แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

13. ภาวนาเป็นหมู่คณะ – แบบนักบุญเบเนดิกต์
    บ่อยครั้งที่เรารู้สึกว่าการภาวนาเป็นประสบการณ์อันสันโดษ เป็นสิ่งที่เราทำตามลำพังโดยไม่มีใครเห็น เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เป็นความจริงที่เราไม่เคยภาวนาตามลำพัง คนหลายล้านคนกำลังภาวนาในทุกนาที และการภาวนาของเราเป็นเพียงหยดหนึ่งของแม่น้ำแห่งการภาวนาอันกว้างใหญ่ ซึ่งไหลไปหาพระเจ้าตลอดเวลา แม้ในเวลาที่เราภาวนาเงียบ ๆ ในห้องส่วนตัว เราก็กำลังภาวนาร่วมกับคนอื่น ๆ จำนวนมากที่กำลังภาวนาอยู่ทั่วโลก

    และขณะที่เราพูดเรื่องนี้ ขอให้เรายกระดับเดิมพันของเราให้สูงขึ้นอีก เรากำลังรวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับชาวสวรรค์ด้วย คนเหล่านี้มีความสุขกับการสรรเสริญพระเจ้า และชื่นชมการประทับอยู่ของพระองค์ตลอดเวลา ถ้าบางครั้ง เรารู้สึกว่าเราเป็นเพียงหนึ่งในผู้มีความเชื่อไม่กี่คนที่กำลังวิ่งแข่งในสนามประลองฝ่ายจิต ขอให้จำไว้เถิดว่า สนามกีฬานั้นแน่นขนัดไปด้วยนักบุญทั้งหลายจำนวนนับไม่ถ้วนที่กำลังส่งเสียงเชียร์เรา การภาวนาเป็นกิจกรรมของหมู่คณะเสมอ และการภาวนาของเราก็เป็นเพียงเสียงเล็ก ๆ ในคณะนักขับร้องที่ประสานเสียงกันสรรเสริญ และเสนอวิงวอนดังกึกก้องไปทั่วสวรรค์
    นี่คือหนึ่งในหลายสิ่งที่คณะนักบวชเตือนใจเราให้ระลึกถึง นักบวชชายหญิงร่วมกันภาวนาเพื่อโลก และแทนชาวโลก และทำให้เราทั้งหลายมีหมอนนุ่ม ๆ แห่งคำภาวนารองรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ นักบวชเหล่านี้มารวมตัวกันสวดภาวนาหก หรือเจ็ดครั้งในแต่ละวัน นักบวชเหล่านี้ทำงานอื่น ๆ ด้วยแน่นอน เช่น ให้ที่พักพิง เป็นที่หลบภัย และให้คำแนะนำฝ่ายจิต แต่งานหลักของพวกเขาคือการภาวนา นี่คืองานที่เขาทำ และเขาทำงานนี้ร่วมกัน
    และนี่คือบทเรียนเบื้องต้นของเรา คือ คริสตชนที่พยายามบินเดี่ยวมักเครื่องตก เขาออกเดินทางเพื่อโจมตีสวรรค์ด้วยตนเอง แต่มักควงสว่านลงมาเพราะถูกเผาจากแสงอาทิตย์ และความจองหองฝ่ายจิตของตนเอง ศาสนาคริสต์รู้มาโดยตลอดว่าเราต้องการกันและกันในการเดินทางที่อันตรายและอันยาวนานเช่นนี้นี้ และเราต้องรับผิดชอบกันและกัน ดังนั้น ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม คริสตชนจึงมารวมตัวกันเป็นชุมชน สถานที่แรกคือทะเลทรายของอัฟริกาเหนือ จากนั้น ก็ในอารามที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้แรงบันดาลใจของนักบุญเบเนดิกต์ และต่อมาในชุมชนอื่น ๆ ที่เกิดตามมา เช่น คณะฤาษี Cistercianฟ และคณะฟรังซิสกัน แม้แต่ในยุคปัจจุบันก็มีชุมชนใหม่ที่แสวงหาวิธีแสดงออกถึงชีวิตหมู่คณะร่วมสมัย เช่น ที่ไอโอนา (สก็อตแลนด์) และที่เทเซ่ (ฝรั่งเศส)
    และแน่นอน ชุมชนคริสตชนในรูปแบบที่แพร่หลายมากที่สุดซึ่งกระจายตัวอยู่ในทุกภาคของโลก คือ พระศาสนจักรท้องถิ่น ที่ซึ่งคุณค่าของพระอาณาจักรของพระเจ้าถูกทดสอบอยู่ทุกวัน พระศาสนจักรท้องถิ่นเป็นสถานที่ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ความสำคัญของการภาวนา และกฎข้อแรกของการเดินทางฝ่ายจิต นั่นคือ เราทุกคนต้องเดินทางด้วยกัน

คำถาม
    คุณมองว่าตัวคุณเป็นผู้มีความเชื่อคนหนึ่ง ที่บางครั้งก็เข้าร่วมกิจกรรมกับผู้มีความเชื่อคนอื่น หรือคุณเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวผู้มีความเชื่อ ที่บางครั้งก็ทำงานตามลำพัง

