ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเพลงสดุดี
1. ชื่อ ลักษณะทั่วไป
หนังสือ "เพลงสดุดี" มีชื่อในภาษาฮีบรูว่า "Tehillim" (= เพลงสรรเสริญ) หมายถึงหนังสือที่รวบรวมบทประพันธ์ทางศาสนาจำนวน 150 บทที่ใช้เป็นคำภาวนาของอิสราเอล หนังสือนี้ในพระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรูจัดไว้เป็นฉบับแรกในหมวด Ketubim (Writings) ก่อน โยบ และ สภษ ส่วนภาษากรีกฉบับ LXX เรียกหนังสือนี้ว่า "Psalmoi" หรือ "Psalterion" จัดเป็นฉบับแรกอยู่ในหมวดหนังสือปรีชาญาณ ตามด้วย สภษ ปญจ ส่วนในพระคัมภีร์ของคริสตชน สดด จัดอยู่ระหว่างหนังสือ โยบ และ สภษ
คำว่า "Psalterion" ในภาษากรีกแปลว่าเครื่องดนตรีที่มีสาย เช่นพิณหรือกีร์ต้า ส่วนคำว่า "Psalmos" หมายถึงการดีดเครื่องดนตรีนี้ หรือหมายถึงบทเพลงที่ร้องคลอกับเสียงเครื่องดนตรีดังกล่าว
จำนวน 150 บทของเพลงสดุดีในพระคัมภีร์เป็นจำนวนที่กำหนดขึ้นในภายหลัง เพราะคำภาวนาที่เป็นคำประพันธ์ในพระคัมภีร์ยังมีอีกไม่น้อยนอกหนังสือเพลงสดุดี เช่น บทเพลงของนางเดโบราห์ (วนฉ 5) บทเพลงของนางฮันนาห์ (1 ซมอ 2:2-10) คำไว้อาลัยของดาวิดต่อกษัตริย์ซาอูลและโยนาธานพระโอรส (2 ซมอ 1:19-27) คำอธิษฐานของกษัตริย์เฮเซคียาห์ (อสย 38:10-20) คำอธิษฐานของประกาศกเยเรมีย์ (ยรม 15:15-25) เพลงคร่ำครวญ (พคค 3) คำอธิษฐานของดาเนียลและเพื่อน (ดนล 2:20-23; 3:26-45,52-90) คำอธิษฐานของโยนาห์ (ยนา 2:2-9) ของโทบิต (ทบต 13) คำไว้อาลัยของยูดาสมัคคาบีต่อบิดา (1 มคบ 3:3-9) คำไว้อาลัยของประชากรอิสราเอลต่อสิโมน (1 มคบ 14:4-15) เป็นต้น ในพันธสัญญาใหม่ก็มีบทเพลงของเศคารยาห์ (ลก 1:68-79) ของพระนางมารีย์ (ลก 1:26-55) และของสิเมโอน (ลก 2:29-32) นอกพระคัมภีร์ยังมีบทสดุดีของซาโลมอน (Psalms of Solomon) และ Hodayoth (เพลงขอบพระคุณ) ของชุมชนที่ Qumran ตกมาถึงสมัยปัจจุบันนี้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม เพลงสดุดีทั้ง 150 บทนี้เป็นที่รู้จักและใช้กันมากที่สุดทั้งในหมู่ชาวยิวและคริสตชน
บทประพันธ์เหล่านี้แสดงความรู้สึกต่างๆของมนุษย์ในความสัมพันธ์ติดต่อกับพระเจ้า ตั้งแต่ความเศร้าโศกหมดหวังจนถึงความชื่นชมโสมนัสยินดี ดังนั้น แม้ว่าเพลงสดุดีเหล่านี้จะแต่งขึ้นจากสภาพแวดล้อมเฉพาะเจาะจง แต่ก็สะท้อนสภาพจิตใจของมนุษย์ทุกคนโดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ จึงนับว่ามีลักษณะสากลและเป็น "อมตะ" โดยแท้จริง
เรารู้จักเพลงสดุดีโดยเรียกเลขประจำแต่ละบท แต่ทว่าเลขหมายเพลงสดุดีของฉบับภาษาฮีบรูแตกต่างกันเล็กน้อยกับเลขหมายของฉบับภาษากรีก/ละติน (โดยทั่วไป ฉบับภาษาฮีบรูมีเลขมากกว่า 1 หน่วย) ดังจะเขียนให้เห็นตามตารางต่อไปนี้
ภาษาฮีบรู ภาษากรีก/ละติน ข้อสังเกต
1 - 8 1 - 8 เลขตรงกัน
9-10 9
11 -113 10 - 112 ภาษาฮีบรูเลขมากกว่า 1 หน่วย
114-115 113
116 114-115
117 - 146 116 - 145 ภาษาฮีบรูเลขมากกว่า 1 หน่วย
147 146-147
148 - 150 148 - 150 เลขตรงกัน
แต่ก่อนนี้พระคัมภีร์ฉบับแปลของคาทอลิกมักจะใช้เลขหมายเพลงสดุดีตามฉบับ ภาษกรีก/ละติน (LXX/Vg) แต่ในปัจจุบันใช้เลขหมายตามฉบับภาษาฮีบรู
2. ข้อความนำหน้าเพลงสดุดี
เพลงสดุดีส่วนมากมีข้อความนำหน้าบอกให้ทราบถึง ก) ลักษณะ "เทคนิค" ทางดนตรีและคำแนะนำในการขับร้อง ข) ชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเพลงสดุดีบทนั้น และ ค) เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง --- ข้อความนำหน้าที่พบได้เป็นครั้งแรก (สดด 3) มีลักษณะครบทั้ง 3 ประการ คือ ก) "เพลงสดุดี" (mizmor) ข) "ของกษัตริย์ดาวิด" ค) "ขณะที่ทรงหนีจากอับซาโลมพระโอรส" ข้อความนำหน้าเช่นนี้พบได้ทั้งในต้นฉบับภาษาฮีบรู (MT = Masoretic Text) ภาษากรีกฉบับ LXX (= Septuaginta) และในตัวบทของ สดด ที่พบได้ที่ Qumran ข้อความเหล่านี้คงจะเป็นข้อความเพิ่มเติมตัวบทแท้ๆ จากธรรมประเพณีเก่าแก่ของบรรดารับบีชาวยิวก่อนคริสตกาล
