แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 1:6-8,19-28)         

พระเจ้าทรงส่งชายผู้หนึ่งมา เขาชื่อยอห์น เขามาในฐานะพยานเพื่อเป็นพยานถึงแสงสว่าง เขาไม่ใช่แสงสว่างแต่เป็นพยานถึงแสงสว่าง

      ยอห์นเป็นพยานดังนี้ เมื่อชาวยิวจากกรุงเยรูซาเล็มส่งบรรดาสมณะและชาวเลวีไปถามยอห์นว่า “ท่านเป็นใคร” เขามิได้ปิดบังความจริง แต่ยืนยันว่า “ข้าพเจ้าไม่ใช่พระคริสต์” ดังนั้น เขาเหล่านั้นจึงถามว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านเป็นใคร เป็นเอลียาห์หรือ” ยอห์นตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่ใช่เอลียาห์” “ท่านเป็นประกาศกหรือ” เขาตอบอีกว่า “ไม่ใช่” เขาเหล่านั้นจึงถามว่า “ท่านเป็นใคร เราจะได้นำคำตอบไปให้ผู้ที่ส่งเรามา ท่านพูดถึงตนเองอย่างไร” ยอห์นตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นเสียงของผู้ที่ร้องตะโกนในถิ่นทุรกันดารว่าจงทำทางขององค์พระผู้เป็นเจ้าให้ตรงเถิด”ดังที่ประกาศกอิสยาห์ได้กล่าวไว้

      ผู้ที่ถูกส่งไปถามนั้นเป็นชาวฟาริสี เขาถามยอห์นอีกว่า “ทำไมท่านจึงทำพิธีล้าง ถ้าท่านไม่ใช่พระคริสต์ ไม่ใช่เอลียาห์ และไม่ใช่ประกาศก” ยอห์นตอบพวกเขาว่า “ข้าพเจ้าใช้น้ำทำพิธีล้างให้ท่านทั้งหลาย แต่มีผู้หนึ่งประทับอยู่ในหมู่ท่าน เป็นผู้ที่ท่านไม่รู้จัก ผู้นั้นมาภายหลังข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สมควรแม้แต่จะแก้สายรัดรองเท้าของเขา”

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่หมู่บ้านเบธานี อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำจอร์แดนซึ่งยอห์นกำลังทำพิธีล้างอยู่


ยน 1:4-9 แสงสว่าง : พระคริสตเจ้าทรงเป็น “แสงสว่าง” แสงสว่างของโลก และ “แสงสว่างเที่ยงแท้” ผู้ซึ่งแทงทะลุความมืดของบาปและส่องทางสู่ความรอดพ้น ในศีลล้างบาป คริสตชนกลายเป็น “ผู้รับรู้”  และรับ “แสงสว่างของพระคริสตเจ้า”  การส่องสว่างนี้ช่วยให้คริสตชนสามารถมองเห็นด้วยสายตาแห่งความเชื่อ และกลายเป็น “แสงสว่างของโลก” โดยทำหน้าที่เป็นดวงประทีปแห่งความรักของพระเจ้า

คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 457 พระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ก็เพื่อช่วยเราให้รอดพ้นโดยทำให้เราคืนดีกับพระเจ้า พระเจ้า “ทรงรักเราและทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาเพื่อชดเชยบาปของเรา” (1 ยน 4:10) “พระบิดาทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาเป็นพระผู้ไถ่โลก” (1 ยน 4:14) “พระองค์ทรงปรากฏเพื่อทรงลบล้างบาปให้สิ้นไป” (1 ยน 3:5)

“ธรรมชาติของเรา เมื่อเจ็บป่วยย่อมต้องการแพทย์ มนุษย์ที่ล้มลงย่อมต้องการผู้ช่วยพยุงให้ลุกขึ้น ผู้ที่สิ้นชีวิตแล้วย่อมต้องการผู้ให้ชีวิต ผู้ที่สูญเสียความดีย่อมต้องการผู้นำกลับมาพบความดีอีก ผู้ที่ถูกกักขังในความมืดย่อมต้องการให้มีแสงสว่าง ผู้ถูกจับเป็นเชลยย่อมแสวงหาผู้ช่วยไถ่ให้รอดพ้น ผู้ถูกจองจำย่อมต้องการผู้ช่วยเหลือ ผู้ที่เป็นทาสย่อมต้องการผู้ช่วยให้มีอิสรภาพ นี่เป็นเรื่องเล็กน้อยไม่พอจะชักชวนพระเจ้าให้เสด็จลงมาเยี่ยมเยียนมนุษยชาติในเมื่อมนุษยชาติตกอยู่ในสภาพเป็นทุกข์และน่าสงสารถึงเพียงนี้ดอกหรือ”

