แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

    เทศกาลมหาพรตเริ่มต้นในวันพุธรับเถ้า ซึ่งการรับเถ้าเป็นประเพณีที่พระศาสนจักรรับมาจากศาสนายิว    การรับเถ้าเป็นเครื่องหมายของการเป็นทุกข์ถึงบาปและความตั้งใจที่จะกลับใจใหม่
    กิจกรรมพิเศษที่เป็นแนวทางการปฏิบัติในเทศกาลมหาพรตนี้โดยเฉพาะ ก็ได้แก่ กิจกรรมสามประการที่พระเยซูพูดถึงในพระวรสาร และคริสตชนก็ก็ปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยแรกซึ่งได้แก่ การอดอาหาร (มธ 6 : 16-18) การทำบุญ (มธ 6 : 2-4) และการภาวนา (มธ 6 : 5-15)

3.1 การอดอาหาร        การอดอาหารดูเหมือนกับเป็นประเพณีโบราณซึ่งปฏิบัติได้ยาก ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรตรงไหน    การที่ฉันจะหิวก็ไม่เห็นจะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ทั้งสิ้น ทำไมจะต้องอดอาหาร
        เราเห็นได้จากพระคัมภีร์ว่า การอดอาหารนั้นควบคู่ไปกับการภาวนาเสมอ เช่น เวลาที่บรรดาคริสตชนเมืองอันทิโอกเลือกเปาโลและบารนาบัส  เพื่อส่งไปประกาศข่าวดีในต่างๆ นั้น    เขาได้อดอาหารและอธิษฐานร่วมกัน (กจ 13 : 1-3)    และอีกต่อหนึ่ง เวลาที่เปาโลและบารนาบัสไปเยี่ยมกลุ่มคริสตชนในที่ต่างๆ    เขาได้เลือกผู้นำกลุ่มนั้นหลังจากได้ภาวนาและอดอาหารแล้ว (กจ 14 : 23)    เช่นนั้น เราก็เห็นได้ชัดว่าการอดอาหารนี้เป็นวิธีการภาวนาอย่างจริงจังวิธีหนึ่ง ซึ่งพระเยซูและคริสตชนสมัยแรกปฏิบัติกันเป็นเรื่องธรรมดา
    นอกจากนั้น การอดอาหารหรือ อดสิ่งจำเป็นเล็กน้อยในชีวิตก็เป็นการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพี่น้องของเราที่กำลังอดอยาก ขาดอาหารบริโภค ขาดความสะดวกสบายที่จำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์    การอดอาหารของเรานี้จะเปรียบก็เสมือนเป็นการประท้วงโดยสันติวิธีถึงความยุติธรรมที่พี่น้องของเรากำลังประสบอยู่และเป็นการแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับเขาในความลำบากของเขา
    พระเยซูเคยเตือนศิษย์ของพระองค์ว่า เวลาที่อดอาหารไม่ควรจะอวดตัว หรือ แสดงออกให้คนอื่นชม    เพราะนั่นเป็นปัญหาที่คนในสมัยของพระองค์มี แต่ในสมัยนี้ เราอยู่ในสังคมบริโภค    สังคมที่บางคนมีสิ่งของเกินความจำเป็นมากมาย และได้รับการเร้าใจให้สะสมสิ่งของฟุ่มเฟือยมากขึ้น    ในขณะที่ 1 ใน 3 ของมนุษย์ยังไม่มีอาหารพอกิน    เรามีส่วนใน “บาปสังคม” คือ เราเป็นส่วนของสังคมที่ไม่ยุติธรรม การจำศีลอดอาหารเป็นการยอมรับผิดว่าเรามีส่วนรับผิดชอบในความอยุติธรรมนี้ และเราจะต้องเปลี่ยนค่านิยมและวิธีการดำเนินชีวิตของเราใหม่    แม้แต่วิธีการใช้เงินทองของเรา เพื่อมิให้คนอื่นจะได้มีโอกาสเป็นมนุษย์ที่ครบครันมากยิ่งขึ้น
    สมัยก่อนเราเคยเน้นถึงการอดอาหารเป็นพิเศษว่า อาหารประเภทไหนที่กินได้ และอาหารที่ห้ามในวันใดบ้าง    สมัยนี้พระศาสนจักรในประเทศไทยกำหนดให้ถือการอดอาหารและอดเนื้อเพียงแค่ 2 วันในรอบปี คือ วันพุธรับเถ้า และวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์    ซึ่งการถืออดอาหารนี้จะทำได้ง่ายโดยรับประทานอาหารมื้อหนึ่งอย่างเต็มที่และตัดปริมาณอาหารอีก 2 มื้อลงโดยรับประทานเพียงเล็กน้อยและไม่บริโภคเนื้อ    และกฎอดอาหารนี้บังคับเฉพาะผู้ที่เป็นผู้ใหญ่เท่านั้น คือ ผู้ที่มีอายุครบตั้งแต่ 18 ปีเต็มจนถึงที่มีอายุครบ 59 ปีเต็ม    แต่การอดเนื้อบังคับทุกคนตั้งแต่อายุครบ 14 ปีขึ้นไป เหล่านี้เป็นเรื่องของกฎ
