แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ความหมายของลำดับพิธีและขั้นตอนต่าง ๆ  ในพิธีมิสซา   (บูชาขอบพระคุณ)

ก่อนพิธี
    พิธีกรรมคริสตชนเป็นพิธีกรรม “ศักดิ์สิทธิ์”   มีจุดมุ่งหมายประการหนึ่งเพื่อบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ ให้แก่ผู้ร่วมพิธีกรรม   ด้วยเหตุนี้  จำเป็นต้องมีการเตรียมอย่างดี ทั้งภายนอกและภายใน
    การเตรียมด้านภายนอก  คือการเตรียมสถานที่   ตลอดจนสิ่งต่าง ๆ  ที่ต้องใช้เพื่อการฉลองพิธีกรรม รวมไปถึงการเตรียมเป็นพิเศษของผู้ทำหน้าที่ศาสนบริกรด้านต่าง ๆ  ทั้งพระสงฆ์ในฐานะ ผู้เป็นประธานประกอบพิธีกรรม  สังฆานุกร  ผู้ช่วยพิธีกรรม  ผู้อ่านพระคัมภีร์   พิธีกร   นักขับร้อง   นักดนตรี   และคนจัดวัด   และที่ไม่อาจลืม คือประชาสัตบุรุษทั่วไป  ก็ต้องมีการเตรียมด้านภายนอกในส่วนของตนด้วยเช่นเดียวกัน

    การเตรียมด้านภายใน   หมายถึงการเตรียมด้านจิตใจ   ทั้งพระสงฆ์  ศาสนบริกรทุกบทบาท  และฆราวาสทั่วไป  ล้วนถูกเรียกร้องให้มีการเตรียมจิตใจ    เพื่อให้ตนเองอยู่ในสถานภาพที่เหมาะสมที่จะเข้ามาร่วมงานเลี้ยงของพระเยซูเจ้า  รับการหล่อเลี้ยงด้วยพระวาจาและศีลมหาสนิท
    การเตรียมจิตใจร่วมกันเป็นหมู่คณะ  ด้วยการภาวนา  เป็นสิ่งน่าชมเชย   สะท้อนภาพคริสตชนในอดีตที่รวมกลุ่มกันภาวนา ขับร้องเพลงสดุดี  รอคอยที่จะฉลองพิธีมิสซา  เมื่อพระสังฆราชของตน  หรือพระสงฆ์ เดินทางมาถึง (ในอดีต ไม่สามารถกำหนดเวลามิสซาได้ ขึ้นอยู่กับการเดินทางของพระสังฆราช หรือพระสงฆ์)
    หลังสังคายนาวาติกันที่ 2  พระศาสนจักรเน้นการมีส่วนร่วมของประชาสัตบุรุษ    ความพร้อมของที่ชุมนุมจึงได้รับความสำคัญ   ดังปรากฏในคำอธิบายพิธีตอนเริ่มต้นว่า  “เมื่อสัตบุรุษประชุมพร้อมกันแล้ว พระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีกับผู้ช่วย  เดินไปยังพระแท่น   ระหว่างนั้น ขับร้อง   “เพลงเริ่มพิธี”  
    การชุมนุมกันของประชาสัตบุรุษ เพื่อร่วมพิธีกรรม  มีความหมายและมีความสำคัญ   ดังถ้อยคำของพระเยซูที่ว่า   “ที่ใดมีสองหรือสามคนชุมนุมกันในนามของเรา   เราอยู่ที่นั่นในหมู่พวกเขา” (มธ 18:20) ในอดีต  พระศาสนจักรตะวันออก  เรียกพิธีมิสซา   หรือ  พิธีบูชาขอบพระคุณว่า   “Synaxis”  แปลว่า   “การร่วมชุมนุมกัน”
ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
    1. ปัจจุบัน  แม้จะกำหนดเวลาของพิธีมิสซาไว้อย่างชัดเจน   การใช้เวลาร่วมกันเพื่อภาวนาเตรียมจิตใจ               ยังเป็นสิ่งที่ไม่ผิดหรือขัดกับการใช้เวลาเพื่อการเตรียมพิธีกรรม   อย่างไรก็ตาม  ไม่ควรมุ่งสวดตามสูตรหรือรูปแบบให้จบจนครบเวลา  โดยไม่มีเวลาเงียบ   ควรหยุดสวด ก่อนที่พิธีจะเริ่ม   ทั้งเพื่อให้แต่ละคนได้เตรียมจิตใจเป็นการส่วนตัว  และเพื่อการเริ่มต้นพิธีมิสซาจะได้มีความสง่างาม  และเด่นชัด 
    2. บางแห่งใช้ช่วงเวลาของพิธีเริ่ม  สำหรับการเตรียมบทเพลงร่วมกัน   ขอแนะนำให้เป็นการร่วมร้องเพลงเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับบทเพลง  ไม่ฝึกทักษะการร้องบทเพลงในช่วงเวลานี้  
    3. การรับศีลอภัยบาป  :   เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในพิธีมิสซาอย่างครบถ้วน   ควรรับศีลอภัยบาปก่อนพิธีมิสซา  อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลเพื่อการอภิบาล  (มีผู้รับศีลอภัยบาปมาก) พระสงฆ์ผู้ไม่ได้ร่วมประกอบพิธีมิสซา อาจจะยังคงโปรดศีลอภัยบาประหว่างพิธีมิสซาได้  ในสถานที่ที่เหมาะสมและควรหยุดชั่วขณะ  เมื่อถึงตอนอ่านพระวรสารและเมื่อถึงช่วงเสกศีล
    4. การเตรียมเรื่องอื่น ๆ  เช่น   เตรียมอ่านบทอ่าน   ผู้ถือของถวาย เตรียมบทเพลง  ฯลฯ   ควรกระทำเสร็จสิ้นตั้งแต่ในช่วงนี้  

1.   เพลงเริ่มพิธี   (เริ่มขบวนแห่)
    บางครั้ง เมื่อมีขบวนแห่   จะ เรียกว่า  “เพลงแห่เข้า”  จุดมุ่งหมายของการขับร้องเพลงเริ่มพิธี  มีอยู่   4  ประการ ด้วยกัน   คือ
     1. เป็นสัญญาณบอกถึงการเริ่มพิธี                2. รวมใจที่ชุมนุมให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
          3. เกริ่นนำหรือเน้นย้ำถึงการฉลองธรรมล้ำลึกของวันนั้น ๆ         4. ประกอบขบวนแห่
    เนื้อเพลง และท่วงทำนองของเพลงเริ่มพิธี  จึงควรสอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย 4 ประการ นี้  
    ขบวนแห่ และการขับร้องเพลงแห่เข้า  (หรือเพลงเริ่มพิธี)  ทำให้พิธีกรรมมีความสง่างามมากขึ้น รวมทั้งมีสัญลักษณ์อื่นๆ ในขบวนแห่ที่ล้วนมีความหมายไม่ว่าจะเป็นการนำขบวนด้วยกำยาน  ที่มีควันพวยพุ่ง ส่งกลิ่นหอม   ผู้ถือกางเขน และเทียน  การแห่พระวรสาร  และขบวนแห่ของศาสนบริกรที่เรียงลำดับตามลำดับขั้น  ฯลฯ
    ขณะขับร้อง ที่ชุมนุมจะยืนขึ้น  แสดงออกถึงการต้อนรับ   และเพื่อให้การแสดงออกดังกล่าวนี้  แสดงถึงความพร้อมเพียง และความเป็นหนึ่งเดียวกัน  เพลงเริ่มพิธีจึงควรเป็นเพลงที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการขับร้อง 
    มีธรรมเนียมตั้งแต่ในศตวรรษที่ 4   เมื่อเริ่มขบวนแห่ จะขับร้องบทเพลงต้อนรับพระสันตะปาปา หรือพระสังฆราช   จึงมีการประพันธ์บทเพลงสำหรับใช้เพื่อการนี้   เช่น  เพลง  Ecce  sacerdos  Magnus  และ เพลง  Evviva  il papa   แม้ปัจจุบันธรรมเนียมนี้ก็ยังคงมีอยู่  อย่างไรก็ตาม  ก่อนที่ขบวนแห่ของพระสังฆราช จะมาถึงพระแท่น  ควรเริ่มขับร้องเพลงเริ่มพิธี  เพื่อเข้าสู่การฉลองพิธีมิสซา

ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
1. ระยะทางของขบวนแห่  บ่งบอกถึงความสง่า และระดับของการฉลอง   เมื่อมีฉลองใหญ่  ควรมีระยะทางของการแห่พอสมควร  และจัดเตรียมเพลงไว้ให้เหมาะสม     จะเป็นการดี  หากวันอาทิตย์   เลือกที่จะแห่เข้าสู่พระแท่น ทางประตูด้านหน้าของวัด   ซึ่งแตกต่างจากวันธรรมดา   ที่แห่จากห้องแต่งตัวพระสงฆ์ 
2. ในวันธรรมดา  บางโอกาสไม่ขับร้องเพลงเริ่มพิธี    สามารถอ่านบท “เพลงเริ่มพิธี” ที่มีอยู่ในหนังสือบทอ่านแทนได้

