7 คำถาม 7 ข้อสังเกต
มิสซาระลึกถึงการเลี้ยงขององค์พระผู้เป็นเจ้า คืนวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์
เนื้อหา : คุณพ่ออนุสรณ์ แก้วขจร
1. ทำไมต้องเป็นมิสซาตอนค่ำ
หนังสือจารีตพิธีสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ระบุไว้ว่า หากไม่มีเหตุผลที่จำเป็นมาก ๆ มิสซาระลึกถึงการเลี้ยงขององค์พระผู้เป็นเจ้า (Lord's Supper) ซึ่งเป็นการเริ่มต้นตรีวารปัสกา ให้จัดฉลองในตอนค่ำ หลังพระอาทิตย์ตกดินตามธรรมเนียมของชาวยิว การนับวันใหม่เพื่อจัดฉลองพิธีกรรมใด ๆ จะเริ่มนับว่าเป็นวันใหม่ก็เมื่อตอนที่พระอาทิตย์ตกดิน และพิธีกรรมที่จัดในตอนค่ำ จะเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับพิธีกรรมที่จะเกิดขึ้น ในวันต่อมานั่นเอง งานเลี้ยงที่พระเยซูเจ้าทรงร่วมโต๊ะกับบรรดาสานุศิษย์เป็นงานเลี้ยง "อาหารค่ำ" ซึ่งมิได้เป็นแค่งานเลี้ยงอำลาแต่มีความเกี่ยวข้องกับบูชาบนไม้กางเขนของพระเยซู ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อมา ถ้อยคำที่พระองค์ตรัสกับบรรดาสานุศิษย์ ว่า "....นี่เป็นกายของเราที่จะมอบเพื่อท่าน.. นี่เป็นโลหิตของเรา...ที่จะหลั่งออกเพื่ออภัยบาป สำหรับท่านและมนุษย์ทั้งหลาย..." เป็นถ้อยคำที่หมายถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นบนไม้กางเขน
พิธีกรรมคืนวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์กับพิธีกรรมวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ จึงถือเป็นพิธีกรรมต่อเนื่องกัน และนับเป็นวันเดียวกัน (จะเห็นชัด เมื่อเราจัดพิธีวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ตอนบ่ายสามโมง)
คืนวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นการเริ่มต้น "ตรีวารปัสกา" อันหมายถึงการฉลองธรรมล้ำลึกปัสกาต่อเนื่องกันสามวัน การนับให้ครบพอดี 3 วัน ก็คือ คืนวันพฤหัส-วันศุกร์ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน นับเป็นวันที่หนึ่ง คืนวันศุกร์-วันเสาร์ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน นับเป็นวันที่สอง คืนวันเสาร์-วันอาทิตย์ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน นับเป็นวันที่สาม อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลเพื่อการอภิบาลสัตบุรุษอาจมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาจัดฉลองพิธีกรรมของวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งยังมีมิสซาสมโภชปัสกาในตอนค่ำ ของวันอาทิตย์
2. เหตุใดตู้ศีลจึงว่างเปล่า ตั้งแต่ก่อนมิสซาจะเริ่ม
หนังสือจารีตพิธีสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ให้คำแนะนำว่า ก่อนที่พิธีของค่ำวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์จะเริ่มนั้น ตู้ศีลจะว่างเปล่า คือพระสงฆ์จะอัญเชิญศีลฯ เก็บ ณ ที่ที่เหมาะสมในห้องซาคริสเตีย
ที่ระบุให้ "ตู้ศีลว่างเปล่า" มีเหตุผล และมีความหมาย เพราะค่ำวันนี้ เราฉลองการตั้งศีลมหาสนิท จึงเน้นสิ่งที่จะเกิดบนพระแท่น เน้นแผ่นปังเหล้าองุ่นที่จะถูกนำมาวางบนพระแท่น แล้วต่อมาด้วยถ้อยคำเดียวกันกับพระเยซู ที่พระสงฆ์จะกล่าว แผ่นปังจะกลายเป็นพระกาย เหล้าองุ่นเป็นพระโลหิต
