แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พระแท่น (The Altar)

as_20091028_1901833026ศูนย์กลางของวัดคือพระแท่น เป็นทั้งสถานที่ถวายบูชาและเป็นโต๊ะศีลมหาสนิท

  • พระแท่น เป็นจุดนัดพบระหว่างพระเจ้ากับมนุษยชาติ ศูนย์กลางของสิ่งก่อสร้างทางศาสนา ตั้งอยู่ตรงกลางสักการะสถาน (Sanctuary) มีการยกพื้นเป็นบันได 2-3 ขั้น เพื่อดึงดูดความสนใจทางด้านสถาปัตยกรรมไปยังพระแท่น (คำว่า “altar” มาจากคำคุณศัพท์ภาษาละตินว่า altus หมายถึง “สูง”) มนุษยชาตินิยมสร้างสถานที่บุชาไว้ที่สูง เช่น ภูเขาโอลิมปุส ซึ่งเป็นที่สถิตของเทพเจ้ากรีก เมื่อความสูงของภูเขาไม่พอบริเวณพระแท่นจึงเป็นสถานที่ที่อยู่เหนือสุดของโครงสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้นเช่น ซิกกูรัตของพวกเมโสโปเตเมียเมื่อมนุษย์ปรารถนาจะเข้าสู่อาณาจักรศักดิ์สิทธิ์ เขาคิดถึงหอบาแบล ธรรมเนียมยิวถือว่าภูเขาเป็นสถานที่ตามธรรมชาติที่จะพบพระเจ้าได้ เป็นที่ๆ สวรรค์พบกับโลก พระยาเวห์ตรัสกับโมเสสบนยอดภูเขาซีนาย
  • สัญลักษณ์แห่งคารวกิจต่อพระเจ้า คือ ควันจากเครื่องบูชาที่เผาถวายเป็นครั้งแรกให้ “ลอยขึ้น” ไปสู่พระเจ้าผู้ “ทรงได้กลิ่นที่พอพระทัย” (ปฐก.8.21) นี่เป็นธรรมประเพณีของการถวายบูชาโดยใช้ไฟ การเผาบูชา (มาจากคำในภาษากรีก holokaustos แปลว่า เผาให้หมด) ในจารีตพิธีที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพันธสัญญาที่ภุเขาซีนาย โมเสสแบ่งเลือดของสัตว์บุชาระหว่างพระแท่นที่ท่านเพิ่งสร้างขึ้นที่เป็นสิ่งแทนพระเจ้า กับประชาชนที่ได้รับการพรมด้วยเลือดสัตว์ ดังนั้น พระยาเวห์ และชาวอิสราเอลจึงกลายเป็น “สายเลือดเดียวกัน” (อพย.24.4-8) พันธสัญญาใหม่แบบของชาวคริสต์ดำเนินตาม “ความคิดเรื่องสายโลหิตกัน” และบันดาลให้เขาเป็นแขกร่วมโต๊ะอาหารกับพระเจ้า เนื่องจากการถวายบูชาแห่งศีลมหาสนิทเลี้ยงดูหมู่คณะด้วยพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าเอง พระแท่นในวัดของเราจึงเป็นโต๊ะที่วางเครื่องบูชา โต๊ะเป็นสัญลักษณ์ถึงพระเจ้าผู้ทรงรับของขวัญที่บรรดาสัตบุรุษนำมาถวาย แต่ พระแท่นคือโต๊ะเลี้ยงอาหารศักดิ์สิทธิ์ที่แขกมาร่วมกันรับประทานอาหารศักดิ์สิทธิ์ ที่พระแท่นพระคริสต์ในฐานะพระเจ้าผู้ทรงรับเครื่องบูชา เป็นทั้งพระสงฆ์และเครื่องบูชา พระองค์ในฐานะมนุษย์ถวายเครื่องบูชาและถวายตัวเอง
  • ระหว่างการเสกวัด สิ่งแรกที่ทำคือ ฝังพระธาตุของนักบุญมรณสักขีไว้ภายใต้แผ่นหินของพระแท่น เพื่อทำเครื่องหมายถึงความต่อเนื่องระหว่างการถวายบูชาของพระคริสตเจ้า กับการพลีบูชาของสัตบุรุษ ดังนั้น พระแท่นได้รับการอภิเษกด้วยการเจิมน้ำมันคริสมา หลังจากนั้น มีการเผากำยานซึ่งเป็นเครื่องหมายว่า พระจิตทรงครอบครองพระแท่นแล้ว สุดท้าย จะใช้ผ้าปูพระแท่น
  • ดังนั้น พระแท่นเป็นสัญลักษณ์ที่สูงส่งของพระคริสตเจ้าในวัด แม้กระทั่งสำคัญกว่าไม้กางเขน พระแท่นเป็นสิ่งแรกที่เราต้องแสดงคารวกิจเมื่อเข้าไปในวัด พระสงฆ์กราบพระแท่นตอนเริ่มพิธีบูชา และตอนจบพิธีมิสซาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความเคารพ