กฎหมายพระศาสนจักรในชีวิตคริสตชน
พ่อแม่ทูนหัวมีความสําคัญอย่างไรในชีวิตคริสตชน
โดย คุณพ่อชิตพล แซ่โล้ว
เราคริสตชนคาทอลิกคงมีความคุ้นเคยกับคําว่า พ่อทูนหัว แม่ทูนหัว พ่ออุปถัมภ์ แม่อุปถัมภ์ (godfather, godmother, godparent) กันดีอยู่แล้ว เพราะเราก็คงจะมีพ่อทูนหัวหรือแม่ทูนหัวในศีลล้างบาปและศีลกําลังกันทุกคน หรือบางคนอาจจะถูกเลือกให้ทำหน้าที่นี้ด้วยซ้ำไป แม้ว่าเราจะคุ้นชินกับคํานี้ดี แต่หลายคนก็ยังคงมีข้อสงสัยว่า ถ้าไม่มีพ่อแม่ทูนหัวจะเป็นอะไรหรือเปล่า พ่อแม่ทูนหัวต้องมีอายุเท่าไร บิดามารดาเป็นพ่อแม่ทูนหัวเองได้หรือไม่ ฯลฯ เพื่อเป็นการตอบข้อสงสัยเหล่านี้ คอลัมน์กฎหมายพระศาสนจักรในชีวิตคริสตชน จึงขอนําเสนอความรู้ในเรื่องพ่อแม่ทูนหัวตามประมวลกฎหมายพระศาสนจักร
การมีพ่อแม่ทูนหัวในศีลล้างบาป
การที่ผู้รับศีลล้างบาปมีพ่อแม่ทูนหัวนั้น ถือว่าเป็นประเพณี (custom) ของพระศาสนจักรที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณแล้ว และการปรากฏตัวของพ่อแม่ ทูนหัวในพิธีศีลล้างบาปก็ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากพระศาสนจักร กฎหมาย พระศาสนจักรมาตรา 872 ได้กล่าวไว้ว่า “เท่าที่เป็นไปได้ ให้ผู้รับศีลล้างบาป มีพ่อแม่ทูนหัว” ฉะนั้น หากอยู่ในสถานการณ์ปกติ การจัดหาพ่อแม่ทูนหัวให้แก่ผู้รับศีลล้างบาปนั้น ก็คงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เสมอ อย่างไรก็ตาม การจะมีพ่อแม่ทูนหัวหรือไม่นั้น ไม่ใช่ความจําเป็นทั้งสำหรับความมีผลถูกต้อง (validity) และความชอบด้วยกฎหมาย (liceity) สำหรับศีลล้างบาป เพราะหากไม่สามารถหาพ่อแม่ทูนหัวได้จริง ๆ ก็ไม่ได้ทำให้การโปรดศีลล้างบาปนั้นเป็นโมฆะแต่อย่างใด การโปรดศีลล้างบาปนั้นยังมีผลถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายอยู่ เช่นในเวลาที่เราโปรดศีลล้างบาปให้แก่ผู้ที่อยู่ในอันตรายจะเสียชีวิต หรือในสถานการณ์อื่น ๆ ซึ่งมีความยากลําบากอย่างยิ่งที่จะหาพ่อแม่ทูนหัว ในการโปรดศีลล้างบาปเหล่านั้น ก็สามารถกระทำได้โดยที่ไม่ต้องมีพ่อแม่ทูนหัว
บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบของพ่อแม่ทูนหัว
พ่อแม่ทูนหัวมีบทบาทในจารีตพิธีศีลล้างบาป ถ้าผู้รับศีลล้างบาปเป็นทารก (มีอายุน้อยกว่า 7 ปี) พ่อแม่ทูนหัวก็มีหน้าที่พร้อมกับบิดามารดา นําทารกนั้นมารับศีลล้างบาป หากเป็นการล้างบาปผู้ใหญ่ พ่อแม่ทูนหัวก็จะมีหน้าที่ช่วยผู้รับศีลล้างบาปในพิธีรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน (Rite of Christian Initiation of Adults) ตามขั้นตอนต่าง ๆ บทบาทหน้าที่ของพ่อแม่ทูนหัวนั้นไม่ได้จบอยู่แค่การปรากฏตัวอยู่ในจารีตพิธีโปรดศีลล้างบาปเท่านั้น หากแต่เป็นความรับผิดชอบตลอดชีวิต ที่จะช่วยเหลือผู้รับศีลล้างบาปให้เจริญชีวิตคริสตชนที่เหมาะสมและปฏิบัติพันธะที่ติดมากับศีลล้างบาปนั้นอย่างซื่อสัตย์ (มาตรา 872)
