แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ทำไมจึงมีพิธีระลึกถึงบรรดานักบุญ (Saints) ในพระศาสนจักร

AllSaints2011small


    คำว่านักบุญนั้นมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าคริสตชนในพระศาสนจักรยุคแรก อันที่จริง คริสตชนที่ได้รับศีลล้างบาปนั้นเริ่มกระบวนการเข้าสู่การเป็นนักบุญ ดังตัวอย่างเช่น อานาเนียกล่าวกับพระเจ้าถึงเรื่องเซาโล (เปาโล) ว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าได้ยินหลายคนพูดถึงชายผู้นี้และได้ยินว่า ที่กรุงเยรูซาเล็ม เขาได้ทำร้ายบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์เพียงใด” (กจ 9:13) ในบทจดหมายต่างๆ ของท่านเปาโล ใช้คำว่านักบุญ เพื่อหมายถึงสัตบุรุษในคำทักทายขึ้นต้น” ถึงพระศาสนจักรของพระเจ้าที่อยู่เมืองโครินธ์ และถึงบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทุกคนซึ่งอยู่ทั่วแคว้นอาคายา” (2คร 1:1)

    อย่างไรก็ตาม คำว่านักบุญ (ผู้ศักดิ์สิทธิ์) นั้นได้มีความหมายทางวิชาการมากขึ้นและคำนึงถึงขีดคั่นอย่างแท้จริงกว่าปกติในพระ-ศาสนจักร มิใช่คริสตชนทุกคนจะเป็นนักบุญ นักบุญคือผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในสวรรค์ ท่านสามารถเสนอวิงวอนแทนเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ในโลกนี้และท่านเป็นผู้สมควรได้รับการเคารพนับถืออย่างเปิดเผย ท่านออริเจน ในศตวรรษที่ 3 (ค.ศ. 185-254) ได้กล่าวถึงพลังของการวอนขอแทนของบรรดานักบุญ ในศตวรรษที่ 5 (ค.ศ. 354-430) นักบุญออกัสตินก็ได้กล่าวทำนองเดียวกันในหนังสือของท่านเรื่อง The City of God
    ในช่วงการเบียดเบียนศาสนายุคแรกๆ นั้น เป็นที่เข้าใจกันว่าบรรดามรณสักขีคือนักบุญนั่นเอง ในสมัยพรตนิยม บรรดาผู้ถือสันโดษในทะเลทรายก็ได้ดำเนินชีวิตถือสันโดษอย่างเคร่งครัดใกล้เคียงกับวิถีทางการเป็นมรณสักขี จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นนักบุญ พิธีการระลึกถึงบรรดานักบุญก็ทวีมากขึ้นในศตวรรษต่อๆ มา ส่งผลให้เกิดมิใช่แค่ความศรัทธาของมหาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้กับศิลปะคริสตชนและวรรณคดีด้วย อันที่จริง มีวรรณกรรมคริสตชนเกี่ยวกับบรรดานักบุญมากมาย ซึ่งเรารู้จักกันว่าเป็นประมวลชีวประวัติของบรรดานักบุญ ซึ่งค่อยๆ ปรากฏขึ้น
    จนถึงประมาณต้นยุคกลาง บุคคลหนึ่งเมื่อเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นนักบุญนั้นจะได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการ และในบางครั้งมีสมณกฤษฎีกาออกมา ในปี ค.ศ. 1234 พระสันตะปาปา เกรกอรี ที่ 9 (ค.ศ. 1227-1241) ได้สงวนสิทธิ์การประกาศเป็นนักบุญไว้ให้พระ-สันตะปาปา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่ามีการประกาศตั้งเป็นนักบุญอย่างเป็นทางการ โดยจัดให้อยู่สารบบบัญชีรายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการคารวะนับถือจากสาธารณชน ในกระบวนการประกาศตั้งเป็นนักบุญของพระสันตะปาปานั้นมี 2 ขั้นตอน คือขั้นแรก ประกาศตั้งเป็นบุญ-ราศี (beatification)  โดยอนุมัติให้เฉพาะชุมชนท้องถิ่นทำพิธีแสดงคารวกิจในที่สาธารณะ เช่นในเขตสังฆมณฑลและภายในประเทศนั้นๆ แล้วจึงค่อยมีการประกาศตั้งเป็นนักบุญ (canonization) โดยขยายพิธีแสดงคารวกิจไปทั่วพระศาสนจักรสากล
