‘การปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันอย่างเคร่งครัด (Rigid Uniformity)’ และ ‘ความแตกต่างที่อนุญาตให้มีได้ (Legitimate Variations)’
เรื่องนี้จำเป็นต้องถูกยกขึ้นมาพิจารณาในการประชุมสภาฯที่ผู้ร่วมประชุมมาจากดินแดนทุกส่วนของโลกพร้อมกับปัญหาและข้อเรียกร้องของตน ถึงกระนั้น เพราะพระสังฆราชผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ในจำนวนผู้เข้าร่วมจำนวน 2,500 ท่านล้วนเป็นจารีตโรมัน ซึ่งเป็นจารีตที่มีจำนวนคริสตชนและเนื้อที่กว้างที่สุดในพระศาสนจักรละติน จึงเกิดปรากฎการณ์ที่ไม่ธรรมดาอย่างมาก คือ สภาสังคายนาสากล(ครั้งนี้)ในความเป็นจริงได้พิจารณาแต่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับจารีตเดียวเท่านั้น เหตุการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร พระสังฆราชจารีตตะวันออกหลายองค์ยกเรื่องนี้ขึ้นในการประชุมสภาฯ โดยถามว่า
สภาสังคายนาสากลจะจำกัดความเอาใจใส่มาพิจารณาปัญหาของจารีตหนึ่งเท่านั้นได้หรือ ท่านเหล่านี้เสนอแนะว่าเรื่องเช่นนี้ควรทำกันในสมัชชาพระสังฆราช (Synod) มากกว่าในสภาสังคายนาสากล แต่ในที่สุด ก็ได้ตัดสินว่าไม่ควรจะมองข้ามความคาดหวังของบรรดาพระสังฆราชจำนวนมากของจารีตโรมัน ถึงกระนั้น ธรรมนูญ SC ก็กล่าวอย่างอาจหาญไว้ตั้งแต่ต้นว่า “สุดท้ายนี้ สภาสังคายนาศักดิ์สิทธิ์นอบน้อมเชื่อฟังธรรมประเพณีอย่างซื่อสัตย์ ประกาศว่า พระศาสนจักรมารดาศักดิ์สิทธิ์ถือว่าจารีตต่างๆที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องแล้ว มีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันหมด” (SC 4) ข้อความนี้หมายความว่า แม้ว่าจารีตโรมันซึ่งโดยธรรมประเพณีเป็นจารีตที่มีอภิสิทธิ์ก็เป็นจารีตและมีศักดิ์ศรีเท่ากับจารีตเล็กๆ และปฏิบัติอยู่ในบางท้องที่เท่านั้น เช่น จารีตอัมโบรเซียน ยิ่งกว่านั้น ข้อความที่สภาฯให้การรับรองยังกล่าวถึง “ทุกจารีตซึ่งเป็นที่ยอมรับตามกฎหมาย” (‘all lawfully acknowledged rites’) ขณะที่ฉบับร่างครั้งแรกที่คณะกรรมาธิการเสนอเพื่อการพิจารณามีข้อความว่า “ทุกจารีตที่มีอยู่ตามกฎหมาย” (‘all lawfully existing rites’) เห็นได้ชัดว่า การที่บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมไม่ยอมรับข้อความว่า “ทุกจารีตที่มีอยู่ตามกฎหมาย” (‘all lawfully existing rites’) นั้นได้เปิดประตูให้มีโอกาสรับเอาจารีตใหม่ๆ ในจารีตโรมันที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ยอมรับตามกฎหมายให้กลับเป็นจารีตพิธีที่มีสิทธิ์และศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันได้
บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมรู้ตัวดีว่าตนเป็นสภาสังคายนาสากลที่จะต้องจัดการเกี่ยวกับจารีตคาทอลิกทุกจารีต แต่ก็ทราบดีว่าตามจริงแล้วท่านกำลังพิจารณาจารีตโรมันเป็นส่วนใหญ่ ท่านจึงกล่าวว่า “ในบรรดาหลักการและกฎปฏิบัติเหล่านี้ บางข้อบังคับใช้ทั้งในจารีตโรมันและจารีตอื่นๆอย่างไรก็ตาม กฎปฏิบัติต่อไปนี้ต้องเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับจารีตโรมันเท่านั้น เว้นแต่ในกรณีที่ปรากฏชัดจากบริบทว่าเกี่ยวข้องกับจารีตอื่นๆด้วย” (SC 3)
สภาพความเป็นสภาสังคายนาสากล แต่กลับมีพระสังฆราชผู้เข้าร่วมประชุมเกือบทั้งหมดมาจากจารีตเดียว คือจารีตโรมัน ผลักดันบรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมให้มีมิสซาตอนเช้าในการประชุมสภาถวายในจารีตต่างๆ ทั้งจารีตตะวันออกและจารีตตะวันตก เพื่อบรรดาพระสังฆราชจะได้มีประสบการณ์กว้างขวางขึ้นเกี่ยวกับจารีตต่างๆของพระศาสนจักรคาทอลิก ถึงกระนั้น สิ่งที่ทำให้วาติกันที่ 2 เป็นสากลจริงๆ ก็คือ ความจริงที่ว่าบรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมมาจากทุกส่วนในโลก จากวัฒนธรรม เชื้อชาติ และประเทศชาติต่างๆ เมื่อเทียบกับสภาสังคายนาสากลครั้งแรกที่เมืองนีเชอา ที่มีพระสังฆราชเข้าร่วมประชุม 220 องค์ (ซึ่งส่วนใหญ่มาจากทางตะวันออก) เช่นเดียวกับมีพระสังฆฆราชจำนวนน้อยมากเข้าร่วมประชุมที่เมืองเตร็นท์ (ส่วนใหญ่เป็นชาวอิตาเลียน) ซึ่งในสมัยเปิดการประชุมมีพระสังฆราชเข้าประชุมน้อยกว่า 40 องค์ (บางครั้งมีจำนวนเพิ่มถึง 200 องค์) หรือมีพระสังฆราช 642 องค์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปในการประชุมสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 1 ส่วนวาติกันที่ 2 ซึ่งมีพระสังฆราชเข้าร่วมประชุมถึง 2,500 องค์ จึงเป็นตัวอย่างเด่นชัดของสภาสังคายนาทั่วโลก สภาสังคายนาฯครั้งนี้จึงเป็นสัญลักษณ์อย่างเป็นรูปธรรมของคำสอนเรื่องเอกภาพในความแตกต่างที่วาติกันที่ 2 กำลังประกาศอย่างกึกก้อง ถ้อยคำในข้อ 37 ของสังฆธรรมนูญ จึงเป็นเสมือนเสียงประกาศเรื่องเอกกภาพในความแตกต่างของบรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุม
ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับความเชื่อหรือคุณประโยชน์ส่วนรวมของทั้งชุมชน พระศาสนจักรไม่ปรารถนาที่จะวางข้อบังคับให้ปฏิบัติแบบเดียวกันอย่างเคร่งครัด แม้ในเรื่องพิธีกรรม ยิ่งกว่านั้น พระศาสนจักรยังเคารพและส่งเสริมคุณลักษณะและพรสวรรค์เฉพาะของเชื้อชาติและประชากรต่างๆ สิ่งใดในขนบธรรมเนียมของชนชาติเหล่านี้ที่ไม่ยึดติดกับการถือนอกรีตหรือความหลงผิดอย่างแยกไม่ออก พระศาสนจักรก็ยินดีให้คุณค่า และถ้าทำได้ ยังช่วยบำรุงรักษาไว้เป็นอย่างดีด้วย ยิ่งกว่านั้น บางครั้งพระศาสนจักรยังรับเข้ามาใช้ในพิธีกรรมถ้าขนบธรรมเนียมนั้นประสานกลมกลืนกับจิตตารมณ์แท้จริงของพิธีกรรม” (SC 37)
จิตตารมณ์การเปิดตัวต่อผู้อื่นเช่นนี้ และการยอมรับความหลากหลายในพระศาสนจักรไม่เพียงแต่ในเรื่องพิธีกรรมเท่านั้น (บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมกล่าวว่า “แม้ในเรื่องพิธีกรรม พระศาสนจักรก็มิได้ปรารถนาบังคับให้มีความเป็นแบบเดียวกันอย่างเคร่งครัด...”) ยังจะส่งสะท้อนอีกในเอกสารสำคัญอื่นๆของวาติกันที่ 2 “อาศัยงานของพระศาสนจักร ความดีใดๆไม่ว่าที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์ ความดีใดๆไม่ว่าที่ซ่อนอยู่ในการปฏิบัติศาสนกิจและวัฒนธรรมของประชาชนต่างๆ ไม่เพียงแต่ได้รับความช่วยเหลือไม่ให้ถูกทำลายเท่านั้น แต่ยังได้รับการชำระ ยกย่อง และทำให้สมบูรณ์ขึ้นเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า ทำให้ปีศาจต้องอับอาย และเพื่อความสุขของมนุษย์” (LG 17)
“พระศาสนจักรคาทอลิกไม่ปฏิเสธสิ่งใดที่จริงและศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาเหล่านี้ พระศาสนจักรให้ความนับถืออย่างจริงใจต่อแนวทางปฏิบัติและดำเนินชีวิต กฎบัญญัติและคำสอนเหล่านั้น ที่แม้จะแตกต่างในหลายด้านจากความจริงและแนวปฏิบัติต่างๆเหล่านี้ที่พระศาสนจักรยึดถือและสั่งสอน ถึงกระนั้นบ่อยๆก็ยังสะท้อนแสงสว่างของ ‘องค์ความจริง’ นั้นที่ส่องสว่างแก่มวลมนุษย์” (NA 2)
“แต่ในเวลาเดียวกัน พระศาสนจักรที่พระเจ้าทรงส่งมาหาประชากรทุกชาติในทุกสมัยและสถานที่ ก็ไม่ถูกผูกมัดโดยเฉพาะอย่างแยกไม่ได้กับเชื้อชาติหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง กับวิธีดำเนินชีวิตแบบใดโดยเฉพาะ หรือกับขนบประเพณีวิถีชีวิตแบใดๆ ไม่ว่าจะในสมัยโบราณหรือที่เพิ่งจะเกิดขึ้น พระศาสนจักรซื่อสัตย์ต่อธรรมประเพณีของตน และในขณะเดียวกันก็ยังมีสำนึกถึงพันธกิจสากลของตน พระศาสนจักรจึงอาจมีความสัมพันธ์ได้กับอารยธรรมต่างๆ เพื่อช่วยให้วัฒนธรรมเหล่านั้นมีความบริบูรณ์ยิ่งขึ้น และเพื่อช่วยตนเองให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีกด้วย” (GS 58)
เรื่องเกี่ยวกับ “การปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันอย่างเคร่งครัด” และ “ความแตกต่างที่อนุญาตให้มีได้” นี่ถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในการพิจารณาธรรมนูญ SC นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพิธีกรรม แต่ก็เป็นที่น่าประหลาดใจที่เอกสารฉบับอื่นๆ ก็พร้อมที่จะรับเรื่องนี้มาพิจารณาด้วยทันที ความคิดเรื่องนี้จึงกลายเป็นความคิดพื้นฐานของวาติกันที่ 2 ที่แผ่ขยายเข้าไปในเอกสารทุกฉบับของสภาสังคายนา นี่ก็เป็นตัวอย่างน่าสนใจอีกตัวอย่างหนึ่งว่าพระศาสนจักรปฏิรูปพิธีกรรมอย่างไร แต่พิธีกรรมก็ปฏิรูปพระศาสนจักรไปด้วย
บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมสภาฯวางหลักการไว้อย่างกว้างๆในการรับเอาหรือไม่ยอมรับการปรับปรุงว่า “โดยมีเงื่อนไขว่าเอกภาพสาระสำคัญของจารีตโรมันยังต้องได้รับการเก็บรักษาไว้”
“เมื่อมีการตรวจชำระหนังสือพิธีกรรม อนุญาตให้มีความหลากหลายอันชอบธรรมในการปรับปรุงให้เหมาะกับชุมชน ท้องถิ่นและประชากรต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนมิสซัง โดยยังรักษาเอกภาพแท้จริงของจารีตโรมันไว้ ควรคำนึงถึงหลักการนี้ในการจดวางโครงสร้างของจารีตพิธีและในการกำหนดคำแนะนำการประกอบพิธีด้วย” (SC 38)