จำนวนของพ่อแม่ทูนหัว
กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 873 ได้กําหนดให้ผู้รับศีลล้างบาปหนึ่งคนสามารถมีพ่อแม่ทูนหัวได้หนึ่งหรือสองคนเท่านั้น กล่าวคือ สามารถมีพ่อทูนหัวได้หนึ่งคน หรือแม่ทูนหัวได้หนึ่งคน หรืออาจจะมีทั้งพ่อและแม่ทูนหัวก็ได้ในกรณีที่เลือกพ่อแม่ทูนหัวเพียงคนเดียว เราสามารถเลือกพ่อแม่ทูนหัวเพศใดก็ได้ โดยไม่จําเป็นว่าพ่อแม่ทูนหัวจะต้องเป็นเพศเดียวกับลูกทูนหัวเสมอไป แม้ว่าในบริบทของประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะเลือกพ่อแม่ทูนหัวเป็นเพศเดียวกับผู้รับศีลล้างบาปก็ตาม ส่วนในกรณีที่เลือกให้มีสองคน พ่อแม่ทูนหัวจะต้องเป็นผู้ชายหนึ่งคน และผู้หญิงหนึ่งคนเท่านั้น จะเป็นผู้ชายทั้งสองคน หรือผู้หญิงทั้งสองคนไม่ได้ กฎหมายพระศาสนจักรไม่อนุญาตให้ผู้รับศีลล้างบาปหนึ่งคนมีพ่อแม่ทูนหัวมากกว่าสองคน อย่างไรก็ตาม ในบางวัฒนธรรมนิยมให้ญาติสนิทมิตรสหายจำนวนหลายคนเป็นพ่อแม่ทูนหัวให้กับผู้รับศีลล้างบาป ในกรณีเช่นนี้จะต้องเลือกเพียงแค่สองคนเท่านั้น (ชายหนึ่งหญิงหนึ่ง) ที่จะถูกบันทึกชื่อลงในทะเบียนศีลล้างบาป ในฐานะที่เป็นพ่อแม่ทูนหัวอย่างเป็นทางการ
คุณสมบัติของพ่อแม่ทูนหัว
พ่อแม่ทูนหัวต้องได้รับการเลือกจากผู้รับศีลล้างบาปเอง หรือจากบิดามารดา หรือจากผู้ทําหน้าที่แทนบิดามารดา หรืออาจจะให้คุณพ่อเจ้าวัด หรือศาสนบริกรเลือกแทนได้ กฎหมายพระศาสนจักร มาตรา 874 ระบุไว้ว่า บุคคลที่จะทําหน้าที่เป็นพ่อแม่ทูนหัวได้ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
1) มีอายุครบ 16 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่พระสังฆราชสังฆมณฑลได้กำหนดอายุไว้เป็นแบบอื่น หรือเจ้าวัดหรือศาสนบริกรเห็นว่ามีเหตุอันควรยกเว้นให้ได้
2) เป็นคาทอลิกที่ได้รับศีลกําลังและศีลมหาสนิทแล้วเท่านั้น
3) เจริญชีวิตที่สอดคล้องกับความเชื่อซึ่งเหมาะสมกับบทบาทที่จะรับ
4) ไม่เป็นบุคคลที่ยังต้องโทษใด ๆ ทางกฎหมายพระศาสนจักร
5) ไม่เป็นบิดามารดาของผู้รับศีลล้างบาป
เนื่องจากพ่อแม่ทูนหัวจะต้องเป็นแบบอย่างในการเจริญชีวิตที่สอดคล้องกับความเชื่อ ดังนั้น จึงไม่สมควรที่จะเลือกบุคคลที่ไม่ปฏิบัติความเชื่อ ทิ้งวัดเป็นเวลานาน รวมทั้งผู้ที่แต่งงานไม่ถูกต้อง หรืออาศัยอยู่กินด้วยกันโดยมิได้แต่งงานมาทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ทูนหัว
