แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

คริสตชนกับการฉลองปัสกา
คืนแห่งการตื่นเฝ้า (Easter Vigil)


    การฉลองของชาวคาทอลิกมักเน้นการเตรียมตัวด้านจิตใจ จึงมี “ตรีวาร” เช่น การฉลองวัด และเป็นต้น การฉลองปัสกา    ซึ่งถือว่าสำคัญและมีความหมายต่อหลักความเชื่อของชาวคริสต์มากที่สุด    และตรีวารนี้ชาวคาทอลิก เรียกว่า วันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ (Holy Thursday) วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (Good Friday) และวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ (Holy Saturday หรือ Easter Vigil) ในที่นี้จะขอกล่าวถึง คืนแห่งการตื่นเฝ้า หรือ วันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ โดยสังเขป

ความหมาย
    พระศาสนจักรคาทอลิกถือว่าการฉลองปัสกาเป็นการระลึกถึงการไถ่กู้มนุษย์ทั้งครบของพระเยซูคริสต์    ซึ่งหมายถึงการรับทุกข์ทรมาน การสิ้นพระชนม์ การกลับคืนชีพ และการส่งพระจิตมาประทับกับพระศาสนจักร        คืนแห่งการตื่นเฝ้าจึงมิใช่วันสุกดิบก่อนงานฉลองตามความหมายทั่วไป ทั้งไม่ใช่เป็นการเตรียมฉลอง แต่เป็นการฉลองการกลับคืนชีพของพระเยซูคริสต์ด้วยการตื่นเฝ้า    เป็นคืนที่บรรดาสัตบุรุษปฏิบัติตามคำเตือนของพระเยซูเจ้า ให้ถือเทียนจุดอยู่ในมือเหมือนคนใช้คอยนายกลับมา เมื่อนายกลับมาจะได้พบเขาตื่นคอยอยู่ (ลก 12 : 35-38)
ทำไมต้องฉลองกลางคืน
    เหตุผลแรกเพราะการฉลองปัสกาเป็นการฉลองชัยชนะของพระเยซูคริสต์เหนือความตายนี้ เปรียบได้กับเป็นแสงสว่าง มีชัยเหนือความมืดและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ พระองค์ทรงกลับคืนชีพ “หลังวันสับบาโต” ตรงกับคืนวันเสาร์
    การฉลองปัสกาของชาวคริสต์เป็นการทำให้การฉลองปัสกาของชาวยิวสมบูรณ์ขึ้น และการฉลองของชาวยิวก็ตกกับเวลากลางคืนวันเสาร์เช่นกันที่พระเจ้าได้ทรงนำพวกเขาให้พ้นจากการเป็นทาสของชาวอียิปต์ (อพย 12  : 29) จึงเกิดเป็นประเทศชาติ เป็นประชากรศักดิ์สิทธิ์    ชาวคริสต์จึงโยงเหตุการณ์ปัสกาของชาวยิวกับการไถ่กู้มนุษย์โดยพระเยซูคริสต์นี้ และกระทำพิธีระลึกในตอนกลางคืน
พิธีต่างๆ
    พิธีในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์แสดงถึงชัยชนะของพระเยซูคริสต์เหนือบาป (ความตาย) และนำมนุษย์ให้มีชีวิตใหม่ภายใต้ความคุ้มครองของพระเจ้า พิธีกรรมมี 4 ภาค คือ
1. พิธีแสงสว่าง เสกไฟและเทียนปัสกา    พิธีนี้กระทำหน้าโบสถ์โดยดับไฟทุกดวงในโบสถ์ พระสงฆ์ผู้เป็นประธานในพิธีจะเสกไฟ เพื่อจุดเทียนปัสกา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์หมายถึงพระเยซูคริสต์ทรงกลับคืนชีพและแห่เข้าโบสถ์
2. วจนพิธีกรรม    สัตบุรุษจะร่วมใจฟังพระคัมภีร์เพื่อพิจารณาถึงกิจการอันน่าพิศวงที่พระเจ้าได้ทรงกระทำเพื่อช่วยประชากรของพระองค์ตั้งแต่ปฐมกาล ด้วยความเชื่อมั่นในพระวาจาและพระสัญญาของพระองค์
    สำหรับบทอ่านที่จะใช้อ่านในภาคนี้มีทั้งหมด 9 บท เจ็ดบทแรกมาจากพันธสัญญาเดิม และอีกสองบทมาจากพันธสัญญาใหม่
3. พิธีศีลล้างบาป    หลังจากภาควจนพิธีกรรม จะมีพิธีเสกน้ำล้างบาป พิธีโปรดศีลล้างบาปเป็นต้นแก่ผู้ใหญ่ พิธีรื้อฟื้นคำสัญญาแห่งศีลล้างบาป และภาวนาเพื่อมวลชน
4. ภาคบูชาขอบพระคุณ        บรรดาสัตบุรุษจะรับศีลมหาสนิทซึ่งพระเยซูคริสต์ได้ทรงมอบให้ และเป็นแก่นของธรรมล้ำลึกปัสกา ที่เราไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์นี้ตามที่พระองค์ทรงกำชับแก่ชาวคริสต์ทุกคน
    ข้อสังเกตหลังบทอ่านก่อนพระวรสาร นักร้องจะนำเพลง “อัลเลลูยา” สามครั้ง เป็นลักษณะพิเศษของการฉลองปัสกา เป็นคำกล่าวสรรเสริญพระเจ้าด้วยความยินดี ขอบคุณพระองค์ในกิจการพิเศษที่พระองค์ทรงไถ่กู้มนุษย์ ช่วยเราให้เป็นอิสระจากบาปและสามารถพบความสุขในชีวิตนิรันดร์พร้อมกับพระองค์ โดยอาศัยการกลับคืนพระชนม์
    พระคริสต์เจ้าทรงเป็นองค์บูชาปัสกาของชาวเราแล้ว ให้เราทำการสมโภชด้วยความยินดีกันเถิด อัลเลลูยา

 

หนังสือ ปัสกากับคริสตชน
บาทหลวง มิเกล กาไรซาบาล, SJ.