ทำไมชาวคาทอลิกจึงสวดสายประคำ (The Rosary)
การสวดบทภาวนาเดียวกันซ้ำหลายๆ ครั้ง เป็นวิธีปฏิบัติในบางศาสนา เพราะคิดว่าการสวดภาวนาซ้ำไปซ้ำมาจะได้ผลดีกว่า แนวคิดเรื่องการสวดซ้ำไปซ้ำมานั้นมีพลังเป็นต่อ ในเมื่อมีแรงศรัทธาร้อนรนช่วยเสริมด้วย
ในหมู่คริสตชนเช่นกัน มีการสวดซ้ำบทข้าแต่พระบิดาตั้งแต่ยุคกลาง บรรดาฤาษีชาวไอริช ที่ไปเป็นธรรมทูตในทวีปยุโรป ได้ตั้งกฎให้บรรดาภราดาฆราวาสในอารามสวดบทเพลงสดุดี 50 บท หรือ สวดบทข้าแต่พระบิดา 50 ครั้ง เพื่อฤาษีผู้ล่วงลับ ฆราวาสเองก็สวดบทข้าแต่พระบิดาซ้ำไปซ้ำมา แทนที่จะร้องเพลงสดุดี ดังนั้น การสวดบทข้าแต่พระบิดาซ้ำ 50 ครั้ง จึงเป็นบทสดุดีของฆราวาส การสวดซ้ำไปซ้ำมาจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสวดสายประคำ
มีเรื่องเล่าว่าพระนางพรหมจารีได้เผยแสดงเรื่องการสวดสายประคำให้นักบุญเบเนดิ๊ก (ค.ศ. 1170-1221) ท่านเป็นผู้ก่อตั้งคณะภราดานักเทศน์ ชื่อคณะดอมิมีกัน อย่างไรก็ตาม การสวดสายประคำนั้นค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นอย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้
ตามรูปแบบการสวดบทข้าแต่พระบิดาซ้ำไปซ้ำมา 50 ครั้ง ในช่วงปลายศตวรรษที่ 12 ได้มีการสวดบทวันทามารีย์ 150 ครั้ง เป็นการแสดงความศรัทธาต่อพระแม่มารีย์ ซึ่งตรงกับการอ่านบทเพลงสดุดี 150 บทในพันธสัญญาเดิม ในช่วงต้นศตวรรษที่ 15 ฤาษีคณะคาร์ทูเซียน ชื่อดอมินิก แห่งพรุสเซีย ได้ทำให้การสวดสายประคำด้วยบทวันทามารีย์เป็นที่แพร่หลายออกไป ฤาษีคณะคาร์ทูเซียน อีกท่านหนึ่ง ชื่อ เฮ็นรี่ แห่งกัลการ์ ได้แบ่งการสวดสายประคำเป็นแบบ 10 เม็ด โดยมีการสวดบทข้าแต่พระบิดาขั้นทุกสิบเม็ด การรำพึงถึงพระธรรมล้ำลึกข้อต่างๆ ก็ถูกเสริมเข้าไปในการสวดสายประคำ ฤาษีคณะดอมินีกันท่านหนึ่ง ได้เขียนหนังสือ ชื่อ Our Dear Lady Psalter ในปี ค.ศ. 1483 ท่านกล่าวถึงพระธรรมล้ำลึก 15 ประการ
ในที่สุด พระศาสนจักรยอมรับการสวดสายประคำอย่างเป็นทางการ โดยพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 5 (ค.ศ. 1566-1572) ทรงประกาศในปี ค.ศ. 1569 สองปีหลังจากนั้น คือวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1571 กองกำลังคริสตชนแห่งสหพันธ์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ภายใต้การนำของนายกองชาวสเปน ชื่อ ดอน ยอห์น แห่งออสเตรีย ได้สยบกองกำลังเตริกต์ในสงครามเลปันโต ชัยชนะที่ได้นั้นเกิดจากพลังของการสวดสายประคำ พระศาสนจักรสากลจึงได้จัดวันฉลองแม่พระลูกประคำขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม โดยพระสันตะปาปา เคลเม็นต์ ที่ 11 (ค.ศ. 1667-1669) ทรงเป็นผู้ประกาศอย่างเป็นทางการ
- การสวดสายประคำเป็นรูปแบบการสวดภาวนาแสดงความศรัทธาต่อแม่พระที่เรียบง่าย ใครๆ ก็สวดได้ นี่คือความศรัทธาของคริสตชนในประวัติศาสตร์พระศาสนจักร จึงเป็นที่นิยมกันทั่วโลกในหมู่ชาวคาทอลิกทั้งหลาย มีทั้งการสวดแบบออกเสียงและสวดในใจ ในขณะที่ริมฝีปากสวดบทวันทามารีอา ใจก็รำพึงถึงธรรมล้ำลึกต่างๆ
บรรดานักบุญที่ศรัทธาต่อการสวดสายประคำและหาทางเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักทั่วไป นักบุญที่น่าจะเอ่ยนาม คือ นักบุญ หลุยส์ มารีย์ กรีญอง เดอ มงฟอร์ต (ค.ศ. 1673-1716) ผู้ได้แต่งหนังสือเรื่อง the Secret of the Rosary (ความลับของสายประคำ) อันเป็นที่รู้จักกันดี
- เรื่องสำคัญที่ควรกล่าวถึง คือ การประจักษ์มาของแม่พระที่ลูร์ดและฟาติมา โดยถือสายประคำ เป็นต้นที่ฟาติมานั้น แม่พระขอให้สวดสายประคำด้วยความศรัทธาร้อนรน แม่พระเผยแสดงให้เห็นถึงการจะได้อภิสิทธิ์พิเศษเมื่อสวดสายประคำ จึงเป็นต้นกำเนิดการแสดงความศรัทธาร้อนรนของบรรดาสัตบุรุษ