ในอดีตกฎหมายพระศาสนจักรได้ห้ามมิให้พระสงฆ์ สังฆานุกร และนักบวชเป็นพ่อแม่ทูนหัว เว้นไว้แต่ว่า จะได้รับอนุญาตอย่างแจ้งชัดจากผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจ (CIC/17 มาตรา 766) แต่ข้อห้ามเหล่านี้ ไม่ได้บรรจุอยู่ในกฎหมายพระศาสนจักรฉบับปัจจุบันอีกแล้ว ฉะนั้นกฎเกณฑ์เหล่านี้จึงถูกยกเลิกไป
การทำหน้าที่ต่อเนื่องในศีลกําลัง
กฎหมายพระศาสนจักรได้ให้คําแนะนําว่า “เป็นการสมควรที่จะให้ผู้เป็นพ่อแม่ทูนหัวของศีลล้างบาป ทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ทูนหัวของศีลกําลังด้วย” (มาตรา 893 วรรค 2) คําแนะนํานี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างศีลล้างบาปและศีลกําลัง อย่างไรก็ตาม สามารถให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่ทูนหัวของศีลล้างบาปเป็นพ่อแม่ทูนหัวของศีลกําลังได้
เราอาจจะเป็นพ่อทูนหัวหรือแม่ทูนหัวของใครบางคน แต่ก็เป็นไปได้ที่ตัวเราเองก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิตคริสตชนของลูกทูนหัวของเราเลย บางที ตอนนี้อาจจะเป็นเวลาที่เหมาะที่จะถามตนเองว่า แล้วทําไม เราจึงไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการเจริญชีวิตคริสตชนของลูกทูนหัวของเราบ้าง
การเลือกให้คนหนึ่งคนใดเป็นพ่อแม่ทูนหัวนั้นคงไม่ใช่แค่เรื่องการให้เกียรติยกย่องทางสังคม หรือเลือกญาติสนิทมิตรสหายคนใดก็ได้ หากแต่จะต้องคํานึงถึงบทบาทหน้าที่ของพ่อแม่ทูนหัวที่จะคอยช่วยเหลือสนับสนุนให้ผู้รับศีลล้างบาปสามารถเจริญชีวิตคริสตชนอย่างซื่อสัตย์ ฉะนั้น ผู้ที่มีหน้าที่ในการเลือกก็ควรจะพิจารณาให้รอบคอบ และผู้ที่ได้รับการเชื้อเชิญให้ทําหน้าที่เป็นพ่อแม่ทูนหัวนั้น ก็ควรตระหนักและให้ความสําคัญกับการทําหน้าที่นี้ด้วยความเอาใจใส่ รวมถึงตอบรับด้วยความภาคภูมิใจที่จะได้มีส่วนร่วมในการสร้างสมาชิกที่มีคุณภาพให้แก่พระศาสนจักร
บรรณานุกรม
Beal, J.P., Coriden, J.A., & Green, T.J. (Eds.). (2000). New Commentary on the Code of Canon Law, Paulist Press.
Huels, J.M. (2016). The Pastoral Companion: A Canon Law Handbook for Catholic Ministry,
(5th ed.). Wilson & Lafleur Ltée.
Woestman, W.H. (2011). Canon Law of the Sacraments for Parish Ministry, (2nd rev. and updated ed.). Faculty of Canon Law, Saint Paul University.
17
ที่มาของเนื้อหา สารสังฆมณฑลราชบุรี ปีที่ 36 ฉบับที่ 3 เดือนมกราคม-เมษายน 2023