สภาสังคายนาฯยังเปิดกว้างสำหรับการปรับปรุงที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นอีก แต่ก็จำเป็นต้องใช้ความรอบคอบยิ่งขึ้นในกรณีเช่นนี้
“เนื่องจากในบางสถานที่และบางสถานการณ์ มีความจำเป็นเร่งด่วนกว่าปกติที่จะต้องปรับปรุงพิธีกรรมอย่างกว้างขวาง ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้น” (SC 40)
นับว่าแปลกมากในบริบทเช่นนี้ที่ยังมีเสียงเรียกร้องอย่างต่อเนื่องจากผู้ที่ต้องการเก็บรักษาภาษาละตินไว้อย่างเหนียวแน่น (ซึ่งน่าจะเรียกว่าเป็นเหมือนกับ “Latin crusadcrs” ) คนพวกนี้ยังคงกล่าวย้ำอยู่ตลอดว่าภาษาละตินเป็นภาษาของพระศาสนจักร และภาษาละตินเป็นสัญลักษณ์แข็งแรงแห่งเอกภาพของพระศาสนจักร แต่ความคิดเช่นนี้ต้องได้รับคำอธิบาย ภาษาละตินเป็นภาษาที่ใช้เพียงแต่ในจารีตละตินของพระศาสนจักรคาทอลิกเท่านั้น และก็ใช้อยู่เพียงไม่กี่ศตวรรษ ส่วนคาทอลิกอื่นทุกจารีตใช้ภาษาอื่นๆ หลังวาติกันที่ 2 ได้มีการนำภาษาอื่นๆ เข้ามาใช้แม้ในจารีตโรมันด้วย ดังนั้น การกล่าวว่าภาษาละตินเป็นสัญลักษณ์แห่งเอกภาพของพระศาสนจักรจึงไม่ถูกต้อง และเป็นการไม่ให้เกียรติแก่จารีตอื่นๆซึ่งมีสิทธิและศักดิ์ศรีเหมือนกันในพระศาสนจักร เกี่ยวกับการคิดว่าภาษาละตินเป็นสัญลักษณ์แห่งเอกภาพของพระศาสนจักรนี้ เป็นการเหมาะสมทีเดียวที่จะอ้างถึงข้อความของเอกสารโบราณมากของคริสต์ศาสนา ซึ่งกฤษฎีกาเรื่องงานแพร่ธรรมของพระศาสนจักร (AG) ยกมาเขียนไว้ด้วยว่า
“บรรดาคริสตชนผู้มีความเชื่อซึ่งถูกรวบรวมจากชนทุกชาติเข้ามาอยู่ในพระศาสนจักรนั้น ‘ไม่ได้มีเครื่องหมายแตกต่างจากมนุษย์คนอื่น ทั้งโดยการปกครอง หรือโดยภาษา หรือโดยระบอบการเมืองเลย’ ดังนั้น เขาจึงต้องดำเนินชีวิตเพื่อพระเจ้าและพระคริสตเจ้าตามแบบอย่างชีวิตน่านับถือประจำชาติของตน ในฐานะที่เป็นพลเมืองดี เขาต้องมีความรักชาติอย่างจริงใจและจริงจัง พยายามหลีกเลี่ยงอคติด้านเชื้อชาติและความคลั่งชาติ แต่ควรหล่อเลี้ยงความรักสากลต่อมวลมนุษย์” (AG 15)
พระศาสนจักรไม่ใช่รัฐพิเศษเหนือรัฐอื่นๆ (super – state) ที่แผ่ไปทั่วโลก มีภาษา ขนบธรรมเนียม และผู้ปกครองเฉพาะของตน ธรรมนูญ SC ยังกล่าวด้วยว่าพระศาสนจักรไม่มีรูปแบบใดๆที่เป็นของตนโดยเฉพาะ
“พระศาสนจักรไม่เคยมีรูปแบบศิลปะใดเป็นของตนโดยเฉพาะ แต่ยอมรับรูปแบบศิลปะของแต่ละยุคสมัยมาใช้ตามลักษณะเฉพาะ และสภาพแวดล้อมของชนชาติต่างๆ และตามความต้องการของจารีตพิธี” (SC 123)
พระศาสนจักรมีความเป็นอยู่ใพระศาสนจักรเฉพาะแต่ละท้องถิ่นที่ประชาชนพูดภาษาของตนและปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีของตน
“พระศาสนจักรเฉพาะแต่ละท้องถิ่นมีสิทธิที่จะอยู่ภายในพระศาสนจักร(สากล) พระศาสนจักร (ท้องถิ่น) เหล่านี้ยังคงรักษาขนบประเพณีของตนโดยไม่ขัดแย้งแต่ประการใดต่อความเป็นประมุขสูงสุดของอำนาจปกครองของนักบุญเปโตร (the primacy of the chair of Peter) ซึ่งเป็นประมุขปกครองดูแล “ชุมชนแห่งความรัก” และคอยดูแลความแตกต่างที่ชอบธรรม และในขณะเดียวกันก็ให้ความมั่นใจว่าว่าความแตกต่างเช่นนั้นไม่ได้ขัดขวางเอกภาพ แต่กลับช่วยเสริมสร้างเอกภาพนี้เสียด้วย ยังคงมีพันธะความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดนี้ระหว่างส่วนต่างๆของพระศาสนจักร ช่วยให้เขาเหล่านี้ได้แบ่งปันความร่ำรวยด้านจิตใจ งานแพร่ธรรม รวมทั้งทรัพยากรด้านวัตถุด้วย” (LG 13)
ข้าพเจ้าเชื่อว่าช่วงเวลาหลายศตวรรษที่ชาวยุโรปมีอำนาจปกครองโลก เมื่อความภูมิใจในเชื้อชาติของตนเดินควบคู่ไปกับลัทธิล่าอาณานิคมนั้น ได้สร้างมโนภาพของคริสต์ศาสนาขึ้นในใจของผู้คนทั้งสองฝ่าย เป็นมโนภาพที่ไม่สอดคล้องเท่าใดนักกับธรรมชาติแท้จริงของความเชื่อของเราอย่างที่แสดงให้เห็นในพระคัมภีร์และในธรรมประเพณี ข้าพเคยได้ยินมัคคุเทศก์บางคนที่กรุงโรมอธิบายให้ผู้แสวงบุญทราบความหมายของเสาระเบียงของแบร์นีนีที่ล้อมรอบจัตุรัสใหญ่หน้าพระมหาวิหารนักบุญเปโตรว่า แบร์นีนีได้ออกแบบเสาระเบียงนี้ให้เป็นเหมือนแขนสองข้างของพระศาสนจักรสากลที่กำลังโอบอุ้มมวลมนุษย์ ไม่ว่าแบร์นีนีต้องการจะแสดงความหมายอย่างไร จริงๆ เมื่อจัตุรัสเต็มไปด้วยผู้มีความเชื่อที่มาจากทั่วโลกเพื่อจะภาวนาที่หลุมศพของนักบุญเปโตร เสาระเบียงนี้ก็เป็นสัญลักษณ์ได้อย่างดีเลิศที่แสดงความร่ำรวยของพระศาสนจักรสากลซึ่งปรากฏตัวอยู่ในพระศาสนจักรท้องถิ่นแต่ละแห่ง และเสาเหลี่ยมโอเบลิสก์ที่ได้จงใจตั้งไว้ที่กลางจัตุรัสนั้นยังเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงสถานที่ที่นักบุญเปโตรถูกประหารชีวิตเพราะความซื่อสัตย์ต่อพระเยซูเจ้า เสาระเบียงทั้งสองด้านที่รวมมวลมนุษย์ไว้นั้นเป็นเสมือนพระพาหาทั้งสองของพระเยซูเจ้าผู้ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน
