แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พระดำรัสก่อนสิ้นพระชนม์
easter4    พระดำรัสสุดท้ายของพระเยซูเจ้ามีความสำคัญมาก ขณะที่พระองค์ถูกตรึงบนไม้กางเขน ท่ามกลางความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส
    พระเยซูเจ้าตรัสกับใครบ้าง
    1. พระเยซูเจ้าตรัสกับพระบิดา เพื่อทูลขอการยกโทษแก่คนที่ทำผิดต่อพระองค์ (ลก 23:34) และทรงฝากจิตวิญญาณไว้กับพระเจ้า (ลก 23:46)
    2. พระเยซูเจ้าตรัสกับโจรที่ถูกตรึงพร้อมกับพระองค์ (ลก 23:43)
    3. พระเยซูเจ้าตรัสกับพระมารดาและสาวกของพระองค์ (ยน 19:27)
    4. พระเยซูเจ้าตรัสกับทหารโรมัน (ยน 19:28)
    5. พระเยซูเจ้าตรัสกับพระองค์เอง

เจ็ดประโยคสำคัญ
    ขณะที่พระเยซูคริสต์ถูกตรึงบนไม้กางเขน พระองค์ตรัสประโยคสำคัญ ซึ่งถือว่าเป็นสุดยอดแห่งพระวาจา
1. การยกโทษให้แก่ศัตรู
    แม้ถูกใส่ร้ายป้ายสี ตบหน้า ถ่มน้ำลายรดพระพักตร์ ถูกเฆี่ยน ถูกทรมาน ถูกตรึงบนไม้กางเขน พระเยซูเจ้าตรัสว่า “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” (ลก 23:34)
2. พระสัญญา
    ขณะถูกตรึงบนไม้กางเขน โจรคนหนึ่งหมิ่นประมาท แต่อีกคนหนึ่งขอรับการยกโทษบาป พระเยซูเจ้าทรงสัญญาว่า “วันนี้ ท่านจะอยู่กับเราในเมืองสวรรค์” (ลก 23:43) โจรคนแรกเป็นผู้ร้ายไม่สำนึกบาปและเยาะเย้ยคนอื่น แต่คนที่สองสำนึกผิดกลับใจใหม่
3. พระดำรัสต่อพระมารดาและสาวก
    พระเยซูเจ้าตรัสแก่พระมารดาว่า “นี่คือบุตรของท่าน” (ยน 19:26-27) พระองค์ทรงมอบมนุษย์ไว้ในความดูแลของพระมารดา
4. ทูลต่อพระบิดา
    “พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า เหตุไฉนจึงทอดทิ้งข้าพระองค์เสีย” (มธ 27:45-46)
5. ตรัสกับทหารโรมัน
    พระเยซูเจ้าตรัสกับทหารโรมันว่า “เรากระหายน้ำ” (ยน 19:28) แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นมนุษย์แท้จริง พระเยซูทรงมีความรู้สึกเดียวกันกับเราทุกอย่าง ดังนั้น พระเยซูจึงทรงเข้าใจปัญหาของเรา
6. ตรัสกับพระองค์เอง
    “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” (ยน 19:30) คำตรัสนี้มีความหมายสองประการคือ การไถ่โทษบาปของมนุษย์สำเร็จแล้ว และการเสด็จมาในฐานะพระเมสสิยาห์ได้สำเร็จครบถ้วน
7. ตรัสมอบวิญญาณจิต
    “พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้ามอบจิตของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์” (ลก 23:46) เมื่อพระองค์ทรงมอบจิตไว้กับพระเจ้า เราทั้งหลายก็ควรต้องมอบจิตวิญญาณของเราไว้กับพระเจ้าด้วย

ที่มา: นิตยสารแม่พระยุคใหม่ ฉบับที่ 211