ทำไมบรรดานักประพันธ์คริสตชนในสมัยแรกๆ จึงได้ชื่อว่าปิตาจารย์ของพระศาสนจักร
พระคริสตเจ้ามิได้ขอให้บรรดาสานุศิษย์อุทิศตนเขียนบันทึกสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสอนพวกเขา แต่บรรดาสานุศิษย์ได้เก็บรักษาเรื่องราวต่างๆ ไว้ในความทรงจำของตน คือ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับชีวิตและคำสั่งสอนของพระคริสตเจ้า เมื่อพระคริสตเจ้ามิได้อยู่กับพวกเขาอีกต่อไปแล้ว สานุศิษย์บางคนและคนอื่นๆ ที่รวมกลุ่มกับพวกเขาได้เริ่มบันทึกสิ่งที่พวกเขาจำได้ และได้ไตร่ตรองถึงชีวิตและคำสั่งสอนของพระคริสตเจ้า ข้อเขียนต่างๆ นี้ในสมัยของบรรดาสานุศิษย์ประกอบกันเป็นพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ หลังจากนั้นได้มีการเขียนหนังสือคริสตชนต่อเนื่องมาตราบจนปัจจุบันนี้ หนังสือที่เขียนในช่วงเวลาใกล้กับสมัยอัครสาวกนั้นทรงคุณค่ากว่า ที่มีค่าเพราะความใกล้ชิดดังกล่าว
ปิตาจารย์คือผู้อาวุโสทางวัยวุฒิ บรรดานักประพันธ์และนักเทววิทยาที่มาหลังสมัยอัครสาวก และหนังสือที่เขียนขึ้นหลังจากพันธสัญญาใหม่นั้นมีความสำคัญยิ่งในหมู่นักเขียนคริสตชนในสมัยนั้น รองจากภาคพันธสัญญาใหม่ ดังนั้น จึงมีธรรมประเพณีที่เรียกผู้เขียนเหล่านั้นว่า “ปิตาจารย์ของพระศาสนจักร” ข้อเขียนต่างๆ ของบรรดาปิตาจารย์และในช่วงที่มีพวกท่านชีวิตอยู่ ได้ก่อให้เกิดสมัยปิตาจารย์ขึ้น ขอบเขตการศึกษาของบรรดาปิตาจารย์ทั้งหลายนั้นเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “patrology” หรือ “patristic” พระศาสนจักรมิได้ประกาศแต่งตั้งปิตาจารย์เหมือนอย่างที่ประกาศแต่งตั้งนักปราชญ์ของพระ-ศาสนจักร
สมัยปิตาจารย์นั้นโดยทั่วๆ ไปสิ้นสุดลงระหว่างศตวรรษที่ 7 และ 8 บรรดาปิตาจารย์กลุ่มสุดท้ายคือ พระสันตะปาปา เกรโกรรี ผู้ยิ่งใหญ่ (540-604) อิสิโดเร แห่งเซวิล (560-636) ท่านเบเด ผู้น่าเคารพ (673-735) และยอห์น ดามาซีน (675-750) บรรดาปิตาจารย์ก่อนหน้านี้คือบุคคลที่มีอายุใกล้เคียงกับบรรดาอัครสาวก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของ “ปิตาจารย์อัครสาวก” พวกท่านเป็นบรรดาปิตา-จารย์ผู้ซึ่งเขียนต่อจากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ในทันที จนถึงประมาณช่วงกลางศตวรรษที่ 2
