แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 2 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 2:1-11)                                                                                   

สามวันต่อมามีงานสมรสที่หมู่บ้านคานาในแคว้นกาลิลี พระมารดาของพระเยซูเจ้าทรงอยู่ในงานนั้น พระเยซูเจ้าทรงได้รับเชิญพร้อมกับบรรดาศิษย์มาในงานนั้นด้วย เมื่อเหล้าองุ่นหมด พระมารดาของพระเยซูเจ้าจึงมาทูลพระองค์ว่า “เขาไม่มีเหล้าองุ่นแล้ว” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “หญิงเอ๋ย ท่านต้องการสิ่งใด เวลาของเรายังมาไม่ถึง” พระมารดาของพระเยซูเจ้าจึงกล่าวแก่บรรดาคนรับใช้ว่า  “เขาบอกให้ท่านทำอะไร ก็จงทำเถิด” ที่นั่นมีโอ่งหินตั้งอยู่หกใบ เพื่อใช้ชำระตามธรรมเนียมของชาวยิว แต่ละใบจุน้ำได้ประมาณหนึ่งร้อยลิตร พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาคนรับใช้ว่า “จงตักน้ำใส่โอ่งให้เต็ม” เขาก็ตักน้ำใส่จนเต็มถึงขอบ แล้วพระองค์ทรงสั่งเขาอีกว่า “จงตักไปให้ผู้จัดงานเลี้ยงเถิด” เขาก็ตักไปให้ ผู้จัดงานเลี้ยงได้ชิมน้ำที่เปลี่ยนเป็นเหล้าองุ่นแล้ว ไม่รู้ว่าเหล้านี้มาจากไหน แต่คนรับใช้ที่ตักน้ำรู้ดี ผู้จัดงานเลี้ยงจึงเรียกเจ้าบ่าวมา พูดว่า “ใคร ๆ เขานำเหล้าองุ่นอย่างดีมาให้ก่อน เมื่อบรรดาแขกดื่มมากแล้ว จึงนำเหล้าองุ่นอย่างรองมาให้ แต่ท่านเก็บเหล้าอย่างดีไว้จนถึงบัดนี้” พระเยซูเจ้าทรงกระทำเครื่องหมายอัศจรรย์ ครั้งแรกนี้ที่หมู่บ้านคานา แคว้นกาลิลี พระองค์ทรงแสดงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ และบรรดาศิษย์เชื่อในพระองค์ 


ยน 2:1-12  ด้วยคำขอร้องของพระมารดามารีย์ พระคริสตเจ้าจึงทรงทำอัศจรรย์ครั้งแรกของพระองค์ในงานสมรสที่หมู่บ้านคานา งานสมรสเป็นภาพลักษณ์ล่วงหน้าถึงงานเลี้ยงสมรสของลูกแกะในสวรรค์ ที่ซึ่งมีความเป็นหนึ่งเดียวอย่างครบครันและด้วยความปีติระหว่างพระคริสตเจ้าและสมาชิกทั้งหมดในพระวรกายทิพย์ของพระองค์ คือพระศาสนจักร การสมรสที่หมู่บ้านคานายังเป็นการยืนยันถึงความศักดิ์สิทธิ์ของการสมรสคริสตชน ซึ่งพระคริสตเจ้าได้ยกขึ้นสู่ระดับศีลศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากไม่มีการกล่าวถึงนักบุญโยเซฟ บิดาเลี้ยงของพระคริสตเจ้าและพระภัสดาของพระนางมารีย์อีกเลยทั้งในที่นี้และในตอนอื่นของพระวรสาร จึงคาดการณ์ได้ว่านักบุญโยเซฟคงสิ้นชีวิตก่อนที่พระคริสตเจ้าจะทรงเริ่มพันธกิจสาธารณะของพระองค์    

CCC ข้อ 967 จากความชิดสนิทกับพระประสงค์ของพระบิดา กับงานกอบกู้ของพระบุตรของพระนาง และกับการดลใจทุกประการของพระจิตเจ้า พระนางพรหมจารีมารีย์ทรงเป็นแบบอย่างของความเชื่อและความรักสำหรับพระศาสนจักร เพราะเหตุนี้ พระนางจึงทรงเป็น “ดังสมาชิกพิเศษที่โดดเด่นของพระศาสนจักร” และยังทรงเป็น “ตัวอย่างกำเนิดรูปแบบ” ของพระศาสนจักรอีกด้วย    

