แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอังคาร  สัปดาห์ที่ 3  เทศกาลมหาพรต

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 18:21-35)                                                   

เวลานั้น เปโตรเข้ามาทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “พระเจ้าข้า ถ้าพี่น้องทำผิดต่อข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องยกโทษให้เขาสักกี่ครั้ง ถึงเจ็ดครั้งหรือไม่” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “เราไม่ได้บอกท่านว่าต้องยกโทษให้เจ็ดครั้ง แต่ต้องยกโทษให้เจ็ดคูณเจ็ดสิบครั้ง”

อาณาจักรสวรรค์เปรียบได้กับกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ทรงประสงค์จะตรวจบัญชีหนี้สินของผู้รับใช้ ขณะที่ทรงเริ่มตรวจบัญชีนั้น มีผู้นำชายผู้หนึ่งเข้ามา ชายผู้นี้เป็นหนี้อยู่เป็นพันล้านบาท เขาไม่มีสิ่งใดจะชำระหนี้ได้ กษัตริย์จึงตรัสสั่งให้ขายทั้งตัวเขา บุตรภรรยาและทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อใช้หนี้ ผู้รับใช้กราบพระบาททูลอ้อนวอนว่า “ขอทรงพระกรุณาผัดหนี้ไว้ก่อนเถิด แล้วข้าพเจ้าจะชำระหนี้ให้ทั้งหมด” กษัตริย์ทรงสงสารจึงทรงปล่อยเขาไปและทรงยกหนี้ให้ ขณะที่ผู้รับใช้ออกไป ก็พบเพื่อนผู้รับใช้ด้วยกันซึ่งเป็นหนี้เขาอยู่ไม่กี่พันบาท เขาเข้าไปคว้าคอบีบไว้แน่น พูดว่า “เจ้าเป็นหนี้ข้าอยู่เท่าไร จงจ่ายให้หมด”

เพื่อนคนนั้นคุกเข่าลงอ้อนวอนว่า “กรุณาผัดหนี้ไว้ก่อนเถิด แล้วข้าพเจ้าจะชำระหนี้ให้” แต่เขาไม่ยอมฟัง นำลูกหนี้ไปขังไว้จนกว่าจะชำระหนี้ทั้งหมด เพื่อนผู้รับใช้อื่นๆ เห็นดังนั้นต่างสลดใจมาก จึงนำความทั้งหมดไปทูลกษัตริย์ พระองค์จึงทรงเรียกชายผู้นั้นมา ตรัสว่า “เจ้าคนสารเลว ข้ายกหนี้สินของเจ้าทั้งหมดเพราะเจ้าขอร้อง เจ้าต้องเมตตาเพื่อนผู้รับใช้ด้วยกัน เหมือนกับที่ข้าได้เมตตาเจ้ามิใช่หรือ” กษัตริย์กริ้วมาก ตรัสสั่งให้นำผู้รับใช้นั้นไปทรมานจนกว่าจะชำระหนี้ทั้งหมด พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะทรงกระทำต่อท่านทำนองเดียวกัน ถ้าท่านแต่ละคนไม่ยอมยกโทษให้พี่น้องจากใจจริง”


มธ 18:21-23 การให้อภัยนั้นมีไว้สำหรับผู้ใดก็ตามที่สำนึกผิดต่อบาปของตน พร้อมกับมีความตั้งใจที่จะแก้ไขตนเองเสียใหม่ กล่าวคือ ความตั้งใจที่จะไม่ทำบาปอีกต่อไป การอภัยสำหรับบาปส่วนตัวของเราย่อมขึ้นอยู่กับความตั้งใจของเราที่จะให้อภัยแก่ผู้ที่ได้กระทำผิดต่อเรา แบบอย่างของพระคริสตเจ้าและคุณธรรมแห่งความรักเมตตานั้นเรียกร้องว่า เราต้องให้อภัยแก่ผู้ที่ทำให้เราขุ่นเคือง ผู้ที่ไม่สนใจเรา หรือเป็นเหตุให้เราได้รับความอยุติธรรม  เจ็ดคูณเจ็ดสิบครั้ง : ในพระคัมภีร์ หมายเลข เจ็ด หมายถึงความสมบูรณ์ครบครัน อย่างไรก็ตาม “เจ็ดสิบ-เจ็ด” หมายความว่า เราต้องตั้งใจที่จะอภัยให้แก่ผู้อื่นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั่นเอง

อำนาจกุญแจ

CCC ข้อ 982 ไม่มีความผิดใด ไม่ว่าจะหนักสักเท่าใด ที่พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ไม่อาจให้อภัยได้ “ไม่มีผู้ทำผิดหรืออาชญากรคนใดซึ่งเป็นทุกข์โดยจริงใจในความผิดของตน ที่จะไม่ต้องมีความหวังอย่างแน่ใจว่าตนจะได้รับการอภัย” พระคริสตเจ้าซึ่งทรงสิ้นพระชนม์เพื่อมนุษย์ทุกคนทรงประสงค์ให้ประตูการอภัยบาปในพระศาสนจักรของพระองค์เปิดอยู่เสมอสำหรับใครๆ ไม่ว่าที่หันกลับใจมาจากบาป”