3. แบบวรรณกรรมของเพลงสดุดี
เนื่องจากเพลงสดุดีเป็นบทเพลง มีลักษณะเป็นคำประพันธ์ที่มีเจตนาแสดงอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าที่จะเน้นความคิดหรือคำสั่งสอน ดังนั้นเมื่ออ่านเพลงสดุดีเหล่านี้ เราจึงต้องอ่านโดยคำนึงถึงแบบแผนของคำประพันธ์ในภาษาฮีบรู ซึ่งมีลักษณะพิเศษอยู่ที่ "ความคิดคล้องจองกัน" (Parallelism) เราจึงจะเข้าใจได้ว่าผู้ประพันธ์ต้องการจะกล่าวถึงอะไร ข้อความ 2 บรรทัดที่ดูเหมือนจะซ้ำหรือขัดแย้งกันนั้น อันที่จริงต้องการแสดงความคิดเพียงความคิดเดียว โดยมองจากมุมมองต่างกันให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น จุดอ่อนอีกประการหนึ่งในการอ่านเพลงสดุดีก็คือ ข้อความเหล่านี้เป็นบทประพันธ์สำหรับใช้ขับร้องคลอกับดนตรี ดังนั้นเมื่อนำมาอ่านโดยไม่มีทำนองประกอบด้วย จึงขาดความไพเราะไปเป็นอันมาก ยิ่งกว่านั้นเมื่อแปลเป็นภาษาอื่นแล้ว ลักษณะคำประพันธ์ของภาษาฮีบรูซึ่งมีความไพเราะของตนอยู่ด้วย (เช่นเดียวกับคำประพันธ์ทุกภาษา) ไม่อาจถ่ายทอดออกมาได้ จึงทำให้ความไพเราะซาบซึ้งต้องสูญหายไปเกือบหมดทีเดียว อย่างไรก็ตาม ในคำแปลที่เรามีก็ยังทำให้เราเข้าใจความคิดและความรู้สึกของผู้ประพันธ์ได้อยู่ไม่น้อย
เราอาจจำแนกเพลงสดุดีเป็นกลุ่มๆได้โดยใช้มาตรการ 3 ประการ คือ ก) สถานการณ์แวดล้อมที่ให้กำเนิด หรือ "Sitz im Leben"; ข) เนื้อหาความคิดหรืออารมณ์ที่แสดงออก (content); และ ค) แบบวรรณกรรม (Literary Forms) ซึ่งมีโครงสร้างและแบบแผนเฉพาะของตน
เมื่อทราบถึงสถานการณ์แวดล้อมและแบบวรรณกรรมแล้ว เราจึงจะแน่ใจได้ว่าเนื้อหาและความหมายของเพลงสดุดีแต่ละบทคืออะไร ในสมัยหลังเนรเทศ เพลงสดุดีทุกบทถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมของพระวิหาร แม้ว่าเพลงสดุดีบางบทไม่ได้มีกำเนิดขึ้นจากพิธีกรรม เช่นเพลงสดุดีประเภทคำอ้อนวอนส่วนตัวซึ่งเกิดขึ้นจากความทุกข์ร้อนหรืออันตรายส่วนตัวของผู้ประพันธ์ เป็นต้น
การจำแนกเพลงสดุดีตามแบบวรรณกรรม ทำให้เราได้แบบสำคัญ 3 แบบต่อไปนี้
3.1 เพลงสดุดีประเภท "คำสรรเสริญ" (Tehillim ในภาษาฮีบรู) ได้แก่ สดด 8;19; 29; 33; 65-66[:1-12]; 100; 104-105; 111; 113-114; 117; 135-136; 145-146; 148-150 และยังรวม สดด 46; 48; 76; 84; 87 ซึ่งเป็น "บทเพลงศิโยน" กับ สดด 47; 93; 95-96 ซึ่งเป็น "บทเพลงกล่าวถึงพระยาห์เวห์ทรงครองราชย์เป็นกษัตริย์" อีกด้วย
เพลงสดุดีประเภทนี้มีมาตั้งแต่โบราณแล้ว ดังจะเห็นได้จาก "บทเพลงของมีเรียม" (อพย 15:21) ซึ่งขยายออกเป็น "บทเพลงของโมเสส" (อพย 15:1-19) เฉลิมฉลองพระอานุภาพของพระเจ้าที่ทรงช่วยประชากรอิสราเอลข้ามทะเล คำนำของ "บทเพลงของนางเดโบราห์" (วนฉ 5:3) ก็มีลักษณะคำประพันธ์ประเภทนี้ ซึ่งแสดงความชื่นชมยินดี ยืนยันความยิ่งใหญ่ พระกรุณาของพระเจ้า ทั้งในการที่ทรงกอบกู้อิสราเอล ทั้งในการเนรมิตสร้าง หรือในพระองค์เอง สถานการณ์แวดล้อมที่ให้กำเนิดของเพลงสดุดีประเภทนี้ก็คือพิธีชุมนุมเฉลิมฉลองในโอกาสต่างๆของอิสราเอล
เพลงสดุดีประเภท "คำสรรเสริญ" นี้มีโครงสร้างที่เห็นได้ชัดเจนเป็น 3 ตอนดังนี้คือ
ก) คำเชิญชวน - เพลงสดุดีประเภทนี้มักจะเริ่มด้วยคำเชิญชวนให้ถวายเกียรติแด่พระเจ้า (เช่น "จงสรรเสริญ" "จงขับร้อง" "จงชื่นชมยินดี" ฯลฯ) ผู้รับเชิญชวนนี้ก็มีหลายพวก เช่น "ผู้ชอบธรรม" "อิสราเอล" "ประชาชาติ" "แผ่นดิน" "ทะเล" "ป่าเขาลำเนาไพร" หรือตัวผู้ประพันธ์เองในสำนวนว่า "วิญญาณข้าพเจ้าเอ๋ย" เป็นต้น
