18. เข้าสู่ธรรมล้ำลึก
การภาวนาในความเงียบอาจนำเราไปสู่น้ำลึกยิ่งกว่า เราเริ่มต้นด้วยข้อความหนึ่ง หรือภาพลักษณ์หนึ่ง ที่เราใช้นำเราเข้าสู่ความเงียบ และใช้ดึงเรากลับเมื่อเราหลงทาง แต่ในที่สุด เราอาจพบว่าเรามีความสุขกับการหลงทาง ความเงียบสามารถกลายเป็นสิ่งเสพติดได้
บัดนี้ เรากำลังเข้าสู่ขั้นที่เรียกกันว่า “การเพ่งพิศภาวนา (contemplation)” แทนที่จะคิด หรือภาวนาโดยใช้คำพูด บัดนี้ เราตัดการกระทำของเราออกไปให้เหลือเพียงการมองดู เรามองไปที่พระเจ้า คำบรรยายที่ใกล้ความจริงที่สุดอาจเป็น “การจ้อง” เมื่อเรามองงานศิลปะ หรือมองบุคคลที่เรารัก เราไม่พอใจแต่เพียงมองผ่าน ๆ ไปทางทิศทางของสิ่งนั้นหรือบุคคลนั้น เราจำเป็นต้องจ้องไปที่ภาพที่อยู่เบื้องหน้าเรา เพื่อรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่สิ่งนั้น หรือบุคคลนั้น อยากจะบอกเรา ความยินดีอยู่ที่การมองดูเด็กเล็ก ๆ ทำเช่นนี้ตามธรรมชาติ คุณจะเห็นเด็ก ๆ จ้องมองเปลือกหอยไม่กี่ชิ้นบนชายหาด หรือทรายที่ไหลผ่านมือของเขา เขาจะไม่ทำเช่นนี้เมื่อเขาโตขึ้น
การเพ่งพิศภาวนาหมายถึงการให้ความสนใจกับพระเจ้า เราอยู่ในวัฒนธรรมที่กระตุ้นให้เราสนใจแต่ตนเอง ชักนำเราให้เชื่อว่าถ้าเราหมกมุ่นกับตนเองมากขึ้นอีกหน่อย เราจะรู้คำตอบสำหรับปัญหาทั้งหมดในชีวิต ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ การเพ่งพิศภาวนาดูเหมือนว่าสวนทางกับวัฒนธรรมจนแทบจะเป็นสิ่งแปลกประหลาด แต่หลายคนก็คิดว่าการเพ่งพิศภาวนาให้ความรู้สึกสดชื่นอย่างยิ่ง เพราะชี้ให้เรามองออกจากตนเอง และให้สัมผัสอากาศบริสุทธิ์เย็นสบาย และความงามที่น่าตื่นตะลึงของพระเจ้าแห่งสรรพสิ่ง
สังคมของเราจำเป็นต้องมีบุคคลที่สามารถ “เห็น” เราจำเป็นต้องมีสถานที่สำหรับเพ่งพิศภาวนา เพราะในสถานที่เช่นนั้นบรรยากาศเบาบางกว่า จนเราเห็นโลกแห่งจิตได้ชัดเจนกว่า สังคมของเราจำเป็นต้องมีชุมชนผู้เพ่งพิศภาวนา เพราะในชุมชนเหล่านั้นมีบุคคลที่ภาวนาอย่างแน่วแน่ มองอย่างแน่วแน่ และดำเนินชีวิตอย่างแน่วแน่
ไปในทิศทางที่พระเจ้าประทับอยู่
แต่เราเองก็สามารถมีประสบการณ์การเพ่งพิศภาวนาได้
คำถาม
ขณะที่คุณภาวนาในความเงียบ คุณพบว่าคุณใช้คำพูด และภาพลักษณ์ในใจน้อยลงเรื่อย ๆ หรือเปล่า บางครั้งดูเหมือนว่าคุณเพียงมองดูจนไม่รู้สึกตัว และบางทีอาจถึงกับว่าพระเจ้าทรงเป็นฝ่ายที่กำลังมองดูคุณอยู่หรือเปล่า
ลองทำดู
• การเข้าสู่ธรรมล้ำลึกที่เหนือคำพูด และภาพลักษณ์ เป็นความเคลื่อนไหวที่อธิบายได้ยากที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตภาวนา คุณจะสอนใครให้ตกหลุมรักได้อย่างไร เขาจะรักหรือไม่รักเท่านั้น แต่จุดที่จะเริ่มต้นอยู่ที่การภาวนาในความเงียบด้วยสามขั้นตอน คือ สำรวมจิต พินิจ และรอ ซึ่งอธิบายในบทที่ 17 (อยู่ในความเงียบ)
• เมื่อนั้น เราอาจพบว่าเราจำเป็นต้องใช้คำพูด และภาพลักษณ์น้อยลง คำพูดและภาพลักษณ์เหล่านี้จะพร่ามัว เราจะพบว่าเราเพียงแต่อยู่กับพระเจ้า จ้องไปในทิศทางที่พระองค์ประทับอยู่ และเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว เราอาจรู้สึกสบายใจ หรืออาจพบกับความมืดและเศร้าซึม การภาวนาของเราอาจเต็มไปด้วยสิ่งน่าพิศวง หรือเป็นทะเลทรายที่หาทางเดินไม่พบ แต่ไม่เป็นไร จุดประสงค์คือการอยู่ที่นั่น และยินยอมให้พระเจ้าเป็นพระเจ้าสักครั้งหนึ่ง
• การภาวนารูปแบบนี้ไม่มีกฎเกณฑ์ และไม่มีเป้าหมายที่เราต้องไปให้ถึง ดังนั้น อย่าไปที่นั่น เว้นแต่ว่าคุณถูกดึงดูดให้ไปที่นั่นอย่างที่คุณต้านทานไม่ได้ อย่าคิดว่าการเพ่งพิศภาวนาเป็นเรื่องโรแมนติกของชีวิต และเป็นเรื่องที่คุณยกขึ้นมาพูดลอย ๆ ในการสนทนาครั้งต่อไปกับพระสงฆ์เจ้าอาวาส การภาวนาประเภทนี้ไม่ใช่สำหรับคนโรแมนติก แต่เหมาะสมกับผู้เพ่งฌาน
บทภาวนา
พระเจ้าข้า เพียงอยู่ที่นั่นเบื้องหน้าพระองค์
ปิดตาฝ่ายกายของข้าพเจ้า
ปิดตาฝ่ายวิญญาณของข้าพเจ้า
และอยู่นิ่ง ๆ และเงียบ ๆ
เผยตัวของข้าพเจ้าแด่พระองค์ ผู้ประทับอยู่ที่นั่น
และทรงเผยพระองค์แก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าอยู่ที่นั่นเบื้องหน้าพระองค์
ผู้ดำรงอยู่ตลอดนิรันดร
พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าพร้อมจะไม่รู้สึกอะไร
ไม่เห็นอะไร ไม่ได้ยินอะไร
ว่างเปล่าจากความคิดทั้งปวง
ว่างเปล่าจากภาพลักษณ์ทั้งปวง
ในความมืด
ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่ เพียงเท่านี้
เพื่อพบพระองค์ โดยปราศจากอุปสรรค
ในความเงียบแห่งความเชื่อ
เบื้องหน้าพระองค์ พระเจ้าข้า
Michel Quoist, Prayers of Life