2. การคำนับพระแท่น  - การถวายกำยาน   
    พระแท่น  เป็นทั้งศูนย์กลางของวัด  และศูนย์กลางของพิธีกรรม เพราะพระแท่น เป็นสัญลักษณ์หมายถึง องค์พระคริสตเจ้า ผู้ประทับอยู่กับที่ชุมนุม   เมื่อขบวนแห่ของผู้ช่วยพิธี  และพระสงฆ์ มาถึงที่หน้าพระแท่นจะแสดงความเคารพพระแท่นเสมอ   
    การแสดงความเคารพอย่างใกล้ชิด ด้วยการกราบพระแท่นของประธานนั้น   ประธานทำในนามของประชาสัตบุรุษทั้งหมด    ด้วยเหตุนี้  ในช่วงเวลาดังกล่าว   เมื่อประธานก้มลงกราบพระแท่น  ประชาสัตบุรุษควรก้มศีรษะของตน แสดงความเคารพพระแท่นไปพร้อม ๆ  กันด้วย
    (การแสดงความเคารพพระแท่น   ด้วยการวางมือทั้งสองบนพระแท่น แล้วก้มลงจูบ   ถือเป็นการแสดงความเคารพที่มีความหมายยิ่ง สำหรับโลกตะวันตก   สำหรับประเทศไทย  เพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย ได้เปลี่ยนจากการจูบ  มาเป็นการกราบ)
    ในวันฉลองสำคัญ   (รวมทั้งทุกวันอาทิตย์ ถ้าเห็นสมควร)   ประธานจะถวายกำยานรอบพระแท่น มีความหมายว่าเป็นการแสดงความเคารพ   
    นอกจากถวายกำยานรอบพระแท่นแล้ว   เมื่อผ่านกางเขนที่มีองค์พระเยซูเจ้าถูกตรึง   ประธานจะถวายกำยานแสดงความเคารพกางเขนด้วยเช่นกัน    กางเขนที่มีองค์พระเยซูเจ้าถูกตรึง  ไม่ว่าจะอยู่หลังแท่น หรือเคียงข้างพระแท่น   เป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายยิ่ง   ทำให้เราระลึกถึงบูชาบนไม้กางเขนของพระเยซูให้ความหมายสำคัญของพิธีมิสซาว่า   ไม่ใช่แค่ “งานเลี้ยง”   แต่เป็นการถวายชีวิตของพระเยซู   เพื่อไถ่บาปเรา

ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
1.  เพื่อให้พระแท่น เป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่ชัดเจน หมายถึงองค์พระเยซูเจ้าผู้ประทับท่ามกลางเรา จึงไม่ควรมีหลายสิ่งหลายอย่างมากเกินไป ทั้งบนพระแท่น และที่หน้าพระแท่น
2.  เมื่อมีการถวายกำยาน  ควรขับร้องเพลงเริ่มพิธีอย่างต่อเนื่อง   ไม่ถวายกำยานในความเงียบ หรืออย่างน้อยยังมีเสียงดนตรีบรรเลงอยู่

3. การทำสำคัญมหากางเขน
    เมื่อขับร้องเพลงเริ่มพิธีจบแล้ว   ประธาน  นำประชาสัตบุรุษทำสำคัญมหากางเขน  “เดชะพระนาม พระบิดา  และพระบุตร   และพระจิต”   แล้วทุกคน  ตอบรับพร้อมกันว่า   “อาแมน”
    การทำสำคัญมหากางเขนนี้   ไม่ใช่เป็นแค่อิริยาบถสำหรับเริ่มพิธี  หรือเริ่มการภาวนา   แต่มีความหมายว่า  เป็นการแสดงความเชื่อ  2  ประการด้วยกัน   คือ  1. ความรอดของเรา  มาจากธรรมล้ำลึกเรื่องไม้กางเขน  และ                    2. เรายังเอ่ยพระนาม “พระตรีเอกภาพ”   ระหว่างการทำสำคัญมหากางเขน”   เหมือนกับที่เราได้รับศีลล้างบาปในพระนามของพระตรีเอกภาพ   การทำสำคัญมหากางเขน  จึงเป็นการยืนยันการเป็นคริสตชน  เป็นประชากรของพระเจ้า  และเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร  ที่มาร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อเฉลิมฉลองธรรมล้ำลึกปัสกา
    การทำสำคัญมหากางเขน  เริ่มที่หน้าผาก  ตำแหน่งของความคิด    ตามด้วยหน้าอก  ตำแหน่งของหัวใจ               ที่แห่งความรู้สึกและความรัก   สุดท้าย  ที่ไหล่ทั้งสอง  ที่ยึดมือทั้งสองข้างๆไว้  เป็นที่แห่งการลงมือกระทำ 

ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
1. การทำสำคัญมหากางเขน   ควรทำอย่างตั้งใจ  และรำพึงถึงความหมายควบคู่ไปด้วย
2. การตอบรับ “อาแมน”   ของประชาสัตบุรุษมีความสำคัญเช่นกัน  ควรตอบรับอย่างพร้อมเพียง  และเข้าใจความหมาย

4. คำทักทาย   “พระเจ้าสถิตกับท่าน”
    พระสงฆ์ทักทายประชาสัตบุรุษ  ด้วยถ้อยคำที่มีความหมายยิ่ง  ไม่ใช่คำทักทายทั่วไป   แต่เป็นการทักทายพร้อมกับยืนยันถึงการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าท่ามกลางที่ชุมนุม          และประชาสัตบุรุษก็ตอบรับคำทักทายนี้ด้วยการยืนยันถึงการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าเช่นกัน
    มีคำทักทายจากพระสงฆ์  อยู่หลายแบบ  แต่ล้วนมีความหมายเดียวกัน   อิริยาบถประกอบการกล่าวถ้อยคำทักทายนี้    พระสงฆ์  จะแผ่มือทั้งสองข้าง หาสัตบุรุษ (เหมือนการสวมกอดบุคคลในครอบครัว  ผู้ใกล้ชิด)  เป็นท่าทางที่ให้ความอบอุ่น  แสดงถึงการต้อนรับ  และการเป็นหนึ่งเดียวกัน  

ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
1. คำทักทายนี้ มีความหมายเพียงพอแล้ว  จึงไม่จำเป็นต้องมีคำทักทายอื่น ๆ ที่เราใช้กันทั่ว ๆ ไป มากล่าวซ้ำอีก 
(เช่น  สวัสดี   เป็นต้น)

5. คำเกริ่นนำ
    หลังจากกล่าวคำทักทายแล้ว   พระสงฆ์ผู้เป็นประธาน   (หรือสังฆานุกร  หรือศาสนบริกรท่านอื่น ที่ได้รับมอบหมาย)   จะกล่าวเกริ่นนำสั้น ๆ   สู่การฉลองในวันนั้น ๆ     หรือแจ้งเจตจำนงพิเศษเพื่อการร่วมจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกันของประชาสัตบุรุษ

6. การสารภาพผิด
    ในพันธสัญญเดิม  ได้กล่าวไว้ว่า ใครก็ตามที่อยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า เขาจะรู้สึกถึงความไม่เหมาะสมของตนเอง   เขาจะก้มศีรษะจดพื้นดิน   ในพันธสัญญาใหม่   ก็เช่นกัน   มีข้อความหลายตอนที่มุ่งย้ำให้เราสำนึกถึงความผิดบกพร่องของเรา  “ถ้าเราพูดว่าเราไม่มีบาปเรากำลังหลอกตนเอง   และความจริงไม่อยู่ในเรา พระองค์ทรงซื่อสัตย์แลงเที่ยงธรรม   ถ้าเราสารภาพบาป  พระองค์จะทรงอภัยบาปของเรา  และจะทรงชำระเราให้สะอาดจากความอธรรมทั้งปวง”     (1ยน 1:8-9)
    การเตรียมจิตใจให้เหมาะสมเพื่อร่วมพิธีกรรมอย่างดี  จึงเป็นสิ่งสมควรยิ่ง  พิธีมิสซาในอดีต จะเริ่มต้นด้วยการอ่านพระคัมภีร์   การเตรียมจิตใจเป็นเรื่องส่วนตัว  วัด หรือมหาวิหารเก่า  เมื่อเข้าประตูวัดจะมีห้องเล็ก ๆ  ที่เรียกว่า   Atrium   (ห้องแห่งหัวใจ)   ไว้ให้ผู้มาร่วมพิธี  ได้เตรียมจิตใจให้สงบ   เพราะแต่ละคน  ต่างมาในสภาพที่แตกต่างกัน   จำเป็นต้องขจัดอารมณ์ที่วุ่นวาย  พ้นจากเสียงอึกทึกจากชีวิตประจำวัน   และยกจิตใจขึ้นหาพระเจ้า
ปัจจุบันไม่มี atrium หรือ ห้องแห่งหัวใจนี้แล้ว  แล้วช่วงเวลาของการเตรียมจิตใจให้เหมาะสมกับการฉลองธรรมล้ำลึกถูกกำหนดไว้ในช่วงเริ่มพิธีนี้  
ประธานจะกล่าวเชิญชวนเราให้สำนึกถึงความผิดบกพร่องของเรา  แล้วทุกคนสวดบทสารภาพผิดพร้อมกัน    เป็นการสารภาพผิดกับพระเจ้า   และกับกันและกัน   และไม่ใช่แค่การทำผิดด้วยกาย – วาจา  และใจ  แต่ยังรวมถึงการละเลยการทำความดีด้วย
ในตอนท้ายของบทสวด นอกเหนือจากวอนขอแม่พระและบรรดานักบุญแล้ว   เรายังขอให้เพื่อนพี่น้อง  คนข้างซ้าย-ข้างขวา  ได้ภาวนาเพื่อตัวเราด้วย
ท่าทีของการสวดบทสารภาพผิดนี้  จึงเรียกร้องการแสดงออกมาจากใจ การตีอกตัวเอง เป็นเครื่องหมายภายนอกที่ยอมรับว่าเรามีข้อบกพร่อง  และยังต้องการพระหรรษทานจากพระยังต้องกลับใจ  และเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นเสมอ
เมื่อสวดบทสารภาพผิดแล้ว   ประธานแต่ผู้เดียว  จะสวดบทขออภัยบาป   บทภาวนานี้  ไม่ใช่บทอภัยบาปบทเดียวกับที่พระสงฆ์สวดเมื่อเรารับศีลอภัยบาป เนื้อหาของบทสวด คือ “ขอพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพทรง                    พระกรุณาอภัยบาป  และนำเราไปสู่ชีวิตนิรันดร”  ประธานสวดขอพระเจ้าอภัยบาปทุกคนรวมทั้งตัวท่านเองด้วย
แทนการสารภาพผิด   บางโอกาส  ประธานจะเสกน้ำเสก  และพรมตนเอง  ก่อนที่จะพรมให้สัตบุรุษ   ความหมายของการพรมน้ำเสกก็คือ   เพื่อระลึกถึงศีลล้างบาป   ขณะที่พระสงฆ์พรมน้ำเสกให้เรา เราจะก้มศีรษะรับการพรมน้ำเสก  พร้อมกับทำสำคัญมหากางเขน

ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
1.  เพื่อให้การสารภาพผิด เกิดคุณค่าอย่างแท้จริง  และทำให้เราเหมาะสมที่จะร่วมฉลองพิธีกรรม ดังคำที่พระสงฆ์กล่าวนำ  เราควรสวดบทนี้อย่างตั้งใจ  และทบทวนตนเองอย่างดีควบคู่ไปด้วย
2.  เมื่อมีพิธีกรรมอื่น เพิ่มเติมในตอนพิธีมิสซา  จะงดการสารภาพผิด   

7. บทร่ำวิงวอน  (กีรีเอ)
    เป็นบทร่ำวิงวอนขอพระกรุณาจากพระเจ้า   มาจากการร่ำวอนของชาวกรีก  ต่อเทพเจ้าหลาย ๆ องค์                     แต่สำหรับคริสตชน จะมุ่งวอนขอพระกรุณาจากองค์พระเยซู ผู้ทรงกลับคืนชีพ 
    คำว่า “กีรีเอ”  คือการเอ่ยเรียกองค์พระผู้เป็นเจ้า   “เอเลอีซอน”  คือการร้องขอพระกรุณา เป็นการร้องขอพระกรุณาเช่นเดียวกับที่ชายตาบอด   คนพิการ  คนโรคเรื้อน  และบรรดาคนบาปทั้งหลายร้องขอพระกรุณาจาก              พระเยซู  จากเรื่องราวในพระวรสาร

ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
1. บทร่ำวอน  สามารถขับร้อง  หรือกล่าวสลับกับประธานก็ได้  บางครั้งจะรวมอยู่ในการสารภาพผิด ที่ประธาน    จะก่อสลับกับข้อความสั้น ๆ  เป็น ข้อ ๆ
2. เนื้อหาที่ถูกต้องของบทร่ำวิงวอน  จะมีโครงสร้าง กระชับ และชัดเจน    ไม่พรรณาเพิ่มเติมอะไร

8. บทพระสิริรุ่งโรจน์   (กลอรีอา)
    เป็นบทเพลง (Hymn)  เก่าแก่   ที่ใช้ขับร้องเมื่อมีการฉลอง หรือสมโภช     รวมทั้งทุกวันอาทิตย์   ยกเว้น ในเทศกาลมหาพรต   และเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ
    เนื้อหาของบทเพลงนี้  แบ่งเป็น 3 ตอน   คือ  1. บทเพลงสรรเสริญของชาวสวรรค์    2.  การเทิดพระสิริมงคลของพระเจ้า    และ  3. การสรรเสริญองค์พระเยซูคริสต์    ซึ่งบรรยายเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับธรรมล้ำลึก        ด้วยเหตุนี้  การประพันธ์บทเพลง “พระสิริรุ่งโรจน์”  ควรรักษาเนื้อหาที่มีอยู่ในบทพิธี
    จะดูมีความหมายกว่า  ถ้าเราขับร้องบทเพลงนี้   อย่างไรก็ตาม  ยังสามารถใช้การกล่าวแทนการขับร้องได้   ทั้งโดยการกล่าวพร้อมกันทั้งหมด   หรือกล่าวสลับกับประธาน

9. บทภาวนาของประธาน    (บทภาวนาเปิด)
    เมื่อจบบทพระสิริรุ่งโรจน์   (หรือบทร่ำวิงวอน)   ประธานจะกล่าว   “ให้เราภาวนา”   และเงียบสักครู่ก่อนที่จะภาวนาต่อไป   แม้ประธานจะภาวนาเพียงคนเดียว แต่ก็ภาวนาแทนประชาสัตบุรุษทุกคน   คำว่า “ให้เราภาวนา”  เป็นทั้งคำเชิญชวนให้ประชาสัตบุรุษร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวในคำภาวนาของประธานแล้ว   ยังเชิญชวนให้ประชาสัตบุรุษนำคำภาวนาของตนรวมเข้ากับคำภาวนาของประธานพร้อม ๆ กันไปด้วย
    เนื้อหาของบทภาวนา  ในวันอาทิตย์  และวันฉลองต่าง ๆ   จะบ่งบอกถึงเนื้อหาหรือสาระสำคัญของ              การฉลองในวันนั้น ๆ
    ดังที่กล่าวแล้วว่า   ประธานสวดบทภาวนานี้  ในนามของทุกคน   ประชาสัตบุรุษจึงถูกเรียกร้องให้ตั้งจิตอธิษฐานพร้อมกับประธานด้วย   ไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับฟังคำภาวนาเท่านั้น
    เมื่อประธานสวดจบแล้ว   ทุกคนตอบรับอย่างพร้อมเพียงว่า  “อาแมน”    ซึ่งเป็นทั้งการแสดงถึงการมีส่วนร่วม และเห็นชอบกับคำภาวนาดังกล่าวแล้ว   ยังเป็นการทำให้คำภาวนานั้น เป็นคำภาวนาของตนเองด้วยเข่นกัน
    น. เยโรม  ได้เล่าไว้ว่า  ในมหาวิหารที่กรุงโรม  เสียงประชาสัตบุรุษตอบรับว่า  “อาแมน”   ดังก้องกังวานราวเสียงฟ้าร้อง เป็นเสมือนการร่วม  “ลงนาม” เห็นด้วยกับคำภาวนานั้น
    อิริยาบถหรือท่าทางประกอบการภาวนาของประธาน  ก็มีความหมาย  โดยเฉพาะท่าทางการภาวนาแบบโบราณ  ที่ประธานจะยกมือทั้งสองขึ้น  ตั้งตรง   เป็นเหมือนการยอมแพ้  ยอมแพ้ต่อพระเจ้า  หวังพึ่งพระเมตตาและความช่วยเหลือจากพระองค์   (สำหรับประเทศไทย  ใช้การพนมมือเป็นอิริยาบถหรือท่าทางประกอบการภาวนา)

ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
1. ระหว่างที่ประธานสวดบทภาวนานี้   ทุกคนควรตั้งใจฟัง  และตั้งจิตอธิษฐานพร้อม ๆ ไปด้วย
2. โดยความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว   สำหรับพิธีกรรมแบบไทย  ช่วงเวลาที่สวดบทภาวนานี้   ประชาสัตบุรุษน่าจะ พนมมือกันทุกคน  

ภาคที่ 1  :   ภาควจนพิธีกรรม
10.  บทอ่าน
    พิธีกรรมมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับพระคัมภีร์  อันหมายถึง พระวาจาของพระเจ้า   เพราะโดยการฉลองพิธีกรรม พระวาจาของพระเจ้าจะได้รับการประกาศ    รวมทั้งในบทพิธีต่าง ๆ  ที่พระสงฆ์  หรือแม้แต่ในบทตอบรับของสัตบุรุษ  และเนื้อร้องในบทเพลง  ก็ล้วนมีที่มา หรือมีข้อความอ้างอิงจากพระคัมภีร์เสมอ
    อย่างไรก็ตาม  ช่วงเวลาที่พระวาจาของพระเจ้าได้รับการประกาศอย่างเด่นชัด  ก็คือ ช่วงการอ่านบทอ่าน  และพระวรสาร
    ทั้งการอ่านและการรับฟังบทอ่านในระหว่างการฉลองพิธีกรรม  เรียกร้องท่าทีที่เหมาะสม  ผู้อ่านจะต้องเป็นผู้ที่ได้เตรียมตัวมาอย่างดี   ทั้งเตรียมด้านจิตใจ  และเตรียมการอ่านให้ถูกต้อง ชัดเจน  น่าฟัง  โดยตระหนักดีว่า  สิ่งที่ตนทำ ไม่ใช่แค่การอ่าน  แต่เป็นการประกาศ
    สำหรับผู้ฟัง  คือประชาสัตบุรุษทุกคน ก็เช่นกัน   ต้องรับฟังอย่างตั้งใจ  ให้ความเคารพ   อิริยาบถของผู้ฟังคือนั่งฟังอย่างตั้งใจ  เสมือนศิษย์ตั้งใจฟังอาจารย์สอน
    เนื้อหาของบทอ่าน  จะมาจากทั้งพันธสัญญาเดิม   และพันธสัญญาใหม่   (ยกเว้นพระวรสาร) ที่มีความสัมพันธ์และต่อเนื่องกัน  โดยมีพระเยซูเจ้าเป็นผู้ทำให้สมบูรณ์   พระวาจาของพระเจ้าจึงได้รับการประกาศจากที่เดียวกัน  คือ จากบรรณฐาน
    พิธีกรรมยุคแรก ๆ  ตามคำเล่าของ น. ยุสติน   คริสตชนยุคแรก ๆ  ให้ความสำคัญอย่างมากกับการรับฟังพระวาจาของพระเจ้า  พวกเขาให้เวลาเต็มที่ กับการอ่านและฟังพระวาจา
    ในปัจจุบัน  สำหรับวันธรรมดา  จะมีบทอ่าน 1 บท  ต่อด้วยบทเพลงสดุดี    สำหรับวันอาทิตย์  วันสมโภช    และวันฉลองสำคัญ  จะมีบทอ่าน 2 บท  ผู้ทำหน้าที่อ่าน  คือ  ผู้อ่านที่ได้รับการแต่งตั้ง   หรือแม้ไม่ได้รับการแต่งตั้งก็สามารถอ่านได้  เมื่อได้รับการเตรียมตัวมาอย่างดี   (สำหรับหน้าที่ และคำแนะนำสำหรับผู้อ่าน จะมีรายละเอียดเพิ่มเติม เมื่อกล่าวถึงเรื่อง “ศาสนบริกรของพิธีกรรมคริสตชน”
    การกล่าวถ้อยคำลงท้ายของผู้อ่าน เมื่ออ่านจบแล้วว่า   “นี่คือพระวาจาของพระเจ้า”   เป็นสิ่งยืนยันว่า               การอ่านบทอ่าน เป็นการ “ประกาศ”  
    คำกล่าวตอบรับ  “ขอขอบพระคุณพระเจ้า”     เป็นคำตอบรับเดียวกัน  กับพิธีอื่น ๆ  เมื่อเราต้องการแสดงความกตัญญูรู้คุณในพระกรุณาของพระเจ้า   หรือเพื่อตอบรับน้ำพระทัยของพระองค์

ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
1. พระวาจาของพระเจ้า ควรได้รับการประกาศอย่างดี และเหมาะสม  บรรณฐานจึงควรอยู่ในที่ที่โดดเด่น  และ               เมื่อใช้เครื่องเสียง  ก็ควรมีประสิทธิภาพช่วยให้ที่ชุมนุมรับฟังได้ชัดเจน
2. สำหรับผู้อ่าน  เมื่อเดินขึ้นไปอ่าน  เมื่อผ่านพระแท่น  ต้องแสดงความเคารพพระแท่นก่อนเสมอ
3. จะดียิ่ง  ที่ผู้อ่านบทอ่านแต่ละบทจะไม่ซ้ำคนเดิม  รวมทั้งผู้อ่านหรือขับร้องบทเพลงสดุดี

11. เพลงสดุดี  สลับบทสร้อย
    เพลงสดุดี เป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ที่มีรูปแบบเป็นบทประพันธ์   เพลงสดุดีที่ใช้ในพิธีมิสซาจะถูกเลือกไว้ให้มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับบทอ่านและบทพระวรสาร  มีคุณลักษณะของบทรำพึง 
    จะเป็นการดียิ่ง  หากขับเพลงสดุดีเป็นทำนอง   แทนการอ่าน     แต่แม้จะอ่าน   ก็ควรรักษาลักษณะหรือรูปแบบของการเป็นบทประพันธ์ไว้    (ทั้งร้อยแก้วและร้องกรอง)
    บทสร้อย สลับเพลงสดุดี   เป็นบทบาทของที่ชุมนุม  ที่ตอบรับพระวาจาของพระเจ้า  จึงควรขับร้องอย่างพร้อมเพียง

ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
1. การเลือกบทเพลงอื่น มาแทนเพลงสดุดีที่กำหนดไว้  ยังถือว่าไม่ถูกต้อง
2. บางโอกาสที่ทำได้   สามารถให้ทุกคนร่วมอ่าน หรือขับเพลงสดุดีเป็นทำนองพร้อม ๆ กัน ก็ได้

12.  อัลเลลูยา   
 “อัลเลลูยา”   เป็นคำภาษาฮีบรู มาจากคำ 2 คำ  คือ  “อัลเลลู”  และ “ยา”  มีความหมายว่า   “จงขับร้องสรรเสริญพระเจ้า”   ในพิธีกรรมดั้งเดิมของชาวยิวก็ใช้ถ้อยคำนี้บ่อย ๆ 
อัลเลลูยา  มีลักษณะเป็นบทเพลง  จึงควรขับร้อง  และขับร้องด้วยความชื่นชมยินดี
เทศกาลมหาพรต  เป็นช่วงเวลาของการสำนึกผิด กลับใจ  ใช้โทษบาป   จึงงดการขับร้อง “อัลเลลูยา”                 แต่จะแทนด้วยการร้องบทเพลงอื่น    “ขอสรรเสริญเยินยอพระองค์  ราชาธิราชผู้ทรงเกียรตินิรันดร”
อิริยาบถระหว่างขับร้องอัลเลลูยา  จะยืนขึ้นเสมอ
เมื่อมีการแห่พระวรสารอย่างสง่า  บทเพลงนี้  ยังใช้ประกอบการแห่  เพิ่มความสง่างามให้กับการประกาศพระวรสาร

ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
1. เพลงที่มีเนื้อหายาวเกินไป แม้จะมีคำว่าอัลเลลูยา รวมอยู่ด้วย  ก็ไม่ควรนำมาใช้แทน   
2. เนื้อหาสำคัญประกอบการร้องอัลเลลูยา  คือ ข้อความประกาศก่อนพระวรสาร  (Acclamation before the Gospel)