พิธีกรรมค่ำวันนี้ จึงรวมสายตาประชาสัตบุรุษมายังพระแท่น มายังโต๊ะที่พระองค์ทรงเลี้ยงบรรดา สานุศิษย์ (อันหมายถึงเราทุกคน) ยังแนะนำอย่างแข็งขันด้วยว่า ให้สัตบุรุษรับศีลฯ ที่เสกในวันนี้ เป็นศีลฯ ที่เสกใหม่ สอดคล้องกับการที่เราฉลองการกำเนิดหรือการตั้งศีลมหาสนิท นั่นเองนอกจากตู้ศีลฯ ว่างเปล่าแล้ว ไฟข้าง ๆ ตู้ศีลฯ ก็จะปิดด้วยเช่นกัน
3. มิสซาค่ำวันนี้ เราฉลองพระเยซูเจ้าทรงมอบของประทานสามประการ แก่เรา มีอะไรบ้าง
พิธีกรรมค่ำวันนี้ เราเข้าใจกันแบบรวม ๆ ว่า เราระลึกถึงงานเลี้ยงของพระเยซู แต่เมื่อเราทำความเข้าใจอย่างละเอียดมากขึ้น
เราจะพบว่า พิธีกรรมแรกของตรีวารปัสกา มุ่งให้เราฉลองของประทาน 3 ประการ ที่พระเยซูเจ้าทรงมอบแก่เรา ซึ่งก็คือ 1. พระสงฆ์ 2. ศีลมหาสนิท 3. ความรัก (ที่ยิ่งใหญ่และเหนือกว่าความตาย) นอกจากตั้งศีลมหาสนิทแล้ว พระเยซูเจ้ายังตั้งศีลบวช "จงทำดังนี้ เพื่อระลึกถึงเราเถิด" พระองค์มอบหมายภารกิจอันสำคัญแก่บรรดาอัครสาวก ผู้ร่วมโต๊ะกับพระองค์ พระสงฆ์กับศีลมหาสนิท (หรือกับมิสซา) จึงมีความผูกพันใกล้ชิด เพราะเกิดมาด้วยกัน ส่วน "ความรัก" อันหมายถึงการเสียสละ การรับใช้ ได้รับการสื่อ ผ่านทางพิธีล้างเท้าและจะมีความหมายเด่นชัด เมื่อเราฉลองต่อเนื่องด้วยพิธีกรรมวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์
4. พิธีล้างเท้า มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
เป็นเวลายาวนาน ที่เราคุ้นเคยกับพิธีล้างเท้า ที่เป็นการล้างเท้าเฉพาะ "บุรุษ" ดังที่กำหนดไว้ในหนังสือจารีตพิธี ซึ่งอธิบายความหมายว่า เราร่วมกันย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ คือทรงล้างเท้าบรรดาสานุศิษย์ ซึ่งในแง่ประวัติศาสตร์ ก็คือบรรดาบุรุษ นั่นเอง
ในวันที่ 6 มกราคม 2016 สมณกระทรวงพิธีกรรมฯ ได้ออกเอกสาร ระบุถึงการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดเรื่องการล้างเท้า ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ที่ระบุใหม่ว่า ให้เลือกบุคคลที่จะรับการล้างเท้า จากบรรดาประชากรของพระเจ้า (อันหมายรวมถึงสตรีด้วย) โดยมีคำแนะนำว่า ให้มีการทำความเข้าใจกับประชาสัตบุรุษถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ ที่มิเพียงมุ่งรำลึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ แต่เน้นแก่นคำสอนของพระเยซู คือการรับใช้กันและกัน
ปัจจุบัน เราจึงเห็นว่า บางวัดมีการล้างเท้าให้กับสตรี ให้กับเด็กและเยาวชน หรือแม้บางวัดจะยังคงล้างเท้าให้กับบุรุษ ก็มิได้ผิดแต่อย่างใด เหมือน ๆ กับพิธีกรรมเรื่องอื่น ๆ ที่มีการดัดแปลงให้เหมาะสมกับบริบท สอดคล้องกับยุคสมัย โดยยังคงรักษาความหมายที่สำคัญไว้ และการฉลองพิธีกรรม ก็มีแบบให้เลือกได้ตามความเหมาะสม การล้างเท้า ก็เช่นเดียวกัน
5. ทำไมบางวัด น้ำมันศักดิ์สิทธิ์ที่เสกตอนเช้า จึงมาปรากฏในมิสซาค่ำ และปรากฏตอนไหน
ก่อนเริ่มเข้าสู่ตรีวารปัสกา ช่วงเช้าของวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ (หรือบางสังฆมณฑลอาจเลื่อนเร็วขึ้น) จะมี "มิสซาเสกน้ำมัน" ที่อาสนวิหาร มีคำแนะนำที่ไม่ได้เป็นกฎข้อบังคับ แต่สามารถนำไปประยุกต์ หรือจัดได้ตามที่เห็นเหมาะสม คำแนะนำที่ว่า ก็คือ หลังจากจบมิสซาเสกน้ำมัน และพระสงฆ์นำน้ำมันศักดิ์สิทธิ์กลับมายังที่วัดแล้ว
