แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ทำไมบรรดาผู้นิพนธ์พระวรสารจึงไม่กล่าวถึงชีวิตวัยเด็กของพระเยซูเจ้า

เห็นได้ชัดเจนจากเนื้อหาของพระวรสารเองว่า บรรดาผู้นิพนธ์พระวรสารมิได้ตั้งใจเขียนชีวประวัติของพระเยซูเจ้าให้ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ละท่านมีจุดประสงค์พิเศษเฉพาะ แต่โดยทั่วไปแล้วทุกท่านต้องการเล่าเรื่องพระเยซูแห่งนาซาเร็ธให้ผู้อ่านรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ และได้ทรงกระทำพันธกิจแห่งการไถ่กู้ของพระองค์สำเร็จลง ดังนั้น งานของพวกเขาจึงอยู่บนพื้นฐานการสอนของพระคริสตเจ้า และเล่าเหตุการณ์ซึ่งเชื่อมโยงกับพันธกิจของพระองค์ ในช่วงบั้นปลายชีวิตของพระองค์ที่เราเรียกว่าชีวิตสาธารณะนั้น (เพียง 3 ปี) พระเยซูเจ้าได้ทรงรวบรวมบรรดาศิษย์ ทรงสอนพวกเขา และทรงกระทำพันธกิจของพระองค์สำเร็จลงด้วยการรับทรมาน การสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพ      บรรดาผู้นิพนธ์พระวรสารทุกท่านเล่าเรื่องดังกล่าวนี้ให้เราฟัง

    หลังจากเล่าเรื่องชีวิตบางอย่างในวัยเด็กของพระเยซูเจ้า เหตุการณ์สุดท้ายคือทรงพลัดหลงจากบิดามารดาตอนอายุ 12 พรรษา นักบุญลูกาเล่าให้เราฟังว่า หลังจากนั้นทรงดำเนินชีวิตอยู่กับบิดามารดาที่เมืองนาซาเร็ธ “พระเยซูเจ้าเสด็จกลับไปที่เมืองนาซาเร็ธกับบิดามารดา และเชื่อฟังท่านทั้งสอง... พระเยซูเจ้าทรงเจริญขึ้นทั้งในพระปรีชาญาณ พระชนมายุและพระหรรษทานเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าและต่อหน้ามนุษย์” (ลก 2:51-52) ถ้อยคำเหล่านี้สรุปชีวิตซ่อนเร้นทั้งหมดของพระเยซูเจ้า
    ตั้งแต่อายุ 12 พรรษาจนเริ่มชีวิตสาธารณะนั้น พระเยซูเจ้าคงดำเนินชีวิตแบบเด็กชาวยิวอื่นๆ และในวัยรุ่นด้วย จึงเห็นได้ชัดว่าไม่มีอะไรในชีวิตของพระองค์จะเทียบเท่าบทบาทพระเมสสิยาห์ของพระองค์ ยกเว้นว่าพระองค์ทรงอยู่เงียบๆ และทรงเตรียมภายในส่วนตัวของพระองค์ บรรดาผู้นิพนธ์พระวรสารจึงไม่มีอะไรเป็นพิเศษเกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูเจ้าก่อนชีวิตสาธารณะของพระองค์ ไม่มีความจำเป็นจะต้องเล่าถึงชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดาทั่วๆ ไป
    อย่างไรก็ตาม การที่บรรดาผู้นิพนธ์พระวรสารมิได้เอ่ยถึงชีวิตวัยเด็กของพระพระเยซูเจ้าก็ทำให้เกิดตำนานว่าพระเยซูเจ้าทรงไปอยู่ในประเทศอินเดีย ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น
    ตำนานเหล่านี้ปรากฏว่า บางครั้งถูกนำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ แม้จะมีการปฏิเสธ แต่ก็ยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก บางทีอาจเป็นเพราะธรรมชาติอันเพ้อฝัน