CCC ข้อ 1216 “การล้างนี้ยังมีชื่อเรียกอีกว่า ‘การส่องสว่าง’ เพราะผู้ที่เรียนคำสอนได้รับการส่องสว่างในจิตใจ” ผู้รับศีลล้างบาป เมื่อได้รับในศีลล้างบาปพระวจนาตถ์ (หรือ “พระวาจา”) ซึ่งเป็น “แสงสว่างแท้จริงซึ่งส่องสว่างแก่มนุษย์ทุกคน” (ยน 1:9) เมื่อ “ได้รับความสว่าง” แล้ว[8] เขาก็กลับเป็น “บุตรแห่งความสว่าง” และเขาเองก็เป็น “แสงสว่าง” (อฟ 5:8) ด้วย

ศีลล้างบาปเป็น “ของประทานยิ่งใหญ่และงดงามที่สุดของพระเจ้า […] เราเรียกศีลนี้ว่าเป็น ของประทาน พระหรรษทาน ศีลล้างบาป การเจิม การส่องสว่าง อาภรณ์ของความไม่รู้จักเสื่อมสลาย การล้างที่บันดาลให้เกิดใหม่ ตราประทับ และในที่สุดเรียกด้วยนามที่ยอดเยี่ยมที่สุดกว่านามใดๆ คือ ศีลนี้ได้ชื่อว่า ของประทาน เพราะพระเจ้าประทานให้แก่ผู้ที่ไม่เคยนำอะไรมาถวายเลย ได้ชื่อว่า พระหรรษทาน เพราะพระเจ้าประทานให้แม้แก่คนบาป ได้ชื่อว่า ศีลล้างบาป เพราะบาปถูกฝังไว้ในน้ำ ได้ชื่อว่า การเจิม เพราะทำให้ผู้รับศักดิ์สิทธิ์และเป็นกษัตริย์(เหมือนผู้ที่ได้รับการเจิมในอดีต) ได้ชื่อว่า การส่องสว่าง เพราะส่องแสงสว่างเจิดจ้า ได้ชื่อว่า อาภรณ์ เพราะปิดบังความน่าอายของเราไว้ ได้ชื่อว่า การล้าง เพราะชำระล้าง ได้ชื่อว่า ตราประทับ เพราะเป็นการป้องกันและเครื่องหมายของการเป็นเจ้าของ”


ยน 1:6 ยอห์น : ในที่นี้กล่าวถึง ยอห์น บัปติสต์ ประกาศกคนสุดท้ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด พระวรสารโดยนักบุญยอห์นนั้นมักจะชี้แจงถึงบทบาทของยอห์น บัปติสต์ ในความสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้าอยู่บ่อยครั้ง

CCC ข้อ 717 “พระเจ้าทรงส่งชายผู้หนึ่งมา เขาชื่อยอห์น” (ยน 1:6) ยอห์น “ได้รับพระจิตเจ้า” เต็มเปี่ยม “ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ของมารดา” (ลก 1:15) จากพระคริสตเจ้าที่พระนางพรหมจารีมารีย์เพิ่งทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า ดังนี้ “การเยี่ยมเยียน” นางเอลีซาเบธของพระนางมารีย์จึงเป็นการที่พระเจ้าทรงเยี่ยมเยียนประชากรของพระองค์

  CCC ข้อ 718 ยอห์นเป็น “(ประกาศก)เอลียาห์ที่จะต้องมา” ไฟของพระจิตเจ้าพำนักอยู่ในเขาและบันดาลให้เขา “นำหน้า” องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้เสด็จมา ในยอห์นผู้นำหน้า(พระเมสสิยาห์)พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้ “การเตรียมประชากรที่พร้อมจะรับเสด็จองค์พระผู้เป็นเจ้า” สำเร็จไป (ลก 1:17)