วาติกันที่ 2 เป็นเสมือนเสียงประกาศกในสมัยของเราที่เรียกเราให้ตื่นขึ้น มองไปรอบๆ สังเกตดูเครื่องหมายแห่งกาลเวลาและสร้างภาพใหม่ของพระศาสนจักร เป็นภาพที่ทั้งใหม่และเก่าเช่นเดียวกับพระเยซูเจ้าเอง คือเป็นภาพของพระศาสนจักรที่มีโฉมหน้าใหม่และเสียงใหม่ที่ทำให้ประชาชนรู้จักได้ง่ายว่าเป็นพระสุรเสียงของพระเยซูเจ้า ผู้กำลังทรงประกาศข่าวดีของพระองค์แก่ชนทุกชาติ
ข้าพเจ้าขอย้ำที่นี่อีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อพระศาสนจักรปฏิรูปพิธีกรรม พิธีกรรมก็ปฏิรูปพระศาสนจักรด้วย
ข้าพเจ้าอยากจะสรุปข้อสังเกตเกี่ยวกับ “การปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันอย่างเคร่งครัด” และ “ความแตกต่างที่อนุญาตให้มีได้” โดยให้ข้อสังเกตว่าธรรมประเพณีที่มีความหลากหลายของพิธีกรรมคาทอลิกได้ปกป้อง “ความแตกต่างที่อนุญาตให้มีได้” ตลอดมา นับตั้งแต่ยุคเริ่มแรก เมื่อพระเยซูเจ้าทรงส่งบรรดาอัครสาวกไปประกาศข่าวดีแก่ชนทุกชาติ พระองค์มิได้ทรงมอบจารีตพิธีให้ปฏิบัติตามเป็นแบบเดียวกัน พระองค์ทรงมอบเพียงสาระสำคัญของพิธี เช่น “จงล้าง” “จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเรา” “จงรับปังนี้ไปกิน” “จงรับถ้วยนี้ไปดื่ม” จารีตต่างๆจึงเกิดและพัฒนาขึ้นตามธรรมชาติในสถานที่ต่างๆ ที่บรรดาอัครสาวกเดินทางไปถึง มีภาษา จารีตพิธี ดนตรี ศิลปะ และการจัดการที่แตกต่างกัน เห็นได้ชัดว่าทุกจารีตเหล่านี้ต่างเก็บรักษาองค์ประกอบสำคัญเหมือนกันที่พระเยซูเจ้าทรงมอบไว้แก่บรรดาอัครสาวก “ความแตกต่างที่อนุญาตให้มีได้” (หรือที่ทุกวันนี้เราเรียกว่า “ความแตกต่าง” หรือ “การเข้าสู่วัฒนธรรม” หรือ ‘inculturation’) จึงไม่ถูกมองว่าเป็นการคุกคามต่อเอกภาพ แต่ความแตกต่างเช่นนี้เป็นแนวปฏิบัติตามปกติ ส่วน “การปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันอย่างเคร่งครัด” นั้นได้เข้ามาภายหลัง และบ่อยๆได้มีการ”บังคับให้ปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันอย่างเคร่งครัด” สภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์เป็นตัวอย่างที่ดีของ “การปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันอย่างเคร่งครัด” เหตุผลทางประวัติศาสตร์มีบทบาทสำคัญเพื่อเร่งรัดสภาสังคายนา (ที่เมืองเตร็นท์) ให้บังคับให้มีการปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันอย่างเคร่งครัด เพื่อปกป้องเอกภาพของพระศาสนจักร แต่วาติกันที่ 2 เกิดขึ้นในสภาพทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องกลับไปหาธรรมประเพณีคาทอลิกแท้จริงที่ “ยอมให้มีความแตกต่างที่ชอบธรรม” คนเหล่านั้นที่ยังต้องการ “ปฏิบัติตามสภาสังคายนาเมืองเตร็นท์” อยู่อีกในโลกปัจจุบัน จึงควรเลิกแสวงหาข้อแก้ตัวเพื่อจะแสดงความผิดปกติลึกๆ เช่นนี้ที่เขามี แต่ให้พูดออกมาอย่างเปิดเผย เหมือนกับที่ผู้มีความคิดสุดโต่งในพวกเขาพูดจากใจจริง ว่าวาติกันที่ 2 และบรรดาพระสันตะปาปาผู้ทรงสนับสนุนข้อกำหนดของสภาสังคายนาได้หลงผิดไปจริงๆ และการปฏิรูปจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูป
VI.ศิลปะด้านพิธีกรรม
สถาปัตยกรรมและศิลปะมีความสัมพันธ์กับพิธีกรรมตลอดมาในฐานะเป็นเครื่องมือเพื่อนำคำแนะนำสั่งสอนของพระศาสนจักรในด้านพิธีกรรมมาปฏิบัติตามในแต่ละช่วงของประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมและศิลปะร่วมสมัยมีพันธกิจเช่นเดียวกันในการนำข้อแนะนำด้านพิธีกรรมของวาติกันที่ 2 มาปฏิบัติ สถาปัตยกรรมและศิลปะเป็น “ครูสอนความเชื่อ” ผู้ทรงพลัง และทำให้พระศาสนจักรมีลักษณะหน้าตาร่วมสมัย เป็นลักษณะหน้าตาที่ผู้คนร่วมสมัยอาจมองเห็นและเข้าใจได้โดยง่าย
บทที่ 7 ของธรรมนูญ SC เป็นบทสรุป และกล่าวถึง “ศิลปะศักดิ์สิทธิ์และอุปกรณ์ตกแต่งรวมทั้งเครื่องใช้ในโบสถ์” เราต้องยอมรับว่า บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมไม่ได้ให้ความสำคัญและเวลามากเพียงพอเพื่อพิจารณาถึงเรื่องนี้ อันที่จริงบทนี้เป็นการรวมบทที่ 6 (เรื่องอุปกรณ์ตกแต่งรวมทั้งเครื่องใช้ในโบสถ์) และบทที่ 7 (เรื่องศิลปะศักดิ์สิทธิ์) เข้าด้วยกัน เนื่องจากว่า บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมไม่ได้มีความเห็นแตกต่างกันที่สำคัญนัก เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ.1963 ผู้ดำเนินประชุมทั่วไปจึงถามบรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมว่า ท่านเห็นด้วยกับการลงคะแนนรวมสำหรับบทที่ 7 โดยไม่แยกลงคะแนนทีละข้อเหมือนกับที่เคยทำสำหรับบทที่สำคัญอื่นๆ หรือไม่ บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมทุกองค์ยืนขึ้นปรบมือเห็นด้วย ผลของการลงคะแนนเป็นดังนี้ จากพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมจำนวน 1,941 องค์ 1,838 ลงคะแนนเห็นด้วย 9 คะแนน ไม่เห็นด้วย อีก 94 คะแนน เห็นด้วยโดยมีข้อแม้ บทที่ 7 จึงได้รับการรับรอง