ข) ต่อจากนั้นจะเป็น "เนื้อหา" หรือ "เหตุผล" ว่าทำไมจึงต้องสรรเสริญพระองค์ ซึ่งมักจะมีคำนำว่า "เพราะ" แล้วบรรยายเหตุผลต่างๆ คำสอนทางเทววิทยาของเพลงสดุดีส่วนใหญ่จะพบได้ใน "เหตุผล" เหล่านี้ เช่น ลักษณะของพระเจ้า ความดี ความยุติธรรม พระกรุณา ความยิ่งใหญ่ ความศักดิ์สิทธิ์ มหิทธานุภาพ ฯลฯ ของพระเจ้า นอกจากนั้นเหตุผลในการสรรเสริญพระเจ้าอาจเป็นการที่ทรงเลือกสรรอิสราเอลมาเป็นประชากรของพระองค์ หรือเหตุการณ์ที่แสดงพระกรุณาในประวัติศาสตร์ความรอดพ้น ความดีงามของสิ่งสร้างและคุณธรรม เป็นต้น
ค) สรุป - เพลงสดุดีประเภท "คำสรรเสริญ" นี้มักจะสรุปโดยคำเชิญชวนให้สรรเสริญอีกครั้งหนึ่ง (สดด 8; 103-104; 135-136) หรืออาจเป็นคำอวยพรก็ได้ (สดด 29; 33; 146; 148) คำที่คุ้นหูมากๆจากเพลงสดุดีประเภทนี้ได้แก่คำ "อัลเลลูยา" (Hallelu-ia = จงสรรเสริญพระยาห์[เวห์]เถิด) คงจะเป็นข้อความที่ผู้ร่วมชุมนุมโห่ร้องรับพร้อมกับแบบ "ลูกคู่" เช่นเดียวกับคำโห่ร้องรับอื่นๆ เช่น "อาเมน" (="สาธุ" - เทียบ 1 พศด 16:36; ยดธ 15:10; สดด 41:13; 72:19; 89:52; 106:48) หรือ "เพราะความรักมั่นคงของพระองค์ดำรงเป็นนิตย์" ใน สดด 136; 118 และที่อื่นๆ เช่น 2 พศด 5:13; 7:3,6; 20; 21; ยรม 33:11
3.2 เพลงสดุดีประเภท "คำอ้อนวอน" (Psalms of supplication) ซึ่งผู้ประพันธ์มิได้สรรเสริญพระเจ้า แต่ร้องหาพระองค์โดยตรง ขอความช่วยเหลือจากพระองค์ในยามทุกข์ยาก ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น "คำอ้อนวอนส่วนตัว" (Individual supplication) ถ้าความทุกข์ร้อนนั้นเป็นความทุกข์ร้อนส่วนตัว และ "คำอ้อนวอนส่วนรวม" (Collective supplication) เมื่อประชากรทั้งชาติต้องเผชิญกับความทุกข์ร้อนหรืออันตรายส่วนรวม และร้องหาพระยาห์เวห์ให้ทรงช่วยเหลือ
เพลงสดุดีประเภทคำอ้อนวอนมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ ก) คำร้องหาพระยาห์เวห์ ข) เนื้อหาของเพลงสดุดีประเภทนี้จะเป็นการบรรยายถึงความทุกข์และความต้องการต่างๆ ค) คำอ้อนวอน ขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าให้พ้นทุกข์ ง) เหตุผล ที่ทำให้พระยาห์เวห์ต้องยื่นพระหัตถ์มาช่วยเหลือ จ) คำสัญญา หรือบนบานว่าจะขอบพระคุณหรือสรรเสริญ ถ้าพระองค์ทรงฟังคำอ้อนวอนและประทานความช่วยเหลือแล้ว ฉ) คำขอบพระคุณพระเจ้าที่ได้ทรงช่วยเหลือ
ก) คำอ้อนวอนส่วนตัว เพลงสดุดีประเภทนี้มีจำนวนมากที่สุด คือประมาณ 1/3 ของเพลงสดุดีทั้งหมด ได้แก่ สดด 3; 5-7; 13; 17; 22; 25; 26; 28; 35; 38; 42-43; 51; 54-57; 59; 63; 64; 69-71; 86; 102; 120; 130; 140-143 ความทุกข์ร้องที่ผู้ประพันธ์อ้อนวอนขอให้ทรงช่วยให้พ้นนั้นมักจะเป็นหนึ่งในสามเรื่องนี้คือ ความตายที่กำลังคุกคามอยู่ ความเจ็บป่วย(ถึงตาย) และการถูกใส่ร้ายกล่าวโทษอย่างผิดๆ
ข) คำอ้อนวอนส่วนรวม ได้แก่ สดด 12; 44; 60; 74;79; 80; 83; 85; 106; 123; 129; 137 มีโครงสร้างแบบเดียวกับ "คำอ้อนวอนส่วนตัว" แต่ความทุกข์หรืออันตรายที่ขอให้พระยาห์เวห์ทรงช่วยนั้นเป็นเหตุร้ายของชาติ เช่นการแพ้สงคราม การที่กรุงเยรูซาเล็มถูกทำลาย ภัยพิบัติระดับชาติ เช่นยามกันดารอาหาร โรคระบาด หรือประสบภัยธรรมชาติ (ยอล1:2) สถานการณ์แวดล้อมของเพลงสดุดีประเภทนี้ก็คือการชุมนุมของประชาชนเพื่ออธิษฐานภาวนาหรือจำศีลอดอาหารใช้โทษบาปตามประกาศทางการ