ข้อเขียนของบรรดาปิตาจารย์นั้นมีคุณค่ามหาศาล อันประกอบด้วยธรรมประเพณียุคแรกของพระศาสนจักร เกี่ยวกับคำสอนคริสตชนและแนวทางปฏิบัติความเชื่อ ความเข้าใจของพวกท่านเกี่ยวกับคำสั่งสอนและธรรมประเพณีของอัครสาวกเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการเรียนรู้รากฐานความเชื่อคริสตชน และการปฏิบัติตามความเชื่อนั้น บรรดาปิตาจารย์มีชื่อเสียงโดดเด่นทางด้านความศักดิ์สิทธิ์ (แม้ทุกคนจะไม่เป็นที่รู้จักในนามของนักบุญก็ตาม) ซึ่งเป็นการเพิ่มความสำคัญให้กับข้อเขียนของพวกท่าน
ข้อเขียนต่างๆ ของบรรดาปิตาจารย์ มีความแม่นยำเพราะมีความสำคัญ ซึ่งบ่อยครั้งได้ถูกนำมาอ้างอิงในสภาสังคายนาต่างๆ รวมทั้งสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ซึ่งมีคุณค่ารองลงมาจากพระคัมภีร์ ดังนั้น สังคายนาวาติกันที่ 2 จึง “ส่งเสริมการศึกษาผลงานของบรรดาปิตาจารย์ ทั้งทางตะวันออกและตะวันตก” (การเผยความจริงของพระเป็นเจ้า 23) ไม่เพียงแต่พระศาสนจักรคาทอลิกเท่านั้น แต่คริสตจักรออร์โธด๊อกซ์ และโปรเตสแตนท์ด้วยที่ได้รับอิทธิพลจากข้อเขียนต่างๆ ของบรรดาปิตาจารย์
ถึงแม้ว่าบรรดาปิตาจารย์ส่วนมากจะเป็นพระสังฆราช และบางท่านมีตำแหน่งบรรพชิตก็ตาม ยังมีฆราวาสรวมอยู่ด้วยเช่นกัน ผู้ที่โดดเด่นมากที่สุดคือ เคลเมนต์ แห่งอเล็กซานเดรีย (150-215) และแตร์ตูเลียน (160-220) ข้อเขียนบางอย่างไม่ทราบนามผู้เขียน เช่น The Epistle to Diognetus ที่เขียนขึ้นในตอนต้นศตวรรษที่ 2 เป็นผลงานที่อธิบายถึงความเชื่อและธรรมเนียมต่างๆของบรรดาคริสตชน ตามคำขอร้องของคนสูงศักดิ์ที่มิใช่คริสตชน ชื่อ Diognetus ผู้ที่ไม่เป็นที่รู้จัก รูปแบบวรรณกรรมของข้อเขียนเหล่านี้นั้นมีหลากหลาย ซึ่งจะเห็นว่ามีบรรดาจดหมาย บทเทศน์ หนังสือตำราเรียนต่างๆ บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ รายงานเกี่ยวกับมรณสักขี ชีวประวัติบุคคลสำคัญๆ หนังสือจารีตพิธีกรรมต่างๆ ฯลฯ
สิ่งที่บรรยายไว้เป็นดัง “ต้นแบบวรรณคดีคริสตังยุคแรกเริ่มอันทรงคุณค่ายิ่ง นอกเหนือจากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่” สิ่งนั้นคือ จดหมายฉบับแรกของเคลเมนต์ถึงชาวโครินธ์ เคลเมนต์ผู้นี้คือพระสันตะปาปาองค์ที่ 3 แห่งโรม ในบรรดาผู้สืบตำแหน่งต่อจากนักบุญเปโตร พระองค์ทรงเขียนจากพระศาสนจักรแห่งโรมถึงคริสตจักรแห่งเมืองโครินธ์ เป็นที่ยอมรับโดยทั่วๆ ไปว่า จดหมายฉบับนี้เขียนขึ้นเมื่อประมาณปี ค.ศ. 96
ตามธรรมประเพณีนั้น มีปิตาจารย์ 8 ท่าน ที่ได้รับการยกย่องเป็นพิเศษทั้งด้านข้อเขียนและการบริการรับใช้พระศาสนจักร คือ บาซิลผู้ยิ่งใหญ่ เกรโกรีแห่งนาซีซาน ยอห์น คริสโซสโตม อาทานาซีอุสของพระศาสนจักรกรีก อัมโบรส เยโรม ออกัสติน และเกรโกรีผู้ยิ่งใหญ่ ของพระศาสนจักรลาติน