แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 7 สมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 24:46-53)                                      

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสว่า ‘มีเขียนไว้ดังนี้ว่า พระคริสตเจ้าจะต้องรับทนทรมานและจะกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายในวันที่สาม จะต้องประกาศในพระนามของพระองค์ให้นานาชาติกลับใจเพื่อรับอภัยบาปโดยเริ่มจากกรุงเยรูซาเล็ม ท่านทั้งหลายเป็นพยานถึงเรื่องทั้งหมดนี้

‘บัดนี้ เรากำลังจะส่งพระผู้ที่พระบิดาทรงสัญญาไว้มาเหนือท่านทั้งหลาย เพราะฉะนั้นท่านจงคอยอยู่ในกรุงจนกว่าท่านจะได้รับพระอานุภาพจากเบื้องบนปกคลุมไว้’ 

พระองค์ทรงนำบรรดาศิษย์ออกไปใกล้หมู่บ้านเบธานี ทรงยกพระหัตถ์ขึ้นอวยพระพร และขณะที่ทรงอวยพระพรนั้น พระองค์ทรงแยกไปจากเขา และทรงถูกนำขึ้นสู่สวรรค์ บรรดาศิษย์กราบนมัสการพระองค์แล้วกลับไปกรุงเยรูซาเล็มด้วยความยินดียิ่ง เขาอยู่ในพระวิหารตลอดเวลา ถวายพระพรแด่พระเจ้า 


ลก 24:44-49 เช่นเดียวกับที่พระคริสตเจ้าทรงทำกับบรรดาศิษย์ระหว่างทางไปเอมมาอูส พระองค์ทรงเปิดใจของบรรดาอัครสาวกให้ทราบถึงความหมายของพระคัมภีร์ ทรงมอบหมายให้พวกเขามุ่งหน้าสั่งสอนนานาชาติให้กลับใจและรับความรอดพ้น แต่ทรงบอกให้พวกเขารอคอย "พระสัญญาของพระบิดาของเรา" คือองค์พระจิตเจ้าที่พระองค์จะทรงส่งมา เมื่อได้รับพลังจากพระจิตเจ้าแล้ว บรรดาศิษย์ของพระคริสตเจ้าก็เริ่มงานการประกาศพระวรสารและการเผยแผ่ข่าวดีของพระศาสนจักรไปทั่วทุกมุมโลก

การดลใจของพระเจ้าและความจริงในพระคัมภีร์

CCC ข้อ 108 ถึงกระนั้นความเชื่อของคริสตชนก็ไม่ใช่ “ศาสนาตามหนังสือ” คริสตศาสนาเป็นศาสนา “ตาม พระวาจา” ของพระเจ้า พระวาจานี้ไม่ใช่ “ถ้อยคำที่เขียนไว้ไม่มีเสียง” แต่เป็น “พระวจนาตถ์ (หรือ “พระวาจา”) ซึ่งรับสภาพมนุษย์และทรงชีวิต” เพื่อไม่ให้พระคัมภีร์เป็นเพียงตัวอักษรที่ตายแล้ว จึงจำเป็นที่พระคริสตเจ้า พระวจนาตถ์ (หรือ “พระวาจา”) นิรันดรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต จะต้องเปิดใจของเราอาศัยพระจิตเจ้า ให้เข้าใจความหมายของพระคัมภีร์”

พระเยซูคริสตเจ้า “ทรงรับทรมานสมัยปอนทิอัสปีลาตทรงถูกตรึงกางเขน สิ้นพระชนม์ และทรงถูกฝังไว้”

CCC ข้อ 572 พระศาสนจักรยังคงซื่อสัตย์ต่อการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ทั้งหมดเหมือนกับที่พระเยซูเจ้าเคยทรงอธิบายทั้งก่อนและหลังจากปัสกาของพระองค์ “พระคริสตเจ้าจำเป็นต้องทนทรมานเช่นนี้ เพื่อจะเข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์มิใช่หรือ” (ลก 24:26) พระทรมานของพระเยซูเจ้าได้รับรูปแบบดังที่ได้เกิดขึ้นก็เพราะว่าทรงถูก “บรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ” (มก 8:31) คนเหล่านี้ “มอบพระองค์ให้คนต่างชาติสบประมาท เยาะเย้ย โบยตีและนำไปตรึงกางเขน” (มธ 20:19)

“พระองค์จะไม่ทรงปล่อยผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ให้เน่าเปื่อย”

CCC ข้อ 627 การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเป็นความตายจริงๆ ที่ทำให้ความเป็นอยู่ของพระองค์ในโลกนี้จบลง แต่เนื่องจากความสัมพันธ์ที่พระบุคคลของพระบุตรมีอยู่กับพระวรกาย พระวรกายจึงไม่เหมือนศพมนุษย์ทั่วไป เพราะ “ความตายยึดพระองค์ไว้ใต้อำนาจอีกต่อไปไม่ได้” (กจ 2:24) ดังนั้น “พระอานุภาพของพระเจ้าจึงรักษาพระวรกายของพระคริสตเจ้าไว้มิให้เน่าเปื่อย” เราอาจกล่าวถึงพระคริสตเจ้าได้ทั้ง “เขาถูกพรากไปจากแผ่นดินของผู้มีชีวิต” (อสย 53:8) และ “ร่างกายของข้าพเจ้าพำนักอยู่ในความหวัง เพราะพระองค์จะไม่ทรงละทิ้งข้าพเจ้าไว้ในแดนผู้ตาย และจะไม่ทรงปล่อยผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ให้เน่าเปื่อย” (กจ 2:26-27) การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า “ในวันที่สาม” (1 คร 15:4; ลก 24:46) เป็นข้อพิสูจน์เรื่องนี้ เพราะมักจะคิดกันว่าความเปื่อยเน่ามักปรากฏตั้งแต่วันที่สี่

พระเยซูคริสตเจ้า

CCC ข้อ 730 ในที่สุดเวลาของพระเยซูเจ้าก็มาถึง ซึ่งหมายถึงเวลาที่พระเยซูเจ้าทรงมอบจิตของพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระบิดา และเวลาที่จะทรงพิชิตความตายโดยการสิ้นพระชนม์ เพื่อ “จะทรงกลับคืนพระชนมชีพ […] เดชะพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดา” (รม 6:4) และต่อมาไม่ช้าจะประทานพระจิตเจ้า “โดยทรงเป่าลม” เหนือบรรดาศิษย์ นับตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไป พระพันธกิจของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้าก็กลับเป็นพันธกิจของพระศาสนจักร “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20:22)

อำนาจกุญแจ

CCC ข้อ 981 หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระคริสตเจ้าทรงส่งบรรดาอัครสาวกออกไปประกาศ “ในพระนามของพระองค์ให้นานาชาติกลับใจเพื่อรับอภัยบาป” (ลก 24:47) บรรดาอัครสาวกและผู้สืบตำแหน่งต่อจากเขาปฏิบัติ “ภารกิจการคืนดี” (2 คร 5:18) นี้ โดยประกาศว่าพระเจ้าทรงอภัยบาปแก่มนุษย์ตามที่พระคริสตเจ้าทรงได้รับอำนาจนี้มาเพื่อประทานแก่เรา และยังทรงมอบอำนาจให้เขาอภัยบาปอาศัยศีลล้างบาปและทำให้ทุกคนได้คืนดีกับพระเจ้าและกับ พระศาสนจักรโดยอำนาจกุญแจที่เขาได้รับมาจากพระคริสตเจ้าด้วย