ในคำอ้อนวอนส่วนรวมจะมีการเน้นถึงพันธสัญญาและการที่พระยาห์เวห์ทรงเคยช่วยเหลือประชากรมาแล้วในอดีต ในคำร้องหาพระยาห์เวห์ พระองค์จะได้รับสมญาที่บอกลักษณะส่วนรวม เช่น "ผู้เลี้ยงแห่งอิสราเอล" (สดด 80:1) และมักเปรียบอิสราเอลเป็น "ฝูงแกะ" หรือ "สวนองุ่น" ของพระองค์ที่จำเป็นต้องทรงเอาพระทัยใส่ตามพระสัญญา ไม่อาจทรงทอดทิ้งให้บรรดาศัตรูเยาะเย้ยพระองค์ได้ ดังนั้นพระองค์ทรงต้องช่วยเหลือ "เพื่อเห็นแก่พระนามของพระองค์" (สดด 79:9) หรือ "เพราะเห็นแก่ความรักมั่นคงของพระองค์" (สดด 44:25) เพราะประชากรอิสราเอลเป็นของพระองค์และวางใจในพระองค์ เหมือนกับจะกล่าวว่า "ข้าแต่พระยาห์เวห์ นี่คือประชากรของพระองค์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นธุระของพระองค์โดยตรง" การขอร้องให้ทรงช่วยในบางครั้งก็เร่งเร้าเป็นพิเศษ เช่นอาจขอให้พระองค์ "ทรงตื่นขึ้น" จากหลับ (สดด 44:23) แต่ก็มีความมั่นใจว่าจะทรงสดับฟังคำอ้อนวอนอย่างแน่นอนเช่นเดียวกับในคำอ้อนวอนส่วนตัว
เนื่องจากว่าในเพลงสดุดีประเภทคำอ้อนวอนมีสำนวนแสดงความไว้วางใจในพระเจ้าบ่อยๆ (สดด 3; 4-6; 5:12; 22:4-5; 28:7; 44:6-7) เมื่อเพลงสดุดีบทหนึ่งเน้นถึงความไว้วางใจในพระเจ้าเป็นพิเศษ เราอาจจัดไว้ต่างหากเป็น "เพลงสดุดีแสดงความไว้วางใจ" (Psalms of Trust) ซึ่งอาจแบ่งเป็น "ส่วนตัว" (สดด 4:11; 16; 23; 62; 91; 121; 13) และ "ส่วนรวม" (สดด 115; 125; 129)
3.3 เพลงสดุดีประเภท "คำขอบพระคุณ" (Psalms of Thanksgiving) เพลงสดุดีประเภทนี้สืบเนื่องมาจากประเภท "คำอ้อนวอน" ด้วยเช่นกัน เป็นการขอบพระคุณที่ได้รับความช่วยเหลือจากพระยาห์เวห์ตามที่ได้อ้อนวอนขอ เพลงสดุดีประเภทนี้มีจำนวนไม่มากนัก (สดด 9-10; 18; 21; 30; 33; 34; 40; 65-68; 92; 116; 118; 124; 129; 138; 144) สภานการณ์แวดล้อมของเพลงสดุดีประเภทนี้ก็คือศาสนพิธีในพระวิหารที่บุคคลซึ่งได้รับความช่วยเหลือตามที่วอนขอมาถวายบูชาขอบพระคุณที่พระยาห์เวห์ได้โปรดให้ตามที่ขอ จะเป็นการส่วนตัวหรือส่วนรวมก็ได้
โครงสร้างของเพลงสดุดีประเภทนี้ประกอบด้วย ก) การแสดงความยินดีที่จะสรรเสริญขอบคุณพระยาห์เวห์ในรูปคำบอกเล่า เช่น "ข้าพเจ้าจะขอบพระคุณพระองค์สิ้นสุดจิตใจ" (สดด 133:1; 9:1) บางครั้งข้อความตอนนี้อาจทำให้นึกว่าเป็น "คำสรรเสริญ" ซึ่งมักจะอยู่ในรูปคำเชิญชวนมากกว่า ข) ต่อจากนั้นจะเป็นการบรรยายถึงความทุกข์ที่เคยได้รับและขอให้พระองค์ทรงช่วย ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกับเพลงสดุดีประเภท "คำอ้อนวอน" เป็นอย่างมาก แต่เพลงสดุดีประเภท "คำขอบพระคุณ" มักจะเน้นถึงการที่พระยาห์เวห์ได้ทรงช่วยให้พ้นจากอันตรายเหล่านั้นแล้ว การกล่าวเน้นถึง "ความช่วยเหลือ" จากพระยาห์เวห์นับเป็นสาระสำคัญยิ่งของเพลงสดุดีประเภท "คำขอบพระคุณ" (สดด 31:1-3; 40:1-2) ความช่วยเหลือที่ได้รับอาจเป็นการช่วยให้พ้นจากความเจ็บป่วยร้ายแรง (สดด 30; 116) หรือการอภัยบาป (สดด 32; 103) ค) และหลายครั้งมีการขยายข้อความเรื่องพระยาห์เวห์ทรงช่วยเหลือนี้ออกเป็นคำสั่งสอนผู้ที่อยู่รอบๆนั้นด้วย (สดด 1:23-24; 40:4-10; 66:16-19) ง) เพลงสดุดีประเภทคำขอบพระคุณมักจะลงท้ายด้วย คำสรุปสั้นๆสรรเสริญพระยาห์เวห์ เช่นเดียวกับประเภท "คำสรรเสริญ"
4. การจำแนกเพลงสดุดีตามเนื้อหา
การแบ่งเพลงสดุดีตามลักษณะวรรณกรรมช่วยให้เราเข้าใจเนื้อหาของเพลงสดุดีแต่ละบทได้ง่ายขึ้นก็จริง แต่หลายครั้งลักษณะต่างๆที่ช่วยให้จัดประเภทเช่นนี้อาจเห็นได้ไม่ง่ายนัก ส่วนมากในเพลงสดุดีบทเดียวกันอาจมีลักษณะของประเภทต่างๆปนกันอยู่ เพราะฉะนั้น เราจึงอาจใช้ "เนื้อหา" และ "โอกาสที่ใช้" ของเพลงสดุดีมาเป็นมาตรการจัดประเภทเพลงสดุดีได้อีก ดังนี้