ข้าพเจ้าเห็นว่า ในบทนี้มีเรื่องน่าสนใจบางเรื่องที่ตรงกันอย่างยิ่งกับเจตนารมณ์ของวาติกันที่ 2 จากเรื่องศิลปะทางศาสนาทั่วไป ซึ่งครอบคลุมขอบเขตกว้างมาก บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมจึงเลือกพิจารณาเป็นพิเศษเกี่ยวกับ “ศิลปะด้านศาสนา” (‘religious art’) และโดยเฉพาะ “ศิลปะศักดิ์สิทธิ์” (‘sacred art’) ซึ่งเป็น “ผลงานสูงสุด” ของศิลปะด้านศาสนาโดยทั่วไป บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมกล่าวว่า “ศิลปะเหล่านี้ โดยธรรมชาติแล้ว มุ่งหาความงดงามไร้ขอบเขตของพระเจ้า ที่เขาพยายามที่จะถ่ายทอดโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง อาศัยผลงานจากฝีมือมนุษย์” ศิลปินผู้สร้างผลงานศิลปะศักดิ์สิทธิ์นับได้ว่าเป็น “ผู้ทำงานอย่างศักดิ์สิทธิ์ตามแบบของพระเจ้าพระผู้เนรมิตสร้าง” และพันธกิจของเขาก็คือ “เพื่อรับใช้ประชาชน”
“ศิลปินทุกคน ที่อยากใช้ความสามารถของตนในการเทิดพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าในพระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ ต้องตระหนักเสมอว่า กิจการของตนเปรียบเสมือนการเอาอย่างผลงานของพระผู้สร้าง และ ผลงานของตนมีจุดหมายสำหรับใช้ในคารวกิจคาทอลิก เพื่อสั่งสอนส่งเสริมความเลื่อมใสศรัทธา และให้การอบรมทางศาสนา ของผู้มีความเชื่อ” (SC 127)
ผลงานของศิลปะศักดิ์สิทธิ์ “ถูกกำหนดไว้สำหรับใช้ในคารวกิจคาทอลิกและเป็นเครื่องหมายช่วยให้ประชาชนหันจิตใจไปหาพระเจ้าได้ ในความหมายนี้”ศิลปะศักดิ์สิทธิ์” จึงมีความหมายเท่ากับ “ศิลปะด้านพิธีกรรม”ในฐานะที่เป็นเครื่งหมายด้านพิธีกรรม ในความหมายหนึ่ง ศิลปะด้านพิธีกรรมจึงเป็นเหมือนศีลศักดิ์สิทธิ์ (a sacrament) หรือ สิ่งคล้ายศีล (a sacramental) จุดประสงค์ของศิลปะศักดิ์สิทธิ์จึงไม่ใช่เพื่อดึงดูดความสนใจของประชาชนมาหาตน แต่นำเขาไปหาพระเจ้า ศิลปะศักดิ์สิทธิ์สะท้อนภาพของพระเจ้าเหมือนกับกระจกเงา สิ่งที่มีความสำคัญจึงไม่ใช่ความงดงามหรือความประเสริฐของกระจกเงาเอง แต่ในฐานะที่สะท้อนภาพชัดเจนของความงดงามและความรักของพระเจ้า และพลังการกอบกู้ของพระเยซูเจ้า บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมสภาฯจึงใช้ถ้อยคำต่อไปนี้กล่าวข้อความสำคัญว่า
“ศิลปะเหล่านี้ (ศิลปะด้านศาสนาและศิลปะศักดิ์สิทธิ์) โดยธรรมชาติแล้ว มุ่งจะแสดงความงดงามไร้ขอบเขตของพระเจ้าออกมา โดยผลงานของมนุษย์ ศิลปะเหล่านี้จะมุ่งไปหาพระเจ้าเพื่อสรรเสริญและถวายพระเกียรติแด่พระองค์ได้มากที่สุด ถ้าไม่มีจุดประสงค์อื่น นอกจากส่งเสริมให้โน้มน้าวจิตใจของมนุษย์ไปหาพระเจ้าอย่างศรัทธาด้วยผลงานของตน” (SC 122)
ถ้าเรานำผลงานศิลปะศักดิ์สิทธิ์ที่ยอดเยี่ยมไปเก็บไว้ในห้องเก็บของ การทำเช่นนี้คงไม่อาจถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าได้ เพราะ คงไม่มี “ผู้คารวะ” คนใด ทำให้งานศิลปะชิ้นนี้มีความหมายได้เต็มที่ ถ้าอาคารโบสถ์หลังหนึ่งเต็มไปด้วยผลงานศิลปะศักดิ์สิทธิ์ชั้นยอด การนี้ก็คงไม่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าด้วยเช่นเดียวกัน ศิลปะศักดิ์สิทธิ์ไม่อาจเป็นเพียงศิลปะเพื่อศิลปะเท่านั้นได้ แต่ต้องเป็นศิลปะสำหรับพิธีกรรม เช่นเดียวกับเครื่องหมายอื่นๆด้านพิธีกรรม ศิลปะศักดิ์สิทธิ์ต้องนำประชาชนให้มีส่วนร่วมเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้าอย่างแข็งขัน พระเยซูคริสตเจ้าทรงปฏิบัติงานอาศัยเครื่องหมายด้านพิธีกรรม ทรงบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ให้เราและทรงนำเราให้ถวายพระเกียรติแด่พระบิดาของพระองค์และของเรา การปฏิรูปพิธีกรรมของวาติกันที่ 2 มีเจตนาทำให้พิธีกรรมเป็นพิธีกรรมแบบคริสตชนจริงๆ ที่มีพระธรรมล้ำลึกปัสกาทั้งหมดของพระเยซูเจ้า คือ พระทรมาน การสิ้นพระชนม์ การเสด็จสู่สวรรค์ การประทานพระจิตเจ้า และการเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์ เป็นจุดศูนย์กลางของการเฉลิมฉลองแต่ละครั้ง ธรรมนูญ SC ประกาศยืนยันว่า
“พระศาสนจักรยังนำพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้ามาตีแผ่ตลอดเวลาทั้งปี ตั้งแต่การทรงรับธรรมชาติมนุษย์และการประสูติ จนถึงการเสด็จสู่สวรรค์ วันเปนเตกอสเต และการที่เรารอคอยด้วยความหวังให้องค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จกลับมา
พระศาสนจักรระลึกถึงพระธรรมล้ำลึกการไถ่กู้เช่นนี้ เพื่อเปิดให้ผู้มีความเชื่อได้รับผลกิจการช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นและพระบารมีขององค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นเสมือนขุมทรัพย์ล้ำค่า และทำให้ขุมทรัพย์เหล่านี้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ เขาจะได้รับสัมผัสและรับพระหรรษทานที่ช่วยให้รอดพ้นอย่างเต็มเปี่ยม” (SC 102)
ฌ)ฯฌณ๋ฮ.สำคัญอย่างยิ่งที่ศิลปะเกี่ยวกับพิธีกรรม (ภาพวาดศักดิ์สิทธิ์ รูปปั้น การตกแต่งภายในโบสถ์ ฯลฯ ) จะต้องกลมกลืนเข้ากับ “การเปิดตัวพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าตามขั้นตอนประจำปี” และบรรลุถึงเจตนาของตน “ที่จะต้องช่วยนำจิตใจของประชาชนเข้าหาพระเจ้าอย่างเลื่อมใสศรัทธา” ผลงานศิลปะด้านพิธีกรรมในโบสถ์คาทอลิกต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุด (นอกจากผลงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระบุคคลของพระเยซูคริสตเจ้า) มักจะเป็นภาพของพระนางพรหมจารมารีย์และบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องเข้าใจคำอธิบายทางเทววิทยาที่สภาสังคายนาฯให้ไว้ก่อน ที่จะพิจารณาถึงคุณค่าของงานศิลปะเหล่านี้
“ในการเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกต่างๆของพระคริสตเจ้าตามลำดับประจำปีเช่นนี้ พระศาสนจักรยังแสดงความเคารพนับถือด้วยความรักเป็นพิเศษต่อพระนางมารีย์ผู้ได้รับพระพร พระมารดาของพระเจ้า พระนางทรงร่วมงานไถ่กู้ด้วยความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับพระบุตร พระศาสนจักรชื่นชมและเทิดทูนพระนางมารีย์ เป็นผลงานประเสริฐสุดของการไถ่กู้ เพ่งมองพระนางด้วยความยินดี ในฐานะที่ทรงเป็นรูปแบบบริสุทธิ์ยิ่งของสภาพที่พระศาสนจักรปรารถนา และหวังจะเป็นอย่างสมบูรณ์ด้วยเช่นเดียวกัน” (SC 103)
สภาสังคายนาเสนอความเห็นทางเทววิทยาเกี่ยวกับพระนางมารีย์ในประวัติศาสตร์ความรอดพ้นไว้โดยย่อสั้นๆว่า พระนางมารีย์ “มีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับงานไถ่กู้โดยพระบุตรของพระนาง” พระนางมารีย์เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ได้รับการไถ่กู้ พระนางทรงเป็นแบบอย่างดีที่สุดของผู้ได้รับการไถ่กู้ ซึ่งยินดีรับโดยอิสรเสรีที่จะมีส่วนร่วมสนิทกับพระเยซูเจ้า พระบุตรของพระนาง ด้วยความสัมพันธ์ที่แยกจากกันไม่ได้ พระนางทรงเป็นเหมือนกระจกเงาที่สะท้อนให้เราเห็นว่าเราจะเป็นอย่างไรในสวรรค์เมื่องานไถ่กู้ของพระเยซูเจ้าสำเร็จลงอย่างสมบูรณ์แล้ว สภาสังคายนาฯกล่าวถึงพระนางโดยใช้ตำแหน่งที่สภาสังคายนาครั้งหนึ่ง (สภาสังคายนาที่เมืองเอเฟซัส เมื่อปี ค.ศ.431) ได้ถวายแด่พระนาง คือ ตำแหน่ง “พระมารดาพระเจ้า” (Theotokos) เอกสารฉบับอื่นๆ ของสภาสังคายนาฯจะขยายความเกี่ยวกับบทบาทของพระนางในประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น สภาสังคายนาฯยังกล่าวยืนยันเกี่ยวกับบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ (หรือ “นักบุญ”) อีกว่า
“นอกจากนั้น ตลอดปี พระศาสนจักรยังกำหนดวันระลึกถึงบรรดามรณสักขีและผู้ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ซึ่งได้บรรลุถึงความดีพร้อมอาศัยพระหรรษทานหลากหลายของพระเจ้า และบัดนี้ได้รับความรอดพ้นนิรันดร อยู่ในสวรรค์ขับร้องสรรเสริญพระองค์ และอธิษฐานภาวนาแทนเรา ในวันฉลองบรรดานักบุญ พระศาสนจักรประกาศพระธรรมล้ำลึกปัสกาในผู้ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ซึ่งได้ร่วมรับทรมานและร่วมพระสิริรุ่งโรจน์กับพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรเสนอแบบฉบับของท่านเหล่านี้แก่บรรดาผู้มีความเชื่อ เพื่อดึงดูดทุกคนไปพบพระบิดาเจ้าโดยทางพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรยังวอนขอพระพรจากพระเจ้าอาศัยบุญกุศลของท่านเหล่านี้ด้วย” (SC 104)