พระศาสนจักร “รับกุญแจอาณาจักรสวรรค์เพื่อจะได้มีการอภัยบาปในพระศาสนจักรอาศัย   พระโลหิตของพระคริสตเจ้าและผลงานของพระจิตเจ้า ในพระศาสนจักรนี้ วิญญาณที่ตายไปแล้วเพราะบาปก็ฟื้นขึ้นมาอีก เพื่อมีชีวิตร่วมกับพระคริสตเจ้าผู้ประทานพระหรรษทานช่วยเราให้รอดพ้น”

ศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร

CCC ข้อ 1118   ศีลศักดิ์สิทธิ์เป็น “ของพระศาสนจักร” ในสองความหมายดังนี้ คือ เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ “โดยพระศาสนจักร” และ “เพื่อพระศาสนจักร”  ศีลศักดิ์สิทธิ์มีได้ “โดยพระศาสนจักร” ก็เพราะว่าพระศาสนจักรเป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์” (เครื่องหมายและเครื่องมือ) ของการกระทำของพระคริสตเจ้าผู้ทรงทำงานโดยพระพันธกิจของพระจิตเจ้าในพระศาสนจักร ศีลศักดิ์สิทธิ์ยังมีไว้ “เพื่อพระศาสนจักร” ก็เพราะว่า “พระ ศาสนจักรสร้างขึ้นได้โดยศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ” เพราะศีลศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้แสดงและถ่ายทอดพระธรรมล้ำลึกความสัมพันธ์กับพระเจ้า-องค์ความรัก พระธรรมล้ำลึกเรื่องพระเจ้าหนึ่งเดียวในสามพระบุคคลให้แก่มนุษย์ โดยเฉพาะในศีลมหาสนิท

CCC ข้อ 1119 พระศาสนจักรซึ่งรวมกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นเสมือนศีรษะ ร่วมเป็น “บุคคลล้ำลึกบุคคลเดียวกัน” ทำงานในศีลศักดิ์สิทธิ์เหมือนกับเป็น “ชุมชนสมณะ” “ที่มีโครงสร้างเป็นระเบียบ” โดยศีลล้างบาปและศีลกำลัง ประชากรสมณะเหมาะที่จะประกอบพิธีกรรม ในอีกด้านหนึ่ง ผู้มีความเชื่อบางคนที่ได้รับศีลบวช “ได้รับแต่งตั้งให้เลี้ยงดูพระศาสนจักรด้วยพระวาจาและพระหรรษทานของพระเจ้าในพระนามของพระคริสตเจ้า”

CCC ข้อ 1120 ศาสนบริการของผู้รับศีลบวช หรือ “สมณภาพเพื่อศาสนบริการ” มีไว้เพื่อรับใช้สมณภาพที่มาจากศีลล้างบาป สมณภาพเพื่อศาสนบริการแสดงว่าพระคริสตเจ้าเองทรงทำงานใน  ศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เดชะพระจิตเจ้าเพื่อพระศาสนจักร พันธกิจประทานความรอดพ้นที่พระบิดาทรงมอบไว้กับพระบุตรผู้ทรงรับสภาพมนุษย์นี้ถูกมอบไว้แก่บรรดาอัครสาวกและผ่านต่อไปแก่ผู้สืบตำแหน่งต่อจากท่าน ท่านเหล่านี้รับพระจิตของพระเยซูเจ้าเพื่อปฏิบัติงานในพระนามและพระบุคคลของพระองค์ ศาสนบริการของผู้รับศีลบวชจึงเป็นพันธะจากศีลศักดิ์สิทธิ์ที่รวมกิจกรรมทางพิธีกรรมกับสิ่งที่บรรดาอัครสาวกเคยพูดและทำไว้ และผ่านทางท่าน กับสิ่งที่พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นบ่อเกิดและรากฐานของศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เคยตรัสและทรงทำไว้