CCC ข้อ 968 แต่ทว่าบทบาทที่พระนางมีต่อพระศาสนจักรและมวลมนุษยชาติยังแผ่กว้างยิ่งขึ้นอีก    พระนาง “ได้ทรงร่วมงานของพระผู้ไถ่อย่างพิเศษสุดนี้ด้วยความเชื่อฟัง ความเชื่อ ความหวังและความรักที่ลุกโชติช่วง เพื่อนำวิญญาณกลับมารับชีวิตนิรันดรอีกครั้งหนึ่ง เพราะเหตุนี้พระนางจึงทรงเป็นพระมารดาของเราในด้านพระหรรษทาน”

CCC ข้อ 969 “การที่พระนางมารีย์ทรงเป็นพระมารดาของเราในแผนการพระหรรษทานนี้คงอยู่ตลอดไปไม่จบสิ้น นับตั้งแต่ที่พระนางทรงยอมรับแผนการของพระเจ้าด้วยความเชื่อเมื่อทูตสวรรค์มาแจ้งข่าว และยังคงยอมรับอย่างยึดมั่นต่อไปโดยไม่ลังเลพระทัยภายใต้ไม้กางเขน จวบจนถึงวาระที่ผู้รับเลือกสรรทุกคนจะได้รับชีวิตนิรันดร เมื่อพระนางทรงได้รับเกียรติยกสู่สวรรค์แล้วก็มิได้ทรงละบทบาทนี้ แต่ยังทรงวอนขอความต้องการพระหรรษทานต่างๆ สำหรับความรอดพ้นนิรันดรแทนเราต่อไป [...] เพราะเหตุนี้พระนางพรหมจารีจึงทรงได้รับเรียกขานให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในพระศาสนจักร เช่น ทนายผู้แก้ต่าง ผู้อุปถัมภ์ ผู้ช่วยเหลือคนกลาง”

CCC ข้อ 970 “บทบาทมารดาของพระนางมารีย์ต่อมนุษย์ไม่ทำให้การเป็นคนกลางเพียงคนเดียวของพระคริสตเจ้านี้เจือจางหรือลดน้อยลงเลย แต่ยิ่งแสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะอิทธิพลของพระนางพรหมจารีต่อมนุษย์เกี่ยวกับความรอดพ้นนี้ [...] สืบเนื่องมาจากพระทัยดีของพระเจ้าและจากบุญกุศลล้นเหลือของพระคริสตเจ้า อิงอยู่กับการที่พระองค์ทรงเป็นคนกลางของมนุษย์กับพระเจ้าขึ้นอยู่กับการนี้โดยสิ้นเชิง และได้รับประสิทธิผลทั้งหมดมาจากการนี้ด้วย” “ไม่มีสิ่งสร้างใดจะเทียบเท่าพระวจนาตถ์และพระผู้ไถ่กู้ได้ แต่ทว่า เช่นเดียวกับที่บรรดาศาสนบริกรและประชากรผู้มีความเชื่อมีส่วนในสมณภาพของพระคริสตเจ้าได้ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน และเช่นเดียวกับที่พระเจ้าทรงหลั่งความดีของพระองค์ในบรรดาสิ่งสร้างอย่างแท้จริงด้วยวิธีการต่างๆฉันใด ความเป็นคนกลางแต่เพียงผู้เดียวของพระผู้ไถ่ก็ไม่ปฏิเสธ แต่กลับส่งเสริมให้บรรดาสิ่งสร้างได้ร่วมงานกันโดยมีส่วนร่วมด้วยวิธีการต่างๆ จากต้นธารหนึ่งเดียวกันนี้”

