แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

บทที่ 5
3 คำที่มีความหมาย


6c526dabac9a7044a190aee1ebbdeac7 1240523607ความหมายของคำ 3 คำ เกี่ยวกับเรื่องการแต่งงานในภาษาไทยของเรา มีคำที่น่าสนใจ 3 คำ ส่วนใหญ่ไม่ได้คิดถึงความหมาย แต่ใช้กันเคยชิน คือ คำว่า “แต่งงาน” “มงคลสมรส” และ “ครอบครัว”
    1. “แต่งงาน” เมื่อถามผู้คนโดยทั่วไป แม้แต่คู่ที่กำลังจะแต่งงานว่า มีความหมายอย่างไร ส่วนใหญ่ก็จะตอบแบบบรรยายลักษณะและพฤติกรรมที่เห็นคือ บอกว่า เป็นการที่หนุ่มสาวคู่หนึ่งตัดสินใจที่จะมาอยู่ด้วยกัน มาใช้ชีวิตรวมกัน เป็นสามีภรรยาและจะมีพิธีการต่างๆ เช่น การสู่ขอ การหมั้น การจดทะเบียน งานเลี้ยง เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งก็ถูกต้องตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
    ที่แท้แล้วคำว่า “แต่งงาน” มาจากคำ 2 คำมารวมกัน คือคำว่า ตกแต่ง+งาน ซึ่งเมื่อเปิดพจนานุกรมดูความหมายจะพบว่า ตกแต่ง หมายถึงประดับประดาให้งามหรือทำให้สวยงาม ส่วนคำว่า “งาน” แปลว่า ภารกิจ อาชีพที่ต้องกระทำ หรือ หน้าที่ก็ได้

