เพื่อนมนุษย์แต่ละคนเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้า
64. ด้วยเหตุว่า พระบัญญัติใหม่แห่งความรักเป็นแรงกระตุ้นใจและบำรุงกำลังใจ ครอบครัวจึงให้การต้อนรับ เคารพนับถือ และรับใช้มนุษย์แต่ละคน โดยยกย่องศักดิ์ศรีของเขาในความเป็นและในความเป็นบุตรของพระเจ้า
ภายในคู่สมรสและครอบครัวก็ควรจะเป็นดังที่กล่าวมานี้เพื่อความผาสุกของเขา โดยการที่แต่ละคนจะส่งเสริมความเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันอย่างแท้จริงโดยอาศัยความสัมพันธ์แห่งความรัก เป็นรากฐานและเป็นพลังเพื่อพัฒนาให้เจริญก้าวหน้า การเอาใจใส่ในคนอื่นนี้ ควรขยายวงให้กว้างออกไปในชุมชนของพระศาสนจักร* ที่ครอบครัวคริสตชนสังกัดอยู่ ด้วยอิทธิพลของความมีเมตตาธรรมในครอบครัวนี้เอง พระศาสนจักรจึงจะสามารถแสดงลักษณะความเป็นครอบครัวได้ดียิ่งขึ้น โดยนำวิธีการซึ่งแสดงความเป็นมนุษย์และพี่น้องกันมาใช้ภายในพระศาสนจักร
อันที่จริง ความมีเมตตาธรรมขยายตัวไปไกลกว่าความเป็นพี่น้องร่วมความเชื่อเดียวกัน ด้วยเหตุว่า “มนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องของข้าพเจ้า” ผู้มีเมตตาธรรมจะสามารถมองเห็นพระพักตร์ของพระเป็นคริสตเจ้า และมองเห็นพี่น้องที่ต้องรักและรับใช้ในตัวมนุษย์ทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ขัดสนหรือพิการ ผู้ทีตกทุกข์ได้ยากหรือได้รับความอยุติธรรม
เพื่อให้ครอบครัวได้ปฏิบัติภารกิจของตนต่อมนุษย์ตามจิตตารมณ์ของพระวรสาร ทุกคนต้องตั้งใจปฏิบัติตามสิ่งที่สังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ได้กล่าวไว้ว่า “เพื่อให้การประกอบเมตตาจิตเช่นนี้เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งปวงและปรากฏชัดว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ เราต้องเห็นเพื่อนมนุษย์เป็นฉายาของพระเจ้าผู้ทรงสร้างเขามาตามพระฉายานั้น และต้องเห็นเพื่อนมนุษย์เป็นพระคริสตเจ้าของเรา ซึ่งอันที่จริงเป็นผู้รับสิ่งต่าง ๆ ที่เราให้แก่คนจนนั่นเอง”
เมื่อครอบครัวคริสตชนสร้างสรรค์พระศาสนจักรด้วยความมีเมตตาธรรมนั้น ก็ยังอุทิศตนในการรับใช้มนุษย์ทั้งหลาย อีกทั้งอุทิศตนให้แก่สังคมโลกด้วย เพื่อให้การ “พัฒนาบุคคล” บรรลุผลสำเร็จสมัชชาพระสังฆราชได้บรรยายการ “พัฒนาบุคคล” อย่างสั้นๆ ในสารถึงครอบครัวต่างๆ ว่า “บทบาทของครอบครัวอีกประการหนึ่งก็คืออบรมมนุษย์ให้เขารักเป็น พร้อมกับให้สายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและคนอื่นทุกประเภทเปี่ยมไปด้วยความรัก ทั้งนี้ เพื่อมิให้ครอบครัวปิดตัวเองแต่เปิดตัวให้แก่ชุมชน โดยให้ความสำนึกในความเป็นธรรม ความนับถือคนอื่น และความตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมมนุษย์ทั้งหมด เป็นเครื่องชักจูงจิตใจ”