ทำไมวันอาทิตย์จึงเป็นวันพระเจ้าสำหรับชาวคาทอลิก
เรื่องการสร้างโลกที่มีเล่าอยู่ในหนังสือปฐมกาลนั้น ยึดหลักการจัดลำดับขั้นตอนของสิ่งสร้างทั้งหลายในแต่ละวัน จนที่สุดพระเจ้าทรงพักผ่อนในวันที่เจ็ด และด้วยเหตุนี้เอง “พระเจ้าทรงอวยพรวันที่เจ็ด และทรงทำให้วันนั้นเป็นวันศักดิ์สิทธิ์” (ปฐก 2:3) เรื่องเล่านี้ได้ระบุไว้ล่วงหน้าให้ชาวยิวรู้ถึงเหตุผลว่าทำไมวันที่เจ็ดของสัปดาห์จึงควรถือเป็นวันของพระเจ้า วันสับบาโต (วันพักผ่อน) และวันศักดิ์สิทธิ์
- การถือวันสับบาโตนั้นยังรวมถึงการถือตามพระบัญญัติของพระเจ้า คือ “จงระลึกวันสับบาโตว่าเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ ท่านจะต้องออกแรงทำงานทั้งหมดในหกวัน แต่วันที่เจ็ดเป็นวันพักผ่อนที่ถวายแด่พระยาห์เวห์ พระเจ้าของท่าน ในวันนั้น ท่านต้องไม่ทำงานใดๆ” (อพย 20:8-10, ฉธบ 5:12-14) ข้อปฏิบัติแต่เดิมนั้นเป็นการเตรียมเพื่อเริ่มต้นใหม่ ในชีวประวัติของพระคริสตเจ้านั้น เราเห็นถึงความสมบูรณ์ ความดีพร้อม และการทำให้สำเร็จไปตามคำทำนาย เป็นนิมิตและมองล่วงหน้าถึงประวัติศาสตร์ประชาชนชาวยิว ความจริง การสร้างโลกเป็นจุดเริ่มต้นสู่การสร้างใหม่ฝ่ายจิต ซึ่งนำมาโดยอาศัยการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้า ดังเช่นในเรื่องราวของการสร้าง พระเจ้าทรงทำงานของพระองค์จนสำเร็จและทรงพักผ่อนในวันที่เจ็ด ดังนั้น ในการสร้างใหม่ พันธกิจการไถ่กู้ของพระคริสตเจ้าสำเร็จลงโดยการสิ้นพระชนม์ และตามด้วยการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์
การพักผ่อนของพระเจ้าในวันที่เจ็ดนั้นได้ถูกนำเสนอให้ประชาชนชาวยิวอย่างมีเหตุผลที่สอดคล้องกัน เพื่อรักษาหนึ่งวันในรอบสัปดาห์เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ แต่ในปัจจุบันมีเหตุผลที่โน้มน้าวตรงประเด็นในการรักษาวันสับบาโตเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ เมื่อพระคริสตเจ้าได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ เป็นจุดสุดยอดและข้อพิสูจน์อันน่าเชื่อถือที่สุดว่าพระเจ้าทรงเป็นต้นกำเนิดของพันธกิจการไถ่กู้ แต่เหตุการณ์นี้คือ การกลับคืนพระชนมชีพนั้นได้เกิดขึ้นในวันที่เจ็ด แต่วันที่แปดนั้นเป็นวันแรกของสัปดาห์สำหรับชาวยิวซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ของเรา “หลังจากวันสับบาโต เช้าตรู่ของวันต้นสัปดาห์ มารีย์ชาวมักดาลา และมารีย์อีกผู้หนึ่ง ไปดูพระคูหา” (มธ 28:1, เทียบ มก 16:1-2, ลก 24:1, ยน 20:1)
ดังนั้น วันต้นสัปดาห์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับระบบใหม่ และสำหรับบรรดาผู้ติดตามองค์พระคริสตเจ้า พวกเขาได้เห็นว่าในการกลับคืนพระชนมชีพนั้นมีเหตุผลสำคัญในการถือวันต้นสัปดาห์เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งกว่าเหตุผลในการถือวันที่เจ็ดเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น วันต้นสัปดาห์ของชาวยิวจึงกลายเป็นวันใหม่ขององค์พระผู้-เป็นเจ้าสำหรับบรรดาคริสตชน (วว 1:10) ด้วยเหตุนี้เอง พระศาสนจักรยุคแรกเริ่มนั้นมีการจัดชุมนุมกันในวันต้นสัปดาห์ (คือวันอาทิตย์ของเรา) “ในวันต้นสัปดาห์เรามาชุมนุมกันเพื่อทำพิธีบิขนมปัง” (กจ 20:7) “ทุกวันแรกของสัปดาห์ แต่ละท่านจงเก็บเงินที่ท่านประหยัดไว้ เพื่อจะได้ไม่ต้องเก็บเรี่ยไรเมื่อข้าพเจ้ามาเยี่ยม” (1คร 16:2)
ตั้งแต่สมัยแรกนั้น วันที่แปดหรือวันแรกของสัปดาห์สำหรับชาวยิว (แทนที่จะเป็นวันสุดท้าย) จึงได้กลายเป็นวันสับบาโต วันขององค์พระผู้เป็นเจ้าของบรรดาคริสตชน และด้วยเหตุผลประการนี้ พวกเขาเห็นว่าเป็นเหตุผลเพียงพอเพื่อทำการเปลี่ยนแปลง สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ได้กล่าวถึงการปฏิบัติของคาทอลิกไว้ว่า “ตามประเพณีอันสืบเนื่องมาจากบรรดาอัครสาวก และมีต้นเดิมมาจากวันที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระศาสนจักรฉลองธรรมล้ำลึกปัสกาทุกๆ วันที่แปด ซึ่งเป็นเหตุผลที่ถูกต้องแล้วที่เรียกว่าวันของพระเจ้า หรือวันอาทิตย์” (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ 106)
บรรดาคริสตชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเซเว่นเดย์ แอตเวนติสต์ และพวกเซเว่นเดย์ บัปติสต์ ที่ยึดถือวันเสาร์เป็นวันสับบาโต ยังคงอยู่ในยุคพันธสัญญาเดิม