มีข้อพิสูจน์ใดบ้างที่แสดงถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า
ไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ในการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า อย่างไรก็ตาม มีบุคคลและหลักฐานที่รวบรวมได้จำนวนมาก ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเยรูซาเล็มในสมัยนั้น (639-644, 647, 656-657)
งานเขียนเก่าแก่ที่สุดซึ่งยืนยันการกลับคืนพระชนมชีพ คือ จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ ประมาณยี่สิบปีหลังการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้า “ข้าพเจ้ามอบธรรมประเพณีสำคัญที่สุดให้กับท่าน เป็นธรรมประเพณีที่ข้าพเจ้าได้รับมาอีกทอดหนึ่ง คือ พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์เพราะบาปของเรา ตามที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์และทรงถูกฝังไว้ พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สามตามความในพระคัมภีร์ และทรงแสดงพระองค์แก่เคฟาส แล้วจึงทรงแสดงพระองค์แก่อัครสาวกสิบสองคน หลังจากนั้นทรงแสดงองค์แก่พี่น้องมากกว่าห้าร้อยคนในคราวเดียว คนส่วนมากในจำนวนนี้ยังมีชีวิตอยู่ แม้ว่าบางคนล่วงหลับไปแล้ว (1คร 15 : 3-6) นักบุญเปาโลได้บันทึกชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนคริสตชนในสมัยแรกเริ่ม สองหรือสามปีหลังการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า เมื่อท่านเองกลายเป็นคริสตชน เนื่องจากท่านได้พบองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ บรรดาศิษย์นำเอาความจริงเรื่องพระคูหาว่างเปล่า (ลก 24 : 2-3) มาเป็นเครื่องหมายประการแรกแสดงถึงความจริงของการกลับคืนพระชนมชีพ บรรดาสตรีได้พบสิ่งนี้ด้วย แต่ตามกฎหมายของสมัยนั้น สตรีไม่สามารถเป็นพยานได้ แม้เราอ่านเรื่อของอัครสาวกยอห์น เขา “เห็นและมีความเชื่อ” (ยน 20 : 8ข) แล้ว ตั้งแต่พระคูหาว่างเปล่า แต่สิ่งที่ทำให้เราแน่ใจในการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า คือ การที่พระองค์ทรงแสดงองค์หลายต่อหลายครั้ง การพบปะกับองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพสิ้นสุดลงเมื่อพระคริสตเจ้าเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ กระนั้นก็ดี ทุกวันนี้ยังมีหลายคนที่ได้พบเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงชีวิต พระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่
(พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่มารีย์ ชาวมักดาลา ซึ่งจำพระองค์ไม่ได้ในทันที) พระเยซูเจ้าตรัสเรียกนางว่า “มารีย์” นางจึงหันไปทูลพระองค์เป็นภาษาฮีบรู “รับบูนี” (ซึ่งแปลว่าพระอาจารย์) (ยน 20 : 16)
“ใครที่เชื่อในเรา แม้ตายไปแล้วก็จะมีชีวิต” (ยน 11 : 25)
“ผู้ใดที่ได้ยินการประกาศเรื่องการกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ไม่อาจเดินต่อไปได้ด้วยสีหน้าเศร้าหมอง และไม่อาจดำเนินชีวิตที่ปราศจากความชื่นชมยินดี หรือไร้ซึ่งความหวังต่อไปได้” Friedrich SCHILLER (1759-1805 นักประพันธ์และผู้เขียนบทละคร ชาวเยอรมัน)