แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako
เอกสารสังคายนาวาติกันที่ 2  ได้กล่าวถึงพระนางมารีย์ พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้าไว้ว่า "พระคัมภีร์ทั้งในภาคพันธสัญญาใหม่ตลอดจนธรรมประเพณี  อันเป็นที่เคารพแสดงให้เห็นบทบาทพระภารกิจขององค์พระมารดาของพระผู้กอบกู้ คล้ายๆ กับการนำมาตั้งแสดงให้เราเพ่งดู ที่จริงพันธสัญญาเดิมพรรณาถึงประวัติแห่งความรอด และการตระเตรียมเป็นขั้นเป็นตอนช้าๆ ของการเสด็จมายังโลกของพระคริสตเจ้า เอกสารในสมัยแรกๆ  ตามที่อ่านกันในพระศาสนจักรและตามที่เข้าใจกันตามแสงสว่างแห่งการเผยแสดง อันมีต่อมาภายหลังอย่างครบบริบูรณ์ก็เห็นชัดขึ้นเป็นขั้นๆ ถึงภาพของสตรีผู้เป็นมารดาแห่งพระมหาไถ่ ภายใต้แสงสว่างดังกล่าวนี้  พระแม่เจ้าทรงเป็นภาพลางๆ  ตามคำพยากรณ์  เป็นคำมั่นสัญญาของพระเป็นเจ้าผู้ได้มีพระดำรัสกับบิดามารดาเดิม หลังจากที่ท่านได้กระทำบาปแล้วว่า " สตรีผู้หนึ่งจะมีชัยต่องู"(เทียบ ปฐก 3:15)เช่นเดียวกับพระนางพรหมจารีย์ผู้นี้จะทรงกำเนิดและประสูติพระบุตร ซึ่งจะทรงพระนามว่า " อิมมานูแอล " (เทียบ อสย. 7:14 เทียบมีคา 5:2-3 มธ 1:22-23 )  เมื่อพระบุตรขององค์พระผู้เป็นเจ้ารับเอาธรรมชาติมนุษย์จากพระนางมารีย์ และเนื่องด้วยอาศัยพระรหัสธรรมต่างๆ  อันเกี่ยวข้องกับการทรงรับเอาเนื้อหนังมังสา  พระองค์จะได้ทรงช่วยมนุษย์ให้พ้นจากบาป"(LG 55 )

ซึ่งหลังจากทูตสวรรค์ได้แจ้งข่าวดีแก่คนเลี้ยงแกะว่า “วันนี้ ในเมืองของกษัตริย์ดาวิด พระผู้ไถ่ประสูติเพื่อท่านแล้ว พระองค์คือพระคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลก 2:11) พวกเขาจึงรีบมาเยี่ยมคาราวะครอบครัวศักดิ์สิทธิ์เป็นพวกแรก  และเมื่อมาถึง พวกเขาได้พบและเป็นพยานยืนยันว่า “พระนางมารีย์ได้ให้กำเนิดพระกุมาร” ซึ่งได้รับการถวายพระนามว่า “เยซู” ในวันที่พระองค์ทรงเข้าสุหนัต (ลก 2:21)

นอกจากลูกาซึ่งเล่าว่าคนเลี้ยงแกะได้เป็นสักขีพยานแล้ว มัทธิวก็ยืนยันด้วยตัวท่านเองว่า “นางให้กำเนิดบุตรชาย โยเซฟตั้งชื่อกุมารนั้นว่า เยซู” (มธ 1:25)

ส่วนยอห์นนั้นถือว่า พระเยซูเจ้าคือ “พระวจนาตถ์ผู้ทรงรับธรรมชาติมนุษย์และเสด็จมาประทับอยู่ท่ามกลางเรา” (ยน 1:14) และที่สำคัญท่านย้ำว่า “พระวจนาตถ์ทรงดำรงอยู่แล้ว พระวจนาตถ์ประทับอยู่กับพระเจ้า และพระวจนาตถ์เป็นพระเจ้า” (ยน 1:1)

ในเมื่อพระนางมารีย์คือพระมารดาของพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นพระวจนาตถ์ที่รับธรรมชาติมนุษย์ และเพราะพระวจนาตถ์ทรงเป็นพระเจ้า  พระนางจึงเป็น “พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ด้วยประการฉะนี้

หรือจากเหตุการณ์ตอนที่พระนางมารีย์มาถึงบ้านของนางเอลีซาเบธเพื่อช่วยเหลือ ซึ่งขณะนั้นนางกำลังตั้งครรภ์นักบุญยอห์นผู้ทำพิธีล้างอยู่ นางเอลีซาเบธได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยมประกาศเสียงดังว่า “เธอได้รับพระพรยิ่งกว่าหญิงใด ๆ และลูกของเธอก็ได้รับพระพรด้วย ทำไมหนอพระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า(Mater Tou Kyrios) จึงได้เสด็จมาเยี่ยมข้าพเจ้า” (ลก 1:42-43)

บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรตั้งแต่เริ่มแรก ดังเช่นนักบุญอิกญาซีโอ นักบุญอีเรเนอุสและแตร์ตุลเลียน ท่านเหล่านี้ไม่ได้ลังเลใจเลยที่จะเรียกพระนางมารีย์ว่าเป็น “มารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า”  และในปี ค.ศ. 431 สภาสังคายนาแห่งเอเฟซัสได้ประกาศให้พระนางเป็น Theotokos ซึ่งหมายถึง “พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” นั่นเอง
นอกจากเป็นมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว ออรีเยน ยังเริ่มจุดประกายความคิดว่าพระนางมารีย์เป็น “มารดาของผู้มีความเชื่อทุกคน” ด้วยเหตุผลคือ ในเมื่อพระนางเป็นมารดาของพระเยซูเจ้า จึงควรเป็นมารดาของทุกคนที่มีพระเยซูเจ้าเจริญชีวิตอยู่ภายในด้วย

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 นักเทววิทยาเริ่มอธิบายคำพูดของพระเยซูเจ้าที่ตรัสกับพระมารดาจากไม้กางเขนว่า “แม่ นี่คือลูกของแม่” และที่ตรัสกับศิษย์รักว่า “นี่คือแม่ของท่าน” (ยน 19:26-27) ว่าเป็นการแต่งตั้งพระนางมารีย์ให้เป็น “มารดาของเราทุกคน”