13. พระวรสาร
    ศูนย์กลาง  หรือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของภาควจนพิธีกรรม คือ การประกาศพระวรสาร   โดยพระสงฆ์  หรือสังฆานุกร  
    ในพิธีมิสซาฉลองใหญ่   มีการแห่พระวรสารอย่างสง่า  นำหน้าด้วยเทียนและกำยาน ที่จะถวายโดยผู้อ่าน
    พระวรสารเป็น สาร หรือ ข่าวดีของพระเยซูโดยตรง   ในพิธีกรรมจึงให้ความสำคัญ และให้ที่ชุมนุมแสดงความเคารพ ให้เกียรติมากกว่าบทอ่านอื่น ๆ   ผู้อ่านเอง ก็จะประกาศในนามของพระเยซู   หากสังฆานุกรอ่าน ก็จะไปขอพรจากพระสงฆ์ผู้เป็นประธานก่อน   และเมื่อพระสงฆ์เป็นผู้อ่าน  ก็จะก้มศีระ ไปทางพระแท่น ภาวนาเงียบ ๆ วอนขอองค์พระจิตเจ้า ประทับอยู่ที่ปากของเขา  เพื่อจะได้ประกาศพระวาจาอย่างถูกต้อง
    ก่อนจะประกาศพระวรสาร  พระสงฆ์ (หรือสังฆานุกร)  จะกล่าวว่า  “พระเจ้าสถิตกับท่าน”  ถ้อยคำนี้                 ณ เวลานี้  ที่ผู้อ่านยืนอยู่ต่อหน้าประชาสัตบุรุษ  โดยมีพระคัมภีร์  (พระวรสาร)  อยู่ระหว่างกลาง   ไม่ได้เป็นถ้อยคำทักทาย เหมือนตอนต้นมิสซา   เป็นเป็นการ  “ประกาศ”    ประกาศให้ประชาสัตบุรุษทราบว่า  เวลานี้ พระเจ้าประทับอยู่กับเราในพระวาจาที่ท่านกำลังจะอ่านต่อไป
    “ขอถวายพระเกียรติแด่พระองค์  พระเจ้าข้า ”     คำกล่าวของที่ชุมนุม เมื่อผู้อ่านพระวรสาร กล่าวเกริ่นนำที่มาของพระวาร   เป็นการแสดงความเคารพ  เทิดเกียรติ  เหมือนการรับเสด็จกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่   พร้อมกับการทำเครื่องหมายกางเขน  ที่หน้าผาก   (เราจะคิด ไตร่ตรองพระวาจา)   ที่ปาก   (เราจะประกาศพระวาจา)   ที่หัวใจ   (เราจะรัก และเจริญชีวิตด้วยพระวาจา)

ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
1. ในมิสซาฉลองใหญ่  ที่พระสังฆราชเป็นประธาน  มีธรรมเนียมที่พระสังฆราชจะแสดงความเคารพพระวรสารหลังจากประกาศพระวรสารจบแล้ว   ในพิธีกรรม ให้ความสำคัญกับอิริยาบถของประธานเสมอ  ช่วงเวลาดังกล่าวที่ชุมนุมจึงควรยืน     อย่างไรก็ตาม  ไม่เป็นข้อบังคับว่า ประธาน (พระสังฆราช) จะต้องเป็นผู้แสดงความเคารพพระวรสาร   พระสังฆราชสามารถให้ผู้อ่านเป็นผู้แสดงความเคารพพระวรสาร ณ บรรณฐาน เมื่ออ่านจบแล้ว ก็ได้
2. มีการเรียงลำดับพระวรสารไว้ให้อ่านครบ  ทั้ง 4 เล่ม ในรอบ 3 ปี คือ ปี A ใช้พระวรสารนักบุญมัทธิว   ปี B  นักบุญมาร์โก  ปี C นักบุญลูกา   ส่วน ในเทศกาลปัสกา จะใช้พระวรสารนักบุญยอห์น
3. ระหว่างการประกาศพระวรสารนี้   ไม่ควรทำสิ่งอื่น ๆ เช่นการรับศีลอภัยบาป  การจัดเตรียมเพลง เตรียมอ่านบทภาวนาเพื่อมวลชน ฯลฯ   และท่าทีของประชาสัตบุรุษควรเป็นการรับฟังอย่างตั้งใจ  มากกว่าการอ่านตามไป    (ยกเว้น กรณีพิเศษอื่น ๆ  เช่น   มีบทพระวรสารภาษาอื่น   เพื่อผู้ร่วมชาวต่างชาติ)

14.  บทเทศน์
    เป็นหน้าที่ที่สงวนไว้สำหรับพระสงฆ์  และสังฆานุกรที่ได้รับมอบหมายจากประธาน  การเทศน์                        เป็นมากกว่าการสอนเรื่องศีลธรรมทั่วไป   เป็นการหล่อเลี้ยงความเชื่อคริสตชนด้วยพระวาจาของพระเจ้า  การเทศน์จึงต้องมีเนื้อหาที่มีเรื่องราวจากพระคัมภีร์เป็นพื้นฐานสำคัญ   เพื่อเชื่อมโยงให้เข้ากับธรรมล้ำลึกหรือเนื้อหาของการฉลองในวันนั้น  รวมไปถึงการประยุกต์ให้สามารถนำไปเป็นแนวทางการเจริญชีวิต
    เนื้อหาสาระ หรือรูปแบบการเทศน์  ยังสรุปได้เป็น 5 ลักษณะ  ด้วยกัน  คือ
1.    เป็นการช่วยกระตุ้นเตือน และนำจิตใจสัตุบุรุษให้มุ่งพัฒนาชีวิตภายใน ให้ยกจิตใจหาพระ  ขจัดความกังวล  เปิดเนื้อที่ของชีวิตให้พระทำงาน
2.    เป็นการอธิบายเรื่องราวจากพระคัมภีร์   ทำให้สาร  หรือสาระ   ของบทอ่านและพระวรสารเป็นที่เข้าใจของสัตบุรุษ
3.    เป็นการอธิบายความหมายของบางลำดับขั้นตอนของพิธี   โดยเฉพาะเรื่องสัญลักษณ์ต่าง ๆ
4.    เป็นการสอนแบบดั้งเดิมของพระศาสนจักร ที่เชื่อมโยงธรรมล้ำลึกให้เข้ากับชีวิตประจำวัน  (การเทศน์แบบ  Mystagogy)
5.    เป็นการนำเอาสถานการณ์ หรือปัญหาในปัจจุบัน มาเชื่อมโยงกับพระวาจาของพระเจ้า เพื่อค้นพบแนวทาง และคำตอบ
    ทุกวันอาทิตย์  และวันฉลองบังคับ  ถือเป็นหน้าที่ที่พระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีจะต้องเทศน์สอนสัตบุรุษ   (หรือมอบหมายให้พระสงฆ์ท่านอื่น หรือสังฆานุกรเทศน์แทนก็ได้)    สำหรับวันธรรมดา  ไม่ได้เป็นข้อบังคับ  แต่เมื่อมีการถวายมิสซาร่วมกับกลุ่มประชาสัตบุรุษ  ก็เชื้อเชิญและส่งเสริมให้มีการเทศน์ ด้วยระยะเวลาที่เหมาะสม

ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
1.  มีระบุไว้ในหนังสือพิธีมิสซาว่า  หลังบทเทศน์แล้ว   มีการเงียบสักครู่หนึ่ง   เพื่อให้ทุกคนได้รำพึง ไตร่ตรองส่วนตัว  และให้พระจิตเจ้าได้ทำงานในใจของแต่ละคน ที่มีสถานการณ์ชีวิตแตกต่างกันไป  ด้วยเหตุนี้  หลังจากเทศน์จบแล้ว ไม่ควรต่อด้วยบทข้าพเจ้าเชื่อ  หรือลำดับพิธีอื่นทันที
2.  การเทศน์ในพิธีมิสซา   มีลักษณะเด่นชัด ในเรื่องการประกาศพระวาจา ใช้พระวาจาที่ได้ประกาศเป็น “เสียง”  เป็น “ถ้อยคำ” นำมาเป็น “สื่อ” ที่สำคัญ   แตกต่างจากการเทศน์นอกพิธีมิสซาที่อาจใช้สื่ออื่นๆประกอบการเทศน์ได้

15. บทข้าพเจ้าเชื่อ
    หลังจากได้ฟังพระวาจาของพระเจ้า  รับฟังบทเทศน์   และมีเวลาสั้น ๆ  ได้ไตร่ตรอง รำพึงส่วนตัวแล้ว    ประธานและประชาสัตบุรุษจะยืนยันความเชื่อ  “ของตน”   
    แม้จะประกาศยืนยันร่วมกันเป็นหมู่คณะ   ถ้อยคำในบทข้าพเจ้าเชื่อ   ยังใช้คำว่า  “ข้าพเจ้า”  ไม่ใช่  “ข้าพเจ้าทั้งหลาย”   เน้นการยืนยันความเชื่อของตนเอง   
    เนื้อหาของบทข้าพเจ้าเชื่อ  รวมข้อความเชื่อของพระศาสนจักรคาทอลิกไว้   การไตร่ตรองและคิดตามไปด้วย จึงทำให้การประกาศความเชื่อมีความหมาย
    รูปแบบการประกาศความเชื่อ   สามารถทำได้ 2 แบบ ด้วยกัน  คือ  กล่าวพร้อมกันทั้งหมด   หรือกล่าวสลับกับประธานก็ได้
    หากใช้การขับร้อง แทนการกล่าว ก็จะช่วยให้การประกาศความเชื่อมีความสง่ามากขึ้น
    ทุกวันอาทิตย์  วันสมโภช และวันฉลองใหญ่ โอกาสพิเศษจะสวดบทข้าพเจ้าเชื่อ