ลองทำดู
•    อาหารหลักฝ่ายจิตของชุมชนนักบวช คือการภาวนาเป็นหมู่คณะที่เรียกว่า “การทำวัตร” การภาวนาเวลาเช้า และค่ำของพระศาสนจักรแองกลิกัน เป็นรูปแบบที่เหลืออยู่ของการทำวัตรวันละเจ็ดครั้งของคณะนักพรตในอาราม ลองสวดบททำวัตรเป็นเวลาอย่างน้อยสองสัปดาห์ (กลับไปอ่านบทที่ 8 “จัดเวลาเป็นพิเศษสำหรับภาวนา” อีกครั้งหนึ่ง) ต้องใช้เวลาก่อนที่คุณจะเคยชินกับจังหวะของการสวดทำวัตร และเข้าใจจุดเด่นของการภาวนารูปแบบนี้ ซึ่งหนึ่งในข้อดีก็คือ คุณรู้ตัวว่าคุณกำลังภาวนาพร้อมกับคนอื่น ๆ นับจำนวนไม่ถ้วน โดยใช้บทอ่าน และบทภาวนาเดียวกันสำหรับวันนั้น
•    ถามตัวคุณเองด้วยคำถามต่อไปนี้เกี่ยวกับวัดของคุณ
1.    อะไรคือ “วัฒนธรรมการภาวนา” ของวัดนี้ – คนในชุมชน วัดแห่งนี้ภาวนากันอย่างไร
2.    หัวใจฝ่ายจิตของวัดอยู่ที่ไหน – การภาวนาอย่างจริงจังกระทำกันที่ใด
เมื่อทราบแล้ว ให้เข้าร่วมสวดภาวนาด้วย (อาจมีประโยชน์ที่จะถามพระสงฆ์ด้วยคำถามเหล่านี้)
•    ช่วยวัดของคุณให้เห็นความสำคัญของการภาวนาเป็นกลุ่มมากขึ้น เช่น สนับสนุนกิจกรรมต่อไปนี้ คุณทำเช่นนี้ไม่ได้ด้วยตัวคุณเองตามลำพัง แต่คุณสามารถถามไถ่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ สนับสนุนให้ผู้อื่นทำ และเสนอตัวช่วยเหลือ วัดของคุณสามารถทำกิจกรรมต่อไปนี้ได้
1.    ก่อตั้งกลุ่มภาวนา – โดยใช้เวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมง ใช้จินตนาการในการนำสวด และใช้วิธีการที่หลากหลาย
2.    เสนอวิงวอนเพื่อผู้อื่นระหว่างพิธีมิสซา และจัดอบรมเกี่ยวกับการเสนอวิงวอน
3.    จัดกลุ่มส่งเสริมการค้นหาพระคริสตเจ้าในการภาวนาเงียบ ๆ โดยทำเป็นกิจกรรมระยะสั้น หรือจัดกลุ่มสวดภาวนาเพื่อความยุติธรรมในสังคม หรือการภาวนาโดยใช้ศิลปะสร้างสรรค์ (ดูบทที่ 14)
4.    ก่อตั้ง “ห่วงโซ่ภาวนา” เมื่อใดที่เกิดเหตุการณ์ที่ต้องการคำภาวนา ให้เริ่มกระบวนการห่วงโซ่ภาวนา โดยให้สมาชิกคนหนึ่งโทรศัพท์บอกสมาชิกที่อยู่ในรายชื่อในอันดับถัดไป จนกระทั่งคนทั้งกลุ่มเข้าร่วมในกระบวนการนี้
5.    จัดห้องภาวนาขึ้นในวัด ห้องโถง หรือที่อื่นเป็นเวลาสักหนึ่งสัปดาห์ หรือระหว่างเทศกาลมหาพรต ระหว่างนั้น ให้จัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ช่วยสนับสนุนการภาวนา เช่น สิ่งของสวยงาม รูปเคารพ เก้าอี้สำหรับนั่งภาวนา หนังสือ งานศิลปะ จัดให้สถานที่นี้เป็น “ศูนย์แวะเยือน” เพื่อภาวนา
6.    จัดกิจกรรมสวดภาวนาภาคเย็น โดยใช้การภาวนารูปแบบต่าง ๆ เช่น เทเซ่ ไอโอนา กลุ่มพระจิตเจ้า หรือ พิธีนมัสการแบบอื่น และกำหนดวันที่ไม่ซ้ำกันในสัปดาห์ คนทั่วไปอยากให้มีพิธีนมัสการพระเจ้าในรูปแบบที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการมากขึ้น และวันอาทิตย์ไม่ใช่คืนเดียวที่พวกเขาต้องการไปนมัสการพระเจ้า
7.    ลองสอบถามความต้องการของผู้ที่มาวัด โดยตั้งคำถามว่าเขาต้องการอะไรเพื่อช่วยให้เขาภาวนา วิธีง่ายที่สุดคือ แจกกระดาษแข็งให้คนละแผ่น ให้เขียนด้านหนึ่งว่าวัดช่วยอะไรเขาบ้างในการภาวนาในปัจจุบัน และอีกด้านหนึ่งให้เขียนว่าเขาอยากให้วัดเสนอความช่วยเหลืออะไรบ้าง เพื่อสนับสนุนการภาวนาของเขา