4.1 เพลงสดุดีเกี่ยวกับกษัตริย์ (Royal Psalms) เพลงสดุดีประเภทนี้ไม่มีแบบวรรณกรรมใหม่ เพราะจัดอยู่ในประเภทคำสรรเสริญ คำอ้อนวอน หรือคำขอบพระคุณก็ได้ แต่มีการกล่าวถึงกษัตริย์โดยเฉพาะ เพราะกษัตริย์ในอิสราเอลมีตำแหน่งพิเศษ พระองค์มิใช่เพียงผู้นำทางโลกของประชากรที่พระยาห์เวห์ทรงเลือกสรรเป็นพิเศษเท่านั้น แต่ยังทรงเป็นเครื่องมือในแผนการของพระเจ้า ทรงมีส่วนในพระสัญญาและทรงเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์ของชนชาตินี้ด้วย กษัตริย์ทรงเป็นทั้งผู้แทนของพระยาห์เวห์ ผู้นำประชากร และทรงเป็นผู้แทนประชากรเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า พระองค์ยังเป็นผู้แทนของราชวงศ์ที่ได้รับพระพรพิเศษจากพระเจ้า (2 ซมอ 7) เพลงสดุดีเกี่ยวกับกษัตริย์ส่วนใหญ่จึงมีความหมายถึงพระเมสสิยาห์ (= "ผู้รับเจิม") ของพระยาห์เวห์อีกด้วย เพลงสดุดีประเภทนี้ได้แก่ สดด 2; 18; 20-21; 45; 72; 89; 101; 110; 132
สถานการณ์แวดล้อมของเพลงสดุดีเหล่านี้ก็คือราชสำนักของอิสราเอลในโอกาสพิธีราชาภิเษก (สดด 2; 72; 110) หรือราชาภิเษกสมรส (สดด 45) หรือเฉลิมฉลองชัยชนะของพระราชา (สดด 18; 21) รวมทั้งอ้อนวอนขอพระยาห์เวห์ให้ทรงคุ้มครองพระราชา (สดด 20; 89) เพลงสดุดีเหล่านี้คงจะแต่งขึ้นในสมัยที่อิสราเอลยังมีกษัตริย์ปกครองอยู่ ชาวอิสราเอลหลังกลับจากเนรเทศไม่มีกษัตริย์ปกครองแล้วก็จริง แต่เพลงสดุดีเหล่านี้ยังใช้ขับร้องต่อไป เป็นการหล่อเลี้ยงความหวังในพระเมสสิยาห์ที่จะเสด็จมาในอนาคต ต่อมาคริสตชนจะขับร้องเพลงสดุดีเหล่านี้โดยความเข้าใจว่าพระเมสสิยาห์ผู้นี้ก็คือพระเยซูคริสตเจ้า (Christos = ผู้รับเจิม = พระเมสสิยาห์)
4.2 บทเพลงศิโยน (Psalms of Sion) เมื่อกษัตริย์ดาวิดทรงยึดกรุงเยรูซาเล็มได้แล้ว ทรงสถาปนาให้เป็นราชธานี และทรงนำหีบพันธสัญญามาประดิษฐานที่นี่ เมื่อกษัตริย์ซาโลมอนทรงสร้างพระวิหารขึ้นแล้ว กรุงเยรูซาเล็มหรือศิโยนกลายเป็นศูนย์กลางทางศาสนาของอิสราเอล เป็นสถานที่พระยาห์เวห์ทรงเลือกไว้เป็นที่ประทับของพระองค์ (สดด 78:68-69; 67:16) เมื่อพระวิหารถูกทำลายและชาวอิสราเอลกลับจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลนแล้ว ศิโยนได้กลายเป็นศูนย์กลางของความหวังในพระเมสสิยาห์ (อสย 60; 66; ศคย 8) เป็นศูนย์รวมจิตใจของมวลมนุษย์ เพราะฉะนั้น ทั้งก่อนและหลังเนรเทศจึงมีเพลงสดุดีหลายบทกล่าวถึงนครศักดิ์สิทธิ์และพระวิหาร (เช่น สดด 15; 24; 46; 48; 76; 84; 120-134)
บทเพลงศิโยนเหล่านี้ใช้ขับร้องขณะที่ชาวอิสราเอลผู้แสวงบุญเดินทางไปยังกรุงเยรูซาเล็มตามที่ธรรมบัญญัติกำหนดไว้ในโอกาสฉลอง 3 ครั้งคือ ปัสกา เปนเตกอสเต และเทศกาลอยู่เพิง (อพย 23:17; 34:23; ฉธบ 16:16)
4.3 เพลงสดุดีกล่าวถึงพระยาห์เวห์ทรงครองราชย์เป็นกษัตริย์ (Kingship of Yahweh Psalms) อิสราเอลมีความเชื่อมาตั้งแต่โบราณว่าพระยาห์เวห์ทรงเป็นกษัตริย์ปกครองพวกเขา (อพย 15:18; กดว 23:21; ฉธบ 33:5; วนฉ 8:22; 1 ซมอ 8:7; 12:12) พระองค์ประทับท่ามกลางพวกเขาเหนือหีบพันธสัญญาระหว่างเครูบสองตน (สดด 18:10; 80:1; 99:1; ดนล 3:55; 2 พกษ 19:15) หนังสืออพยพ (37:1-9) บรรยายถึงหีบพันธสัญญาว่ามีฝาเป็น "พระที่นั่งพระกรุณา" ประดิษฐานอยู่ในกระโจมนัดพบ และภายหลังใน "สถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุด" ที่มืดทึบของพระวิหารส่วนในที่สุด พระยาห์เวห์จึง "ประทับอยู่เหนือหีบพันธสัญญา" โดยไม่มีใครแลเห็น หีบพันธสัญญาจึงได้ชื่อว่าเป็น "ที่รองพระบาทของพระยาห์เวห์" (สดด 132:7 เทียบ 99:5)
4.4 เพลงสดุดีประเภทปรีชาญาณ (Wisdom Psalms) แบบแผนและเนื้อหาของเพลงสดุดีประเภทนี้แสดงให้เห็นความเกี่ยวข้องกับวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณ แต่ก็ยังถกเถียงกันไม่เป็นที่ยุติระหว่างผู้รู้เกี่ยวกับปัญหาสำคัญ 3 ประการด้วยกัน คือ ก) เพลงสดุดีบทใดบ้างอาจจัดอยู่ในประเภทนี้ ข) สถานการณ์ที่มาของเพลงสดุดีประเภทนี้ และ ค) เพลงสดุดีประเภทนี้มีลักษณะเฉพาะอย่างไร เพลงสดุดีประเภทนี้ได้แก่ สดด 1; 34; 37; 49; 112; 128 และยังอาจรวมถึง สดด 32; 73; 111 และ 127 ด้วย
ลักษณะเฉพาะของเพลงสดุดีประเภทนี้คล้ายกับลักษณะของวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณทั่วไป บางบทขึ้นต้นด้วยสูตร "ย่อมเป็นสุข" ('ashre) สดด 1:1; 32:1-2; 127:5; 128:1 หรือสูตร "ดีกว่า" สดด 37:16; หรือคำเรียกศิษย์ว่า "ลูกเอ๋ย" สดด 34:11-14 และยังมีสุภาษิตบางบทแทรกเข้ามาด้วย (สดด 37:9-11,22,28ข-29ก,34ข = สภษ 2:21-22; สดด 111:10 = สภษ 1:7) นอกจากนั้น สดด 127:1-2,3-5 ยังมีลักษณะคำพังเพย และ สดด 34; 37; 111; 112; 119 ยังมีลักษณะ "กลบทอักษร" (acrostic) คือแต่ละบรรดทัดหรือแต่ละตอนจะเริ่มด้วยพยัญชนะภาษาฮีบรูเรียงตามลำดับด้วย
4.5 เพลงสดุดีศาสนพิธี (Liturgical Psalms) เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในปัจจุบันนี้ว่าเพลงสดุดีเป็นบทเพลงที่ใช้ขับร้องในศาสนพิธี เพลงสดุดีแต่ละบทอาจสะท้อนบางด้านของศาสนพิธีของอิสราเอล แต่ก็มีเพลงสดุดีจำนวนไม่น้อยที่มีที่มาจากศาสนพิธีโดยตรง เช่นเป็นบทเพลงใช้ตอนเริ่มพิธี สดด 15; 24:3-6; อสย 33:14ข-16 (เทียบ ยรม 7:2-15; มคา 6:6-8) บทเพลงเหล่านี้อาจเป็นองค์ประกอบของศาสนพิธีภาคเริ่มต้น โดยที่ผู้มาร่วมพิธีเดินขบวนแห่เข้ามาในบริเวณพิธี มีการโต้ตอบระหว่างผู้จะเข้ามาร่วมพิธีกับบุคลากรของพระวิหารเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่เหมาะสมจะเข้ามาร่วมพิธีในพระวิหารได้ คำตอบเน้นถึงความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านและยืนยันว่าผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวอาจเข้ามาร่วมพิธีได้ (สดด 15:1; 24:3/ 15:5ข; 24:5-6) สดด 24:7-10 อาจสะท้อนการแห่เข้าพระวิหารซึ่งเป็นพิธีต่อจากนั้น บางท่านยังเห็นว่า สดด 134 ก็เป็นเพลงสดุดีศาสนพิธีด้วย เพลงสดุดีสั้นๆบทนี้ ซึ่งเป็นบทสุดท้ายของ "บทเพลงแห่ขึ้น" ประกอบด้วยคำเชิญชวนให้ถวายเกียรติแด่พระยาห์เวห์ (ข้อ 1-2) และจบลงด้วยคำอวยพรจากสมณะประธานในพิธี (ข้อ 3)
4.6 เพลงสดุดีประวัติศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์ (Historical Psalms) สดด 78; 105-106; 135-136 เล่าถึงกิจการยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่ทรงกระทำในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล
5. ผู้นิพนธ์และระยะเวลานิพนธ์เพลงสดุดี
"คำนำหน้า" จัดให้เพลงสดุดีจำนวน 73 บทเป็นของกษัตริย์ดาวิด 12 บทเป็นของอาศาฟ 11 บทเป็นของ "คณะโคราห์" และเป็นของเฮมาน เอทาน (หรือเยดูธูน) โมเสส และซาโลมอน คนละ 1บท คำนำหน้าในภาษากรีก (LXX) ไม่ตรงกับตัวบทภาษาฮีบรูเสมอไปนัก และให้เพลงสดุดีจำนวน 82 บทเป็นของกษัตริย์ดาวิด ในภาษาซีเรียคก็ยิ่งแตกต่างกันไปอีกมาก ธรรมประเพณีมักจัดให้กษัตริย์ดาวิดเป็นผู้ประพันธ์มิใช่เพียงแต่เพลงสดุดีที่มีชื่อของพระองค์ติดอยู่เท่านั้น แต่เป็นผู้ประพันธ์เพลงสดุดีทั้งหมดไปเลย
แต่ในความเป็นจริง หนังสือเพลงสดุดีครอบคลุมผลงานกวีของกวีหลายคนตลอดเวลาหลายศตวรรษ เพลงสดุดีจำนวนมากทีเดียวประพันธ์ขึ้นในสมัยมีกษัตริย์ปกครอง โดยเฉพาะเพลงสดุดีเกี่ยวกับกษัตริย์ ส่วนเพลงสดุดีเกี่ยวกับพระยาห์เวห์ทรงครองราชย์เป็นกษัตริย์นั้นสะท้อนเพลงสดุดีก่อนหน้านั้น เพลงสดุดีบางบทน่าจะประพันธ์ขึ้นระหว่างช่วงเวลาเนรเทศ เช่น สดด 137 ที่กล่าวถึงการทำลายกรุงเยรูซาเล็มและการเนรเทศ สดด 126 ฉลองการกลับจากถิ่นเนรเทศ ระยะเวลาหลังจากนั้นน่าจะเป็นเวลาที่เพลงสดุดีจำนวนมากประพันธ์ขึ้น พระวิหารหลังที่สองซึ่งสร้างขึ้นใหม่คงจะเอื้ออำนวยการฟื้นฟูศาสนพิธีให้สง่างามยิ่งขึ้น สถานภาพของนักขับร้องได้รับการยกย่องขึ้นเสมอกับชนเลวี และผู้มีปรีชาอย่างบุตรสิราก็ใช้แบบแผนของเพลงสดุดีในการเผยแผ่คำสั่งสอนของตน เพลงสดุดีบางบทอาจเขียนขึ้นในสมัยชาวเปอร์เซียปกครองหรือในสมัยมัคคาบีเสียด้วย เช่น สดด 44; 74; 79 และ 83 เป็นต้น