16. บทภาวนาเพื่อมวลชน
    ภาควจนพิธีกรรมจบลงด้วยบทภาวนาเพื่อมวลชน   ที่เริ่มต้นด้วยการเกริ่นนำจากประธานในพิธี  และมีผู้แทนกล่าวเนื้อหาของบทภาวนาเป็นข้อ ๆ  ที่ไม่ยาวเกินไป มีจำนวนข้อที่พอเหมาะ  และเรียงลำดับอย่างถูกต้อง
1.    เพื่อความต้องการของพระศาสนจักร :  เพื่อผู้นำพระศาสนจักร
2.    เพื่อผู้ปกครองบ้านเมือง  และเพื่อความรอดพ้นของมนุษย์ทั่วโลก
3.    เพื่อผู้ต้องทนทุกข์ต่าง ๆ *
4.    เพื่อชุมชนท้องถิ่น
5.    เพื่อผู้ร่วมชุมนุม*
เนื้อหาของบทภาวนาเพื่อมวลชน  ยังไม่ใช่ “คำภาวนา”   เป็นแต่เพียงการกล่าวเจตนา  “เพื่อ…………..”   และเมื่อกล่าวเจตนาครบทุกข้อแล้ว  ประธานผู้เดียว  จะเป็นผู้แทนประชาสัตบุรุษภาวนาสรุป  แล้วทุกคนตอบว่า  “อาแมน”

ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
1.  แม้จะมีบทภาวนาเพื่อมวลชน ที่จัดพิมพ์ไว้ให้แล้ว   เมื่อมีกลุ่มเตรียมพิธีกรรม   ควรเตรียมเรื่องบทภาวนาเพื่อมวลชนด้วย   โดยปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์เฉพาะของชุมชนนั้น ๆ 
2. ไม่ควรมีจำนวนข้อของบทภาวนาเพื่อมวลชนมากเกินไป  และเนื้อหาควรกระชับ 
3. ในโอกาสพิเศษ  อาจจะมีผู้อ่านบทภาวนาเพื่อมวลชนหลายคน  ในกรณีนี้  แต่ละคนควรเตรียมอย่างดี   และอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมจะกล่าวเจตนาของบทภาวนานี้ อย่างต่อเนื่อง ไม่ติดขัด

ภาคที่ 2  :    ภาคศีลมหาสนิท   (ภาคบูชาขอบพระคุณ)
ศีลมหาสนิทเป็นหัวใจของพิธีบูชาขอบพระคุณ    ก่อนหน้าภาคศีลมหาสนิทนี้  ประชาสัตบุรุษได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยพระวาจา ในภาควจนพิธีกรรม  ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำคัญก็เพื่อให้ประชาสัตบุรุษมีความพร้อม และเหมาะสมที่จะได้ร่วมโต๊ะอาหาร ที่พระเยซูเจ้าเอง เป็นผู้เจ้าภาพ  และทรงเลี้ยงเรา  ด้วย “ศีลมหาสนิท”    คือด้วยชีวิตของพระองค์เอง     ภาคที่สองนี้  จึงเกิดขึ้นที่ “พระแท่น”   ที่เป็นเสมือนโต๊ะอาหารของพระเยซูเจ้า  ที่เราล้วนได้รับเชิญ
หนังสือกฎทั่วไปสำหรับมิสซาตามจารีตโรมัน  ข้อ 72   ได้อธิบายไว้ว่า
“ในการเลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้าย พระคริสตเจ้าได้ทรงตั้งการถวายบูชาและการเลี้ยงปัสกา เพื่อให้การถวายบูชาบนไม้กางเขนดำรงอยู่ต่อไปในพระศาสนจักร  พระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้แทนพระคริสตเจ้ากระทำกิจการเดียวกันที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกระทำ และทรงมอบหมายให้บรรดาศิษย์กระทำเพื่อระลึกถึงพระองค์
พระคริสตเจ้าทรงหยิบขนมปังและถ้วยเหล้าองุ่น  ทรงกล่าวขอบพระคุณพระเจ้า   ทรงบิขนมปัง ประทานแก่บรรดาศิษย์ ตรัสว่า    “จงรับไปกิน  รับไปดื่มเถิด   นี่เป็นกายของเรา   นี่เป็นถ้วยโลหิตของเรา  จงทำการนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด”  เพราะฉะนั้น  พระศาสนจักรจึงจัดระเบียบการเฉลิมฉลองพิธีบูชาขอบพระคุณ  ให้มีองค์ประกอบต่าง ๆ   สอดคล้องกับพระวาจาและการกระทำเหล่านี้ของพระคริสตเจ้า  นั่นคือ
1. มีการเตรียมของถวาย   ขนมปัง   และเหล้าองุ่นกับน้ำถูกนำมายังพระแท่น  พระคริสตเจ้าทรงรับสิ่งของเหล่านี้ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์
2. ในบทภาวนาขอบพระคุณ   มีการขอบพระคุณพระเจ้า สำหรับงานกอบกู้ทั้งหมด  ของถวายของเราถูกเปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า
3. เมื่อมีการบิขนมปังและรับศีลมหาสนิท  ผู้มีความเชื่อแม้มีจำนวนมาก  ก็รับพระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าจากปังเดียวกัน   เช่นเดียวกับที่บรรดาอัครสาวกได้รับจากพระหัตถ์ของพระคริสตเจ้า

17.  การเตรียมและแห่ของถวาย
    มิสซาวันธรรมดา   ของถวาย  และภาชนะศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ  จะถูกวางไว้ที่โต๊ะ  (Credence)  ข้างที่นั่งของผู้ช่วยพิธี ตั้งแต่ก่อนเริ่มพิธี    ในวันอาทิตย์ และวันฉลอง  อาจมีการแห่ของถวาย   ที่ขาดไม่ได้  และเป็นของถวายแท้ คือ  ปัง  และเหล้าองุ่นกับน้ำ   ของสองอย่างนี้  จะถูกนำมาวางบนพระแท่น     ส่วนของถวายอื่น ๆ จะวาง  ณ ที่ที่เหมาะสม
    เพื่อมีส่วนร่วมและเลียนแบบการถวายชีวิตของพระเยซู    ปังและเหล้าองุ่น   ควรจะเป็นของถวายแรกสุด  ก่อนที่ของถวายอื่น ๆ  จะตามมา   แสดงถึงการเดินตาม  หรือปฏิบัติตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้า  
    การเตรียมพระแท่น  ด้วยการปูผ้าศักดิ์สิทธิ์   จัดวางของถวาย   ดำเนินต่อไปโดยพระสงฆ์  และสังฆานุกร  หรือผู้ช่วยพิธีเป็นผู้เตรียม  มีบทภาวนาประกอบการจัดเตรียม   
    พระสงฆ์จะเทเหล้างองุ่นใส่ถ้วยกาลิกส์  แล้วหยดน้ำเพียงเล็กน้อยลงในถ้วยกาลิกส์ผสมกับเหล้าองุ่น   พร้อมกับภาวนาเบา ๆ  ว่า   “ดั่งน้ำและเหล้าองุ่นที่ผมเข้าด้วยกัน   อันเป็นเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์นี้  ขอพระองค์ โปรดให้ข้าพเจ้าทั้งหลายได้ร่วมในพระเทวภาพของพระคริสตเจ้า  ผู้ทรงถ่อมองค์ลงมารับสภาพมนุษย์”   
    เมื่อมีการถวายกำยาย   พระสงฆ์ถวายกำยานแด่เครื่องบูชา  รอบพระแท่น  หลังจากนั้น  ทั้งพระสงฆ์ผู้เป็นประธานเอง  และประชาสัตบุรุษรับการถวายกำยาน   การถวายกำยานในเวลานี้  ไม่ได้หมายถึงการแสดงความเคารพ   แต่เป็นดังคำภาวนา  เป็นการเสก  ให้ทั้งตัวของพระสงฆ์เอง และประชาสัตบุรุษแต่ละคนเป็นเครื่องบูชาที่เหมาะสมถวายแด่พระเจ้า   ดังถ้อยคำที่พระสงฆ์จะกล่าวสรุป เมื่อเตรียมของถวายครบแล้วว่า  
    “พี่น้อง  จงภาวนาขอให้พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพทรงรับการถวายบูชาของข้าพเจ้าและของท่านทั้งหลายเถิด”
นอกจากนี้  ก่อนที่พระสงฆ์จะกล่าวบทที่ว่านี้   พระสงฆ์ก็จะล้างมือ   เป็นการแสดงความปรารถนาที่จะมีจิตใจบริสุทธิ์   “โปรดชำระล้างความผิดและบาปของข้าพเจ้าให้หมดสิ้นไปเถิดพระจ้าข้า”

ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
1. สัญลักษณ์ในพิธีกรรม  มีบทบาททำให้พิธีกรรมคงความเป็นการฉลองธรรมล้ำลึก   จึงไม่จำเป็นต้องมีการอธิบายความหมายของสัญลักษณ์ในพิธีกรรม   เช่น การแห่ของถวาย ปังและเหล้าองุ่น  ไม่จำเป็นต้องอธิบายความหมายใด ๆ เลย
2. ของถวายบางอย่าง ที่เรียกร้องความสนใจมากเกินควร  หรือเป็นที่สะดุด  ไม่ควรนำมาเป็นของถวาย
3. ระหว่างที่ยืนรับการถวายกำยาน   ควรเข้าใจความหมายว่า  เป็นดังคำภาวนาให้ชีวิตของเราเหมาะสม มีค่าคู่ควรกับการเป็นของถวายแด่พระเจ้า
4. การเก็บถุงทาน  ถือเป็นเครื่องหมายหรือการแสดงออกอย่างหนึ่ง ของการถวายและมีส่วนร่วมในการถวายของพระเยซู   อย่างไรก็ตาม  ควรมีการจัดเก็บอย่างเหมาะสมในระหว่างพิธี

18.  บทภาวนาเหนือเครื่องบูชา
    เป็นอีกบทภาวนาหนึ่งที่พระสงฆ์  จะภาวนาในนามของประชาสัตบุรุษ  ทุกคนควรร่วมใจกับประธาน  และตอบรับว่า  “อาแมน”   อย่างตั้งใจ

19. บทนำขอบพระคุณ  และการขับร้องบท “ศักดิ์สิทธิ์”
    ประธานจะสวดบทนำขอบพระคุณ  ที่เริ่มต้นด้วยการกล่าวบทตอบรับกับประชาสัตบุรุษ
      - พระเจ้าสถิตกับท่าน                    และสถิตกับท่านด้วย
          - จงสำรวมใจระลึกถึงพระเจ้า                 เรากำลังระลึกถึงพระองค์
             - ให้เราขอบพระคุณพระเจ้าพร้อมกันเถิด     เหมาะสมและชอบยิ่งนัก
    หลังจากนั้นประธานจะกล่าวบทนำขอบพระคุณ     ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการถวายพร ขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับงานไถ่กู้ทั้งหมด   หรือเพราะเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งเป็นพิเศษ   ซึ่งแตกต่างกันไปตามวัน การฉลอง หรือเทศกาล
    ท้ายบทนำขอบพระคุณ  ที่ชุมนุมพร้อมใจกันขับร้องบทเพลง “ศักดิ์สิทธิ์” 
    บท “ศักดิ์สิทธิ์”   เป็นบทเพลงของทูตสวรรค์   มีเนื้อหา  2 ตอน ด้วยกัน   ตอนแรกมาจากหนังสืออิสยาห์              ที่มีนิมิต เห็นพระเจ้าทรงประทับนั่งบทบัลลังก์  มีเหล่าเทวดาอยู่เคียงข้าง  ต่างขับร้อง ศักดิ์สิทธิ์  ศักดิ์สิทธิ์  ศักดิ์สิทธิ์   (ดู อสย 6:3) 
    ส่วนตอนที่ 2  มาจากข้อความพระวรสารของนักบุญมัทธิว   เป็นคำกล่าวถวายพรแด่พระเยซูของฝูงชน             เมื่อครั้งที่พระเยซูเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม   (วันอาทิตย์ใบลาน)

ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
1. บท “ศักดิ์สิทธิ์”  มีลักษณะเป็นบทเพลง  จึงควรขับร้อง
2. เพื่อให้การขับร้องบท “ศักดิ์สิทธิ์”  ต่อเนื่องกับบทนำขอบพระคุณ  ควรขับร้องต่อทันที ไม่ต้องบอกหน้าหนังสือ
3. การประพันธ์บท “ศักดิ์สิทธิ์”  เป็นบทเพลง  ควรคำนึงถึงเนื้อหาที่มาจากพระคัมภีร์ที่แบ่งเป็น 2 ตอน ดังที่กล่าวไว้แล้ว

19. บทภาวนาศีลมหาสนิท -  บทเสกศีล
    เป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งของพิธีมิสซา   ที่ทุกคนต้องให้ความเคารพ  และมีส่วนร่วมอย่างตั้งใจโดยแท้จริงช่วงเวลานี้   ประชาสัตบุรุษจะคุกเข่า    บทภาวนาทั้งหมดจะเป็นบทบาทของพระสงฆ์   ที่มีทั้งบทอัญเชิญพระจิต การเล่าเรื่องการตั้งศีลมหาสนิทและการเสกศีล     การกล่าวบทระลึกถึง  บทถวาย   บทภาวนาอ้อนวอน  (ยกเว้นการกล่าวประกาศธรรมล้ำลึก  ที่ทุกคนจะกล่าวหรือขับร้องพร้อมกัน)
    ในตอนท้าย   ประธาน พร้อมกับคณะสงฆ์ผู้ร่วมถวายฯ  จะพร้อมใจกันกล่าวหรือขับร้องบทยอพระเกียรติ“อาศัยพระคริสตเจ้า  พร้อมกับพระคริสตเจ้า   และในพระคริสตเจ้า…..”  ระหว่างนี้ ที่ชุมนุมยืนขึ้นและตอบรับในตอนท้ายว่า  “อาแมน”  ซึ่งหลายๆ โอกาสจะขับร้องบท  “อาแมน”  อย่างสง่า  เพราะเป็นการตอบรับ  ที่มีความหมาย  เป็นการมีส่วนร่วมแม้เพียงน้อยนิดแต่มีความสำคัญยิ่ง

ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
1. บทภาวนาศีลมหาสนิท  หรือบทเสกศีล   เป็นบทเฉพาะพระสงฆ์เท่านั้น  
2. ระหว่างการเสกปังเป็นพระกาย   และเหล้าองุ่นเป็นพระโลหิต พระสงฆ์จะชูแผ่นศีล และชูถ้วยกาลิกส์                         ให้สัตบุรุษได้เห็น   ดังนั้น  ท่าทีของสัตบุรุษคือ  มองอย่างตั้งใจ   ไม่ก้มหน้า   และจะก้มลงกราบหรือไหว้ พร้อมกับประธาน
3. บทยอพระเกียรติ   ยังคงเป็นบทกล่าวหรือบทขับร้องของพระสงฆ์เท่านั้น   ไม่ใช่บทที่สัตบุรุษจะช่วยพระสงฆ์ขับร้อง
4. การสั่นกระดิ่งระหว่างการเสกศีล   มีที่มาจากอดีต  ที่ต้องการเตือนสัตบุรุษให้รู้ว่าช่วงเวลาสำคัญมาถึงแล้ว   ปัจจุบัน  การสั่นกระดิ่งไม่ใช่ข้อบังคับ   แต่สามารถรักษาไว้ได้เช่นกัน

20. บทข้าแต่พระบิดา
    เริ่มต้นด้วยการกล่าวนำของพระสงฆ์   แล้วทุกคนสวดหรือขับร้องพร้อมกัน  “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย…….”
    เป็นที่สังเกตว่า   ท้ายบทข้าแต่พระบิดา   ไม่มีการต่อท้ายว่า   “อาแมน”   ก็เพราะยังมีบทภาวนาเสริม                    ที่เรียกว่า   “EMBOLISM’   เป็นบทภาวนาต่อท้ายขยายความบทข้าแต่พระบิดา   ที่ลงท้ายว่า  “แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ”     พระสงฆ์จะภาวนาต่อว่า  เป็นความชั่วร้าย หรือภยันตรายอะไร   ก่อนที่จะนำสู่                     การกล่าวถึงสันติสุขที่พระคริสตเจ้าได้มอบให้เรา  (และเราจะมอบให้แก่กันและกัน)   เวลานั้น  ภึงจะมีการกล่าว  “อาแมน”   ต่อท้าย นั่นเอง

ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
1. ก่อนสวดบทข้าแต่พระบิดา    มีคำกล่าวเกริ่นนำของประธานแล้ว    ทุกคนจึงควรเอ่ยคำว่า  “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย”  พร้อมกันจริง ๆ    ไม่ใช่เป็นการกล่าวนำของพระสงฆ์   หรือของพิธีกร

21. การมอบสันติสุข   
    การมอบสันติสุข  ไม่ได้เป็นการทักทาย   และก็ไม่ใช่การคืนดี   เพราะการคืนดี  ในพิธีมิสซาตามจารีตโรมัน กระทำไปแล้ว ในตอนเริ่มพิธี ช่วงการสารภาพผิด  ความหมายสำคัญ   คือการมอบสันติสุข ที่เราได้รับจากองค์พระคริสตเจ้า  และเราจะมอบให้แก่กันและกัน   (ดู ยน 14:27)

ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
1. ท่าที หรือการแสดงออกเพื่อมอบสันติสุข  ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละแห่ง   บางที่แสดงออกด้วยการสวดกอด  บางแห่งด้วยการจับมือ   สำหรับประเทศไทย  แสดงออกด้วยการไหว้   อย่างไรก็ตาม  มีความหมายคงเดิม คือ              การมอบสันติสุขของพระคริสตเจ้า   ไม่จำเป็นต้องมีการมอบสันติสุขอย่างทั่วถึงหมายความว่าไม่จำเป็นต้องไหว้ ทุก ๆ คน  สวดกอดทุก ๆ คน  จับมือทุก ๆ คน
2. ในบทพิธีระบุไว้ว่า  บางโอกาสอาจจะงดหรือละเว้นการมอบสันติสุขก็ได้

22. บท “ลูกแกะพระเจ้า”
    ที่ชุมนุมกล่าวหรือขับร้องบท “ลูกแกะพระเจ้า”   ที่มีเนื้อหามาจากพระคัมภีร์เช่นกัน   คือ  จากคำกล่าวของยอห์น บัปติสต์ ที่เอ่ยเรียกพระเยซูเจ้าว่า  “นี่คือลูกแกะพระเจ้า”   (ดู ยน 1:29,36    ที่นำมากล่าวเป็นบทร่ำวิงวอน  และลงท้ายว่า   “โปรดประทานสันติสุขเทอญ”

ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
1.  บท “ลูกแกะของพระเจ้า”   ไม่จำเป็นต้องขับร้องเสมอไป  อาจจะกล่าวเฉย ๆ ก็ได้
2. เมื่อประพันธ์เป็นบทเพลง เพื่อใช้ขับร้อง ควรคำนึงถือเนื้อร้องที่มีโครงสร้างเป็นบทร่ำวิงวอนและมีเนื้อหามาจากพระคัมภีร์
3. มีบทเพลงหลายบท  ที่เคยถูกใช้ในช่วงนี้แต่เนื้ออหายังไม่ถูกต้อง

23. การบิแผ่นศีล 
    ระหว่างกล่าวหรือขับร้องบท “ลูกแกะพระเจ้า”    ประธานจะบิแผ่นศีล  สำหรับแผ่นศีลใหญ่ของประธานนั้น  จะแบ่งเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับพระสงฆ์เอง   ส่วนหนึ่งสำหรับมอบให้สัตบุรุษ  เป็นเครื่องหมายของการมอบ-แบ่งปัน  ส่วนที่สาม เป็นส่วนเล็ก ๆ  ที่พระสงฆ์จะใส่ลงในถ้วยกาลิกส์    พร้อมกับภาวนาว่า
        “ขอพระกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้าที่รวมกันนี้  ทรงบันดาลให้เราทุกคนผู้รับศีลนี้มีชีวิตนิรันดร”

24. การยกศีลพร้อมคำเชื้อเชิญจากพระสงฆ์  และตอบรับของสัตบุรุษ
        พระสงฆ์จะยกแผ่นศีล ที่บิแล้ว  เหนือถ้วยกาลิกส์   หรือเหนือจานรอง   พร้อมกล่าวถ้อยคำจากพระคัมภีร์ 2
ตอนด้วยกัน   คือ  คำกล่าวเรียกพระเยซูของยอห์น บัปติสต์   (ดู ยน 1:29)   กับการกล่าวความสุขเมื่อได้รับเชิญมาร่วม
งานเลี้ยง”    (ดู วว 19:9)
        คำตอบรับของประชาสัตบุรุษมีที่มาจากคำกล่าวของนายร้อย ที่เมืองคาเปอร์นาอุม 
“พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าไม่สมควรจะรับเสด็จมาประทับอยู่กับข้าพเจ้า
โปรดตรัสเพียงพระวาจาเดียว แล้วจิตใจข้าพเจ้าก็จะบริสุทธิ์    (เทียบ  มธ 8:8) 
เป็นคำกล่าวที่แสดงให้เห็นทั้งความสุภาพถ่อมตน  และความไว้วางใจ

25. การรับศีล
    พระสงฆ์รับศีลทั้งพระกายและพระโลหิต  ก่อนที่จะไปส่งศีลแก่สัตบุรุษ 
    การตอบรับว่า  “อาแมน”   เมื่อพระสงฆ์กล่าวว่า   “พระกายพระคริสตเจ้า”   มีความสำคัญ  เป็นการยืนยันความเชื่อ   ผู้รับศีลจึงควรมองดูศีลขณะที่พระสงฆ์กล่าว   แล้วตอบรับอย่างตั้งใจ
    พระศาสนจักรกำหนดว่า  สามารถรับศีลได้ทั้ง 2 แบบ   คือ  รับด้วยมือ   หรือรับด้วยปาก  ซึ่งทั้ง 2 แบบ เรียกร้องการแสดงอกด้วยความเคารพ ให้เกียรติศีลมหาสนิท

ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
1. ผู้ที่รับศีล  ควรเตรียมจิตใจให้เหมาะสม  คู่ควรกับการออกมารับองค์พระเยซูเจ้า  เพื่อจะได้มีชีวิตที่สนิทกับพระอย่างแท้จริง
2. ระหว่างการรับศีล  มีการขับร้องบทเพลง  ที่เกี่ยวข้องกับศีลมหาสนิท  (แต่ไม่ใช่เพลงนมัสการศีลมหาสนิท)  ความเป็นหนึ่งเดียวกันที่มีพระเป็นศูนย์กลาง   ไม่จำเป็นต้องร้องเพลงยาวตลอดจนถึงบทภาวนาหลังรับศีล เพราะหลังจากทุกคนรับศีลแล้ว   ควรมีเวลาเงียบอีกครั้งหนึ่ง   เพื่อให้แต่ละคนได้ขอบพระคุณพระเจ้า
3. เมื่อมีกลุ่มนักขับร้อง   นักขับร้องก็ควรรับศีลมรช่วงเวลาเดียวกันนี้  ไม่ควรรับศีลแยกเป็นกลุ่มพิเศษหลังพิธีจบแล้ว
4. สำหรับวัดที่อยู่ในเขตเมือง  หรือเมื่อฉลองพิเศษ  มีพี่น้องต่างศาสนาร่วมพิธีด้วย   การประกาศเรื่องการรับศีลยังจำเป็น   แต่ควรประกาศด้วยถ้อยคำที่ชัดเจน และเหมาะสม

26. บทภาวนาหลังรับศีล
        หลังจากเงียบสงบสักครู่แล้ว   ประธานกล่าวเชิญชวนสัตบุรุษให้ร่วมจิตใจภาวนาด้วยถ้อยคำว่า  “ให้เราภาวนา”
เงียบสักเล็กน้อย แล้วสวดบทภาวนาหลังรับศีลจนจบ   ประชาสัตบุรุษกล่าวตอบว่า   “อาแมน”

ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
1. เพราะบทภาวนานี้  เป็นบทภาวนาหลังรับศีล  ไม่ใช่บทภาวนาส่งท้าย   จึงควรอยู่ต่อจากการรับศีล 

27. การประชาสัมพันธ์
    การประชาสัมพันธ์หรือการประกาศเพื่อการอภิบาล  จะอยู่หลังบทภาวนาหลังรับศีล   จะประชาสัมพันธ์โดยพระสงฆ์   หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายก็ได้   ควรหลีกเลี่ยงการประชาสัมพันธ์เรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางสังคม หรือกิจการภายนอกมากเกินไป    ซึ่งสามารถใช้การประชาสัมพันธ์ในรูปแบบอื่น หรือเวลาอื่นแทน จะเหมาะสมกว่า

28. การอวยพร และกล่าวบทปิดพิธี
    พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณจบด้วยการอวยพรและกล่าวปิดพิธี    ในวันสมโภช และฉลองพิเศษ  จะมีบทอวยพรอย่างสง่า   เมื่อกล่าวบทปิดพิธีแล้ว    ผู้ช่วยพิธี และพระสงฆ์แห่กลับ   ระหว่างนี้ ที่ชุมนุมขับร้องบทเพลงปิดพิธี

ข้อสังเกตและคำแนะนำบางประการ
1.  พิธีมิสซาเป็นพิธีกรรมที่สำคัญและประเสริฐสุดแล้ว  เมื่อพิธีมิสซาจบ  ไม่จำเป็นต้องสวดบทภาวนาอื่นใดร่วมกันอีก   หากประสงค์จะภาวนาต่อ  ให้เป็นการภาวนาส่วนตัว    จะเหมาะสมและถูกต้องมากกว่า