แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

กางเขน (The Cross)
กางเขนซึ่งพระเยซูสิ้นพระชนม์เพื่อความรอดของเรานั้น
ยังคงเป็นเครื่องหมายของการถวายบูชาพระองค์เองอย่างสิ้นเชิงอยู่

cross 785x400    ในการรวมเอาแกนตั้งและแกนนอน ซึ่งบรรจุสัญลักษณ์ทั้งครบของจุดสำคัญเป็นหลักนั้น กางเขนได้เข้ามามีบทบาทในทุกวัฒนธรรมและทุกศาสนา จุดรวมของสองแกนนี้ถือว่าเป็นจุดนัดพบ จุดรวมและจุดสังเคราะห์ ในอีกแง่หนึ่งกางเขนเตือนสติถึงการทรมาน การรับทุกข์และการเผชิญหน้ากัน
    กางเขนของพระคริสต์รับเอาสัญลักษณ์ทั้งสองนี้ไว้ด้วยกัน เนื่องจากในด้านหนึ่งเป็นพระแท่นของการบูชาถวายซึ่งจะต้องทำให้มนุษยชาติคืนดีกันและนำตัวเข้าไปใกล้พระเจ้ายิ่งขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งมันเป็นเครื่องมือประหารพระเยซูจนสิ้นพระชนม์ ไม่ต้องสงสัยว่ากางเขนเป็นสัญลักษณ์ของคริสตศาสนา บัดนี้เราต้องพยายามทำความเข้าใจกับความหมายที่แท้จริงของกางเขน