    แต่กฎนี้เป็นเกณฑ์ที่ต่ำสุดซึ่งจุดประสงค์ก็เพียงให้เราเสียสละบ้างเล็กน้อย แต่สำหรับพวกเราที่ต้องการดำเนินชีวิตตามแนวทางของพระเยซูนั้น จะต้องทำมากกว่าที่กฎเกณฑ์กำหนดนั้นมากขึ้นอีก    คือ การอดอาหารในเทศกาลมหาพรตนี้จะต้องปฏิบัติโดยการอดสิ่งต่างๆ ที่เราติดใจ อาจเป็นการงดซื้อของฟุ่มเฟือย งดซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย งดดูหนัง สูบบุหรี่ และที่สำคัญที่สุด คือ อดใจไม่ทำบาป    การกระทำเช่นนี้ควรจะกระทำด้วยใจร่าเริงและชื่นบานตามที่พระเยซูได้แนะนำ (มธ 6 : 16-18)
3.2 ทำบุญ        คนไทยเป็นกลุ่มคนที่ศรัทธาทำบุญมากเป็นพิเศษ ตามการค้นคว้าของนักสังคมศาสตร์บางคนสรุปว่า คนไทยทำบุญเฉลี่ยแล้วเป็นเงิน13% ของเงินเดือนต่อคน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนสูงมาก    เราคริสตชนทำบุญก็เพื่อแบ่งปันกับคนที่อดอยากซึ่งสิ่งที่เราจะแบ่งปันได้ง่ายที่สุดก็คือ เงินทอง    สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา จัดการรณรงค์ในเทศกาลมหาพรตเป็นประจำทุกปี และเอาเงินที่เราทำบุญบริจาคนั้นไปเป็นทุนฉุกเฉินสำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั่วประเทศ และใช้เพื่อส่งเสริมโครงการพัฒนาคนทั้งครบ ซึ่งในโครงการนี้มีนโยบายที่จะร่วมมือกับคนในศาสนาต่างๆ ในการทำโครงการพัฒนาสังคม
    เพื่อให้การแบ่งปันของเรามีความหมาย ควรจะเงินหรือของใช้ของเราที่ต้องการนั้นมอบให้แก่คนจน แทนที่จะเอาเงินหรือของใช้ที่จำเป็นส่วนเกินให้ปัน นอกจากเงินแล้ว เราอาจแบ่งปันสิ่งอื่นๆ ที่มีค่าของเรากับคนอื่นๆ โดยการสละเวลาไปเยี่ยมคนป่วย ให้ความสนใจแก่คนชรา ช่วยเพื่อนของเราที่เรียนอ่อนกว่าเรา ช่วยแบ่งภาระทางบ้าน เป็นต้น
   3.3 ภาวนา        เมื่อเราเป็นเด็ก ผู้ใหญ่เคยสอนเราว่าควรจะภาวนาเช้า ค่ำ และควรไปฟังมิสซาทุกวันอาทิตย์    จนกระทั่งเป็นสิ่งที่อยู่ในใจว่า ถ้าเราขาดภาวนาและการฟังมิสซาแล้ว ก็เป็นบาปสำคัญมาก    ซึ่งทำให้เราภาวนาเพราะถูกบังคับ หรือ กลัวทำบาป    แต่พระเยซูภาวนาบ่อยๆ เพราะพระองค์เป็นบุตรของพระเจ้า และมีความต้องการจะสัมพันธ์กับพระบิดา    พระองค์จะขาดการภาวนาไม่ได้        เราก็เช่นกัน เราต้องภาวนาไม่ใช่เพราะมีคนอื่นบอก หรือ เพราะมีกฎบังคับ    เราภาวนาเพราะมีความสำนึกว่าเราเป็นบุตรของพระเจ้าซึ่งต้องการมีความสัมพันธ์กับพระบิดา เราขาดภาวนาไม่ได้เด็ดขาด
    เทศกาลมหาพรตนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะรื้อฟื้นการภาวนาของเรา เช่น โดยการไปฟังมิสซา หรือ โดยจัดเวลาภาวนาเป็นพิเศษทุกวัน หรือ อ่านพระวรสารเป็นประจำ เป็นต้น  การแก้บาปก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่น่าจะทำในช่วงเทศกาลมหาพรตนี้    มีประเพณีที่น่ารักของชาวสลาฟทำกันในสมัยก่อน ถือในวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ก่อนวันอาทิตย์ปัสกานั้น ทุกคนในบ้านขออภัยโทษซึ่งกันและกัน และตอนบ่ายก็พากันไปแก้บาปที่วัด    ในวันอาทิตย์ปัสกา ครอบครัวทั้งหมดไปฟังมิสซาและรับศีล เมื่อกลับบ้านก็มีการฉลองใหญ่ในการกลับเป็นหนึ่งเดียวกันของครอบครัวในบ้าน    นั่นเป็นความหมายของศีลอภัยบาป คือ เป็นการขอโทษพระเจ้าและพี่น้องเพราะบาปและข้อผิดพลาดของเรา และฟื้นฟูความเป็นหนึ่งเดียวกันและความเป็นพี่น้องกับคนอื่นๆ

 

หนังสือ ปัสกากับคริสตชน
บาทหลวง มิเกล กาไรซาบาล, SJ.