    มีเหตุผลหลายประการในการแสดงคารวกิจต่อนักบุญต่างๆ ดังนี้
    1. เป็นธรรมเนียมที่จะยกย่องให้เกียรติบุคคลต่างๆ ที่โดดเด่นทางด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ข้าราชบริพาร นักประพันธ์ นักวิทยาศาสตร์ รัฐบุรุษ ฯลฯ พวกเขาได้รับการยกย่องว่าเป็น “วีรบุรุษ” จริงๆ แล้ว บางประเทศก็มีวันวีรบุรุษแห่งชาติ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติวีรชนเหล่านั้น นักบุญเป็นวีรบุรุษด้านฝ่ายจิต พวกท่านจึงสมควรได้รับเกียรติอย่างเป็นทางการ ดังนั้น จึงมีการเฉลิมฉลองด้วยการทำนพวารและจัดงานฉลองต่างๆ ฯลฯ เพื่อให้เกียรติแด่ท่าน
    2. เมื่อเราแสดงความชื่นชมและประทับใจในภาพวาดภาพหนึ่งนั้น มิใช่ชมชอบตัวภาพหรือผ้าใบ แต่ชื่นชอบจิตรกรผู้วาดภาพนั้น บรรดานักบุญเป็นผลงานศิลปของพระเจ้า คนเราจะเป็นนักบุญได้ก็โดยอาศัยความช่วยเหลือจากพระหรรษทานของพระเจ้า ดังนั้น การที่เราถวายเกียรติแด่บรรดานักบุญ ก็เป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้าพระผู้สร้าง ในการยกย่องให้เกียรติบรรดานักบุญนั้น เราถวายเกียรติแด่พระเจ้าเอง การเป็นนักบุญได้นั้น เรามิใช่แค่ต้องการความช่วยเหลือจากพระหรรษทานของพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยคำ-เสนอวิงวอนของบรรดานักบุญเพื่อจะได้รับพระพรที่เราวอนขอ ดังนั้น พิธีแสดงคารวะต่อบรรดานักบุญจึงแสดงถึงการเชื่อมโยงกับพระเจ้า
    3. บรรดานักบุญได้เคยเป็นเพื่อนร่วมชาติของเราและก็เป็นสมาชิกครอบครัวมนุษยชาติของเราด้วย พวกท่านได้ผ่านการทดลองและความวุ่นวายสับสน ได้รับการเอาใจใส่ดูแลและก็มีความวิตกกังวลถูกประจญ และถูกท้าทายต่างๆ นานาในชีวิต ดังนั้นจึงเข้าใจถึงความต้องการต่างๆ ของเราและเห็นใจเราเมื่อเราสวดภาวนาวอนขอความช่วยเหลือจากท่าน  บัดนี้พวกท่านอยู่ในฐานะที่ช่วยเราได้ พวกท่านจึงเสนอวิงวอนพระเจ้าแทนเรา เนื่องจากพวกท่านได้ปฏิบัติตามพระ-ประสงค์ของพระเจ้าเมื่อมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ บัดนี้พระเจ้าจะทรงสดับฟังคำวอนขอแทนเราของพวกท่าน และจะทรงประทานสิ่งที่เราวอนขอถ้าเป็นน้ำพระทัยของพระองค์
    4. บรรดานักบุญเป็นแบบอย่างให้เราปฏิบัติตาม พวกท่านเป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิตให้กับเราในฐานะผู้เลียนแบบอย่างพระคริสตเจ้า การดำเนินชีวิตที่เป็นรูปธรรมซึ่งเราสามารถสังเกตเห็นได้ว่าเป็นวิถีชีวิตและคำสั่งสอนขององค์พระคริสตเจ้า พวกท่านเป็นแรงบันดาลใจ และช่วยชี้นำทางชีวิต เป็นบทเรียนสอนใจเราในการมุ่งหน้าสู่ความศักดิ์สิทธิ์
    5. บรรดานักบุญเป็นประจักษ์พยานถึงความจริงของการเป็นคริสตชน พวกท่านเป็นบทพิสูจน์ถึงสิ่งที่สามารถบรรลุถึงได้โดยการน้อมรับคำสั่งสอนของคริสตศาสนา และด้วยการดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของท่าน ดังนั้น ชีวิตของพวกท่านจึงเป็นการพิสูจน์ว่าความจริงของความเชื่อคริสตชนเป็นสิ่งถูกต้อง ดังที่พระคาร์ดินัลนิวแมนได้บอกไว้ว่า  บรรดานักบุญเป็น “เครื่องบ่งชี้ที่ถูกต้องและแท้จริงของพระเจ้าของศาสนาคริสต์”