แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์  สัปดาห์ที่ 11  เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 9:36-10:8)                                       

เวลานั้น เมื่อพระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นประชาชน ก็ทรงสงสาร เพราะเขาเหล่านั้นเหน็ดเหนื่อยและท้อแท้ประดุจฝูงแกะที่ไม่มีคนเลี้ยง แล้วพระองค์ตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า “ข้าวที่จะเก็บเกี่ยวมีมาก แต่คนงานมีน้อย จงวอนขอเจ้าของนาให้ส่งคนงานมาเก็บเกี่ยวข้าวของพระองค์เถิด”     

พระเยซูเจ้าทรงเรียกศิษย์สิบสองคนเข้ามาพบ ประทานอำนาจให้เขาขับไล่ปีศาจ ให้รักษาโรคและความเจ็บไข้ทุกชนิด อัครสาวกสิบสองคนมีนามดังนี้ คนแรกคือ ซีโมน ผู้มีสมญาว่าเปโตร กับอันดรูว์น้องชายของเขา ยากอบบุตรของเศเบดีกับยอห์น น้องชาย ฟีลิปและบาร์โธโลมิว โทมัสและมัทธิว คนเก็บภาษี ยากอบบุตรอัลเฟอัสและธัดเดอัส ซีโมนจากกลุ่มชาตินิยม และยูดาส อิสคาริโอท ต่อมายูดาสผู้นี้ทรยศต่อพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงส่งอัครสาวกสิบสองคนนี้ออกไป ทรงสั่งเขาว่า “อย่าเดินตามทางของคนต่างชาติ อย่าเข้าไปในเมืองของชาวสะมาเรีย แต่จงไปหาแกะพลัดฝูงของวงศ์วานอิสราเอลก่อน จงไปประกาศว่าอาณาจักรสวรรค์ใกล้เข้ามาแล้ว” 


มธ 9:38  พระอาณาจักรพระเจ้าถูกป่าวประกาศให้แก่ชนชาวยิวเป็นอันดับแรก จึงทำให้พวกเขาเป็นประชากรเลือกสรรของพระเจ้า ถึงแม้ว่าชนทุกชาติจะได้รับการเชื้อเชิญด้วยเช่นกัน (เทียบ มธ 8:10-12)  ข้าวที่จะเก็บเกี่ยว... คนงานมาเก็บเกี่ยวข้าวของพระองค์ : เราควรภาวนาอย่างกระตือรือร้นสำหรับกระแสเรียกพระสงฆ์และนักบวช รวมทั้งสำหรับทุกคนด้วย เพื่อให้พวกเขาตั้งพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลางแห่งชีวิตของตน  

การแจ้งข่าวเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า

CCC ข้อ 543 พระเจ้าทรงเรียกมนุษย์ทุกคนเข้ามาในพระอาณาจักร พระอาณาจักรพระเมสสิยาห์นี้ ซึ่งก่อนใดอื่นทรงแจ้งไว้แก่บุตรหลานของอิสราเอลนั้น ถูกกำหนดไว้ให้รับมนุษย์ทุกชาติ เพื่อจะเข้ามาในพระอาณาจักรนี้ได้ จำเป็นต้องรับพระวาจาของพระเยซูเจ้า

“พระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้าเปรียบได้กับเมล็ดพันธุ์ที่หว่านลงในทุ่งนา ผู้ที่ฟังพระวาจาด้วยความเชื่อและรวมเข้ามาอยู่ในกลุ่มเล็กๆ ของผู้ติดตามพระคริสตเจ้าก็ได้รับพระอาณาจักรนี้ ต่อจากนั้น โดยพลังของตน เมล็ดพันธุ์ก็งอกขึ้นและเจริญเติบโตจนถึงเวลาเก็บเกี่ยว”

พระเยซูเจ้าทรงสอนให้อธิษฐานภาวนา

CCC ข้อ 2611 การอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อไม่ได้ประกอบด้วยเพียงการกล่าวว่า “พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า” แต่อยู่ในใจที่พร้อมที่จะปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา พระเยซูเจ้าทรงเชื้อเชิญบรรดาศิษย์ให้สนใจร่วมแผนงานกับพระเจ้าในการอธิษฐานภาวนาด้วย


