แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

คริสตชนควรปฏิบัติตนอย่างไรในเทศกาลมหาพรต
การพลีกรรมใช้โทษบาปและการจำศีลอดอาหาร


    ธรรมชาติของมนุษย์มักจะหละหลวมต่อตนเอง และหลายครั้งมนุษย์ก็ผิดพลาดไปในบาป เพราะความหละหลวมยอมตามความพอใจฝ่ายต่ำของตนดังนั้น นอกจากการสวดภาวนาที่เป็นหัวใจสำคัญของเทศกาลมหาพรตที่พาใจของคริสตชนมุ่งไปสู่พระเจ้าแล้ว    คริสตชนควรควบคุมใจของตนให้ใฝ่หาพระเจ้าตลอดเวลาในทุกกิจการของชีวิต    ด้วยการพลีกรรมใช้โทษบาปและการจำศีลอดอาหาร
    นักบุญออกัสตินได้ให้ข้อคิดว่า “ดังนั้น ไม่มีใครสงสัยเลยว่าการพลีกรรม จำศีลอดอาหารนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์    เพราะเมื่อผู้ใดยอมที่จะจำศีลก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าเขาต้องการสิ่งที่เขากำลังสวดขอจริงๆ    ฉะนั้นจึงมีคำกล่าวว่า คำภาวนาจะดีเมื่อมีการจำศีลคู่กัน (ทบต 12 : 8)    ดังนั้น คำภาวนาจึงแสวงหาการจำศีลควบคู่กันไปเพื่อจะได้รับการสดับฟัง (จากพระเจ้า)”
    การจำศีลอดอาหาร มีจุดหมายที่สำคัญ คือ เป็นเครื่องมือที่จะปราบกิเลสหรือบาป    นักบุญออกัสตินสอนว่า “ถ้าเราจะอดอาหารอย่างแท้จริง เราต้องอดบาปเหนืออื่นใด”    ดังนั้น การพลีกรรมและจำศีลอดอาหารในเทศกาลมหาพรต จึงต้องเริ่มด้วยการละเว้นจากการทำบาปเป็นสิ่งแรก นั่นคือ การหลีกเลี่ยงจากโอกาสบาป และ การต่อสู้กับการประจญของปีศาจอย่างเต็มกำลัง
    เมื่อคริสตชนจำศีลอดอาหาร    เราต้องตระหนักว่า จุดประสงค์สำคัญของการจำศีลอดอาหาร คือ เพื่อวิญญาณจะมีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นตามรูปแบบของพระคริสตเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขน
    สำหรับพระศาสนจักรในประเทศไทยได้ให้ข้อกำหนดเรื่อง การจำศีลในเทศกาลมหาพรตไว้ดังนี้
    1. ตามบัญญัติของพระเป็นเจ้า คริสตชนทุกคนต้องชดใช้โทษบาปของตนตามวิธีการของแต่ละคน และเพื่อปฏิบัติร่วมกัน จึงได้กำหนดวันชดเชยใช้โทษบาปซึ่งคริสตชนจะได้สวดภาวนา ปฏิบัติกิจเมตตาปรานีและความรักเป็นพิเศษ เสียสละตนเอง และทำหน้าที่ของตนอย่างซื่อสัตย์
    2. ทุกวันศุกร์ตลอดปี และทุกวันในเทศกาลมหาพรต เป็นวันพลีกรรมในพระศาสนจักรทั่วไป
    3. ทุกวันศุกร์ตลอดปี ยกเว้นวันฉลองใหญ่ เป็นวันอดเนื้อหรืออดอาหารอื่นตามข้อกำหนดของสภาพระสังฆราช    วันพุธรับเถ้าและวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นวันอดเนื้อและอดอาหาร
    4. คริสตชนทุกคนทีมีอายุตั้งแต่ 14 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ต้องอดเนื้อ    คริสตชนทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปจนถึง 59 ปีบริบูรณ์ต้องอดอาหาร
    การจำศีลอดอาหารและการอดเนื้อนั้น เราควรทำด้วยเจตนาที่จะร่วมส่วนในพระทรมานของพระเยซูเจ้าและใช้โทษบาปของเรามากกว่าที่จะทำไปตามกฎเกณฑ์ของพระศาสนจักรเพราะกลัวว่าถ้าไม่ทำตามแล้วจะเป็นบาป
    จะเห็นได้ว่าปัจจุบันพระศาสนจักรในหลายๆ แห่งรวมทั้งในประเทศไทยด้วย ได้วางแนวทางในการอดอาหารและอดเนื้อ    โดยมองที่เจตนารมณ์มากกว่า     ปัจจุบันพระศาสนจักรในประเทศไทยจึงกำหนดใหม่ดังนี้ว่า ผู้ที่ปฏิบัติข้อต่างๆ ต่อไปนี้ (ข้อใดข้อหนึ่ง) ถือได้ว่าอดตามกฎการอดเนื้อ คือ
    1. อดเนื้อ (ตามประเพณีที่ถือปฏิบัติของพระศาสนจักร)
    2. ปฏิบัติกิจศรัทธาเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่เคยปฏิบัติ เช่น เดินรูป 14 ภาค เฝ้าศีลมหาสนิท สวดสายประคำ ฯลฯ (เป็นการ “อด” เวลาที่เป็นส่วนตัวของตนเองเพื่อถวายเวลานั้นให้แก่พระเจ้า)
    3. ปฏิบัติกิจเมตตาปรานี เช่น ให้ทานคนจน เยี่ยมคนเจ็บป่วย ฯลฯ (เป็นการ “อด” ความสุขส่วนตัว เพื่อแสดงความรักต่อผู้อื่น)
    4. งดเว้นอาหารหรือสิ่งที่อาจเคยปฏิบัติเป็นประจำ เช่น งดดื่มสุราเบียร์ งดสูบบุหรี่ (เป็นการ “อด” ในสิ่งที่ตนชอบ)
    5. รู้จักอดออมและละเว้นความฟุ้งเฟ้อ
    สำหรับการอดอาหาร หมายถึง การรับประทานอิ่มเพียงมื้อเดียว ซึ่งถ้าเรายึดตามเจตนารมณ์ของการอดอาหารแล้ว     ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงและมีสุขภาพดีอาจจะอดอาหารมากกว่าที่พระศาสนจักรเรียกร้องก็ได้ ส่วนผู้ป่วยและคนสูงอายุที่มีสุขภาพไม่ดี อาจจะปฏิบัติกิจศรัทธาแทนการอดเนื้อ