    เมื่อนำมารวมกัน คำว่า “แต่งงาน” จึงหมายถึงการทำหน้าที่ภารกิจให้สวยสดงดงามนั่นเอง    คราวนี้มาดูว่ามีหน้าที่อะไรบ้างที่เกิดขึ้นเมื่อแต่งงาน
    ประการแรก หน้าที่ของการเป็นสามี-ภรรยาที่ดี ซึ่งจะไม่ขออธิบายรายละเอียด เพราะเชื่อว่าคงได้ยินได้ฟังกันมามากต่อมากแล้ว ว่าสามีที่ดีต้องเป็นอย่างไร ภรรยาที่ดีต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง
    ประการที่สอง    เมื่อแต่งงานเป็นสามีภรรยากันแล้ว เมื่อกำเนิดบุตรขึ้นมาก็จะมีหน้าที่เพิ่มขึ้นอีก นั่นคือ หน้าที่ของการเป็นบิดา-มารดา ซึ่งทุกคนทราบว่าบิดามารดาที่ดีนั้นเขาต้องทำอะไรกันบ้าง
    เมื่อมองดูหน้าที่ทั้ง 2 ประการแล้ว จะเห็นว่าเป็นการท้าทายคู่แต่งงานอย่างมาก เพราะมิใช่เรื่องง่ายๆ ต้องมีความรับผิดชอบนานาประการตามมา เรื่องนี้พี่น้องที่แต่งงานมีลูกมีเต้าแล้วจะรู้และเข้าใจได้เป็นอย่างดี
    ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการแต่งงานมิใช่เรื่องเล่นๆ แต่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิตมนุษย์ ก่อนที่จะแต่งงานจึงต้องมีการเตรียมตัวให้ดีให้รู้และเข้าใจหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องตามมาดังที่ได้กล่าวไปแล้วด้วย
    2. “มงคลสมรส” ถ้าเราสังเกตจะพบว่าการ์ดเชิญแต่งงานแทบทุกใบจะต้องมีข้อความ “เชิญร่วมพิธีมงคลสมรส” อยู่ด้วย ผู้ได้รับการ์ดเชิญจะมีความรู้สึกแตกต่างกันออกไป ถ้าเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายหรือญาติใกล้ชิดมักจะรู้สึกยินดี คือ ดีใจด้วยกับคู่แต่งงาน    แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่คุ้นเคยนัก ได้รับเชิญเป็นธรรมเนียม มักจะรู้สึกว่า เอาอีกแล้วเสียเงินอีกแล้ว หรือ บางคนก็จะรู้สึกเฉยๆ เพราะรู้ว่าเขาเอาคืน คือ ตอนลูกเราแต่งงานไปเชิญเขา คราวนี้ลูกเขาแต่งงานเขาก็เชิญเราก็เท่านั้นเอง แต่ที่สำคัญคือ ต้องใส่ซองให้เขามากกว่าที่เขาใส่ให้เรานิดหน่อย ห้ามน้อยกว่า เหตุนี้เรามักจะเห็นว่าเขาจะจดชื่อผู้ที่ช่วยงานพร้อมจำนวนเงินไว้เสมอ...
    คำนี้มาจาก 3 คำรวมกันคือ คำว่า มงคล+สม+รส คำว่า “มงคล” หมายถึงสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่เจริญก้าวหน้า    คำว่า “สม” มาจากคำว่า”ประสมหรือผสม” หมายถึงการนำมารวมกันรวมให้เข้ากัน คือมิใช่นำมาวางไว้ในที่เดียวกันเฉยๆ หากแต่ต้องมีการคลุกเคล้าให้เป็นหนึ่งเดียวกันด้วย    ส่วนคำว่า “รส” มาจากคำว่ารสชาติ คือ รสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ฯลฯ นั่นแหละ
    คำนี้มีความหมายดีทีเดียว และเราจะเห็นติดอยู่หลังเวทีงานแต่งงานแทบทุกงาน แต่คนไม่ค่อยคิดถึงความหมาย    ซึ่งที่แท้แล้วเป็นคำที่ให้ความหมายลึกซึ้งแก่คู่บ่าวสาวได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ เมื่อแต่งงานกันแล้วชีวิตของทั้งสองคนต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ต้องอยู่ด้วยกัน และสิ่งที่ตามมาก็คือ จะมีสิ่งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ สิ่งที่ชอบและไม่ชอบ นิสัยใจคอที่แตกต่างกัน เหล่านี้คือรสชาติของชีวิตและถ้าอยู่ร่วมกันได้มันก็จะเป็น “ส้มตำ“ รสเด็ดที่เพียบพร้อมด้วยทุกรสนั่นเอง เขาจึงเรียกว่า “มงคลสมรส” เพราะรวมกันแล้วเกิดความงดงาม ความเจริญก้าวหน้า และการจะเป็น “มงคลสมรส” ได้นั้น จะต้องทำหน้าที่ของตนอย่างดี ต้องรักกันจริง คือ ตัดใจให้ได้ทำใจให้เป็น ดังได้กล่าวไปหลายครั้งแล้ว...
    3. “ครอบครัว” เป็นอีกคำหนึ่งที่มีความหมายทำไมเขาเรียกการที่สามี-ภรรยามาอยู่ด้วยกันว่าครอบครัว    มักจะได้ยินคำถาม (แบบเกรงใจ) อยู่บ่อยๆ ว่า “มีครอบครัวหรือยัง?” อันหมายถึงแต่งงานหรือยังนั่นเอง    เช่นเดียวกับคำอื่นๆ ครอบครัวเป็นคำรวมกันของคำว่า ครอบ+ครัว คำว่า “ครอบ” มาจากคำว่าครอบคลุม “ครัว” หมายถึงห้องหนึ่งในบ้านที่ใช้สำหรับปรุงอาหาร เราเรียกว่า “ห้องครัว” และในห้องครัวนี้เอง    โดยปกติแล้ว เขาจะมีโต๊ะอาหาร อยู่ด้วย ห้องครัวจึงหมายถึงห้องอาหารก็ได้เหมือนกัน
    สาเหตุที่เขาใช้คำว่า “ครอบครัว” น่าจะตีความได้ว่า เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว เขามักจะนำเอาฝาชีมาครอบอาหารที่เหลือไว้เพื่อกันแมลงวันมาตอม หรือ ให้อาหารนั้นรวมอยู่ในที่เดียวกัน    สมัยก่อนไม่มีตู้เย็นตู้แช่แบบสมัยนี้ และโดยปกติแล้วเวลาที่สมาชิกในบ้านอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน คือ เวลารับประทานอาหาร
    ครอบครัว จึงหมายถึงการอยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน มิใช่กระจัดกระจาย พ่อไปทาง แม่ไปทาง ลูกไปทาง ซึ่งครอบครัวที่ดีจึงต้องมีลักษณะของการให้เวลาอยู่ร่วมกันเป็นสำคัญ    ต้องรับประทานอาหารด้วยกัน และปกติแล้วเวลารับประทานอาหารก็จะเป็นเวลาที่สมาชิกพูดคุยเรื่องราวต่างๆ แบบเล่าสู่กันฟัง แบบไม่เป็นทางการ เป็นบรรยากาศแห่งความรักความอบอุ่น
    ทั้ง 3 คำนี้ จึงถือว่าเป็นบทสอนที่ดีสำหรับผู้เตรียมแต่งงานหรือแต่งงานมีครอบครัวแล้วก็ตาม ถ้าใครจะไปคิดไปคำนึงและทำได้ดังที่อธิบายมานี้ครอบครัวของเขาก็จะมีความสุขอย่างแน่นอน