มธ 10:2 ศิษย์ทั้งสิบสองคนผู้ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกเรียกว่า (ศิษย์) ผู้ติดตามพระเยซูเจ้านั้น บัดนี้ ถูกเรียกว่าอัครสาวก (ผู้ถูกส่งไป) ที่จริงแล้วนี่เป็นเพียงครั้งเดียวในพระวรสารโดยนักบุญมัทธิวที่พบคำว่า อัครสาวก จากรายชื่อของศิษย์ทั้งสิบสอง เปโตรได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าของอัครสาวก ในเวลาต่อมา พระคริสตเจ้าทรงแต่งตั้งให้เปโตรเป็นจุดเริ่มต้นและรากฐานตลอดกาลแห่งเอกภาพของบรรดาบิชอป พระสงฆ์ และผู้มีความเชื่อทั้งหลาย ท่านทำหน้าที่รับใช้เสมือนเป็นผู้แทนของพระคริสตเจ้าด้วยการนำพระศาสนจักรในโลกนี้ในฐานะที่เป็นศีรษะ จำนวนอัครสาวกสิบสองคนมีความสอดคล้องกับต้นตระกูลทั้งสิบสองเผ่าของอิสราแอล สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้าก็คือ อิสราแอลใหม่ นั่นเอง 

“กุญแจพระอาณาจักร”

CCC ข้อ 551 นับตั้งแต่ทรงเริ่มเทศน์สั่งสอนประชาชน พระเยซูเจ้าทรงเรียกชายกลุ่มหนึ่งจำนวนสิบสองคนให้อยู่กับพระองค์เพื่อจะมีส่วนร่วมพันธกิจกับพระองค์ พระองค์ทรงจัดให้เขามีส่วนร่วมพระอำนาจของพระองค์ “ทรงส่งเขาไปประกาศพระอาณาจักรพระเจ้าและรักษาโรค”(ลก 9:2) บุคคลเหล่านี้คงมีส่วนร่วมกับพระอาณาจักรของพระคริสตเจ้าตลอดไป เพราะพระองค์ ทรงนำพระศาสนจักรผ่านเขาเหล่านี้ “เราจัดพระอาณาจักรให้ท่านทั้งหลายดังที่พระบิดาทรงจัดไว้ให้เรา ท่านจะได้กินและดื่มร่วมโต๊ะกับเรา ในพระอาณาจักรและจะนั่งบนบัลลังก์พิพากษาอิสราเอลทั้งสิบสองตระกูล” (ลก 22:29-30)

คณะพระสังฆราชและสมเด็จพระสันตะปาปาผู้ทรงเป็นประมุข

CCC ข้อ 880 เมื่อพระคริสตเจ้าทรงเรียกศิษย์สิบสองคนนั้น “ทรงแต่งตั้งเขาไว้ให้เป็นกลุ่มหรือคณะถาวร และทรงเลือกเปโตรให้เป็นหัวหน้า” “เช่นเดียวกับองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงแต่งตั้ง นักบุญเปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ ก็รวมกันเป็นคณะอัครสาวกกลุ่มเดียว ในทำนองเดียวกันสมเด็จพระสันตะปาปาผู้สืบตำแหน่งต่อจากเปโตรและบรรดาพระสังฆราชก็รวมกันเป็นผู้สืบตำแหน่งต่อมาจากบรรดาอัครสาวกด้วย”


