แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ท่าทางภายนอกและอากัปกริยา (Gestures and Postures)
    ไม่ว่าเราจะอยู่คนเดียวหรืออยู่ด้วยกันหลายคน เราพูดกับพระเจ้าโดยการเคลื่อนไหวร่างกาย
    ยิ่งไปกว่าการแสดงเดี่ยวโดยใช้เครื่องดนตรีเพียงชิ้นเดียวแทนที่จะใช้ทั้งวง พิธีกรรมของคาทอลิกถือว่าเป็นวงดนตรี เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นมีความสำคัญมากต่อทั้งวง โดยเล่นไปตามบทบาทแต่ต้องเล่นอย่างเต็มที่แต่ว่าการเปรียบเทียบกับวงดนตรีนี้ก็ยังไม่ดีพอเพราะว่านอกเหนือไปจากเครื่องดนตรีและเสียงแล้วพิธีกรรมยังเรียกร้องให้มีการส่วนร่วมของคนทั้งครบ ทั้งวิญญาณ กาย ใจตลอดจนหัวใจอีกด้วย

ภาพลักษณ์ที่ดีกว่าเห็นจะได้แก่ละครโอเปร่า (Opera) ซึ่งสัมพันธ์กับอากัปกริยาและท่าแสดงของตัวละครด้วย การเปรียบเทียบนี้ใช่ว่าจะเป็นของง่ายเพราะความหมายของ Opus Dei เผยแพร่โดยพระวินัยของนักบุญเบเนดิก หมายความถึง “งานของพระเจ้า” ซึ่งก็หมายถึงทั้งงานที่พระมอบหมายให้แก่เราและงานที่ทรงกระทำให้สำเร็จโดยทางเราและเพื่อเรา อย่าลืมว่าคำว่า “opera” มาจากภาษาละตินซึ่งหมายความว่า “งาน” พหูพจน์ของคำว่า opus
    แม้ว่าพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของคริสต์ศาสนาไม่สมควรที่จะเรียกว่าการเต้นรำ กระนั้นก็ดียังมีความเกี่ยวข้องกับการจัดการการเคลื่อนไหวของผู้เข้าร่วมพิธีทั้งหลายด้วย ด้านพิธีนั้นมีความจำเป็นเพื่อให้พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์จะดำเนินไปอย่างสงบเพื่อจะได้ก่อให้เกิดความรู้สึกว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่สัตบุรุษ คือ การประทับอยู่อย่างจริงจังและอย่างน่ารักของพระเจ้า
    ตามบริบทของการประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต้องการให้เรายึดถืออากัปกริยาที่แน่นอน สี่ อย่างได้แก่การยืน การนั่ง คุกเข่าและ นานๆที หมอบกราบ
การยืน เป็นท่าที่มีศักดิ์ศรีเพราะเป็นการบ่งให้เห็นชัดว่ามนุษย์ถูกสร้างมาตามพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้า ยังเป็นเครื่องหมายของการเคารพที่มนุษย์มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งก็ถือว่าเป็นการถูกต้องเช่นยืนเวลาฟังอ่านพระวรสาร เรายืนเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าเพื่อภาวนาซึ่งโดยทั่วไปมักจะหันไปทางทิศตะวันออกคือหันหน้าไปหาดวงอาทิตย์ที่กำลังขึ้น อันเป็นสัญลักษณ์ของพระคริสต์ผู้ทรงกลับคืนชีพ เพราะเหตุนี้เองที่ชั้นนักขับร้องมักจะหันไปทางทิศตะวันออก
    การนั่ง หมายถึงการเปิดเผยอย่างสันติเหมาะสมสำหรับเวลาฟังบทอ่านและคำเทศน์
    คุกเข่า เป็นท่าของการวิงวอนอย่างเร่าร้อนหรือเพื่อการภาวนาที่สุภาพและสนิทสนมกว่า เช่น เวลาเสกศีลระหว่างมิสซาและเวลาเรามีพิธีนมัสการศีลมหาสนิท
    ท่าหมอบ    คือนอนราบกับพื้น สำหรับโอกาสพิเศษเท่านั้น เช่นผู้จะรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ผู้รับศีลบวชจะหมอบกราบระหว่างการสวดบทเร้าวิงวอนนักบุญทั้งหลาย ก่อนที่จะรับศีลบวชหรือนักบวชที่กำลังจะปฏิญาณตัว วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์หลังจากการอ่านพระมหาทรมานของนักบุญยอห์นที่เล่าถึงความมรณกรรมของพระเยซู ผู้อ่านจะหยุดครู่หนึ่งและทั้งวัดจะพากันหมอบลง
