แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ข้อคิดข้อรำพึง

สัปดาห์ที่ 5 เทศกาลปัสกา ปี C

"จงรักกันและกัน"

5th Easter 1

เรามีความรักต่อนักกีฬาหรือทีมโปรดที่เราเชียร์  หรือวัยรุ่นก็มักมีดาราหรือนักร้องคนโปรดที่เป็นขวัญใจของเขา  เรามักภูมิใจที่จะทำตามแบบเขา หรือเลียนแบบเขา  บางทีเราใส่เสื้อ หรือหมวก หรือชุดเหมือนกับที่เขาสวมใส่

พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้เราเป็นเหมือนกับพระองค์ และทีมงานของพระองค์ด้วยเช่นกัน  แต่ในสมัยนั้นไม่มีชุดเครื่องแบบ  หรือหมวก  หรือเสื้อยืด ฯลฯ  ดังเช่นปัจจุบัน  ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงให้ผู้ติดตามทำตามแบบซื่อๆ  โดยตรัสว่าประชาชนจะรู้ว่าเราเป็นศิษย์ติดตามพระองค์  ถ้าเรารักกันและกัน  ทุกคนจะรู้ว่าใครเป็นศิษย์ของพระองค์ก็ด้วยเครื่องหมายพิเศษนี้เท่านั้น  ไม่ต้องเขียนชื่อปักไว้บนหมวก หรือบนเสื้อผ้า  ถ้าเราทำให้คนอื่นๆ มีความสุข  ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่โรงเรียน  ก็เท่ากับเป็นการทำให้อาณาจักรของพระเจ้าถูกสร้างขึ้นมานั่นเอง

"จงรักคนอื่น" ฟังดูเหมือนง่าย  แต่ปฏิบัติให้ได้จริงๆ กลับเป็นสิ่งที่ยากมากทีเดียว  นักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันได้เฝ้าดูการทำงานของคุณแม่เทเรซา แห่งกัลกัตตา(บัดนี้เป็นนักบุญแล้ว)  ในขณะที่ท่านกำลังเอาใจใส่คนที่กำลังจะตายอย่างน่าสมเพช  เขาพูดกับท่านนักบุญว่า  "ฉันจะไม่ทำสิ่งนี้  แม้จะได้เงินหนึ่งล้านดอลล่าร์"  ท่านนักบุญก็ตอบกลับในทันทีว่า  "ฉันก็จะไม่ทำเหมือนกัน  แต่สิ่งที่ฉันกำลังทำนี้ ทำเพื่อความรักของพระคริสตเจ้า"

"ทหารอเมริกันคนหนึ่งได้กลับบ้านหลังจากมารบที่เวียดนาม  เขาโทรศัพท์หาพ่อแม่จากเมืองซานฟรานซิสโก  "แม่ครับ พ่อครับ ผมกำลังจะกลับไปบ้าน  แต่ผมมีสิ่งหนึ่งอยากขอร้องคือ ผมมีเพื่อนคนหนึ่งจะพาไปที่บ้านด้วย"  พวกเขาตอบว่า "ได้สิลูก เราจะดีใจที่ได้พบเขา"  ลูกพูดต่อว่า "แต่มีสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ควรรู้ก่อนนะครับ คือเขาได้รับบาดเจ็บมากจากการไปรบ  และเขาเสียแขนและขาไปอย่างละข้างจากการเหยียบกับระเบิด  เขาไม่มีที่ไหนที่จะไป  ผมอยากให้เขามาอาศัยอยู่กับเรา"  พวกเขาตอบว่า "เราเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้  แต่เราสามารถช่วยเขาโดยการหาที่อื่นให้เขาไปอาศัยอยู่"  ลูกตอบว่า  "ไม่ครับ ผมต้องการให้เขาอยู่กับเรา"  พ่อเขาพูดว่า  "ลูกเอ๋ย  ลูกไม่รู้ว่ากำลังขออะไร  คนที่พิการอย่างนี้จะเป็นภาระหนักหนาสำหรับเรานะ  เราต้องมีชีวิตตามแบบของเรา  อย่าให้สิ่งนี้มารบกวนชีวิตของเรา พ่อคิดว่าลูกควรกลับมาบ้าน  แล้วลืมเพื่อนคนนี้เสีย  เขาคงจะมีวิธีดำเนินชีวิตด้วยตัวของเขาเอง"  พูดถึงแค่นี้  ลูกชายก็วางสายโทรศัพท์ไปแล้ว  จนกระทั่งอีกหลายวันต่อมา  พวกเขาได้รับโทรศัพท์จากตำรวจของเมืองซานฟรานซิสโก  แจ้งให้ทราบว่า  ลูกชายของเขาเสียชีวิตแล้วจากการตกลงจากตึกสูง  ตำรวจสันนิษฐานว่าเป็นการฆ่าตัวตาย  พ่อแม่โศกเศร้ามาก  บินไปที่ซานฟรานซิสโกเพื่อไปชี้ยืนยันและขอรับศพ  พวกเขาจำได้ว่าผู้ตายคือลูกของเขา  แต่สิ่งที่น่ากลัวที่พวกเขาค้นพบโดยไม่เคยรู้มาก่อนเลยคือ  ลูกของพวกเขามีแขนและขาเพียงข้างเดียว