CCC ข้อ 971 “ชนทุกสมัยจะกล่าวว่าข้าพเจ้าเป็นสุข” (ลก 1:48) “ความเลื่อมใสศรัทธาของพระศาสนจักรต่อพระนางพรหมจารีมารีย์เกี่ยวข้องกับธรรมชาติเองของคารวกิจของคริสตชน” พระนางพรหมจารี “ได้รับความเคารพเป็นพิเศษจากพระศาสนจักร และนับตั้งแต่แรกเริ่มแล้วพระนางทรงได้รับความเคารพในตำแหน่ง ‘มารดาพระเจ้า’ และบรรดาผู้มีความเชื่อต่างพากันหลบมาขอความคุ้มครองของพระนางจากภยันตรายและในความต้องการต่างๆ [...] การแสดงคารวะเช่นนี้ [...] แม้จะเป็นการแสดงคารวะอย่างพิเศษ ก็ยังมีความแตกต่างในสาระสำคัญจากการแสดงคารวะต่อพระเจ้าที่พระศาสนจักรแสดงต่อพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ต่อพระบิดา และต่อพระจิตเจ้า ที่การแสดงคารวะต่อพระนางมารีย์นี้ช่วยส่งเสริมอย่างมากด้วย” การแสดงคารวะเช่นนี้แสดงออกในการฉลองตามพิธีกรรมที่ถวายแด่พระมารดาของพระเจ้า และในบทภาวนาแด่พระนางมารีย์ เช่น การสวดสายประคำ ซึ่งเป็นเสมือน “การย่อความพระวรสารทั้งหมด” 

CCC ข้อ 972 หลังจากที่ได้กล่าวถึงต้นกำเนิด พันธกิจ และจุดหมายของพระศาสนจักรแล้ว เราคงไม่อาจกล่าวสรุปอย่างไรได้ดีกว่าหันมาหาพระนางมารีย์เพื่อพิจารณาในพระนางให้เห็นว่า พระศาสนจักร จะเป็นอย่างไรในสวรรค์บ้านแท้เมื่อเดินทางมาถึงสุดปลายแล้ว ที่นั่น พระนางที่พระศาสนจักรให้ความเคารพเป็น   พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้าและพระมารดาของตนกำลังรอคอยอยู่ “ในความสัมพันธ์ของผู้ศักดิ์สิทธิ์ทุกคน” “เพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์ยิ่งและแบ่งแยกไม่ได้” “ในระหว่างนั้น พระมารดาของพระเยซูเจ้าผู้ทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์ในสวรรค์แล้วทั้งกายและวิญญาณทรงเป็นภาพลักษณ์และจุดเริ่มที่           พระศาสนจักรจะบรรลุถึงความสมบูรณ์ในโลกหน้าแล้วฉันใด ในโลกนี้พระนางก็ทรงฉายแสงเจิดจ้าเป็นเสมือนเครื่องหมายถึงความหวังแน่นอนและความบรรเทาซึ่งประชากรของพระเจ้าที่กำลังเดินทางในโลกนี้มีอยู่จนกว่าวันขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะมาถึงด้วยฉันนั้น”

CCC ข้อ 973 เมื่อพระนางมารีย์กล่าวตอบทูตสวรรค์ที่มาแจ้งข่าวแก่พระนางว่า “ขอให้เป็นไปเถิด” และเห็นด้วยกับพระธรรมล้ำลึกการรับสภาพมนุษย์ของพระวจนาตถ์นั้น พระนางก็ร่วมงานทั้งหมดกับพันธกิจที่ พระบุตรจะต้องปฏิบัติให้สำเร็จ พระนางทรงเป็นพระมารดาในทุกแห่งที่องค์พระผู้ไถ่และศีรษะของพระกายทิพย์ประทับอยู่

CCC ข้อ 974 เมื่อพระนางพรหมจารีมารีย์ทรงผ่านช่วงเวลาพระชนมชีพในโลกนี้แล้วทรงได้รับพระเกียรติยกขึ้นสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ ที่นั่นพระนางทรงร่วมพระสิริรุ่งโรจน์ของการกลับคืนพระชนมชีพของพระบุตรของพระนาง และเป็นประกันล่วงหน้าถึงการกลับคืนชีพของเราทุกคนที่เป็นส่วนประกอบพระกายทิพย์ของพระองค์

CCC ข้อ 975 “ข้าพเจ้าทั้งหลายเชื่อว่าพระมารดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเจ้า นางเอวาคนใหม่ มารดาของพระศาสนจักร บัดนี้ยังคงปฏิบัติภารกิจเยี่ยงมารดาเพื่อส่วนต่างๆ ของพระวรกายของพระคริสตเจ้าต่อไปในสวรรค์”

CCC ข้อ 1613 เมื่อพระเยซูเจ้ากำลังจะทรงเริ่มเทศนาสั่งสอนประชาชน ได้ทรงกระทำเครื่องหมายอัศจรรย์ครั้งแรกของพระองค์ – ตามการวอนขอของพระมารดา – ในงานเลี้ยงฉลองงานสมรสครั้งหนึ่ง      พระศาสนจักรให้ความสำคัญมากแก่การที่พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในงานวิวาหมงคลที่หมู่บ้านคานา                พระศาสนจักรเห็นว่าเหตุการณ์ที่นั่นเป็นการยืนยันถึงความดีของการสมรสและงานสมรสที่นั่นยังจะเป็นเครื่องหมายทรงประสิทธิภาพถึงการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าอีกด้วย   

