บทที่ 7
บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงาน
เมื่อจะมีการแต่งงานเกิดขึ้น แน่นอนว่า มิใช่เป็นเพียงเรื่องของคนสองคนเท่านั้น หากแต่ยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องอีกหลายต่อหลายคน จึงอยากจะกล่าวถึงบุคคลเหล่านั้นเป็นรายๆ ไป
1. คนที่สำคัญที่สุดคงหนี้ไม่พ้น “เจ้าบ่าว-เจ้าสาว” หรือ คู่แต่งงานนั่นแหละ ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้างได้กล่าวไปแล้ว รวมทั้งต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง จึงจะไม่ขอกล่าวในที่นี้อีก
2. บิดามารดา (ผู้ปกครอง) ต้องถือว่ามีความสำคัญที่คู่บ่าวสาวจะต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกๆ คือ ต้องปรึกษาหารือกับท่าน เพราะต้องไม่ลืมว่าถ้าไม่มีท่านก็ไม่มีเราเหมือนกัน ท่านได้อบรมเลี้ยงดูเรา เป็นผู้ให้กำเนิดเรามา
บิดามารดาก็เช่นกัน ต้องให้อิสระกับลูกๆ ของตนด้วย ทำได้ดีที่สุดก็คือคำปรึกษา คำแนะนำ มิใช่บังคับให้ลูกแต่งงานกับคนนี้ กับคนนั้น เพราะอย่าลืมว่าการแต่งงานในมิติทางความเชื่อของเราถือว่า “เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า” มีหลายครั้งลูกๆ แต่งงานไปเพราะความเกรงใจพ่อแม่ ในที่สุดก็ต้องแยกทางกันเพราะไม่ได้รักกันจริงๆ
3. เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว สิ่งสำคัญที่ตามมาก็คือต้องไปพบพระสงฆ์เจ้าอาวาสเพื่อปรึกษาหารือ และรับการสอบสวนประวัติ รวมทั้งรับการอบรมก่อนแต่งงานตามคำสอนคาทอลิก
ดังนั้น พระสงฆ์เจ้าอาวาสจึงมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะดำเนินเรื่องต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนา และข้อกำหนดของพระศาสนจักร เช่น ต้องมีการขออนุญาตจากพระสังฆราชหากมีข้อขัดขวางบางประการ เช่น การนับถือศาสนาต่างกัน เป็นต้น
ระวังอย่าไปกำหนดวันแต่งงานก่อนที่จะปรึกษาพระสงฆ์ เพราะอาจจะไม่สามารถกระทำให้วันที่เรากำหนดเองได้ เนื่องจากมีข้อห้ามบางประการ หรือ บางครั้งเรามีเหตุที่ทำให้แต่งงานไม่ได้ เช่น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเคยแต่งงานมาแล้ว หรือ บางครั้งทางวัดไม่สะดวกเนื่องจากมีงานฉลองต่างๆ อยู่แล้ว ฯลฯ
พระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีนั้น ในพิธีท่านเป็นเพียงพยานในพิธีแต่งงานเท่านั้น เป็นผู้ถามคำถามต่างๆ ต่อคู่แต่งงาน ส่วนผู้กระทำพิธีจริงๆ คือ คู่บ่าวสาว เพราะเป็นผู้ที่ให้พันธสัญญาต่อหน้าพระสงฆ์และทุกคนที่อยู่ในพิธี
โดยปกติแล้วจะประกอบพิธีระหว่างมิสซา พระสงฆ์จึงเป็นประธานในมิสซาและบางครั้งการแต่งงานอาจกระทำนอกมิสซาก็ได้ แต่ส่วนมากจะไม่นิยมกระทำ เพราะเมื่อกระทำในมิสซาเป็นโอกาสให้ฝ่ายคาทอลิกและญาติพี่น้องที่เป็นคาทอลิกจะรับศีลมหาสนิทด้วย
อันเกี่ยวกับพระสงฆ์เจ้าอาวาสนี้เหมือนกัน โดยปกติท่านจะไม่นิยมไปร่วมงานเลี้ยงของคู่แต่งงานที่เป็นสัตบุรุษของตน นอกจากจะเป็นญาติพี่น้องหรือ เป็นผู้ร่วมงาน เพราะมิฉะนั้นแล้ว ถ้าหากไปให้กับคู่หนึ่งอีกคู่หนึ่งเกิดติดภารกิจไปไม่ได้ก็จะถูกต่อว่าทันที เรื่องนี้ต้องระวัง
4. พยานในพิธีแต่งงาน ผู้ที่ถือว่ามีบทบาทเกี่ยวข้องในพิธีแต่งงานอีก 2 คน คือ “พยาน” ที่จะต้องทำหน้าที่อย่างเป็นทางการด้วยการร่วมขบวนแห่เจ้าบ่าวเจ้าสาว และต้องลงนามในทะเบียนการแต่งงานของทางวัด