    มือและแขนของผู้ประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์  ก็มีความสำคัญเช่นกันในการปฏิบัติตามจารีตของพิธีกรรมเช่น การอวยพร
    การเจิม ด้วยน้ำมันศักดิ์สิทธิ์และเป็นต้นเวลาเสกศีลมหาสนิท เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ที่ท่านต้องมี พระสงฆ์จะล้างมือหลังภาคถวาย
    การพนมมือ เป็นท่าของการภาวนาซึ่ง พระสงฆ์กระทำเวลาประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์หรือภาวนาและเวลาที่ท่านไม่จำเป็นต้องถือหรือใช้มือทำอะไร บางครั้งพระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีจะกางแขนเป็นต้นระหว่างการสวดบทข้าแต่พระบิดาในพิธีมิสซา ภาพของท่าทางเก่าแก่ของการภาวนานี้มักจะพบในสุสานใต้ดินนับตั้งแต่เริ่มแรกของคริสต์ศาสนาเลยทีเดียว มือเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ เช่นพระสังฆราชปกมือเหนือผู้ที่รับศีลบวช เป็นต้น
    พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เรียกร้องให้สัตบุรุษทำท่าทางกับมือด้วยเช่นเวลาทำสำคัญมหากางเขน เราเอามือสัมผัสหน้าผาก หน้าอกและไหล่ทั้งสองข้าง ก่อนการอ่านพระวรสาร เขาใช้นิ้วโป้งทำเครื่องหมายกางเขนเล็กๆ เหนือหน้าผาก ปากและหัวใจ การสัมผัสมือกันแทนที่จะจุมพิตในการมอบสันติสุขแก่กันก่อนรับศีลมหาสนิท นี่เป็นเครื่องหมายของความรักบริสุทธิ์ที่พวกเขาพึงมีต่อกัน
    ยังมีพิธีอื่นๆ อีกที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย พิธีกรรมในตอนเย็นของวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์มีการล้างเท้าอันเป็นการระลึกถึงท่าทางของพระคริสต์ในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย (ยน.13:10) สัตบุรุษก้มคำนับต่อหน้าสัญลักษณ์ของการประทับอยู่ของพระเจ้าเช่นพระแท่น กางเขนและหนังสือพระวรสาร บรรดาฤาษีโค้งต่ำๆในตอนท้ายของบทเพลงสดุดีแต่ละบทเมื่อสวดว่า “สิริพึงมีแด่พระบิดาและพระบุตรและพระจิต” เวลาที่พวกเขาทำวัตร การย่อเข่าเป็นเรื่องจำเป็นเวลาเข้าวัดและเวลาเดินผ่านหน้าศีลมหาสนิทซึ่งเราจะสังเกตได้ด้วยตะเกียงที่จุดอยู่บนพระแท่น
    ระหว่างการปลงศพ ศพได้รับการพรมด้วยน้ำเสกอันเป็นเครื่องหมายของการชำระให้บริสุทธิ์และได้รับการโยนกำยานให้อันเป็นเครื่องหมายของการแสดงความเคารพ เพราะนักบุญเปาโลสอนว่าร่างกายของเราเป็นส่วนประกอบของพระคริสต์และเป็นวิหารของพระจิต (1 คร 6:15-19) พวกเขาได้รับเรียกให้เข้าสู่พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของสวรรค์ด้วยร่างกายที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงแล้ว
    ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง ผู้ร่วมพิธีทุกคนต่างก็เดินไปหาองค์พระผู้เป็นเจ้าเหมือนกับที่เจ้าสาวเดินเข้าหาเจ้าบ่าวของตน ตัวอย่างที่เรารู้จักกันดีได้แก่ขบวนแห่เทียนในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ขบวนแห่ใบลานหรือเวลาที่เราแห่เข้าวัดเพื่อเริ่มพิธีตื่นเฝ้าช่วงปัสกาหลังจากพิธีเสกเทียนปัสกา ขบวนแห่ศีลมหาสนิทในวันสมโภชพระกายและพระโลหิตของพระเยซูยิ่งมีความสำคัญ การแห่จะมีมากหรือน้อยก็สุดแล้วแต่ประเทศหรือภูมิภาค ตัวอย่างเช่นการแห่เทียนที่เมืองลูรด์ได้รับการนิยมเป็นอย่างมาก