แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 21:25-28, 34-36)                                                                                                                                    

เวลานั้น จะมีเครื่องหมายในดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดวงดาวต่างๆ ชนชาติต่างๆ บนแผ่นดินจะทนทุกข์ทรมาน ฉงนสนเท่ห์ต่อเสียงกึกก้องของทะเลที่ปั่นป่วน  มนุษย์จะสลบไปเพราะความกลัว และหวั่นใจถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในโลก เพราะสิ่งต่างๆ ในท้องฟ้าจะสั่นสะเทือน  หลังจากนั้นประชาชนทั้งหลายจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาในก้อนเมฆ ทรงพระอานุภาพและพระสิริรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่ เมื่อเหตุการณ์ทั้งปวงนี้เริ่มเกิดขึ้น ท่านทั้งหลายจงยืนตรง เงยหน้าขึ้นเถิด เพราะในไม่ช้าท่านจะได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระแล้ว

จงระวังไว้ให้ดี อย่าปล่อยใจของท่านให้หมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานรื่นเริง ความเมามายและความกังวลถึงชีวิตนี้ มิฉะนั้น วันนั้นจะมาถึงท่านอย่างฉับพลันเหมือนบ่วงแร้ว เพราะวันนั้นจะลงมาเหนือทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดิน ท่านทั้งหลายจงตื่นเฝ้าอธิษฐานภาวนาอยู่ตลอดเวลาเถิด เพื่อท่านจะมีกำลังหนีพ้นเหตุการณ์ทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นนี้ ไปยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์บุตรแห่งมนุษย์ได้ 


ลก 21:27  ประชาชนทั้งหลายจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์... พระสิริรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่: ภาพนี้มีความหมายรวมถึงทั้งการสถาปนาพันธสัญญาใหม่และการเสด็จมาครั้งที่สองของพระคริสตเจ้าด้วย พระอาณาจักรของพระคริสตเจ้าจะต้องผ่านทางแห่งความทุกข์ยากและการเบียดเบียนที่ทุกข์ทรมานซึ่งจะบรรลุถึงความสมบูรณ์ในวันสุดท้าย       

CCC ข้อ 671 ถึงกระนั้น พระอาณาจักรของพระคริสตเจ้าที่เป็นปัจจุบันอยู่แล้วในพระศาสนจักรของพระองค์ก็ยังไม่สมบูรณ์โดยการเสด็จมาในโลกของพระมหากษัตริย์ผู้ “ทรงพระอำนาจและพระสิริรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่” (ลก 21:27) พระอาณาจักรยังถูกต่อต้านจากอำนาจชั่วร้าย แม้ว่าอำนาจชั่วร้ายเหล่านี้ได้ถูกปัสกาของพระคริสตเจ้าพิชิตอย่างเด็ดขาดไปแล้ว ก่อนที่ทุกสิ่งจะถูกปราบให้อยู่ใต้อำนาจของพระองค์ “ก่อนที่ฟ้าใหม่แผ่นดินใหม่จะมาถึง ที่ซึ่งความยุติธรรมจะพำนักอยู่นั้น พระศาสนจักรที่กำลังเดินทางอยู่ในโลกนี้ ก็ใช้ศีลศักดิ์สิทธิ์และระเบียบปฏิบัติต่างๆ แสดงให้เห็นสภาพของโลกนี้ที่จะผ่านพ้นไป ขณะที่พระศาสนจักรเองก็ดำรงอยู่ท่ามกลางสิ่งสร้างที่ยังคงร้องคร่ำครวญประหนึ่งหญิงคลอดบุตรอยู่จนถึงบัดนี้ และกำลังรอคอยการเปิดเผยของบรรดาบุตรของพระเจ้า” เพราะเหตุนี้ บรรดาคริสตชนจึงอธิษฐานภาวนา โดยเฉพาะในพิธีบูชาขอบพระคุณ เพื่อขอให้พระคริสตเจ้าเสด็จกลับมาโดยเร็ว[619] โดยทูลว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า เชิญเสด็จมาเถิด” (วว 22:20)     

CCC ข้อ 697 “เมฆและแสงสว่าง”  สัญลักษณ์ทั้งสองประการนี้แยกกันไม่ได้ในการสำแดงองค์ของพระจิตเจ้า ตั้งแต่การสำแดงพระองค์ในพันธสัญญาเดิมแล้ว เมฆทั้งที่มืดคลุ้มหรือส่องแสงจ้าเปิดเผยพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์   และกอบกู้ เป็นการเปิดเผยพระสิริรุ่งโรจน์ที่อยู่เหนือทุกสิ่งของพระองค์ เช่นกับโมเสสบนภูเขาซีนาย เหนือกระโจมนัดพบ ตลอดเวลาการเดินทางในถิ่นทุรกันดาร แก่กษัตริย์ซาโลมอนในโอกาสถวาย   พระวิหาร ดังนั้น พระคริสตเจ้าทรงทำให้ภาพลักษณ์เหล่านี้สำเร็จบริบูรณ์ในองค์พระจิตเจ้า พระจิตเจ้าทรง “แผ่เงา” ปกคลุมพระนางมารีย์พรหมจารีเพื่อให้พระนางปฏิสนธิและให้กำเนิดพระเยซูเจ้า บนภูเขาที่พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ พระจิตเจ้าเสด็จมาในเมฆซึ่งปกคลุมพระเยซูเจ้า โมเสสและประกาศกเอลียาห์รวมทั้งเปโตร ยากอบและยอห์น “และเสียงหนึ่งดังออกมาจากเมฆว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราได้เลือกสรร จงฟังท่านเถิด’” (ลก 9:35) เมฆเช่นเดียวกันนี้เองในที่สุดก็ “บังพระเยซูเจ้าจากสายตา” ของบรรดาศิษย์ในวันที่เสด็จสู่สวรรค์ และจะเปิดเผยบุตรแห่งมนุษย์ในพระสิริรุ่งโรจน์ในวันที่พระองค์จะเสด็จกลับมา     

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)