ดังนั้น พยานในพิธีแต่งงานจึงต้องเป็นคู่แต่งงานที่เป็นคาทอลิก มีความศรัทธา มีการเจริญชีวิตครอบครัวที่เป็นแบบอย่างที่ดีได้
แน่นอนว่าต้องเป็นคู่แต่งงานที่ควรจะมีอายุมากกว่าคู่บ่าวสาวสักหน่อยเพราะต่อไปต้องมีหน้าที่ในการเป็นที่ปรึกษา หรือ สามารถตักเตือนช่วยแก้ปัญหาของคู่แต่งงานได้บ้าง ทางที่ดีจึงควรเป็นผู้ที่รู้จักมักคุ้นกับคู่แต่งงาน และเป็นผู้ที่คู่แต่งงานให้ความเคารพนับถือ ส่วนมากจึงเป็นพี่ ป้า น้า อา ของคู่แต่งงานนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่หาพยานที่เป็นคาทอลิกทั้งคู่ไม่ได้ ก็สามารถที่จะให้คู่แต่งงานที่นับถือศาสนาต่างกันได้ แต่ต้องผ่านการแต่งงานถูกต้องตามจารีตประเพณีของคาทอลิกอย่างถูกต้องเสียก่อน
พระศาสนจักรมิได้กำหนดว่า พยานจะต้องเป็นคู่สามีภรรยากัน แต่เป็นคำแนะนำและควรจะเป็นสามีภรรยากัน นอกจากจะหาไม่ได้จริงๆ เท่านั้น
ต้องฝ่ายหนึ่งเป็นหญิง อีกฝ่ายหนึ่งเป็นชายหรือไม่? คำตอบก็คือ พระศาสนจักรก็มิได้บังคับแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากแต่ตามธรรมเนียมปฏิบัติเขาถือกันมาเท่านั้นเอง
ถ้าผู้ที่ยังไม่แต่งงานจะเป็นพยานได้หรือไม่? เรื่องนี้ก็มิได้มีข้อกำหนดหากแต่เขาไม่ทำกัน เพราะดูมันขัดกับธรรมชาติอยู่ เมื่อยังไม่เคยมีครอบครัว จะแนะนำช่วยเหลือคู่แต่งงานได้ดีหรือไม่?
5. เพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว เรื่องนี้ในพิธีการแต่งงานของคาทอลิกซึ่งกระทำในวัดไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าไหร่ เพราะจะให้ความสำคัญกับพยานมากกว่า..... เพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวจึงมักจะไปได้รับความสำคัญในตอนงานเลี้ยงฉลองเสียมากกว่า แต่ก็เป็นสิ่งสมควรที่เพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะไปร่วมพิธีที่วัดด้วย
6. เด็กถือเทียน-ดอกไม้ เพื่อความสวยงามเขาจะนิยมให้เด็กๆ 4-5 คนแต่งตัวสวยๆ เพื่อถือเทียนและดอกไม้ หรือบางครั้งก็ถือแหวนแต่งงานของเจ้าบ่าวเจ้าสาว เดินนำหน้าเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเข้าไปในวัด
เด็กที่จะให้ถือเทียน-ดอกไม้นี้ควรจะหาที่โตสักหน่อย ถ้าประมาณประถมต้นก็จะดี บางรายเป็นเด็กอนุบาลถือว่ายังเล็กไป กว่าจะถือเทียนดอกไม้ถึงบริเวณพิธีทุลักทุเลเต็มที
7. ช่างภาพ ปกติแทบทุกงานจะมี “ตากล้อง” หรือช่างภาพทั้งที่จ้างมาหรือเป็นเพื่อนๆ ญาติพี่น้อง เรื่องนี้ก็เช่นกันต้องอธิบายให้เขาทราบว่า การถ่ายภาพหรือวีดิโอในวัดต้องกระทำด้วยความเรียบร้อย กล่าวคือ
ก. ในวัดเป็นงาน “พิธีกรรมทางศาสนา” มิใช่พิธีการเหมือนที่บ้านหรือโรงแรม ดังนั้น ต้องให้ความเคารพสถานที่ แต่งกายให้เรียบร้อย บางคนใส่เสื้อคอกลมเก่าๆ กางเกงยีนส์โทรมๆ รองเท้าแตะ อย่างนี้ไม่สมควร
ข. การถ่ายภาพหรือวีดิโอในวัด อย่าเดินไปเดินมาบ่อยๆ อย่าเดินตัดหน้าพระแท่น เพราะจะทำให้ผู้ร่วมพิธีเสียสมาธิในการภาวนา
ค. ไม่ต้องถ่ายภาพมากมาย ถ่ายเสร็จแล้วให้นั่งให้เรียบร้อย เน้นที่สำคัญตอนทำพิธีแต่งงาน คือ การให้คำสัญญาและสวมแหวน ตอนเริ่มต้นและสุดท้ายตอนลงนามในทะเบียนของทางวัดก็น่าจะพอ
ง. ถ้าเป็นไปได้ ไม่ต้องมีช่างภาพเยอะแยะ บอกเพื่อนๆ ญาติพี่น้องด้วย ถ้าจะถ่ายภาพมากๆ ขอให้ทำก่อนหรือหลังพิธี หรือ ที่งานเลี้ยงจะเหมาะกว่า