  CCC ข้อ719 ยอห์นเป็น “ยิ่งกว่าประกาศก” พระจิตเจ้าทรงทำให้ “การตรัสทางประกาศก” สำเร็จไปในตัวเขา ยอห์นเป็นผู้ทำให้ “กลุ่ม” ประกาศกซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ประกาศกเอลียาห์สิ้นสุดลง ยอห์นประกาศว่าการปลอบโยนอิสราเอลอยู่ใกล้แล้ว เป็น “เสียง” ของผู้ปลอบโยนซึ่งกำลังจะมาถึง “เขามาในฐานะพยานเพื่อเป็นพยานถึงแสงสว่าง” (ยน 1:7) ตามที่พระจิตเจ้าแห่งความจริงจะทรงเป็นพยานด้วย ดังนี้ ในยอห์น พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้ “การค้นหาและวิเคราะห์ของบรรดาประกาศก” และ “ความปรารถนา” ของบรรดาทูตสวรรค์สำเร็จเป็นจริง “เจ้าเห็นพระจิตเจ้าเสด็จลงมาประทับอยู่เหนือผู้ใด ผู้นั้นคือผู้ที่ทำพิธีล้างเดชะพระจิตเจ้า ข้าพเจ้าเห็นและเป็นพยานยืนยันว่าท่านผู้นี้เป็นพระบุตรของพระเจ้า […] นี่คือลูกแกะของพระเจ้า” (ยน 1:33-36)

  CCC ข้อ 720 ในที่สุด ผ่านทางยอห์นผู้ทำพิธีล้างพระจิตเจ้าทรงเริ่มงานที่จะสำเร็จไปพร้อมกับ พระคริสตเจ้าและในพระคริสตเจ้า นั่นคือการทำให้มนุษย์ได้รับ “ความเหมือนกับพระเจ้า” กลับคืนมา ยอห์นประกอบพิธีล้างเพื่อให้มนุษย์กลับใจ ส่วนพิธีล้าง “ในน้ำและพระจิตเจ้า” จะเป็นการเกิดใหม่ในพระจิตเจ้า


ยน 1:19-34 ยอห์น บัปติสต์ ไม่เคยประกาศตนว่าเป็นพระคริสตเจ้า หรือเอลียาห์ หรือโมเสส แต่บอกว่า ท่านเป็นเสียงของผู้ที่ร้องตะโกนในถิ่นทุรกันดาร ให้เตรียมทางต้อนรับการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ ลูกแกะของพระเจ้า 

CCC ข้อ 438 การที่พระเยซูเจ้าทรงรับเจิมเป็นพระเมสสิยาห์นี้แสดงให้เห็นพันธกิจที่ทรงได้รับจากพระเจ้า “ตามความหมายของพระนาม เพราะนาม ‘พระคริสต์’ หมายถึง ‘ผู้เจิม’ และ ‘ผู้รับเจิม’ รวมทั้งการเจิมที่ทรงรับด้วย ผู้ที่ทรงเจิมคือพระบิดา ผู้ทรงรับเจิมคือพระบุตร พระองค์ทรงรับเจิมในองค์พระจิตเจ้าซึ่งทรงเป็นการเจิม” การที่ทรงรับเจิมเป็นพระเมสสิยาห์ตั้งแต่นิรันดรนี้ถูกเปิดเผยในช่วงเวลาที่ทรงพระชนมชีพในโลกเมื่อทรงรับพิธีล้างจากยอห์น เมื่อ “พระเจ้าทรงเจิมพระองค์ด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า” (กจ 10:38) “เพื่อทำให้พระองค์เป็นที่รู้จักแก่อิสราเอล” (ยน 1:31) ในฐานะพระเมสสิยาห์ของตน พระภารกิจและพระวาจาของพระองค์แสดงให้พระองค์เป็นที่รู้จักในฐานะ “พระผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า”

CCC ข้อ 613 การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเป็นทั้งการถวายบูชาปัสกา ซึ่งทำให้การไถ่กู้มนุษยชาติสำเร็จบริบูรณ์ อาศัยลูกแกะผู้ทรงลบล้างบาปของโลก และเป็นการถวายบูชาแห่งพันธสัญญาใหม่ ซึ่งทำให้มนุษย์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง ทำให้มนุษย์กลับคืนดีกับพระองค์อาศัยพระโลหิตที่หลั่งออกเพื่ออภัยบาปมนุษย์ทั้งหลาย

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)