ในการอบรมประชาชนเกี่ยวกับพิธีกรรม เราต้องเน้นว่า “รูปวาดและรูปปั้นของพระนางมารีย์หรือบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆนั้น ไม่ใช่ภาพถ่ายของบุคคลที่เราให้เกียรติหรือถวายคารวะ แต่เป็นเครื่องหมายทางพิธีกรรมที่นำประชาชนเข้าหาพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระเยซูคริสตเจ้า และเป็นแบบอย่างที่อาจช่วยเราให้ก้าวหน้าไปหาความศักดิ์สิทธิ์ในพระเยซูเจ้า ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ การอบรมบรรดาศิลปินผู้สร้างผลงานที่กำหนดไว้สำหรับใช้ในคารวกิจคาทอลิก เพื่อเสริมสร้างบรรดาผู้มีความเชื่อและหล่อเลี้ยงความศรัทธา และเพื่ออบรมเขาเหล่านี้ด้านศาสนา” (RM 127) สภาสังคายนาฯ มีข้อแนะนำนี้สำหรับบรรดาพระสังฆราชว่า “บรรดาพระสังฆราช ไม่ว่าด้วยตนเอง หรืออาศัยพระสงฆ์เหมาะสม ผู้เชี่ยวชาญและรักศิลปะ ควรเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อศิลปิน เพื่ออบรมเขาให้มีจิตตารมณ์ศิลปะศักดิ์สิทธิ์และพิธีกรรม ยิ่งกว่านั้น ยังควรเสนอแนะให้ตั้งโรงเรียนหรือวิทยาลัยสอนศิลปะศักดิ์สิทธิ์เพื่ออบรมศิลปินในท้องถิ่นตามที่เห็นควรด้วย” (SC 127)
บ่อยครั้งทีเดียวที่ผลงานศิลปะเหล่านี้มีค่ามาก แม้อาจไม่เหมาะในด้านพิธีกรรมก็ตาม ถึงกระนั้น “ประมุขท้องถิ่นต้องเฝ้าระวังอย่างกวดขันมิให้ใช้เครื่องศักดิ์สิทธิ์และวัตถุมีค่าอื่นๆ ซึ่งเป็นเครื่องประดับบ้านของพระเจ้า ถูกเปลี่ยนเจ้าของหรือสูญหายไป” (SC 126) สภาสังคายนาฯ ยังให้กำลังใจแก่ “คณะพระสังฆราชตามท้องถิ่นต่างๆซึ่งมีอำนาจปรับสิ่งต่างๆเหล่านี้ให้เข้ากับความต้องการและขนบประเพณีของท้องถิ่น หลักการนี้ใช้ได้โดยเฉพาะกับวัสดุและรูปแบบของอุปกรณ์เครื่องใช้ เครื่องประดับและอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์” (SC 127)
ในที่สุด สภาสังคายนาฯคิดถึงบรรดาพระสงฆ์ในอนาคตว่าดังนี้ “ขณะที่ผู้เตรียมตนเป็นพระสงฆ์กำลังศึกษาปรัชญาและเทววิทยา เขาควรได้รับการศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของศิลปะศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนหลักการที่ถูกต้องในการผลิตผลงานศิลปะศักดิ์สิทธิ์ เพื่อจะได้รู้จักคุณค่าและรักษาปูชนียวัตถุที่น่าเคารพของพระศาสนจักรไว้ และรู้จักให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่ศิลปินในการผลิตงานศิลปะของตน” (SC 129)
คำแนะนำทั่วไปของหนังสือมิสซาจารีตโรมันยังเน้นด้วยว่าในพิธีกรรมบนแผ่นดิน พระศาสนจักรมีความสัมพันธ์ตลอดเวลากับพระศาสนจักรในสวรรค์ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย และเราต้องเห็นความหมายของรูปภาพศักดิ์สิทธิ์ในโบสถ์ต่างๆในบริบทนี้
“เพราะฉะนั้น ตามธรรมเนียมประเพณีแต่โบราณของพระศาสนจักร จึงตั้งรูปของพระคริสตเจ้า ของพระมารดาพรหมจารีมารีย์ และของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์(นักบุญ) ในโบสถ์ให้สัตบุรุษแสดงความเคารพได้ และภายในโบสถ์รูปเหล่านี้ควรจัดไว้เพื่อช่วยนำสัตบุรุษให้เข้าถึงธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อที่เฉลิมฉลองที่นั่น ดังนั้น จึงต้องระวังอย่าให้มีรูปจำนวนมากเกินไป ควรจัดให้รูปเหล่านี้ไว้ตามระเบียบที่ควรจะมี เพื่อมิให้ดึงความสนใจของสัตบุรุษออกไปจากพิธีกรรมที่กำลังประกอบอยู่ตามธรรมเนียมแล้ว ผู้ศักดิ์สิทธิ์ท่านหนึ่งไม่ควรมีรูปมากกว่าหนึ่งรูป โดยปกติเมื่อตกแต่งโบสถ์และจัดสิ่งต่างๆภายใน ถ้าเกี่ยวกับรูปก็ต้องคำนึงถึงความศรัทธาของสัตบุรุษทุกคนในชุมชนและคำนึงถึงความงามและศักดิ์ศรีของรูปด้วย” (RM 318)
เกี่ยวกับกิจศรัทธาแบบชาวบ้านของบรรดาคริสตชน สภาสังคายนาฯกล่าวไว้ดังนี้
“ถึงกระนั้น ควรจัดกิจศรัทธาเหล่านี้โดยคำนึงถึงเทศกาลทางพิธีกรรม ให้สอดคล้องกับพิธีกรรม ได้รับอิทธิพลจากพิธีกรรม และนำประชากรเข้าหาพิธีกรรม เพราะพิธีกรรมในตัวเองก็มีความสำคัญเหนือกิจศรัทธาใดๆอยู่แล้ว” (SC 13)
เกี่ยวกับหลักปฏิบัติในเรื่องรูปภาพภายในโบสถ์ สภาสังคายนาฯมีข้อเสนอแนะสองข้อต่อไปนี้ “ธรรมเนียมการนำรูปศักดิ์สิทธิ์มาประดิษฐานให้สัตบุรุษเคารพในวัดควรรักษาไว้ต่อไป แต่ต้องมีจำนวนพอสมควรและตั้งตามตำแหน่งให้ถูกต้อง เพื่อจะไม่ดึงความสนใจของประชากรคริสตชนมากเกินไป และหลีกเลี่ยงที่จะส่งเสริมความศรัทธาไม่ถูกต้อง” (SC 125)