    ทุกเรื่องเล่าเกี่ยวกับการพักแรมของพระเยซูเจ้าในประเทศอินเดีย มีรากฐานมาจากนักประพันธ์สองท่าน คนแรกชื่อ กูลัมอามัด (ค.ศ. 1839-1908) ผู้ก่อตั้งศาสนาอิสลาม นิกายอามาดียะ เป็นผู้ยืนยันว่าพระเยซูเจ้ามิได้ทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน แต่ทรงสิ้นพระชนม์เมื่ออายุ 120 ปีที่เมืองศรีนาคาร์ เมืองหลวงของแคชเมียร์
    บรรดาคนยุคใหม่ที่เชื่อเรื่องพระเยซูประทับอยู่ในอินเดียนั้น เวลานี้ไม่ค่อยกล่าวถึงตำนานของกูลัมอามัดเท่าใดนัก เพราะเขาเปรียบพระเยซูเหมือนกับยูซาฟัตที่ชาวมุสลิมเคารพนับถือ และที่ฝังศพเขาก็อยู่ในเมืองศรีนาคาร์ แต่ทว่าเรื่องเหล่านี้เกิดจากข้อสมมุติฐาน
    ยูซาฟัตมิใช่พระเยซูเจ้า จริงๆ แล้วยูซาฟัตเป็นชื่อภาษาสันสกฤตที่ว่า โพธิสัตว์ ที่มาจากภาษาอิหร่านว่า Bodisaf และเพี้ยนมาจากภาษาอาหรับว่า Badasaf คำโพธิสัตว์ถูกนำไปใช้ในวรรณคดียุโรปจึงกลายเป็นตำนานเรื่องโยซาฟัต ที่มีระบุอยู่ในปฏิทินนักบุญของคริสตชน (หมายเหตุ : นักบุญสององค์ในเรื่องบาร์ลาอัมกับโยซาฟัตนั้นไม่เคยมีอยู่จริง มีแต่เรื่องนักบุญบาร์ลาอัมแห่งอันทิโอก มรณสักขีของศตวรรษที่ 4 และเรื่องนักบุญโยซาฟัต พระสังฆราชและมรณสักขีของศตวรรษที่ 17)
    ผู้เขียนเล่าเรื่องพระเยซูประทับอยู่ในอินเดียอีกท่านหนึ่งนั้นเป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวรัสเซีย ชื่อ นิโคลาส อเล็กซานโดรวิค โนโตวิค (ค.ศ. 1858-1915) เขาสร้างความเกรียวกราว เพราะหนังสือเรื่อง La vie inconnu de Jesus–Christ ซึ่งปรากฏอยู่ในกรุงปารีส ปี ค.ศ. 1894 (ฉบับภาษาเยอรมันมีชื่ออังกฤษว่า The Gap in the life of Jesus ตีพิมพ์ที่ Stuttgart ปี ค.ศ.1894)
ในหนังสือของเขาอ้างว่า ระหว่างการเดินทางผ่านเมืองลาดักห์ในปี ค.ศ. 1887 นั้น เจ้าอธิการอารามฤาษี Himis (i.e He-mis dGon-pa) ได้อ่านให้เขาฟังข้อความตอนที่มีชีวประวัติของพระเยซูเจ้าเรื่องที่พระองค์ได้ทรงเดินทางไปอินเดียตอนอายุได้ 14 ปี
    หลังจากหนังสือของโนโตวิคตีพิมพ์ออกมาได้ไม่นานนัก      เจอาร์คีบาล ดักลาส และ เฟรดริค แมกซ์ มูลเลอร์ ก็ได้เขียนวิจารณ์โนโตวิกว่าเป็นคนโกง พวกเขาสามารถพิสูจน์ได้ว่าโนโตวิกไม่เคยไปเยี่ยมอารามแห่งนั้นเลย โดยถามท่านเจ้าอธิการอาราม และก็ไม่มีหนังสือเรื่องพระเยซูเจ้าอยู่ที่อารามนั้นด้วย
    วรรณกรรมทันสมัยชิ้นหนึ่งภาษาเยอรมัน ได้เขียนทำลายนิยายเรื่องพระเยซูในประเทศอินเดียโดยสิ้นเชิง แม้นิยายเรื่องนี้จะปรากฏออกมาอีกในบางครั้ง วรรณกรรมของกุนเตอร์ กรอนโบลด์ เรื่องอวสานของนิยายเรื่องพระเยซูในอินเดีย (Jesus in India : Das End einer Legende) ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาคือโกเซล เวอร์ลัง พิมพ์ที่มุนเชน ปี ค.ศ. 1985 จำนวน 152 หน้า