แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พระสังฆราช (สังฆนายก) (Bishop)
คำว่า  “พระสังฆราช” มาจากคำในภาษากรีกว่า “Episcopos”  หมายถึง “ผู้ควบคุม” หรือ “ผู้ดูแล” ดังนั้น  พระสังฆราช คือ ผู้แทนของพระคริสตเจ้า (LG. 27.2)   ผู้สืบตำแหน่งจากอัครสาวก (ศิษย์ 12 คน ซึ่งติดตามพระเยซูเจ้าอย่างใกล้ชิดในสมัยที่พระองค์ยังทรงพระชนมชีพอยู่)  ทำหน้าที่สงฆ์ ประกาศก และกษัตริย์ และบริหารงานร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับคณะพระสังฆราชทั่วโลกและกับพระสันตะปาปาที่สำนักวาติกัน กรุงโรม ประเทศอิตาลี
คุณสมบัติของผู้ที่เหมาะสมเป็นพระสังฆราช ความเชื่อที่เข้มแข็ง มีปรีชาญาณ สุขุมรอบคอบ มีคุณธรรม อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปและได้รับศีลบวชอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป จบระดับปริญญาเอกหรือปริญญาโทด้านพระคัมภีร์ เทวิทยา หรือกฎหมายพระศาสนจักรจากสถาบันที่สันตะสำนักรับรองหรือเป็นผู้ที่มีความชำนาญในด้านเหล่านี้

หน้าที่ของพระสังฆราช
1.ฐานะเป็นนายชุมพา (Pastor)   ต้องเอาใจใส่ดูแลทุกคนในสังฆมณฑล และเป็นพิเศษบรรดาพระสงฆ์ในฐานะผู้ช่วยงานและผู้แนะนำ
2. ฐานะเป็นอาจารย์   (Teacher) ต้องสอนและอธิบายความจริงเกี่ยวกับความเชื่อแก่บรรดาคริสตชน ด้วยการเทศน์สอนและการสอนคำสอน การประกาศพระวรสาร ส่งเสริมงานแพร่ธรรมในกิจการและองค์กรต่างๆ กระตุ้นให้คริสตชนเข้ามามีส่วนในการนี้
3. ฐานะเป็นผู้บันดาลความศักดิ์สิทธิ์ (Sanctifier) ต้องเป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ในหมู่คริสตชน ตามกระแสเรียกของแต่ละคน ต้องเป็นแบบอย่างในด้านความศักดิ์สิทธิ์ ความรัก ความสุภาพและความเรียบง่ายของชีวิต และประกอบพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณทุกวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับ เป็นประธานในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณในอาสนวิหารประจำสังฆมณฑลและในวัดอื่นๆ ของสังฆมณฑล (วันฉลองวัด)
4. ฐานะเป็นผู้ปกครอง (Ruler)  ทำหน้าที่บริหารปกครองสังฆมณฑลโดยใช้อำนาจนิติบัญญัติและตุลาการที่ท่านเป็นเจ้าของ ส่งเสริมการถือปฏิบัติตามกฎหมายพระศาสนจักร และคอยป้องกันมิให้ใช้ในทางผิด

ดังนั้น ตำแหน่งพระสังฆราชเป็นตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบมากมาย ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ดังกล่าวจนกว่าจะเกษียณอายุคือ 75 ปีบริบูรณ์ หรือเมื่อไม่สามารถทำหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงได้อีกต่อไป (มาตรา 401) อนึ่งพระสังฆราชไม่สามารถทำงานได้โดยลำพัง จึงเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์และสัตบุรุษทุกคนที่จะต้องร่วมมือและเป็นหนึ่งเดียวกับพระสังฆราชในทุกๆด้าน เพื่อให้งานประกาศพระวรสารในเขตสังฆมณฑลมีความก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น และทำให้พระอาณาจักรสวรรค์ได้ไปถึงทุกๆคน (อ้างอิงจากหนังสือ “สืบสาน ธารพระพร” หน้า 48-50)
มุขนายกหรือพระสังฆราช เป็นหัวหน้าปกครอง คณะบาทหลวง นักบวชชาย-หญิง และคริสต์ศาสนิกชน ในเขตสังฆมณฑล    สังฆมณฑล คือ เขตการปกครองของพระสังฆราชในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก มุขนายก หรือ พระสังฆราช จะต้องเป็นพระสงฆ์ หรือบาทหลวงมาก่อน และต่อมาได้รับการแต่งตั้ง จากสมเด็จพระสันตะปาปาโดยได้รับการอภิเษกขึ้นสู่ตำแหน่ง พระสังฆราช ซึ่งเป็นศีลบวชขั้นสูงสุด (ศีลบรรพชา)
o    ศีลบวชในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก มี 3 ขั้นคือ ขั้นสังฆานุกร (Deacon) ขั้นพระสงฆ์ (Priest) ขั้นพระสังฆราช (Bishop)
o    พระสังฆราช (Bishop)    เป็นสรรพนามที่ใช้เรียก ประมุขสังฆมณฑล ซึ่งเป็นเขตการปกครองในศาสนาคริสต์

นิกายโรมันคาทอลิก“พระคุณเจ้า”เป็นสรรพนามที่ชาวคริสต์ใช้เรียกพระสังฆราชหรือมุขนายก “มุขนายก”    เป็นสรรพนามที่ใช้เรียก พระสังฆราชในทางราชการ 

ประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 อัครสังฆมณฑล และ 8 สังฆมณฑล (เขตการปกครอง) (สำรวจ พ.ศ 2552)
1.ฯพณฯ พระอัครสังฆราช ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ประมุขอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
2.ฯพณฯ พระอัครสังฆราช หลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ประมุขอัครสังฆมณฑลท่าแร่ – หนองแสง
3.ฯพณฯ พระสังฆราช ฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์ ประมุขสังฆมณฑลเชียงใหม่
4.ฯพณฯ พระสังฆราช ยอแซฟ พิบูลย์ วิสิฐนนทชัย
5.ฯพณฯ พระสังฆราช ยอห์น บอสโก ปัญญา กฤษเจริญ ประมุขสังฆมณฑลราชบุรี
6.ฯพณฯ พระสังฆราช ยอแซฟ ชูศักดิ์ สิริสุทธิ์ ประมุขสังฆมณฆลนครราชสีมา
7. ฯพณฯ พระสังฆราช ฟิลิป บรรจง ไชยรา ประมุขสังฆมณฑลอุบลราชธานี
8.ฯพณฯ พระสังฆราช ยอแซฟ ลือชัย ธาตุวิสัย  ประมุขสังฆมณฑลอุดรธานี
9.ฯพณฯ พระสังฆราช  ซิลวีโอ สิริพงษ์ จรัสศรี ประมุขสังฆมณฑลจันทบุรี
10.ฯพณฯ พระสังฆราช โยเซฟ ประธาน ศรีดารุณศีล ประมุขสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี