แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

การรับประสบการณ์เบื้องต้นในชีวิตของพระศาสนจักร
39.  ภารกิจในการอบรมดูแลลูกเรียกร้องให้พ่อแม่คริสตชนจัดการให้ลูกๆ ได้รับทุกสิ่งที่อย่างที่เขาต้องการ  เพื่อให้ความเป็นคนของตัวเขาค่อยๆ บรรลุถึงวุฒิภาวะในฐานะที่เขาเป็นศิษย์ของพระคริสต์และสมาชิกของพระศาสนจักร  เพราะฉะนั้นบิดามารดาจะระลึกถึงหลักพื้นฐานในการอบรมดังที่กล่าวแล้ว  และเขาจะพยายามชี้แนะให้ลูกๆ ซาบซึ้งในความเชื่อของเขาและความรักของพระเยซูคริสต์ซึ่งสามารถแสดงความลึกซึ้งของหลักเหล่านั้นได้พ่อแม่คริสตชนควรจะสำนึกเสมอว่า  พระเจ้าทรงมอบภารกิจให้เขาเป็นผู้อำนวยความเจริญเติบโตของลูกซึ่งเป็นทั้งบุตรของพระเจ้า  น้องของพระคริสตเจ้า  วิหารที่ประทับของพระจิตเจ้า  และสมาชิกของพระศาสนจักร  ด้วยความสำนึกเช่นนี้  พ่อแม่จึงจะมั่นใจมากขึ้นในหน้าที่บำรุงพระหรรษทานที่พระประทานให้นั้น  ให้ประทับใจมั่นคงในใจของลูก
    สังคายนาวาติกันครั้งที่  2  ได้บรรยายถึงเนื้อหาของการอบรมตามหลักพระคริสตธรรมดังต่อไปนี้ว่า  “การอบรมตามหลักพระคริสตธรรมนี้มิได้มุ่งจะให้ตัวบุคคลได้บรรลุถึงวุฒิภาวะเท่านั้น  แต่มุ่งให้ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปและได้รับการชี้แนะให้ทราบเหตุการณ์เร้นลับเรื่องความรอดเป็นขั้นๆ แล้วนั้น  รู้สำนึกถึงพระคุณความเชื่อที่เขาได้รับมากขึ้นทุกวัน  หัดรู้จักนมัสการพระบิดาด้วยจิตใจและความสัตย์จริง  (ดู  ยน 4:22 - 24)  โดยอาศัยพิธีกรรมเป็นหลัก  เขาจะต้องได้รับการฝึกฝนให้ดำเนินชีวิตตามแบบฉบับมนุษย์ใหม่ด้วยความชอบธรรมและความศักดิ์สิทธิ์โดยอาศัยความจริง  (ดู  อฟ 4:13)  แล้วดังนี้เมื่อบรรลุถึงการเป็นคนดีพร้อม  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเมื่อบรรลุถึงอายุความแห่งความเปี่ยมไพบูลย์ของพระคริสตเจ้า  (ดู  อฟ 4:13)  เขาจะได้มีส่วนช่วยให้พระกายทิพย์เติบใหญ่ขึ้น  นอกจากนี้  โดยที่รู้สำนึกถึงกระแสเรียกของตน  คริสตชนควรหัดให้ติดเป็นนิสัยที่จะแสดงอกซึ่งความหวังอันแน่วแน่*  ที่มีอยู่ในจิตใจ  (ดู  1ปต 3:15)  ตลอดจนช่วยในการเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกตามแบบคริสตชน”
    ส่วนสมัชชาพระสังฆราชก็ได้รองรับและขยายข้อความที่เป็นหลักของคำสั่งสอนของพระสังคายนาแล้วประกาศว่า  ภารกิจของครอบครัวคริสตชนในการอบรมสั่งสอนเป็น  “ศาสนบริการ”  ที่แท้จริง  อาศัยศาสนบริการนี้  พระวรสารจึงมีการสืบทอดและแพร่หลายออกไป  จนกระทั่งชีวิตครอบครัวกลายเป็นทั้งวิถีทางแห่งความเชื่อและแหล่งฝึกฝนหรือโรงเรียนสอนวิธีดำเนินชีวิตติดตามพระคริสตเจ้า  พระสันตะปาปาเปาโลที่  6  เคยเขียนไว้ว่า  “ในครอบครัวที่สำนึกถึงภารกิจหน้าที่นี้  สมาชิกทุกคนทำการแพร่พระวรสารและรับการแพร่พระวรสารด้วย”
    อาศัยศาสนบริการในการอบรมดูแลลูกนี้  พ่อแม่จึงเป็นคนแรกที่ประกาศพระวรสารให้ลูกรับ  โดยการดำเนินชีวิตของพ่อแม่นี้เองเป็นสื่อ  ยิ่งกว่านั้น  เมื่อพ่อแม่สวดภาวนาพร้อมกับลูกก็ดี  หมั่นอ่านพระวรสารของพระเจ้าพร้อมกับลูกก็ดี  และพาลูกเข้ามีส่วนร่วมในพระวรกายของพระคริสต์  (ซึ่งหมายถึงศีลมหาสนิทและพระศาสนจักร)  ก็ดี  โดยวิธีฝึกฝนชีวิตคริสตชนก็ดี  เขาจึงได้กลายเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ  ด้วยเหตุว่า  เขาเป็นผู้ให้กำเนิดมิใช่เพียงแต่ให้มีชีวิตตามเนื้อหนังเท่านั้น  แต่ก็ให้มีชีวิตที่หลั่งไหลลงมาจากไม้กางเขนและการกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้า  อาศัยการฟื้นฟูที่พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้ด้วย
    เพื่ออำนวยความสะดวกให้พ่อแม่ปฏิบัติหน้าที่อบรมสั่งสอนนี้อย่างเหมาะสม  สมาชิกสมัชชาพระสังฆราชได้เสนอให้มีการเรียบเรียงหนังสือคำสอนสำหรับครอบครัวที่กระจ่าง  กะทัดรัดและที่ทุกคนอ่านเข้าใจได้ง่าย  สภาพระสังฆราชในประเทศต่างๆ จึงได้รับการเรียกร้องให้ลงมือเตรียมหนังสือคำสอนแบบนี้โดยไม่นิ่งนอนใจ