6. คุณค่าทางจิตใจของเพลงสดุดี
เพลงสดุดีเป็นคำอธิษฐานภาวนาของอิสราเอลในพันธสัญญาเดิมที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า พระองค์ทรงดลใจให้เกิดความรู้สึกที่บรรดาบุตรของพระองค์ควรมีต่อพระองค์ ทรงดลใจให้เขียนข้อความที่เขาควรใช้เมื่อสนทนากับพระองค์ พระเยซูเจ้า พระนางมารีย์พรหมจารี บรรดาอัครสาวก มรณสักขีในสมัยแรกได้ใช้เพลงสดุดีเหล่านี้สนทนากับพระเจ้า พระศาสนจักรได้รับเอาเพลงสดุดีมาเป็นบทภาวนาทางการของตนด้วยโดยมิได้เปลี่ยนแปลง คำร้องสรรเสริญ อ้อนวอนและขอบพระคุณที่ออกมาจากผู้ประพันธ์เพลงสดุดีในเหตุการณ์และประสบการณ์ส่วนตัวในชีวิต มีคุณค่าเป็นสากล เพราะแสดงออกซึ่งท่าทีและความรู้สึกที่มนุษย์ทุกคนควรมีต่อพระเจ้า พระศาสนจักรรับเพลงสดุดีเหล่านี้มาโดยมิได้เปลี่ยนแปลงถ้อยคำก็จริง แต่ก็ทำให้ถ้อยคำเหล่านี้มีความหมายสมบูรณ์และร่ำรวยขึ้น ในพันธสัญญาใหม่ คริสตชนผู้ขับร้องจะสรรเสริญและขอบพระคุณพระเจ้าที่ทรงเปิดเผยความลึกลับเกี่ยวกับพระธรรมชาริของพระองค์ให้เราทราบ ขอบพระคุณพระองค์ที่ประทานพระคริสตเจ้า พระบุตรเพื่อไถ่ชาวเรา ขอบพระคุณพระองค์ที่ประทานพระจิตเจ้าให้มาประทับอยู่กับเรา เพราะฉะนั้น คริสตชนจึงสรุปเพลงสดุดีแต่ละบทด้วยการถวายเกียรติแด่พระตรีเอกภาพ "สิริพึงมีแด่พระบิดา และพระบุตร และพระจิต...." คำอ้อนวอนของอดีตยิ่งมีความหมายประทับใจมากขึ้นในเมื่อการเลี้ยงครั้งสุดท้าย ไม้กางเขน และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าได้สอนเราให้เข้าใจความรักอันปราศจากขอบเขตของพระเจ้า ความเลวร้ายของบาป และความรุ่งเรืองที่ทรงสัญญาจะประทานให้แก่ผู้มีความเชื่อ ความหวังที่เพลงสดุดีเหล่านี้แสดงไว้ก็ได้สำเร็จเป็นจริงไปแล้ว พระเมสสิยาห์เสด็จมาแล้ว พระองค์กำลังครองราชย์ และนานาชาติก็ได้รับเชิญให้เข้ามาสรรเสริญพระองค์โดยพร้อมเพรียงกัน
7. เพลงสดุดีเป็นคำภาวนาของคริสตชนอย่างไร
เพลงสดุดีอาจจะรับการตีความจากคริสตชนได้เป็น 3 แบบต่อไปนี้ คือ
ก) เป็นพระวาจาของพระคริสตเจ้าที่ตรัสกับพระบิดา
ข) เป็นถ้อยคำที่พระศาสนจักร (อิสราเอลที่แท้จริง) กราบทูลพระบิดาเกี่ยวกับพระคริสตเจ้า หรือ
ค) เป็นถ้อยคำที่พระศาสนจักรกราบทูลพระคริสตเจ้า ("พระยาห์เวห์" หรือ "องค์พระผู้เป็นเจ้า") โดยตรง
7.1 ในกรณีแรก (พระคริสตเจ้าตรัสกับพระบิดา) นักบุญออกัสตินเน้นคำสอนที่ว่าพระคริสตเจ้าผู้ตรัสกับพระบิดานี้คือ "พระคริสตเจ้าทั้งองค์" (The Whole Christ) คือพระองค์ผู้ทรงเป็นศีรษะพร้อมกับพระศาสนจักรซึ่งเป็นพระกาย ฉะนั้น เมื่อกลุ่มคริสตชนขับร้องหรือภาวนาเพลงสดุดี พระคริสตเจ้า "ทั้งองค์" ก็ทรงร่วมภาวนาด้วย คริสตชนกราบทูลพระบิดาในพระนามของพระคริสตเจ้า เปล่งพระสุรเสียงและแสดงความรู้สึกของพระองค์ การเข้าใจแบบนี้ใช้ได้ดีกับเพลงสดุดีประเภท "อ้อนวอน" และ "ขอบพระคุณ" พระคริสตเจ้าซึ่งยังประทับอยู่ในโลกในพระศาสนจักรและในคริสตชนแต่ละคน อ้อนวอนขอพระบิดาในความทุกข์ยากลำบากของบรรดาคริสตชน และขอบพระคุณสำหรับความช่วยเหลือที่ได้รับ ความคิดที่ว่าคริสตชนทุกคนเป็นส่วนของพระกายเดียวกันของพระคริสตเจ้านับว่ามีความสำคัญมากสำหรับบทภาวนาในพิธีกรรม ตัวอย่างเช่น คริสตชนที่กำลังขับร้องหรือสวดเพลงสดุดีอาจไม่มีความทุกข์ตามถ้อยคำของเพลงสดุดีที่บรรยายถึงความทุกข์ยากนั้นเลย แต่การภาวนาของเขาก็ยังมีความหมาย เพราะเขาเป็นหนึ่งเดียวกับคริสตชนอื่นๆที่กำลังทนทุกข์ ร่วมเป็นพระกายเดียวกันของพระคริสตเจ้า
