แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

บทที่ 1 ประมวลกฎหมายพระศาสนจักรที่เกี่ยวข้องกับศีลสมรส

จากหนังสือประมวลกฎหมายพระศาสนจักร บรรพ ๔ หน้าที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร
แปลโดย คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายพระศาสนจักร         
ภายใต้สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย

ภาค 1 ศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

weddingyyyyyลักษณะ 7 การแต่งงาน

มาตรา ๑๐๕๕ วรรค ๑ พันธสัญญาการแต่งงาน คือ พันธสัญญา ที่ชายและหญิง นำชีวิตทั้งครบของตน มาหลอมเข้าเป็นชีวิตหนึ่งเดียว ธรรมชาติของพันธสัญญานี้มุ่งสู่ความดีของคู่ชีวิต และการให้กำเนิดบุตรหลาน รวมทั้งให้การศึกษาอบรม การแต่งงานระหว่างผู้ได้รับศีลล้างบาป ได้รับการยกขึ้นจากพระคริสตเจ้า ให้มีศักดิ์ศรีเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์

    วรรค ๒ เพราะเหตุนี้ สัญญาการแต่งงานระหว่างผู้ได้รับศีลล้างบาป ไม่สามารถมีผลทางกฎหมาย โดยไม่เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ ในเวลาเดียวกัน

มาตรา ๑๐๕๖ ลักษณะเฉพาะที่เป็นแก่นแท้ของการแต่งงาน คือ ความเป็นหนึ่งเดียว และการแยกจากกันมิได้ การแต่งงานของคริสตชนมีความมั่นคงพิเศษ โดยเหตุผลของการเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์

มาตรา ๑๐๕๗ วรรค ๑ การแต่งงานเกิดขึ้นจากการยินยอมของทั้งสองฝ่าย ซึ่งแสดงออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ระหว่างบุคคลที่สามารถแต่งงานได้ตามกฎหมาย การยินยอมนี้ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยอำนาจของมนุษย์ใดๆ
    วรรค ๒ การยินยอมของการแต่งงาน คือ กิจการของอำเภอใจ ซึ่งชายและหญิงมอบและรับตนเองแก่กันและกัน เพื่อทำให้เกิดการแต่งงานด้วยพันธสัญญาอันเรียกคืนไม่ได้

มาตรา ๑๐๕๘ ทุกคนซึ่งกฎหมายไม่ห้าม สามารถทำสัญญาแต่งงานได้

มาตรา ๑๐๕๙ การแต่งงานของคาทอลิก แม้ฝ่ายเดียวเท่านั้นเป็นคาทอลิก ไม่เพียงแต่อยู่ใต้กฎเกณฑ์ของพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังอยู่ใต้กฎเกณฑ์ของพระศาสนจักรด้วย โดยคงไว้ซึ่งอำนาจทางบ้านเมือง เกี่ยวกับผลเพียงทางบ้านเมืองของการแต่งงานเดียวกันนั้น

มาตรา ๑๐๖๐ การแต่งงานได้รับการสนับสนุนจากกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ ในกรณีมีความสงสัย ให้ยืนยันความถูกต้องของการแต่งงานไว้ก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ให้เห็นเป็นตรงกันข้าม

มาตรา ๑๐๖๑ วรรค ๑ การแต่งงานที่ถูกต้องระหว่างผู้ได้รับศีลล้างบาป เรียกว่า การแต่งงานที่ได้รับสัตยาบันเท่านั้น หากยังไม่มีการทำให้สมบูรณ์ เรียกว่า การแต่งงานที่ได้รับสัตยาบันและสมบูรณ์ หากสามีภรรยาได้มีเพศสัมพันธ์ตามวิสัยมนุษย์ ซึ่งในตัวมันเองเหมาะที่จะทำให้เกิดบุตรหลานโดยธรรมชาติ การแต่งงานมีจุดประสงค์เพื่อการมีเพศสัมพันธ์นี้  และโดยการมีเพศสัมพันธ์นี้ สามีภรรยากลายเป็นเนื้อเดียวกัน

    วรรค ๒ ถ้าสามีภรรยามีชีวิตร่วมกัน หลังพิธีแต่งงาน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า การแต่งงานนั้นสมบูรณ์แล้ว จนกว่าจะพิสูจน์ให้เห็นเป็นตรงกันข้าม

    วรรค ๓ การแต่งงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เรียกว่า การแต่งงานสมมุติ หากการแต่งงานมีขึ้นโดยสุจริตใจอย่างน้อยจากฝ่ายหนึ่ง จนกว่าทั้งสองฝ่ายแน่ใจว่า การแต่งงานนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา ๑๐๖๒ วรรค ๑ การสัญญาจะแต่งงาน ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายเดียว หรือจากทั้งสองฝ่าย เรียกว่า การหมั้น การสัญญานี้ควบคุมด้วยกฎหมายเฉพาะ ซึ่งสภาพระสังฆราชตั้งขึ้น  หลังจาก ได้พิจารณาประเพณีการหมั้น และกฎหมายบ้านเมือง หากมี

    วรรค ๒ การหมั้นไม่ทำให้เกิดสิทธิเรียกร้องการแต่งงาน แต่ทำให้เกิดสิทธิเรียกร้องการชดเชยค่าเสียหาย หากมี