CCC ข้อ 2618 พระวรสารเปิดเผยให้เราทราบว่าพระนางมารีย์ทรงอธิษฐานภาวนาและวอนขอแทนเราอย่างไร ที่หมู่บ้านคานา พระนางมารีย์วอนขอพระบุตรเพื่อความจำเป็นของการเลี้ยงงานแต่งงาน ซึ่งเป็นเครื่องหมายของอีกงานเลี้ยงหนึ่ง คือการเลี้ยงงานวิวาห์ของ “ลูกแกะ” ผู้ประทานพระกายและพระโลหิตของพระองค์เมื่อพระศาสนจักร เจ้าสาวของพระองค์ร้องขอ ในเวลาของพันธสัญญาใหม่ที่เชิงไม้กางเขน พระเจ้าทรงรับฟังพระนางมารีย์ในฐานะสตรี นางเอวาคนใหม่ “มารดาที่แท้จริงของผู้มีชีวิต”   


ยน 2:3  เขาไม่มีเหล้าองุ่นแล้ว : พระนางมารีย์ได้แสดงถึงการเอาใจใส่และความเห็นใจในความสุขของงานเลี้ยง ความใส่ใจเยี่ยงมารดาของพระนางยังคงมีต่อไปสำหรับทุกคนผ่านทางการเสนอวิงวอนอันทรงอำนาจของพระนาง ดังที่ บทโปรดระลึกเถิด ได้แสดงความศรัทธาต่อพระนางมารีย์ไว้ว่า “โปรดระลึกเถิด พระแม่มารีย์พรหมจารีผู้โอบอ้อมอารี แต่ไหนแต่ไรมายังไม่เคยได้ยินเลยว่า ผู้ที่มาพึ่งพา ขอความช่วยเหลือและความคุ้มครองจากพระแม่ จะถูกพระแม่ทอดทิ้ง ลูกมั่นใจดังนี้ จึงรีบมาเฝ้าพระมารดา พรหมจารีแห่งพรหมจารีทั้งหลาย ลูกเป็นคนบาปมาคร่ำครวญอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระแม่ ข้าแต่พระมารดาแห่งพระวจนาตถ์ โปรดอย่าเมินเฉยต่อวาจาของลูก แต่โปรดฟังและประทานตามที่ลูกวอนขอด้วยเทอญ อาแมน”    

CCC ข้อ 2618 อ่านเพิ่มเติมที่ด้านบน (ยน 2:1-12)   

CCC ข้อ 2677 “สันตะมารีย์ พระมารดาพระเจ้า โปรดภาวนาเพื่อลูกทั้งหลาย....” เรารู้สึกแปลกใจเหมือนนางเอลีซาเบธ “ทำไมพระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้าจึงเสด็จมาเยี่ยมข้าพเจ้า” (ลก 1:43) เพราะเหตุที่พระนางมารีย์ทรงให้พระเยซูพระบุตรของพระนางแก่เรา พระนางจึงเป็นพระมารดาพระเจ้าและพระมารดาของเรา เราจึงอาจฝากตัวเรา ความกังวลและความต้องการทุกอย่างของเราไว้กับพระนางและวอนขอได้ พระนางทรงวอนขอเพื่อเราเช่นเดียวกับเพื่อพระนางเอง “ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” (ลก 1:38) เราฝากตัวไว้กับคำวอนขอของพระนาง เรามอบตัวเราพร้อมกับพระนางไว้กับพระประสงค์ของพระเจ้า “พระประสงค์จงสำเร็จไปเถิด” “โปรดภาวนาเพื่อลูกทั้งหลายผู้เป็นคนบาป บัดนี้และเมื่อจะตายเทอญ”  เมื่อวอนขอให้พระนางมารีย์ภาวนาเพื่อเรา เรายอมรับว่าเป็นคนบาปน่าสงสารและหันมาหา “พระมารดาผู้ทรงเมตตากรุณา” มาหาพระนางผู้ศักดิ์สิทธิ์อย่างสมบูรณ์ เราฝากตัวเราไว้กับพระนาง “บัดนี้” ในวันนี้ชีวิตของเรา ความวางใจของเรายังขยายออกไปอีกเพื่อมอบ “เวลาที่เราจะสิ้นใจ” แก่พระนาง ณ บัดนี้ด้วย ขอให้พระนางอยู่กับเราในเวลานั้น เหมือนกับที่ได้ทรงอยู่กับพระบุตรเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และขอให้พระนางทรงรับเราเหมือนกับเป็นมารดาของเรา และนำเราไปพบพระบุตรของพระนางในสวรรค์ด้วย   