    พระเยซูเสด็จมาในโลกนี้ด้วยพันธกิจแห่งการไถ่กู้และไปที่ใด “ทรงกระทำแต่ความดี” (กจ.10:38) แต่ผู้นำฝ่ายศาสนาของประเทศชาติของพระองค์อิจฉาพระองค์ เพราะทรงประท้วงการที่พวกเขามีความคิดแคบๆ พลังของการเทศนาและขนาดของขบวนการของพระองค์ได้ทำให้พวกเขาต้องวางแผนกำจัดพระองค์ ดูเหมือนว่าพวกเขาได้รับชัยชนะในช่วงปัสกา ปอนซีอัส ปีลาต ข้าหลวงโรมันแห่งแคว้นยูเดียจำยอมเพราะแรงกดดันของชาวยิวให้ตัดสินประหารพระองค์ด้วยข้อหาหนัก เพราะพระองค์ทรงยืนยันถึงการเป็นพระบุตรของพระเจ้า แต่สำหรับคริสตชนการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูมิได้เป็นจุดจบ พระคริสต์ทรงกลับคืนชีพและทรงประทับเบื้องพระหัตถ์ขวาของพระบิดา พระเยซูทรงทนกับการปฏิเสธของประชากรของพระองค์ เช่นเดียวกันกับโมเสสและเยเรมีย์ “ด้วยการแบกเอาความผิดของพวกเขาไว้” (อสย.53:11) ทรงทำให้คำพยากรณ์ของประกาศกอิสยาห์สำเร็จไปและด้วยการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพ “แม้ถูกทารุณและไม่ได้รับการยอมรับ แต่ก็มิได้ปริปากพูดเหมือนกับแกะที่ถูกนำไปโรงฆ่า” (อสย.53:7) ใช่ว่าพระคริสต์จะไม่ทรงทราบถึงจุดหมายปลายทางของพระองค์ซึ่งอธิบายไว้อย่างชัดเจนในตอนต้นๆของพระวรสาร ซึ่งยอห์น บัปติสแนะนำพระคริสต์ว่าทรงเป็นลูกแกะของพระเจ้า(๑) ทรงดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางของพระองค์ด้วยเต็มพระทัย โดยการประกาศล่วงหน้าให้บรรดาศิษย์ของพระองค์ได้ทราบอย่างน้อยสามครั้งถึงการทรมานและมรณกรรมที่กำลังจะมาถึงพระองค์(๒)
    การรับทุกข์ “ปัสกา” อันนี้ด้วยการถูกประหารและความตาย ที่จริงแล้วเป็นการนบนอบต่อความจำเป็นที่เป็นธรรมล้ำลึกแห่งแผนการไถ่บาปของพระเจ้า ตามที่พระเยซูทรงอธิบายแก่ศิษย์ ที่ เดินทางไปเมืองเอมมาอุสหลังจากการกลับคืนชีพของพระองค์ว่า “พระคริสต์จำเป็นต้องทนทรมานเช่นนี้ เพื่อจะเข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์มิใช่หรือ” (ลก.24:26) ความอดสูที่พระคริสต์ต้องรับและการตรึงกางเขนสำหรับนักบุญยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสารแล้วเป็นการแต่งตั้งกษัตริย์ ปิลาตทูลถามพระองค์ว่าทรงเป็นกษัตริย์หรือไม่ และพวกทหารเยาะเย้ยพระองค์ด้วยการเรียกพระองค์ว่าทรงเป็น “กษัตริย์ของชาวยิว” (๓) ตามบัญชาของปิลาต (๔) และได้กลายเป็นเครื่องหมายแทนในเวลาต่อมา บนกางเขนมีป้ายเขียนด้วยสี่คำ I.N.R.I (Jesus Nazarenus Rex Indeorum) “เยซูชาวนาซาเร็ธกษัตริย์ของพวกยิว”
    วิธีการเดียวที่จะเข้าใจการที่พระเยซูทรงเต็มพระทัยถวายองค์เป็นยัญบูชาก็ด้วยการมองว่า เป็นการแสดงออกที่ชัดเจนที่สุดของความรักที่ทรงมีต่อเราและต่อพระบิดาของพระองค์ (๕) รักจนถึงขนาดที่ว่าพระบุตรของพระเจ้ายอมมอบพระองค์เองอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อแผนการซึ่งพระบิดาได้ทรงกำหนดไว้เพื่อไถ่บาป นี่เป็นเหตุผลที่ตรัสก่อนทรงรับทุกข์ทรมานในการสนทนาครั้งสุดท้ายกับอัครสาวกของพระองค์ว่า “เราจะไม่พูดกับท่านนานต่อไปอีก เพราะเจ้าโลกนี้กำลังมา มันไม่มีอำนาจอันใดเหนือเรา แต่โลกจะต้องรู้ว่าเรารักพระบิดา และรู้ว่าพระบิดาทรงบัญชาให้เราทำอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น” (ยน.14:30-31)
    กางเขนแห่งพระสิริรุ่งโรจน์จึงเป็นการเปิดเผยอันสูงสุดของความรักที่สมบูรณ์แบบที่สุด พระเยซูทรงอธิบายความสำคัญนี้ในการเลี้ยงครั้งสุดท้ายเมื่อทรงตั้งศีลมหาสนิท(๖) เราเห็นภาพการตรึงกางเขนโยงไปถึงพระตรีเอกภาพในภาพพิธีล้างของพระคริสต์อันได้แก่รูปนกพิราบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระจิตเจ้าบินอยู่เหนือพระผู้ถูกตรึงพระบุตรพระบุตรของพระเจ้าสิ้นพระชนม์ในฐานะมนุษย์บนกางเขน “ทรงมอบวิญญาณของพระองค์” (ยน.19:30) ซึ่งหมายความว่าทรงมอบพระจิตแก่เรา
    น้ำและพระโลหิตที่ไหลออกจากพระสีข้างที่ถูกแทงได้ให้กำเนิดพระศาสนจักร ซึ่งก็มีความคล้ายคลึงกันกับการถือกำเนิดของเอวาซึ่งพระเจ้าทรงสร้างจากกระดูกซี่โครงของอาดัม (๗) บรรดาปิตาจารย์ยังได้พูดอีกว่ากางเขนเป็นเตียงสมรสซึ่งพระศาสนจักรเป็นเจ้าสาวของพระเจ้าได้ตั้งครรภ์ โดยพระคริสต์ทรงเป็นเจ้าบ่าว(๘)
    ดังนั้นกางเขนจึงเป็นศูนย์กลางของโลกคริสตชน ภาษิตของคณะการ์ทูเซียนจึงมีว่า “กางเขนตั้งมั่นบนโลกที่หมุนใบนี้” นี่จึงเป็นเหตุให้จักรวาลของเรานี้เต็มไปด้วยกางเขน “วัดส่วนใหญ่จะถูกสร้างในรูปกางเขนจั่วและที่นั่งของนักขับร้องทำหน้าที่เป็นแกนตั้ง ตัววัด (ที่มีสองปีก)เป็นแกนนอน การที่ที่นั่งของนักขับร้องมักจะเฉียงออกจากศูนย์กลางไปนิดหนึ่ง ก็ได้รับการตีความว่าพระเศียรของพระคริสต์ที่ถูกตรึง เอนไปข้างหนึ่งเมื่อ “ทรงมอบวิญญาณของพระองค์” ภายในวัดกางเขนสิบสองอันของการอภิเษก (วัด)เป็นสัญลักษณ์ของ “อัครสาวกทั้งสิบสององค์ของลูกแกะของพระเจ้า” (วว.21:14) คริสตชนมักแขวนกางเขนบนคอและกางเขนที่หน้าอกเป็นเครื่องหมายพิเศษของนายชุมพา หลุมฝังศพของคริสตชนนับตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มาแล้วมักมีกางเขนตั้งอยู่
    เครื่องหมายกางเขนที่เราใช้ในการอวยพรเกี่ยวข้องกับธรรมล้ำลึกของพระตรีเอกภาพ เข้ากับธรรมล้ำลึกแห่งการไถ่บาป เพราะว่าในขณะที่ทำเครื่องหมายกางเขนอยู่นั้นเราก็ออกพระนามของพระบุคคลทั้งสาม “เดชะพระนามพระบิดา (ที่หน้าผาก) พระบุตร (ที่หน้าอก) และพระจิต (ที่บ่าซ้ายไปบ่าขวา หรือถ้าเป็นพวกออร์ธอดอกซ์สลับข้างกัน) อาแมน” การก้าวหน้าที่เป็นสัญลักษณ์นี้สรุปชีวิตไว้อย่างครบถ้วนซึ่งได้รับแรงบันดาลจากความรักซึ่งพาไปจนถึงที่สุดซึ่งเกินเลยไปถึงการทรมานและความตายของเราจนนำเราไปสู่ชีวิตนิรันดรกับพระคริสต์


๑)    “วันต่อมา.....(ยอห์น) กล่าวว่า “นี่คือลูกแกะของพระเจ้าผู้ทรงยกบาปของโลก” (ยน.1:29)
๒)    มธ.16:21; 17:22-23;20: 18-19
๓)    ยน.18:33-37;19: 3-14
๔)    ยน.19:19
๕)    ยน.13:1
๖)    มธ.26:26-28
๗)    ยน.19:34 ปฐก.2:21-24
๘)    อฟ.5:25-27