผู้คงแก่เรียนและมีทัศนคติกว้างไกล   ทั้งยังเป็นผู้หนึ่งที่มีความเป็นธรรมต่อคริสตชน (กจ. 5:33-39)   แน่นอนว่า การศึกษาของเปาโลก็ได้รับอิทธิพลบางอย่างจากชุมชนกรีก (เทียบ กจ. 21:37; 22:2)  และเนื่องจากภาษากรีกเป็นภาษาที่ใช้พูดกันทั่วไป  เปาโลจึงมีความเชี่ยวชาญในภาษากรีกอีกภาษาหนึ่งด้วย
    เปาโลเป็นบุคคลที่มีส่วนในการเบียดเบียนพระศาสนจักร  ท่านเป็นผู้เห็นชอบกับการตายของสเทเฟน (เทียบ กจ. 7:56-60) และกระทำการเบียดเบียนอย่างจริงจังด้วย (เทียบ กจ. 8:1-3)
    เปาโลพบกับพระคริสตเจ้าครั้งแรกบนถนนที่จะไปเมืองดามัสกัส ซึ่งเขาได้เดินทางไปเพื่อจับกุมผู้ติดตามวิถีใหม่  และที่นี่เองพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ให้เปาโลได้ประจักษ์ ดังที่ท่านได้เขียนไว้ว่า “พระเจ้าผู้ตรัสว่า ‘ให้แสงสว่างออกมาจากความมืด’ ก็เป็นผู้ทรงฉายแสงเข้าสู่จิตใจของเรา   เพื่อส่องสว่างให้เรามีความรู้ถึงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า   พระสิริรุ่งโรจน์นี้ปรากฏอยู่บนพระพักตร์ของพระคริสตเจ้า” (2 คร. 4:5-6) (เทียบ กจ. 9:1-23; 22:1-21; 26:1-19)
    หลังจากที่ท่านได้เห็นภาพระหว่างทางที่จะไปเมืองดามัสกัสนั้น  ท่านได้เข้าไปในเมืองและรับพิธีล้างบาปจากอานาเนีย (กจ. 9:10-19)  และเมืองนี้ก็ได้เป็นเมืองที่ท่านเริ่มการสั่งสอนของท่าน 
    อัครสาวกท่านนี้มีธุรกิจการค้าหนึ่งคือ การทำกระโจม (กจ. 18:3)  แต่ท่านมิใช่ผู้มีความชำนาญในการทำกระโจมธรรมดาๆ  ความสามารถในอาชีพของท่านนั้นทำให้ท่านสามารถไปทำงานได้ในหลายสถานที่และรักษาชีวิตของตนไว้ได้ (กจ. 20:30-35)  เพราะท่านสามารถพึ่งตนได้นั่นเอง  เปาโลจึงสามารถรับผิดชอบงานธรรมทูตของตนในหลายพื้นที่ที่ไม่มีคริสตชนคนใดจะสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือท่านได้  จนกระทั่งท่านสามารถทำงานของท่านสำเร็จสมความตั้งใจท่ามกลางบรรดาผู้คนในท้องถิ่นนั้น   ในการเดินทางทั้งหมด เปาโลได้เดินทางเพื่อการแพร่ธรรมครั้งสำคัญ 3 ครั้ง รอบๆดินแดนฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และครั้งที่ 4 นั้นนำท่านเดินทางไปยังกรุงโรมในปี ค.ศ.67.  ท่านได้ถูกตัดศีรษะตามรูปแบบการลงโทษสูงสุดเพียงอย่างเดียวที่อาณาจักรโรมันอนุญาตให้กระทำกับพลเมืองของตน