ความสัมพันธ์ระหว่างพระศาสนจักรและชาวยิวคืออะไร
ชาวยิวเป็น “พี่คนโต” ของคริสตชน เพราะพระเจ้าทรงรักเขาเป็นพวกแรก และตรัสแก่เขาเป็นกลุ่มแรก พระเยซูคริสตเจ้าเป็นชายชาวยิวคนหนึ่งและความจริงนี้ทำให้เป็นหนึ่งเดียวกัน พระศาสนจักรรับรองว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต และความจริงนี้ทำให้เราแตกแยกกัน ในการรอคอยการเสด็จมาครั้งสุดท้ายของพระเมสสิยาห์ เราจะเป็นหนึ่งเดียวกัน (839-840)
ความเชื่อของชาวยิวเป็นรากฐานความเชื่อของเรา พระคัมภีร์ของชาวยิวที่เราเรียกว่าพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมนั้น เป็นภาคแรกในพระคัมภีร์ของเรา ความคิดของคริสตชนชาวยิวเรื่องมนุษย์และศีลธรรม ซึ่งได้รับการหล่อหลอมจากพระบัญญัติสิบประการ เป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตยตะวันตก เป็นเรื่องน่าอับอายที่ตลอดเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา คริสตชนไม่เต็มใจยอมรับความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับศาสนายิว และเหตุผลบิดเบือนทางเทววิทยาได้ช่วยกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านชายยิว ซึ่งบ่อยครั้งก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรง ในระหว่างปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2000 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ได้มีพระดำรัสขออภัยในเรื่องนี้ สังคายนาวาติกันที่สองได้แถลงอย่างชัดเจนว่า ชาวยิวในฐานะประชากรมิใช่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความผิดที่ได้ตรึงพระคริสตเจ้าบนไม้กางเขน -> 96-97} 335
“จงอย่าคิดว่าเรามาเพื่อลบล้างธรรมบัญญัติหรือคำสอนของบรรดาประกาศก เรามิได้มาเพื่อลบล้าง แต่มาเพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์” (มธ 5 : 17)
“ผู้ปกครองจักรวรรดิไรซ์ที่สาม หรือนาซีเยอรมนีต้องการกำจัดประชากรชาวยิวทุกคน...ลึกๆ แล้ว ในอาชญากรรมเลวร้ายที่ต้องการกวาดล้างประชาชนเหล่านี้ ก็คือต้องการฆ่าองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเรียกอับราฮัม ผู้ตรัสบนภูเขาซีนายและทรงวางพระบัญญัติ เพื่อเป็นคำแนะนำสำหรับมนุษยชาติ อันเป็นหลักการที่มีคุณค่าตลอดกาล” สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 (28 พฤษภาคม 206 ที่ Auschwitz, Birkenau)
“สำหรับเรา ศาสนายิวมิใช่สิ่งภายนอกแต่เป็นแก่นของศาสนาเรา ด้วยเหตุนี้เราจึงมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งไม่เหมือนศาสนาอื่น พวกท่านเป็นพี่ชายที่ได้รับสิทธิ์พิเศษ และกล่าวได้ว่า ท่านเป็นพี่ชายคนโตของเรา” สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 (1920-2005) ระหว่างการเสด็จเยี่ยมศาลาธรรมของชาวยิวในกรุงโรม ค.ศ. 1986