ในมิสซาค่ำสามารถเพิ่มเติมขบวนแห่เครื่องบูชาคือให้มีผู้แทนสัตบุรุษถือน้ำมันศักดิ์ต่อท้าย ขบวนเครื่องบูชา เพื่อมอบให้กับพระสงฆ์ แล้วผู้ช่วยพิธีกรรมนำไปเก็บยังห้องซาคริสเตีย หรือที่ที่จัดเตรียมไว้ ก่อนพิธี ควรมีการอธิบายให้สัตบุรุษเข้าใจความหมาย นั่นก็คือ น้ำมันที่เสกและนำมาจากอาสนวิหารนี้ จะใช้เพื่อการ อภิบาลศีลศักดิ์สิทธิ์แก่พี่น้องสัตบุรุษตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ยังประยุกต์ได้กับเทียนที่จะเสกในคืนวันเสาร์ตื่นเฝ้าปัสกา ที่รับมาจากสังฆมณฑล คือนำมาร่วมในขบวนแห่ต่อจากเครื่องบูชา ก็สามารถทำได้ โดยมีการอธิบายสั้น ๆ กับสัตบุรุษก่อนพิธีจะเริ่ม เช่นเดียวกัน
6. เมื่อมิสซาจบ พระแท่นเปลี่ยนไปอย่างไร
ก่อนสังคายนาวาติกันที่ 2 ในตอนท้ายของพิธีมิสซาคืนวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ จะมีพิธีที่ทำเป็นขั้นเป็นตอนอย่างสง่า ท่ามกลางสายตาของประชาสัตบุรุษ พิธีที่ว่าก็คือ "พิธีเปลื้องผ้าคลุมพระแท่น"
ปัจจุบัน เราสังเกตได้ว่า ยังคงมีการเก็บผ้าปูพระแท่น รวมทั้งเทียน กางเขน (ถ้ามี) ฯลฯ ออกจากพระแท่น เพื่อให้มองเห็นแต่เพียงพระแท่นที่ว่างเปล่า ไม่มีอะไร แต่การเก็บผ้า และสิ่งอื่น ๆ จะไม่ได้ทำอย่างสง่า หรือมีขั้นตอนพิเศษอะไร เพียงระบุให้เก็บเมื่อจบพิธีอย่างเงียบ ๆ เท่านั้น พระแท่นที่ว่างเปล่านี้ จะปรากฏให้เห็นต่อเนื่องไปจนถึงเมื่อประกอบพิธีในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์
พระแท่น เป็นสัญลักษณ์สำคัญ อันหมายถึง "พระเยซูคริสตเจ้า" ดังนั้น "พระแท่นที่ว่างเปล่า" นำพาเรายิ่งเข้าใกล้เหตุการณ์พระทรมานของพระองค์ นั่นก็คือ พระองค์ถูกทหารถอดพระภูษา (มธ 27:28) แล้วเหตุการณ์พระทรมานก็ยิ่งเข้มข้น เช่นเดียวกับบรรยากาศการฉลองพิธีกรรม ยังมีการสื่อความหมายมุ่งให้คุณค่าฝ่ายจิต คืออธิบายว่า พระแท่นที่ว่างเปล่าเปรียบเสมือนโลกในยามที่ขาดองค์พระคริสตเจ้า หรือเพื่อเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น บางคนให้ความหมายว่า พระแท่นที่ไม่มีอะไรก็คือ คูหาที่ว่างเปล่า นั่นเอง
7. การอัญเชิญศีลไปยังที่พักศีลทำให้คิดถึงสถานที่ใด และทำไมไม่ใช้รัศมี แต่ใช้ผอบศีลแทน
หลังจากที่พระเยซูเจ้าทรงรับประทานอาหาร (งานเลี้ยงปัสกา) กับสานุศิษย์แล้ว พระองค์เสด็จไปยังสวนเกทเสมนี ในค่ำคืนนั้น พระองค์ทรงขอให้สานุศิษย์บางคนตื่นเฝ้าอยู่กับพระองค์ ตอนท้ายของพิธีในค่ำวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ จะมีการอัญเชิญศีลฯ ไปยังที่พักศีลฯ ที่จัดเตรียมไว้ทำให้คิดถึงเหตุการณ์ที่สวนเกทเสมนี
การอัญเชิญศีลฯ ครั้งนี้ ไม่ได้อัญเชิญศีลฯ ใส่ไว้ในรัศมี เพราะเมื่อใช้รัศมีจะมีความหมายแตกต่างไปการตั้งศีลในรัศมี มีจุดมุ่งหมายเพื่อการนมัสการและรับพรจากศีลมหาสนิท การเฝ้าศีลฯ ในค่ำคืนนี้ เน้นการอยู่กับพระองค์อยู่กับศีลมหาสนิทที่พระองค์ทรงปรารถนามอบเป็น "อาหาร" บำรุงเลี้ยงจิตวิญญาณของเรา และ ciborium หรือที่เราเรียกว่า "ผอบศีล" เป็นคำที่มีความหมายประการหนึ่งว่า "ภาชนะใส่อาหาร" นั่นเอง