แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันจันทร์ สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 10:1-10)                                                                                        

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ที่ไม่เข้าคอกแกะทางประตู แต่ปีนเข้าทางอื่น ก็เป็นขโมยและโจร ผู้ที่เข้าทางประตูก็เป็นผู้เลี้ยงแกะ คนเฝ้าประตูย่อมเปิดประตูให้เขาเข้าไป บรรดาแกะก็ฟังเสียงเขา เขาเรียกชื่อแกะของตนทีละตัว และพาออกไปข้างนอก เมื่อเขาพาแกะออกไปหมดแล้ว เขาจะเดินนำหน้า และแกะก็ตามไปเพราะจำเสียงของเขาได้ แกะจะไม่ตามคนแปลกหน้าเลย แต่จะหนีจากเขา เพราะไม่รู้จักเสียงของคนแปลกหน้า

พระเยซูเจ้าตรัสอุปมาเรื่องนี้ให้คนเหล่านั้นฟัง แต่เขาไม่เข้าใจว่าสิ่งที่พระองค์ตรัสนั้นหมายถึงสิ่งใด พระเยซูเจ้ายังตรัสกับเขาอีกว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า เราเป็นประตูคอกแกะ ทุกคนที่มาก่อนหน้าเรา เป็นขโมยและโจร แต่แกะมิได้ฟังเสียงของเขาเหล่านั้น เราเป็นประตู ผู้ที่เข้ามาทางเราก็จะรอดพ้น เขาจะเข้าจะออก และจะพบทุ่งหญ้า ขโมยย่อมมา เพื่อขโมย ฆ่าและทำลาย เรามา เพื่อให้แกะมีชีวิต และมีชีวิตอย่างสมบูรณ์


ยน 10:1-21 พระคริสตเจ้าตรัสถึงพระองค์เองโดยใช้สองภาพซึ่งเกี่ยวข้องกันคือ ทรงเป็นผู้เลี้ยงที่ดี นำทางฝูงแกะของพระองค์และเต็มใจสละชีวิตเพื่อแกะเหล่านั้น และพระองค์ยังทรงเป็นดังคอกแกะ เป็นประตูให้แกะของพระองค์จะผ่านเข้าสู่ชีวิตนิรันดร์ ในพันธสัญญาเดิม ประกาศกเยเรมีย์และประกาศกเอเสเคียลเรียกประชากรอิสราเอลว่า “ฝูงแกะ” และผู้นำของพวกเขาว่า “ผู้เลี้ยงแกะ” และเพลงสดุดีที่ 23 ได้กล่าวถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างชัดเจนในฐานะผู้เลี้ยงแกะที่คอยปกป้อง คุ้มกัน และดูแลฝูงแกะของพระองค์

พระเยซูเจ้าและอิสราเอล

  CCC ข้อ 574 นับตั้งแต่แรกที่พระเยซูเจ้าทรงเริ่มเทศน์สอนประชาชน ชาวฟาริสีและพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรด รวมทั้งบรรดาสมณะและธรรมาจารย์ ได้ประชุมปรึกษากันว่าจะกำจัดพระองค์ได้อย่างไร เพราะกิจการบางอย่างที่ทรงกระทำ เช่น การขับไล่ปีศาจ การอภัยบาป การรักษาคนเจ็บป่วยในวันสับบาโต การที่ทรงตีความตามแบบของพระองค์เกี่ยวกับกฎเรื่องการมีมลทินหรือไม่มี การที่ทรงคบค้ากับคนเก็บภาษีเพื่อรัฐบาลโรมและคนบาป บางคนที่มีเจตนาร้ายได้ตั้งข้อสงสัยว่าพระองค์ทรงถูกปีศาจสิง พระองค์ยังทรงถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระเจ้า และเป็นประกาศกเทียม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความผิดทางศาสนาที่ธรรมบัญญัติกำหนดโทษให้ประหารชีวิตโดยใช้ก้อนหินทุ่มให้ตาย

พระเยซูเจ้าและธรรมบัญญัติ

  CCC ข้อ 582 ยิ่งกว่านั้น พระเยซูเจ้ายังทรงปฏิรูปกฎเกี่ยวกับเรื่องอาหารมีมลทินหรือไม่มีมลทิน ที่เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวยิว ให้สมบูรณ์ขึ้น โดยทรงอธิบายความหมายในมุมมองของความเป็นเหมือน “ครูพี่เลี้ยง” ของกฎเหล่านี้ “สิ่งต่างๆ จากภายนอกที่เข้าไปในมนุษย์นั้นทำให้เขาเป็นมลทินไม่ได้ […] – ดังนี้ ทรงประกาศว่าอาหารทุกชนิดไม่เป็นมลทิน พระองค์ยังตรัสอีกว่า สิ่งที่ออกจากภายในมนุษย์นั้นแหละทำให้เขามีมลทิน จากภายใน คือจากใจมนุษย์นั้นเป็นที่มาของความคิดชั่วร้าย” (มก 7:18-21) พระเยซูเจ้าซึ่งทรงใช้อำนาจพระเจ้าอธิบายความหมายสุดท้ายของกฎเกณฑ์ต่างๆ จึงทรงขัดแย้งกับนักกฎหมายบางคนที่ไม่ยอมรับการอธิบายของพระองค์ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงทำเครื่องหมายอัศจรรย์เพื่อยืนยันพระวาจาที่ทรงสั่งสอน การเช่นนี้เห็นได้ชัดเป็นพิเศษในปัญหาเรื่องวันสับบาโต หลายครั้งพระเยซูเจ้าทรงใช้เหตุผลของบรรดาธรรมาจารย์เอง เพื่อชี้ให้เห็นว่าการรับใช้พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ไม่เป็นการผิดพระบัญญัติให้หยุดพักในวันสับบาโต เพราะพระองค์ทรงรักษาโรคในวันสับบาโต