นักบุญเทเรซา แห่งกัลกัตตา  เคยตั้งข้อสังเกตว่า (เชื้อ)โรคที่น่ากลัวมากที่สุดในโลกนี้ ไม่ใช่วัณโรค, โรคเรื้อน หรือแม้แต่ A.I.D.S  แต่คือการเป็น คนที่ไม่มีใครต้องการ  ไม่มีใครเอาใจใส่  ไม่มีใครรัก

มันเป็นเรื่องง่ายที่เราจะรักคนที่หน้าตาดี  คนที่สนุกเมื่อได้อยู่ใกล้  คนที่ฉลาด  คนที่ไม่สร้างปัญหาให้เรา  ไม่ทำให้เราเดือดร้อนหรือชวนทะเลาะ  แต่เรามักอยู่ห่างๆจากพวกที่ทำให้เรารู้สึกลำบากและรำคาญใจ  แต่คำสั่งของพระเยซูเจ้าต่อชาวเราคริสตชนคือ  "ให้ท่านรักกัน  เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร  ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด"  ความรักชนิดนี้แสดงตัวออกมาในการรับใช้  เป็นความรักที่สละตนเป็นพลีบูชา

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง  นักโทษคนหนึ่งหลบหนีจากค่ายกักกันที่เมือง เอ๊าสวิตซ์(Auschwitz) ที่ตั้งอยู่ในประเทศโปแลนด์  แต่เป็นค่ายของพวกนาซี  เจ้าหน้าที่ทหารที่ควบคุมค่ายจึงสุ่มจับนักโทษออกมา 10 คนเพื่อฆ่า  จะได้ไม่มีใครกล้าทำเช่นนี้อีก  คนหนึ่งในนั้นเป็นพ่อที่มีลูกหลายคน  ในขณะที่ผู้คุมจะนำพวกเขาไปประหารชีวิต  พระสงฆ์องค์หนึ่งก้าวออกมาจากแถวและอาสายอมตายแทนที่ชายคนนั้น  เจ้าหน้าที่ของนาซีตกตะลึงในความกล้าหาญนั้น  แต่ก็ยอมทำตาม  พระสงฆ์ฟรังซิสกันองค์นั้น คือคุณพ่อ มักซิมิเลียน กอลเบ  ซึ่งบัดนี้ได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญไปแล้ว (St Maximilian Kolbe) วีรกรรมชั้นยอดที่ท่านทำด้วยความรักต่อเพื่อนนักโทษร่วมค่ายกักกันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความรักที่พระเยซูเจ้าทรงมีต่อเรา และความรักของพระบิดาที่ทรงมีต่อพระเยซูเจ้า  ให้เราพยายามเข้าให้ถึงความรักชนิดดังกล่าวนี้

(แปลความโดย คุณพ่อวิชา  หิรัญญการ ลงวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ.2019

จากหนังสือ The Table of the Word, Homilies for Sundays and Solemnities, Cycles A, B & C

เขียนโดย Fr John Pichappilly)

5th Easter 25th Easter 3