CCC ข้อ 1121  ศีลศักดิ์สิทธิ์สามประการ คือ ศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลบวช นอกจากประทานพระหรรษทานแล้ว ยังประทานตรา หรือ “เครื่องหมาย” ที่ทำให้คริสตชนมีส่วนในสมณภาพของพระคริสตเจ้าและเป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักรตามสถานะและบทบาทที่ต่างกัน การมีภาพลักษณ์ของพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรเช่นนี้เป็นผลงานของพระจิตเจ้าและไม่มีวันจะลบออกได้ แต่คงอยู่ตลอดไปในคริสตชนเป็นความพร้อมเพื่อจะรับพระหรรษทาน เป็นเสมือนคำสัญญาและประกันว่าพระเจ้าจะทรงปกป้องเขา และเป็นเสมือนการเรียกให้เข้ามาร่วมพิธีคารวกิจต่อพระเจ้าและรับใช้พระศาสนจักร เพราะฉะนั้นศีลทั้งสามนี้จึงรับซ้ำอีกไม่ได้เลย

ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความเชื่อ

CCC ข้อ 1122 พระคริสตเจ้าทรงส่งบรรดาอัครสาวกไปประกาศ “ในพระนามของพระองค์ให้นานาชาติกลับใจเพื่อรับอภัยบาป” (ลก 24:47) “ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขาเดชะพระนามพระบิดา พระบุตรและพระจิต” (มธ 28:19) พันธกิจทำพิธีล้างบาปจึงเป็นพันธกิจเกี่ยวกับศีลศักดิ์สิทธิ์ รวมอยู่ในพันธกิจการประกาศข่าวดี เพราะศีลศักดิ์สิทธิ์มีการเตรียมตัวโดยพระวาจาของพระเจ้าและโดยความเชื่อซึ่งเป็นการเห็นพ้องกับพระวาจานี้

“ประชากรของพระเจ้าก่อนอื่นหมดมารวมกันโดยพระวาจาของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต […] ศาสนบริการด้านศีลศักดิ์สิทธิ์เรียกร้องการประกาศพระวาจา เพราะศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นศีลแห่งความเชื่อซึ่งเกิดขึ้นและรับการหล่อเลี้ยงจากพระวาจา”


ลก 24:50-53  ในการเสด็จสู่สวรรค์ทั้งพระกายและพระวิญญาณของพระเยซูคริสตเจ้า พระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์เข้าสู่พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า เราเองก็จะได้มีส่วนร่วมในพระสิริรุ่งโรจน์นั้นด้วยเช่นกันเมื่อเราจะกลับคืนชีพในวันสุดท้าย      

“พระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์ประทับเบื้องขวาพระเจ้า พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ”

CCC ข้อ 659 “เมื่อพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้แล้ว พระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นสู่สวรรค์ให้ประทับ ณ เบื้องขวา” (มก 16:19) พระกายของพระคริสตเจ้าทรงพระสิริรุ่งโรจน์นับตั้งแต่ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ดังที่สภาพใหม่เหนือธรรมชาติแสดงให้เห็นว่าจะทรงสภาพเช่นนี้ตลอดไปแต่ระหว่างช่วงเวลาสี่สิบวันที่ทรงดื่มและเสวยพระกระยาหารอย่างเป็นกันเองกับบรรดาศิษย์ สอนพวกเขาเรื่องพระอาณาจักร พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ยังคงซ่อนอยู่ในรูปร่างของมนุษย์ธรรมดาทั่วไป การสำแดงพระองค์ครั้งสุดท้ายของพระเยซูเจ้าจบสิ้นลงเมื่อสภาพมนุษย์ของพระองค์เข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าอย่างเด็ดขาดโดยมีเมฆเป็นเครื่องหมาย ในสวรรค์ ที่พระองค์ประทับเบื้องขวาของพระเจ้านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงสำแดงองค์โดยวิธีพิเศษเป็นการยกเว้นแก่เปาโล “ผู้เป็นเสมือนเด็กที่คลอดก่อนกำหนด” ด้วย เป็นการแสดงพระองค์ครั้งสุดท้ายและแต่งตั้งเขาให้เป็นอัครสาวก    

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)