ยน 2:4  พระคริสตเจ้าตรัสตอบคำถามเชิงโวหารของพระมารดาว่า “ท่านต้องการสิ่งใด” การอ้างอิงถึง “เวลา” ของพระองค์ อันเป็นเวลาที่กำหนดสำหรับการทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์นั้นบ่ชี้ว่านั่นยังไม่ถึงเวลาที่จะเปิดเผยพระองค์เองด้วยการทำอัศจรรย์ในงานสมรสนั้น อย่างไรก็ตาม “เวลา” ของพระองค์ก็มาถึงด้วยคำขอร้องของพระมารดาของพระองค์ การเริ่มต้นพันธกิจสาธารณะของพระองค์หมายความถึงการปฏิเสธ ความทุกข์ทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ และความทุกข์ของพระนางมารีย์เองในการเป็นประจักษ์พยานถึงเหตุการณ์เหล่านี้ซึ่งกำลังใกล้เข้ามาแล้ว โดยการเรียกพระมารดาของพระองค์ว่า “หญิงเอ๋ย” พระคริสตเจ้าทรงต้องการอ้างอิงถึงบทบาทของพระนางในฐานะเอวาคนใหม่ (เทียบ ปฐก 3:15) ซึ่งการนอบน้อมต่อพระเจ้าของพระนางนั้นตรงกันข้ามกับความไม่เชื่อฟังของเอวา หลังจากนั้น ขณะที่พระนางมารีย์ประทับยืนแทบเชิงกางเขน พระคริสตเจ้าตรัสกับพระนางอีกครั้งว่า “แม่”       

CCC ข้อ 964 บทบาทของพระนางมารีย์ต่อพระศาสนจักรนั้นแยกไม่ออกจากความสัมพันธ์ของพระนาง กับพระคริสตเจ้า และยังสืบเนื่องมาจากความสัมพันธ์นี้ด้วย “ความสัมพันธ์นี้ของพระนางมารีย์กับพระบุตรในงานไถ่กู้เห็นได้ชัดเจนตั้งแต่เวลาที่พระคริสตเจ้าทรงปฏิสนธิจากพระนางพรหมจารีจนถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์” ความสัมพันธ์นี้เห็นได้ชัดเจนเป็นพิเศษในเวลาที่ทรงรับทรมาน “พระนางพรหมจารียังทรงก้าวหน้าอยู่เสมอในวิถีทางแห่งความเชื่อ และทรงรักษาความสัมพันธ์ของพระนางกับพระบุตรไว้อย่างมั่นคงจนถึงไม้กางเขนที่ซึ่งพระนางทรงยืนอยู่ด้วยตามแผนการที่พระเจ้าทรงจัดไว้ (เทียบ ยน 19:25) ทรงร่วมทุกข์อย่างแสนสาหัสกับพระบุตรแต่องค์เดียวของพระนางและร่วมถวายตนด้วยจิตใจเยี่ยงมารดาเป็นบูชาร่วมกับพระบุตร เต็มพระทัยยอมถวายพระบุตรที่ทรงบังเกิดจากพระนางเป็นเครื่องบูชาด้วยความรัก และในที่สุดพระนางยังทรงรับเป็นมารดาของศิษย์ที่พระเยซูเจ้าซึ่งกำลังจะสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนทรงมอบให้ด้วยพระวาจาที่ตรัสว่า “แม่ นี่คือลูกของแม่” (เทียบ ยน 19:26-27)”   

CCC ข้อ 2618 อ่านเพิ่มเติมที่ด้านบน (ยน 2:1-12)   