มธ 10:5-15  พันธกิจของบรรดาอัครสาวกนั้นมุ่งไปสู่ชาวยิวเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นจึงค่อยไปยังชาวต่างชาติด้วย  “ท่านได้รับมาโดยไม่เสียค่าตอบแทน... ย่อมมีสิทธิ์ได้รับอาหารอยู่แล้ว” : บรรดาศิษย์ถูกสั่งให้เอาใจใส่คนยากจนและรู้จักให้โดยไม่รับสิ่งตอบแทน ถึงแม้ว่าบางคนจะสามารถตอบแทนศาสนบริกรของพวกเขาในด้านความต้องการขั้นพื้นฐานได้ก็ตาม พระคริสตเจ้าทรงกระตุ้นเตือนผู้ที่ติดตามพระองค์ให้ดำเนินชีวิตออกห่างจากวัตถุนิยมและมอบความวางใจทั้งหมดไว้ในพระเจ้า ผู้ทรงจัดเตรียมทุกสิ่งไว้สำหรับความต้องการของพวกเขา 

ชีวิตของมนุษย์ คือการรู้จักพระเจ้าและรักพระองค์

CCC ข้อ 2 เพื่อให้มนุษย์ทั่วโลกได้ยินการเรียกนี้ของพระเจ้า พระคริสตเจ้าจึงทรงส่งบรรดาอัครสาวกที่ทรงเลือกสรรไว้ออกไปและทรงบัญชาเขาให้ไปประกาศข่าวดีว่าดังนี้ “ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขาเดชะพระนามพระบิดา พระบุตร และพระจิตจงสอนเขาให้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกข้อที่เราให้แก่ท่าน แล้วจงรู้เถิดว่าเราอยู่กับท่านทุกวันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ” (มธ 28:19-20) จากภารกิจที่ได้รับมอบหมายนี้ บรรดาอัครสาวกจึง “แยกย้ายกันออกไปเทศนาสั่งสอนทั่วทุกแห่งหน องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงทำงานร่วมกับเขา และทรงรับรองคำสั่งสอนโดยอัศจรรย์ที่ติดตามมา” (มก 16:20)

การแจ้งข่าวเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า

CCC ข้อ 543 พระเจ้าทรงเรียกมนุษย์ทุกคนเข้ามาในพระอาณาจักร พระอาณาจักรพระเมสสิยาห์นี้ ซึ่งก่อนใดอื่นทรงแจ้งไว้แก่บุตรหลานของอิสราเอลนั้น ถูกกำหนดไว้ให้รับมนุษย์ทุกชาติ เพื่อจะเข้ามาในพระอาณาจักรนี้ได้ จำเป็นต้องรับพระวาจาของพระเยซูเจ้า “พระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้าเปรียบได้กับเมล็ดพันธุ์ที่หว่านลงในทุ่งนา ผู้ที่ฟังพระวาจาด้วยความเชื่อและรวมเข้ามาอยู่ในกลุ่มเล็กๆ ของผู้ติดตามพระคริสตเจ้าก็ได้รับพระอาณาจักรนี้ต่อจากนั้น โดยพลังของตน เมล็ดพันธุ์ก็งอกขึ้นและเจริญเติบโตจนถึงเวลาเก็บเกี่ยว”

การไม่มีศาสนา

CCC ข้อ 2121 การซื้อขายสิ่งของหรือตำแหน่งศักดิ์สิทธิ์ (simony) ได้ชื่อเช่นนี้มาจากซีโมนผู้วิเศษในหนังสือกิจการอัครสาวก เขาต้องการซื้ออำนาจฝ่ายจิตที่เขาเห็นว่าแสดงผลในบรรดาอัครสาวก แต่เปโตรตอบว่า “ท่านและเงินของท่านจงพินาศ เพราะท่านคิดว่าท่านใช้เงินซื้อของประทานของพระเจ้าได้” (กจ 8:20) เปโตรปฏิบัติตามพระวาจาของพระเยซูที่ว่า “ท่านได้รับมาโดยไม่เสียค่าตอบแทนก็จงให้เขาโดยไม่รับค่าตอบแทนด้วย” (มธ 10:8) เป็นไปไม่ได้ที่เราจะหวงพระพรของพระจิตเจ้าไว้เป็นของตนเองและทำเหมือนกับว่าเราเป็นเจ้าของและเจ้านายของพระพรเหล่านี้ซึ่งเกิดมาจากพระเจ้า เรารับพระพรเหล่านี้ได้จากพระองค์เท่านั้นโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนอะไร

CCC ข้อ 2122 “ศาสนบริกรไม่อาจเรียกร้องอะไรได้สำหรับการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ นอกจากของถวายที่ผู้มีอำนาจปกครองกำหนดไว้ ต้องระวังเสมออย่าให้คนยากจนไม่ได้รับความช่วยเหลือของศีลศักดิ์สิทธิ์เพราะความยากจน” ผู้มีอำนาจปกครองที่เกี่ยวข้องย่อมกำหนด “ของถวาย” นี้โดยอาศัยหลักการที่ว่าประชากรคริสตชนต้องช่วยเหลือศาสนบริกรของพระศาสนจักร “คนงานย่อมมีสิทธิ์ได้รับอาหารของตน” (มธ 10:10)

ความรักต่อผู้ยากไร้

CCC ข้อ 2443 พระเจ้าทรงอวยพระพรผู้ให้ความช่วยเหลือต่อผู้ยากไร้และทรงตำหนิผู้ที่ไม่ยอมทำเช่นนี้ “ผู้ใดขออะไรจากท่าน ก็จงให้ อย่าหันหลังให้ผู้ที่มาขอยืมสิ่งใดจากท่าน” (มธ 5:42) “ท่านได้รับมาโดยไม่เสียค่าตอบแทน ก็จงให้เขาโดยไม่รับค่าตอบแทนด้วย” (มธ 10:8) พระเยซูเจ้าจะทรงยอมรับผู้ที่ทรงเลือกสรรจากการที่เขาปฏิบัติต่อผู้ยากจน ในเมื่อการที่ “คนยากจนได้รับการประกาศข่าวดี” (มธ 11:5) เป็นเครื่องหมายการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้า


มธ 10:8  พลังในการรักษาผู้เจ็บป่วยนั้นมาจากพระคริสตเจ้าเอง ซึ่งกระทำโดยผ่านทางศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ การอภิบาลผู้ป่วย และการภาวนา

“ท่านทั้งหลายจงบำบัดรักษาคนเจ็บป่วย...”

CCC ข้อ 1506 พระคริสตเจ้าทรงเชิญชวนบรรดาศิษย์ให้แบกไม้กางเขนของตนเองขึ้นติดตามพระองค์ และเมื่อติดตามพระองค์ เขาเหล่านี้ก็ได้มุมมองใหม่เกี่ยวกับความเจ็บป่วยและผู้ป่วย พระเยซูเจ้าทรงนำเขาเข้ามาร่วมพระชนมชีพที่ยากจนและยินดีรับใช้ผู้อื่น ทรงทำให้เขามีส่วนร่วมศาสนบริการความเห็นอกเห็นใจและบำบัดรักษาโรค “เขาจึงไปเทศน์สอนคนทั้งหลายให้กลับใจ ขับไล่ปีศาจจำนวนมาก เจิมน้ำมันผู้เจ็บป่วยหลายคน และรักษาเขาให้หายจากโรคภัย”

CCC ข้อ 1509 “จงรักษาคนเจ็บไข้” (มธ 10:8) พระศาสนจักรได้รับหน้าที่นี้มาจากองค์พระผู้เป็นเจ้าและให้ปฏิบัติทั้งโดยการบำบัดรักษาที่นำไปให้แก่คนเจ็บป่วยและโดยการอธิษฐานภาวนาวอนขอพร้อมกับคนเจ็บป่วยเหล่านั้น พระศาสนจักรเชื่อว่าการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้านั้นนำชีวิตมาให้ ในฐานะนายแพทย์ผู้บำบัดรักษาวิญญาณและร่างกาย การประทับอยู่นี้แสดงพลังเป็นพิเศษโดยทางศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทางศีลมหาสนิท อาหารที่นำชีวิตนิรันดรมาให้ และนักบุญเปาโลยังกล่าวพาดพิงว่าศีลนี้ยังความสัมพันธ์กับการบำบัดรักษาร่างกายด้วย

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)