หน้าที่ของบิดามารดา

CCC ข้อ 2227 บรรดาบุตรเองก็มีบทบาทที่จะช่วยเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ของบิดามารดาด้วย ทุกคนและแต่ละคนจะต้องเต็มใจที่จะให้อภัยแก่กันโดยใจกว้างและอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยที่ความผิด การทะเลาะเบาะแว้ง ความอยุติธรรมและการไม่สนใจต่อกันเรียกร้อง ความรักต่อกันเชิญชวนเช่นนี้ความรักของพระคริสตเจ้ายังเรียกร้องเช่นนี้ด้วย

เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น

CCC ข้อ 2845 การให้อภัยนี้ ซึ่งในสาระสำคัญเป็นคุณลักษณะของพระเจ้า ไม่มีขอบเขตและไม่มีขนาดถ้าเป็นเรื่องของ “ความผิด” (“บาป” ตาม ลก 11:4 หรือ “หนี้” ตาม มธ 6:12 ในต้นฉบับภาษากรีก) พวกเราทุกคนล้วนเป็น “ลูกหนี้” เสมอ “อย่าเป็นหนี้ผู้ใด นอกจากเป็นหนี้ความรักซึ่งกันและกัน” (รม 13:8) ความสัมพันธ์ของพระตรีเอกภาพเป็นบ่อเกิดและมาตรการของความจริงในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบความสัมพันธ์นี้ยังเป็นชีวิตในการอธิษฐานภาวนา โดยเฉพาะในพิธีบูชาขอบพระคุณ “พระเจ้าไม่ทรงรับเครื่องบูชาของผู้ก่อให้เกิดการแตกแยก และทรงสั่งให้เขาละพระแท่นบูชากลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน เพื่อจะได้มีใจสงบและอธิษฐานภาวนาขอให้พระเจ้าทรงพระกรุณาได้ ของถวายของเราที่มีค่ามากกว่าสำหรับพระเจ้าก็คือสันติและความสามัคคีกันฉันพี่น้องของเรา และการเป็นประชากรที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยเอกภาพของพระบิดาและพระบุตรและพระจิตเจ้า”


มธ 18:23-35 อุปมาเรื่องนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งสำหรับใช้อธิบายเรื่องการให้อภัยที่พระคริสตเจ้าตรัสไว้ในข้อที่ 21-23 ถึงแม้ว่าเป็นการยากที่จะลืมความอยุติธรรมที่ได้รับ แต่การให้อภัยและการภาวนาของเราสำหรับบุคคลนั้นย่อมเปิดทางสำหรับการโปรยปรายพระหรรษทานอันมากมาย อุปมาเรื่องนี้มุ่งเน้นถึงพระเมตตาอันยิ่งใหญ่ของพระคริสตเจ้าและหนี้แห่งบาปที่พระองค์ได้ประทานอภัยให้  หนึ่งหมื่นตะลันต์ : เงินจำนวนนี้อาจจะเทียบเท่ากับเงินมากกว่าพันล้านบาท บางทีการเปรียบเทียบของอุปมาเรื่องนี้อาจดูเหมือนเกินจริงไปบ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อเน้นถึงความแตกต่างอย่างมากมายระหว่างหนี้ทั้งสองจำนวนนั้น พระเมตตาที่เราได้รับนี้จะต้องกลับกลายเป็นสิ่งที่เรามอบให้แก่บุคคลอื่นด้วยเช่นกัน

เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น

CCC ข้อ 2843 พระวาจาให้อภัยขององค์พระผู้เป็นเจ้าจึงมีชีวิตขึ้นมาจากความรักนี้ที่รักจนถึงที่สุด นิทานอุปมาเรื่องผู้รับใช้ไร้เมตตาซึ่งเป็นจุดยอดคำสอนขององค์พระผู้เป็นเจ้าสำหรับชุมชนพระศาสนจักรสรุปด้วยถ้อยคำว่า “พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะทรงกระทำต่อท่านทำนองเดียวกันถ้าท่านแต่ละคนไม่ยอมยกโทษให้พี่น้องจากใจจริง” อันที่จริง ที่นี่เอง ใน “ส่วนลึกของจิตใจ” ที่ทุกสิ่งถูกผูกไว้หรือถูกแก้ออก การไม่รู้สึกถูกทำร้ายจิตใจอีกต่อไปและลืมมันไปได้นั้นไม่อยู่ในอำนาจของเรา แต่ดวงใจที่ถวายตัวแด่พระจิตเจ้า ย่อมเปลี่ยนบาดแผลให้เป็นความเห็นอกเห็นใจและชำระความทรงจำให้สะอาด เปลี่ยนการถูกทำร้ายให้เป็นการวอนขอแทน

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)