ความรับผิดชอบของพระสันตะปาปาคืออะไร
ในฐานะผู้สืบตำแหน่งต่อจากนักบุญเปโตร และเป็นหัวหน้าคณะพระสังฆราช สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเป็นบ่อเกิดและผู้รับรองเอกภาพของพระศาสนจักร ท่านมีอำนาจสุงสุดในการอภิบาล และมีอำนาจตัดสินสุดท้ายในเรื่องข้อคำสอนและกฎระเบียบวินัย (880-882, 936-937)
พระเยซูเจ้าทรงประทานตำแหน่งเฉพาะเหนืออัครสาวกองค์อื่นๆ แก่นักบุญเปโตร ทำให้ท่านมีอำนาจสูงสุดในพระศาสนจักรยุคแรก->กรุงโรม ซึ่งเป็นพระศาสนจักรท้องถิ่นที่ท่านดำเนินชีวิต และเป็นสถานที่ที่ท่านได้สิ้นใจเป็นมรณสักขีนั้นได้กลายเป็นสถานที่อ้างอิงภายในของพระศาสนจักรโรมที่ยังเยาว์อยู่
กล่าวคือ ชุมชนคริสตชนทุกแห่งต้องเห็นด้วยกับโรม ในฐานะเป็นมาตรฐานความเชื่อที่เป็นจริง สมบูรณ์และบริสุทธิ์ จากบรรดาอัครสาวก จนถึงทุกวันนี้ ผู้ที่เป็นพระสังฆราชแห่งกรุงโรม ยังคงเป็นเช่นเดียวกับนักบุญเปโตร คือ เป็นชุมพาบาลสูงสุดของพระศาสนจักร ซึ่งมีพระคริสตเจ้าทรงเป็นประมุขแท้จริง พระสันตะปาปาเป็น “ผู้แทนของพระคริสตเจ้าในโลกนี้” ในฐานะผู้อภิบาลสูงสุดและผู้มีอำนาจในข้อคำสอน พระสันตะปาปาดูแลการถ่ายทอดความเชื่อที่แท้จริง หากจำเป็นพระองค์สามารถสั่งเพิกถอนหน้าที่การสอนข้อความเชื่อ หรือ ปลดศาสนบริกรที่ได้รับการบวชออกจากตำแหน่งหน้าที่ ในกรณีที่เป็นความผิดร้ายแรงเรื่องความเชื่อและศีลธรรม เอกภาพเรื่องของความเชื่อและศีลธรรม ซึ่งได้รับการรับรองจากอาจารยานุภาพ (Magisterium) หรือ อำนาจการสอนของพระศาสนจักร ร่วมกับสมเด็จพระสันตะปาปาผู้เป็นประมุข เป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้พระศาสนจักรคาทอลิกแผ่ขยายและมีอิทธิพลอย่างกว้างขวาง
กรุงโรม (Rome) ตั้งแต่แรกเริ่ม กลุ่มคริสตชนในกรุงโรมถูกมองว่าเป็น “พระศาสนจักรที่ยิ่งใหญ่” และเก่าแก่ที่สุด เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ได้รับการก่อตั้งและบริหารจัดการที่กรุงโรมโดยอัครสาวกผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดสองท่าน คือ เปโตรและเปาโล...ด้วยเหตุที่พระศาสนจักรแห่งกรุงโรมมีต้นกำเนิดอันสูงส่ง พระศาสนจักรทุกแห่ง คือ สัตบุรุษทุกคนทั่วโลกจึงต้องเห็นพ้องกับพระศาสนจักรแห่งกรุงโรม และในพระศาสนจักรนี้เองที่สัตบุรุษทุกหนแห่งได้บำรุงรักษาธรรมประเพณีของบรรดาอัครสาวกไว้” (นักบุญอิเรเนอุส แห่งลีออง 135-202) ด้วยเหตุที่อัครสาวกทั้งสองท่านต้องทุกข์ทรมานและเป็นมรณสักขีที่กรุงโรม จึงทำให้ชุมชนคริสตชนกรุงโรมมีความสำคัญมากขึ้น
สมเด็จพระสันตะปาปา (Pope) (ภาษากรีก Pappas บิดา) ผู้สืบตำแหน่งจากนักบุญเปโตรอัครสาวก พระสังฆราชแห่งกรุงโรม เนื่องจากนักบุญเปโตรเป็นผู้นำในบรรดาอัครสาวก สมเด็จพระสันตะปาปาในฐานะผู้สืบตำแหน่งต่อจากท่าน จึงทำหน้าที่เป็นประธานเหนือคณะพระสังฆราช ในฐานะผู้ช่วยหรือผู้แทนของพระคริสตเจ้า พระสันตะปาปาทรงเป็นผู้อภิบาล สงฆ์ และผู้สอนในลำดับสูงสุดในพระศาสนจักร
พระสังฆราช (Bishop) (ภาษากรีก eposkopein การกำกับดูแล) ผู้สืบตำแหน่งของบรรดาอัครสาวก ผู้นำของสังฆมณฑล (พระศาสนจักรท้องถิ่น) ในฐานะสมาชิกของคณะพระสังฆราช ภายใต้การนำของสมเด็จพระสันตะปาปา พระสังฆราชมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบต่อพระศาสนจักรสากล
พระสงฆ์ (Priest) (ภาษากรีก presbyteros ผู้อาวุโส) ผู้ร่วมงานกับพระสังฆราชในการประกาศพระวรสาร และเป็นผู้โปรดศีลศสักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ท่านปฏิบัติหน้าที่ในความเป็นหนึ่งเดียวกับคณะสงฆ์ ภายใต้การนำของพระสังฆราช
สังฆานุกร (Deacon) (ภาษากรีก diakonos ผู้รับใช้ ผู้ช่วย) สังฆานุกรได้รับการบวชเพื่อเป็นศาสนบริกรของพระวาจา พิธีกรรม และงานเมตตาจิตต่างๆ รวมทั้งมีอำนาจในการโปรดศีลล้างบาป การเทศน์ในพิธีบูชามิสซาและเป็นประธานในพิธีศีลสมรส