จำเป็นต้องให้คำสั่งสอนอย่างมากแก่ชาวคาทอลิกของเราเพื่อจะได้เข้าใจและเสริมสร้างชีวิตจิตของเขาบนพิธีกรรม สภาสังคายนากล่าวไว้เช่นนี้ “ก่อนอื่นหมด ควรแนะนำจิตใจของผู้มีความเชื่อให้คิดถึงวันฉลองขององค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นวันที่เฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกแห่งความรอดพ้นในช่วงเวลาแต่ละปี ดังนั้น วันฉลองตามเทศกาล (proper of the time) จึงต้องนับว่าสำคัญกว่าวันฉลองของบรรดานักบุญเพื่อเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกแห่งความรอดพ้นได้ครบถ้วนอย่างเหมาะสม” (SC 108)
ชีวิตจิตของเราต้องสร้างขึ้นและมีศูนย์กลางอยู่บนพระเยซูคริสตเจ้า เราต้องให้คำสั่งสอนเช่นเดียวกันแก่ผู้เรียนคำสอนเตรียมตนเป็นคริสตชน ซึ่งเป็นชาวคาทอลิกรุ่นใหม่ต่อไป ที่จะต้องดำเนินชีวิตตามเจตนารมณ์ของวาติกันที่ 2 ดังที่เราเห็นได้ บทที่ 7 ของธรรมนูญ SC เรื่องศิลปะศักดิ์สิทธิ์และอุปกรณ์เครื่องใช้ศักดิ์สิทธิ์ในโบสถ์ มีเนื้อหาเต็มไปด้วยจิตตารมณ์การเปิดกว้างและความสนใจด้านพิธีกรรมเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมพิธีกรรมอย่างแข็งขัน และจิตตารมณ์นี้พบได้ในทุกส่วนของธรรมนูญ SC ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ข้อ 123 เป็นตัวอย่างดีที่สุดที่แสดงออกถึงจิตตารมณ์นี้ของสภาสังคายนาฯ
“พระศาสนจักรไม่เคยมีรูปแบบศิลปะใดเป็นของตนโดยเฉพาะ แต่ยอมรับรูปแบบศิลปะของแต่ละยุคสมัยมาใช้ตามลักษณะเฉพาะและสภาพแวดล้อมของชนชาติต่างๆ และตามความต้องการของจารีตพิธี ดังนี้ จึงได้สร้างขุมทรัพย์ด้านศิลปะขึ้นมากมายในระยะเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องเอาใจใส่รักษาไว้อย่างดีที่สุด แม้ศิลปะในยุคสมัยของเราและชนทุกชาติทุกถิ่น ควรมีอิสระที่จะแสดงผลงานในพระศาสนจักรได้เช่นเดียวกัน ขอแต่ให้ศิลปะนั้นช่วยส่งเสริมทั้งความน่าเคารพและศักดิ์ศรีที่สอดคล้องกับอาคารสถานที่และจารีตพิธีศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ดังนี้ ศิลปะร่วมสมัยก็จะร่วมเสียงกับศิลปินยิ่งใหญ่ในอดีต ที่ได้เปล่งเสียงเป็นเกียรติแก่ความเชื่อคาทอลิกในหลายศตวรรษที่ผ่านมา” (SC 123)
ศิลปะมีบทบาทสำคัญมากในการนำศาสนาหนึ่งเข้าสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง ตัวอย่างของคริสตชนในยุโรปเป็นตันตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ศิลปะศักดิ์สิทธิ์ของยุโรปได้พัฒนาขึ้นอย่างเข้มแข็งจนกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของประวัติศาสตร์ศิลปะแบบยุโรป บรรดามิชชันนารี โดยเฉพาะในยุคแสวงหาอาณานิคม ได้เผยแผ่คริสต์ศาสนาเข้าไปในทวีปแอฟริกา เอเชีย และส่วนอื่นๆของโลก และในเวลาเดียวกันก็นำศิลปะศักดิ์สิทธิ์แบบยุโรปไปด้วย ลองขอให้เด็กชาวจีนสักคนหนึ่งในชั้นประถม (แม้เด็กที่ไม่เป็นคริสตชน) วาดภาพของพระนางมารีย์พรหมจารีย์ คุณจะต้องเห็นรูปของหญิงชาวยุโรปที่สวยงามอย่างแน่นอน ลองสำรวจดูเหรียญรูปพระ รูปปั้น และภาพศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนซื้อหากันในร้านค้าคาทอลิก และคุณก็จะสังเกตเห็นปรากฏการณ์เช่นเดียวกัน ในช่วงเวลาไม่นานก่อนหรือหลังการประชุมสภาสังคายนาฯ ได้มีความกระตือรือร้นมากยิ่งขึ้นเพื่อนำความเชื่อเข้าสู่วัฒนะธรรม แต่ในปีหลังๆนี้มีการพูดถึงเรื่องนี้น้อยมาก ในความคิดของบางคนได้เกิดมีความรู้สึกระแวงว่าสิ่งที่จำเพาะเจาะจงและจำกัดเฉพาะถิ่นเป็นอะไรที่เป็นอันตรายต่อความเป็นสากล ข้าพเจ้าคิดว่าเรื่อองนี้ส่วนหนึ่งมาจากปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ที่ลดคุณค่าของวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นต่างๆ และอุดหนุนส่งเสริมความฝันถึงภาษาที่ใช้ได้ทั่วโลกฯลฯ แต่เหตุผลสำคัญก็คือ การขาดการสนับสนุนจากพระศาสนจักรโดยทั่วไป และจากผู้มีอำนาจปกครองพระศาสนจักรโดยเฉพาะ ต่อศิลปินท้องถิ่น การกล่าวย้ำถึงการนำเข้าสู่วัฒนธรรมยังเห็นได้อยู่ในเอกสารหลายฉบับของพระศาสนจักรและถูกกล่าวถึงก็จริง แต่การนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังยังมีไม่พอ ในที่สุด มาตรการสุดท้ายของการนำเข้าสู่วัฒนธรรมใดๆนั้น จะต้องเป็นการที่ชุมชนคาทอลิกท้องถิ่นยอมรับงานนี้เป็นของตน พวกเราโชคดีมากที่นี่ในฮ่องกงหรือในประเทศจีนโดยทั่วไป ที่เรามีอิสระมากที่จะใช้ศิลปะแบบจีนเพื่อแสดงความเชื่อของเราคริสตชน แต่ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย สถานการณ์มิได้เป็นเช่นนี้ ในบางประเทศ บรรดามิชชันนารีได้ห้ามเป็นทางการมิให้ทำรูปวาดหรือรูปปั้นที่มีลักษณะเหมือนกับเทพเจ้าของศาสนาในท้องถิ่นนั้น ในบางกรณี ศาลได้ตัดสินให้นำรูปปั้นหรือรูปวาดออกจากโบสถ์คาทอลิก เพราะเป็นการไม่เคารพต่อศาสนาประจำท้องถิ่นนั้น