7.2 คำภาวนาของพระศาสนจักรเกี่ยวกับพระคริสตเจ้าแสดงออกในเพลงสดุดีเกี่ยวกับกษัตริย์ (พระเมสสิยาห์) พระศาสนจักรขอบพระคุณพระเจ้าที่ประทานพระคริสตเจ้าซึ่งเป็นพระเมสสิยาห์จากตระกูลดาวิดตามพระสัญญาให้เป็นผู้นำพระศาสนจักร และนำความรอดพ้นมาให้คริสตชนซึ่งเป็นประชากรของพระองค์ นอกจากนั้น คริสตชนแต่ละคน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้า ก็มีส่วนในตำแหน่งกษัตริย์ของพระคริสตเจ้าด้วย จึงขอความช่วยเหลือจากพระบิดาสำหรับกษัตริย์ให้มีชัยชนะ
7.3 พระศาสนจักรใช้เพลงสดุดีเป็นคำอ้อนวอนและสรรเสริญพระคริสตเจ้าโดยตรง ในฐานะพระยาห์เวห์ผู้ทรงกอบกู้ชาวเรา พระคริสตเจ้าทรงหลั่งพระโลหิตชำระพระศาสนจักรให้บริสุทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ เป็นธรรมเนียมของพระศาสนจักรแต่แรกเริ่มมาแล้วที่จะถวายคำภาวนาต่อพระคริสตเจ้าโดยตรง ในฐานะที่ทรงเป็น "องค์พระผู้เป็นเจ้า" (Kyrios = Lord ซึ่งเป็นนามที่ชาวอิสราเอลใช้เรียกพระยาห์เวห์ พระเจ้าของตน) และทรงเป็น "พระผู้กอบกู้" เช่นเดียวกับที่พระยาห์เวห์ทรงกระทำต่ออิสราเอลประชากรของพระองค์
แม้ว่าเพลงสดุดีจะเป็นบทภาวนาของอิสราเอลโดยเฉพาะ ถึงกระนั้น คริสตชนและพระศาสนจักรก็อาจใช้เป็นบทภาวนาของตนได้โดยไม่ทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไปมากนัก ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงหลักการปรับความคิดความเข้าใจทั้งสามประการดังที่กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ดี ในฐานะที่พระคริสตเจ้าทรงพร่ำสอนเราคริสตชนให้มีความถ่อมตนในความต่ำต้อย เพราะมนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป ทั้งยังทรงกำชับให้เรารักเพื่อนมนุษย์ทุกคนแม้กระทั่งศัตรู ตามแบบฉบับที่ทรงให้อภัยแก่เพชฌฆาตที่ประหารพระองค์ด้วย คริสตชนบางคนอาจจะรู้สึกว่าข้อความบางตอนของเพลงสดุดีขัดกับคำสอนของพระคริสตเจ้า ได้แก่การยืนยันความบริสุทธิ์ของตน และคำสาปแช่งศัตรู
ก่อนอื่นเราต้องไม่ลืมว่าข้อความดังกล่าวก็เป็นข้อความที่พระเจ้าทรงดลใจเช่นเดียวกับพระคัมภีร์ตอนอื่นๆ นอกจากนั้นการเปิดเผยความจริงจากพระเจ้าเป็นกระบวนการที่ค่อยๆพัฒนาขึ้น ผู้นิพนธ์เพลงสดุดีรู้สึกว่าตนมีคุณธรรมตามมาตรการที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้แล้ว เป็นผู้บริสุทธิ์เมื่อเปรียบเทียบกับคนบาปที่ไม่มีความเชื่อและไม่ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติเลย ผู้ยืนยันความบริสุทธิ์ยังสำนึกอยู่เสมอว่าตนยังทำผิดพลาดได้ และต้องการพระเมตตากรุณาจากพระเจ้า การยืนยันความบริสุทธิ์เช่นนี้จึงไม่ใช่การโอ้อวดตนด้วยความภูมิใจแบบชาวฟาริสีที่พระเยซูเจ้าทรงตำหนิ
ส่วนเรื่องการสาปแช่งและขอให้พระเจ้าทรงแก้แค้นศัตรู ที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของพระคริสตเจ้า เราควรคำนึงว่า "พระองค์มิใช่พระเจ้าซึ่งพอพระทัยในความชั่ว คนชั่วจะอยู่กับพระองค์ไม่ได้" (สดด 5:4) พระเจ้าทรงเป็น "ผู้ที่พระเนตรบริสุทธิ์เกินกว่าที่จะทอดพระเนตรดูความชั่วใดๆ" (ฮบก 1:13) ผู้ภาวนาจึงวอนขอให้พระเจ้าทรงทำลายความชั่ว แต่ความชั่วที่จำเป็นต้องถูกทำลายนั้นมิได้ลอยอยู่ด้วยตัวเอง แต่อยู่ใน "คนชั่ว" เพราะถ้า "คนชั่ว" ถูกขจัดให้สิ้นแล้ว "ความชั่ว" ก็ย่อมจะไม่มีด้วยเช่นกัน การขอให้พระเจ้าทรงทำลายคนชั่วจึงเป็นการแสดงความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะขจัดความชั่วทั้งปวง จึงเป็นการแสดงความปรารถนาให้ "พระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึง" อย่างแท้จริง