แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako
ศาสนาคริสต์ในประเทศไทย
บาทหลวงวรยุทธ กิจบำรุง

cross-with-liliesศาสนาคริสต์ คือ ศาสนาที่มีความเชื่อหลักๆ เหมือนกัน คือเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า ในพระเยซูคริสตเจ้า และพระคัมภีร์   อย่างไรก็ตาม ในแต่ละนิกายอาจจะมีความแตกต่างออกไปบ้าง ด้านความเชื่อ ด้านศาสนพิธี ด้านการปฏิบัติ การปกครอง

แบ่งออกเป็น 3 นิกายใหญ่ คือ
1. โรมันคาทอลิก (Catholic)
2. ออร์โธดอกซ์ (Orthodox)
3. โปรเตสแตนต์ (Protestant)

220px-benedykt_xvi_2010-10-17_41. นิกายโรมันคาทอลิก เรียกสั้นๆ ว่า “คาทอลิก” เนื่องมาจากใช้ภาษาละตินเป็นหลัก มีพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 เป็นประมุขสูงสุด เป็นองค์ที่ 265 และมีพระคาร์ดินัล พระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวช ปกครองและเผยแผ่ศาสนา   และมีศูนย์กลางที่กรุงโรม มีคณะนักบวชทั้งชายและหญิง ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อทำตามวัตถุประสงค์ของแต่ละคณะ เช่น คณะคามิลเลียน ดูแลคนป่วย คณะซาเลเซียน ช่วยเด็กยากจน เด็กกำพร้า คณะเซนต์คาเบรียล สนใจเรื่องการศึกษา ฯลฯ

2. นิกายออร์โธดอกซ์ ส่วนใหญ่จะยึดพิธีกรรมแบบดั้งเดิม ใช้ภาษากรีก ส่วนใหญ่อยู่ในรัสเซีย กรีก มีผู้นำสูงสุดของแต่ละประเทศ เรียกว่า พระอัยกา (Patriarch) เช่น พระอัยกาแห่งรัสเซีย พระอัยกาแห่งคอนสแตนติโนเปิล เป็นต้น ไม่มีผู้นำสูงสุดระดับสากล ในประเทศไทยยังไม่มีอย่างเป็นทางการ

3. นิกายโปรเตสแตนต์
ประกอบด้วยนิกายย่อยๆ อีกเป็นจำนวนมาก และมีความแตกต่างกันหลักๆ คือ ด้านการปกครอง แต่ละนิกายมีอิสระต่อกัน ส่วนใหญ่เป็นฆราวาสทำหน้าที่ประกาศศาสนา

ในประเทศไทย มีข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ มีคำเรียกคาทอลิกว่า “คริสตัง” และเรียกโปรเตสแตนต์ว่า “คริสเตียน” (Christian)
คาทอลิกเรียกสถานที่ประกอบพิธีกรรมว่า “วัด หรือ โบสถ์” ส่วนทางโปรเตสแตนต์เรียกว่า “คริสตจักร”
คาทอลิกจะมีบาทหลวง ซิสเตอร์ (ภคินี) บราเดอร์ (ภราดา) ส่วนทางโปรเตสแตนต์จะมีศิษยาภิบาล หรือศาสนาจารย์ เป็นผู้นำคริสตจักร
ในวัดคาทอลิกจะมีรูปพระเยซู รูปแม่พระ รูปนักบุญต่างๆ ส่วนวัดโปรเตสแตนต์จะมีไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์  และส่วนใหญ่ไม่มีพระรูปพระเยซูเจ้าถูกตรึงอยู่บนไม้กางเขนนั้น เพราะเชื่อว่า พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพ และเสด็จขึ้นสวรรค์แล้ว

ในประเทศไทย  ศาสนาคริสต์   ซึ่งกรมการศาสนารับรองมี 5 องค์กร คือ
1. ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งเข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยา พ.ศ. 2110 (ค.ศ. 1567) โดยมิสชันนารีชาวโปรตุเกส     นักบวชคณะโดมินิกัน จากมะละกา ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 3 แสนคน มีพระสงฆ์หรือบาทหลวงทั้งสิ้น 710 องค์ ภราดา 121 คน ภคินี 1,439 คน วัด 463 แห่ง (จากปฏิทินคาทอลิก ค.ศ. 2005)
สำนักงานอยู่ที่ 122/11 ซอยนาคสุวรรณ ถนนนนทรี
ยานนาวา กรุงเทพฯ 10120 โทร. 0-2681-3900 ต่อ 1201
โทรสาร 0-2681-3900 ต่อ 1209

2. สภาคริสตจักรในประเทศไทย
ได้ก่อตั้งเป็นสภาฯ เมื่อ พ.ศ. 2477 แต่มิสชันนารีได้เข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2371 (ค.ศ. 1828) รุ่นแรกๆ มาจากยุโรป และสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีการปกครองแบ่งออกเป็น 19 ภาค มีคริสตจักร 844 แห่ง สมาชิก 120,000 คน
สำนักงานอยู่ที่ 328 ถ.พญาไท (เชิงสะพานหัวช้าง) แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10100
โทร. 0-2214-6000-9

3. สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย
ได้รับการรับรองจากรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2512 ต่อมา พ.ศ. 2519 ได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิสหกิจคริสเตียน ปัจจุบันมีสมาชิกที่เป็นมิชชั่นในสังกัดคริสตจักร 1,200 แห่ง และสมาชิก 70,000-100,000 คน มีองค์กรในสังกัด 110 คณะ
สำนักงานอยู่ที่  64/1 ถ.รามคำแหง ซ. 22 หัวหมาก บางกะปิ กรุงเทพฯ 10240 โทร. 0-2318-8235-7, 0-2318-3887

