พระสังฆราชและพระสงฆ์
73. ผู้รับผิดชอบงานอภิบาลครอบครัวอันดับแรกในเขตของสังฆมณฑล ก็คือ พระสังฆราช ในฐานะที่ท่านเป็นบิดาและเป็นผู้อภิบาล ท่านก็ต้องห่วงใยเป็นพิเศษในภารกิจด้านการอภิบาลเฉพาะอย่างนี้ซึ่งสำคัญกว่าอย่างอื่นโดยแน่นอน ท่านก็ต้องยอมทุ่มเทความเอาใจใส่ ความขยันขันแข็ง เวลา บุคลากร แม้กระทั่งทรัพย์สินในงานนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ท่านก็ต้องแสดงว่าท่านเองสนับสนุนครอบครัวและผู้ที่ช่วยท่านในงานอภิบาลครอบครัวตามตำแหน่งในโครงสร้างต่างๆ ของสังฆมณฑล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระสังฆราชควรตระหนักว่า สังฆมณฑลของตนต้องมีลักษณะเป็น “ครอบครัวระดับสังฆมณฑล” อย่างแท้จริงและมากยิ่งขึ้นไปอยู่เสมอ ซึ่งจะเป็นแบบฉบับและต้นธารแห่งความหวังสำหรับครอบครัวทั้งหลายที่สังกัดในสังฆมณฑลของท่าน ด้วยทัศนะเช่นนี้ ใครก็ตามจะเข้าใจว่า การสถาปนาสมณสภาเพื่อครอบครัวนั้นมีวัตถุประสงค์ดังนี้คือ ให้เป็นเครื่องหมายถึงความสำคัญซึ่งข้าพเจ้าให้แก่งานอภิบาลครอบครัวในระดับโลก และให้สภานี้เป็นเครื่องมือที่ทรงผลเพื่อที่จะส่งเสริมงานอภิบาลครอบครัวในทุกระดับ
พระสังฆราชมีผู้ช่วยโดยเฉพาะคือพระสงฆ์ สมัชชาพระสังฆราชได้ชี้แจงอย่างชัดเจนแล้วว่าบทบาทของพระสงฆ์นั้น เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในภารกิจของพระศาสนจักรต่อการสมรสและครอบครัว เรื่องของสังฆานุกรก็เช่นเดียวกัน ซึ่งบางที อาจได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานนี้โดยเฉพาะก็ได้
หน้าที่ของพระสงฆ์และสังฆานุกรนั้น ไม่เพียงแต่ควบคุมปัญหาฝ่ายศีลธรรมหรือพิธีกรรมเท่านั้น แต่ยังต้องควบคุมปัญหาเฉพาะบุคคลและฝ่ายสังคมด้วย พระสงฆ์กับสังฆานุกรต้องสนับสนุนครอบครัวในยามที่ประสบความลำบากหรือความทุกข์ทรมาน พระสงฆ์กับสังฆานุกรต้องยืนเคียงข้างสมาชิกของครอบครัวเพื่อที่จะช่วยเขาให้ใช้แสงสว่างของพระวรสารมาพิจารณาความหมายชีวิตของตน คงจะไม่เป็นการนอกเรื่องถ้าจะกล่าวเป็นข้อสังเกตว่า เมื่อศาสนบริกรดำเนินงานแพร่ธรรมนี้ด้วยการวินิจฉัยที่เหมาะสมและด้วยจิตตารมณ์ของธรรมทูตที่แท้จริงแล้ว เขาเองก็จะได้รับแรงกระตุ้นใหม่และพละกำลังฝ่ายจิตใจเพื่อถือตามพระกระแสเรียก อีกทั้งเพื่อดำเนินภารกิจของตนได้ดีด้วย
พระสงฆ์หรือสังฆานุกรที่ได้รับการฝึกอบรมสำหรับการแพร่ธรรมประเภทนี้อย่างเข้มงวดและในเวลาที่เหมาะสมแล้ว ควรจะหมั่นประพฤติตนเป็นทั้งบิดา พี่น้อง ผู้อภิบาล และอาจารย์ของครอบครัวต่างๆ โดยอาศัยพระหรรษทานเป็นที่ช่วยเขาและอาศัยสัจธรรมเป็นแสงสว่างนำทางเขา เป็นสิ่งที่จำเป็นด้วยว่า เนื้อหาของการอบรมสั่งสอนและของการชี้แนะที่พระสงฆ์ให้นั้น ต้องส่งเสริมให้ประชากรของพระเจ้าประกอบด้วยจิตสำนึกอันเที่ยงตรงในความเชื่อและนำมาประยุกต์กับชีวิตของตนต่อไป ความซื่อสัตย์สุจริตต่อคำสอนของพระศาสนจักรนี้ ยังเอื้อำนวยให้พระสงฆ์พยายามสุดความสามารถที่จะทำให้กระบวนความคิดเห็นของตนพ้องต้องกันเพื่อจะได้ลบล้างความกังวลใน มโนธรรมของสัตบุรุษของตน
ภายในพระศาสนจักร ผู้อภิบาลและฆราวาสมีส่วนร่วมในภารกิจการเป็นประกาศกของพระคริสตเจ้า ฝ่ายฆราวาสเป็นประจักษ์พยานถึงความเชื่อโดยทางวาจาและการดำเนินชีวิตแบบคริสตชน ฝ่ายผู้อภิบาลก็โดยการวินิจฉัยในการเป็นประจักษ์พยานนี้และแยกส่วนที่เกิดจากความเชื่ออันเที่ยงแท้ออกจากส่วนที่ไม่ค่อยสอดคล้องกับแสงสว่างความเชื่อ ฝ่ายครอบครัวในฐานะที่เป็นกลุ่มคริสตชนก็มีส่วนร่วมในภารกิจของพระคริสต์โดยมีส่วนร่วมเฉพาะเจาะจงในความเชื่อและโดยเป็นประจักษ์พยานถึงความเชื่อด้วย ดังนั้น จึงเริ่มมีการเสวนาขึ้นระหว่างผู้อภิบาลกับครอบครัว นักเทววิทยาและผู้เชี่ยวชาญในเรื่องครอบครัวสามารถเป็นผู้ส่งเสริมการเสวนานี้ได้เป็นอย่างดี โดยชี้แจงเนื้อหาของพระธรรมคำสอนของพระศาสนจักรหรือเนื้อหาของประสบการณ์ชีวิตครอบครัวอย่างแจ่มแจ้ง ด้วยวิธีนี้ การอธิบายพระธรรมคำสอนจะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ดีขึ้นและมีโอกาสที่จะพัฒนาขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง กระนั้นก็ดี ควรจะเน้นว่า ผู้รับผิดชอบในพระธรรมคำสอนนั้นเป็นเจ้าของบรรทัดฐานของหลักความเชื่อโดยตรง และมีอำนาจบังคับในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาครอบครัวเช่นกัน ความร่วมมือกันอย่างตรงไปตรงมาระหว่างนักเทววิทยา ผู้เชี่ยวชาญในปัญหาครอบครัว และผู้รับผิดชอบพระธรรมคำสอนนั้น เป็นประโยชน์ไม่ใช่น้อยในการที่จะเข้าใจความเชื่ออย่างเที่ยงตรง รวมถึงการส่งเสริมให้คนมีความแตกต่างกันได้อย่างชอบธรรมภายในขอบเขตแห่งความเชื่อนั้น