ยน 2:5  เขาบอกให้ท่านทำอะไร ก็จงทำเถิด : ในพระคัมภีร์มีการอ้างอิงถึงพระนางมารีย์ไม่มากนัก แต่ทุกพระวาจาของพระนางล้วนเต็มไปด้วยความหมายที่ยั่งยืนสำหรับคริสตชนทุกคน บทสอนของพระนางในการจัดสรรเหล้าองุ่นให้นี้เป็นหลักพื้นฐานสำหรับทุกคนที่ปรารถนาติดตามพระคริสตเจ้า    

CCC ข้อ 148 พระนางพรหมจารีมารีย์ทรงทำให้การยอมรับความเชื่อเป็นจริงอย่างสมบูรณ์ที่สุด พระนางมารีย์ทรงรับข่าวสารและพระสัญญาที่ทูตสวรรค์กาเบรียลนำมาแจ้งให้ทราบด้วยความเชื่อ เพราะทรงเชื่อว่า “ไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าจะทรงกระทำไม่ได้” (ลก 1:37) และทรงน้อมรับพระประสงค์ “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” (ลก 1:38) นางเอลีซาเบธก็ทักทายพระนางด้วยถ้อยคำว่า “เธอเป็นสุขที่เชื่อว่าพระวาจาที่องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสแก่เธอไว้จะเป็นจริง” (ลก 1:45) เพราะความเชื่อนี้เองชนทุกสมัยจะกล่าวว่าพระนางเป็นสุข    

CCC ข้อ 2674 พระนางทรงตอบรับการแจ้งสารจากทูตสวรรค์ด้วยความเชื่อและยังทรงยึดมั่นโดยไม่ลังเลพระทัยที่เชิงไม้กางเขน การเป็นมารดาของพระนางมารีย์จึงแผ่ไปถึงบรรดาพี่น้องของพระบุตรที่ยังเดินทางโดยเสี่ยงอันตรายและประสบความยากลำบากอยู่ในโลกนี้ พระเยซูเจ้า คนกลาง(ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์)แต่ผู้เดียว ทรงเป็นหนทางการอธิษฐานภาวนาของเรา พระนางมารีย์ พระมารดาของพระองค์และของเรา ทรงทำให้เราเห็นภาพของพระองค์อย่างชัดเจน พระนาง “ทรงแสดงหนทาง” (hodigitria) ทรงเป็น “ป้ายชี้ทาง” ของพระองค์ตามธรรมประเพณีภาพวาดของพระศาสนจักรทั้งตะวันออกและตะวันตก     


ยน 2:10  เหล้าองุ่นอย่างดี : การเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล่าองุ่นนี้มีความหมายที่หลากหลาย ในแง่หนึ่ง บทสอนที่ได้จากอัศจรรย์นี้บ่งบอกถึงความสำคัญของการมอบสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า ดังที่เห็นได้จากคุณภาพอันดีเลิศของเหล้าองุ่น ซึ่งในความหมายหนึ่งยังเป็นภาพลักษณ์ล่วงหน้าถึงพิธีบูชาขอบพระคุณ ที่ซึ่งเหล้าองุ่นกลายเป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า ซึ่งเป็น “เหล้าองุ่นใหม่” ของงานวิวาห์แห่งสวรรค์ นอกนั้นยังเป็นการประกาศว่าในอีกไม่ช้าพระคริสตเจ้าจะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์และจะทรงเป็นเครื่องหมายแห่งพันธสัญญาใหม่ ซึ่งจะสำเร็จไปและจะอยู่เหนือพันธสัญญาเดิมระหว่างพระเจ้าและชาวอิสราเอล     

CCC ข้อ 1335 อัศจรรย์การทวีขนมปัง เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงถวายพระพร บิขนมปังและทรงให้บรรดาศิษย์นำไปแจกเพื่อเลี้ยงประชาชนนั้น เป็นภาพล่วงหน้าของความอุดมสมบูรณ์ของขนมปังศีลมหาสนิทหนึ่งเดียวของพระองค์นี้ เครื่องหมายอัศจรรย์ที่ทรงเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่นที่หมู่บ้านคานาก็ประกาศถึงการรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าแล้ว เครื่องหมายอัศจรรย์นี้แสดงถึงความสำเร็จเป็นจริงอย่างสมบูรณ์ของงานเลี้ยงวิวาห์มงคลในพระอาณาจักรของพระบิดา ในงานเลี้ยงนี้บรรดาผู้มีความเชื่อจะดื่มเหล้าองุ่นใหม่ที่เปลี่ยนเป็นพระโลหิตของพระคริสตเจ้าแล้ว  

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)