4. สหคริสตจักรแบ๊บติสต์ในประเทศไทย
ได้เข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) มีคริสตจักร 48 แห่ง มีสมาชิก 5,000 คน (ค.ศ. 2001)
สำนักงานอยู่ที่ 90 ถนนสุขุมวิท ซอย 2 คลองเตย กรุงเทพฯ 10110 โทร. 0-2656-9038 โทรสาร 0-2251-0680

5. มูลนิธิคริสตจักรเซเว่นธ์เดย์ แอ๊ดเวนติส แห่งประเทศไทย
ได้เริ่มเข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย พ.ศ. 2449 (ค.ศ. 1906) มีคริสตจักร 30 แห่ง และมีสมาชิก 7,000 คน (ค.ศ. 2002)
สำนักงานเลขที่ 12 ซอยปรีดี พนมยงค์ 37 สุขุมวิท 71 คลองตันเหนือ วัฒนา กรุงเทพฯ 10110 โทร. 0-2381-3298 โทรสาร 0-2381-1928
สำหรับคำพูดรวมๆ ที่เรียกผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายต่างๆ เราใช้ “คริสตชน” (Christian)

บทบัญญัติพื้นฐานของพระศาสนจักร
1. จงร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ และหยุดทำงานในวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับ
2. จงรับศีลอภัยบาปอย่างน้อยปีละครั้ง
3. จงรับศีลมหาสนิทอย่างน้อยปีละครั้งในกำหนดปัสกา
4. จงอดอาหาร และอดเนื้อ ในวันที่กำหนด
5. จงบำรุงพระศาสนจักรตามความสามารถ

พระบัญญัติสิบประการ (อพย 20:1-17,ฉธบ 5:1-21)
“เราคือองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่าน”
1. จงนมัสการ องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าพระองค์เดียวของท่าน
2. อย่าออกพระนามพระเจ้าโดยไม่สมเหตุ
3. อย่าลืมฉลองวันพระเจ้าเป็นวันศักดิ์สิทธิ์
4. จงนับถือบิดามารดา
5. อย่าฆ่าคน
6. อย่าผิดประเวณี
7. อย่าลักขโมย
8. อย่าพูดเท็จใส่ร้ายผู้อื่น
9. อย่าปลงใจผิดประเวณี
10. อย่ามักได้ทรัพย์สินของผู้อื่น

พระเยซูเจ้าทรงสรุปคำสอนในพระบัญญัติ ว่า
“ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาของท่าน นี่คือบทบัญญัติเอกและเป็นบทบัญญัติแรก  บทบัญญัติประการที่สองก็เช่นเดียวกัน คือท่านต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง  ธรรมบัญญัติและคำสอนของบรรดาประกาศกก็ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติสองประการนี้” (มธ 22:37-39)

ความสุขแท้จริง
(มธ 5:1-12)
พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นประชาชนมากมาย จึงเสด็จขึ้นบนภูเขา เมื่อประทับแล้ว   บรรดาศิษย์เข้ามาห้อมล้อมพระองค์ พระองค์ทรงเริ่มตรัสสอนว่า
•    ผู้มีใจยากจน ย่อมเป็นสุข  เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา
•    ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน
•    ผู้มีใจอ่อนโยน ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก
•    ผู้หิวกระหายความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม
•    ผู้มีใจเมตตา ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา
•    ผู้มีใจบริสุทธิ์ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า
•    ผู้สร้างสันติ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า
•    ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา

บทบัญญัติใหม่
(ยอห์น 13:34)
พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราให้บทบัญญัติใหม่แก่ท่านทั้งหลาย ให้ท่านรักกัน เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด”

บทภาวนาของนักบุญฟรังซิส ชาวอัสซีซี
ข้าแต่พระบิดา ขอพระองค์ทรงกระทำให้ข้าพเจ้าเป็นเครื่องมือของพระองค์ เพื่อสร้างสันติ
- ที่ใดมีความเกลียดชัง   ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความรัก
- ที่ใดมีความเจ็บแค้น   ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำการอภัย
- ที่ใดมีความแตกแยก   ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความสามัคคี
- ที่ใดมีความเท็จ   ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความจริง
- ที่ใดมีความสงสัย   ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความเชื่อ
- ที่ใดมีความสิ้นหวัง   ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความหวัง
- ที่ใดมีความมืด   ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความสว่าง
- ที่ใดมีความเศร้าโศก ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความยินดีเบิกบานใจ
ข้าแต่พระเป็นเจ้า โปรดให้ข้าพเจ้าเป็นผู้บรรเทา มากกว่าจะเป็นผู้รับการบรรเทา
- เห็นใจผู้อื่น มากกว่าจะรับความเห็นใจ
- รักผู้อื่นก่อน และมากกว่าที่จะให้คนอื่นรักข้าพเจ้า
- ผู้ที่ให้เท่านั้น จะได้รับความอิ่มเอิบยินดี
- ผู้ที่ลืมตนเองเท่านั้น จะพบตนเองในทางสันติ
- ผู้ที่ยกโทษให้เท่านั้น จะได้รับการอภัยโทษ
ดังนี้เมื่อเราตาย จะได้ไปสู่พระราชัยของพระองค์ตลอดนิรันดร