ผู้นำชาวยิวมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า

  CCC ข้อ 596 บรรดาผู้นำศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็มมีความเห็นไม่ตรงกันถึงวิธีการที่จะต้องใช้เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า ชาวฟาริสีข่มขู่จะลงโทษผู้ที่เป็นศิษย์ติดตามพระองค์ สำหรับผู้ที่กลัวว่า “ทุกคนจะเชื่อเขา แล้วชาวโรมันก็จะมาทำลายทั้งพระวิหารและชนชาติของเรา” (ยน 11:48) มหาสมณะคายาฟาสประกาศพระวาจาเสนอแนะว่า “ถ้าคนคนเดียวจะตายเพื่อประชาชนจะเป็นประโยชน์มากกว่าที่ชนทั้งชาติจะต้องพินาศไป” (ยน 11:50) เมื่อสภาซันเฮดรินตัดสินว่าพระเยซูเจ้ามีความผิดสมควรต้องตายเพราะดูหมิ่นพระเจ้า แต่เขาไม่มีอำนาจประหารชีวิตผู้ใดได้จึงมอบพระองค์แก่ชาวโรมันโดยกล่าวหาว่าพระองค์ยุยงประชาชนให้เป็นกบฏข้อกล่าวหานี้จะนำพระองค์มาเทียบกับบารับบัสที่มีความผิด “เพราะก่อการจลาจล” (ลก 23:19) บรรดาหัวหน้าสมณะยังข่มขู่ปีลาตด้วยข้อหาทางการเมืองเพื่อให้ปีลาตตัดสินประหารชีวิตพระเยซูเจ้า

สัญลักษณ์ของพระศาสนจักร

  CCC ข้อ 754 “พระศาสนจักรเป็น คอกแกะ ที่มีพระคริสตเจ้าทรงเป็นประตูที่จำเป็นเพียงประตูเดียวพระศาสนจักรยังเป็น ฝูงแกะ ที่พระเจ้าเองทรงประกาศไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะทรงเป็น “ผู้เลี้ยง” และแกะฝูงนี้ แม้จะมีผู้เลี้ยงที่เป็นมนุษย์ปกครองดูแล แต่ก็ยังถูกนำและเลี้ยงดูจากพระคริสตเจ้าเองผู้ทรงเป็นผู้เลี้ยงที่ดีและเป็นหัวหน้าของบรรดาผู้เลี้ยงและทรงสละชีวิตของตนเพื่อบรรดาแกะ

พระศาสนจักร – พระเยซูคริสตเจ้าทรงสถาปนาขึ้น

  CCC ข้อ 764 “พระอาณาจักรนี้ปรากฏแจ้งแก่มวลมนุษย์ในพระวาจา พระราชกิจและการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้า” การรับพระวาจาของพระเยซูเจ้าเป็น “การรับพระอาณาจักร” นี้ด้วย เมล็ดพันธุ์และจุดเริ่มของพระอาณาจักรนี้คือ “ฝูงแกะน้อยๆ” (ลก 12:32) ของคนเหล่านั้นที่พระเยซูเจ้าเสด็จมาเรียกให้มารวมอยู่โดยรอบพระองค์ และทรงเป็น “ผู้เลี้ยง” ของเขา เขาเหล่านี้รวมเป็นครอบครัวแท้จริงของพระเยซูเจ้า ผู้ที่ทรงเรียกให้มาอยู่กับพระองค์นั้น พระองค์ทรงสอน “วิธีปฏิบัติแบบใหม่” และคำอธิษฐานภาวนาเฉพาะให้เขาด้วย


ยน 10:3  เรียกชื่อแกะ... พาออกไปข้างนอก : ในคอกแกะอาจมีแกะหลายฝูง นำโดยผู้เลี้ยงหลายคน แกะจะถูกเก็บไว้ด้วยกันในตอนกลางคืนโดยมีคนคอยเฝ้ายาม และพาพวกมันกลับออกไปกินหญ้าในเวลาเช้า ผู้เลี้ยงแต่ละคนจะเรียกแกะของตน พวกมันจะจำเสียงของเขาได้ และติดตามเขาออกไปจากคอกแกะ เป็นการเรียกอย่างคล้ายคลึงกันสำหรับบรรดาผู้มีความเชื่อ ที่จำพระสุรเสียงของพระคริสตเจ้าได้ พวกเขาจึงติดตามไปในทุกแห่งที่พระองค์ทรงนำ บรรดาผู้เชื่อของพระศาสนจักรคือคอกแกะที่เข้าทางประตู ซึ่งก็คือพระคริสตเจ้า

มนุษย์เป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้า

  CCC ข้อ 1706 อาศัยเหตุผล มนุษย์ย่อมรับรู้พระสุรเสียงของพระเจ้าที่ดลใจเขา “ให้ทำความดีและหลีกหนีความชั่ว” แต่ละคนจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งสะท้อนอยู่ในมโนธรรมและได้รับการปฏิบัติตามโดยความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ การดำเนินชีวิตที่มีศีลธรรมจึงเป็นพยานยืนยันถึงศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)