หยุด! หลอกตนเอง
การหลอกตัวเองนั้นได้ผลจริงหรือ? สัตว์บางชนิดมีการหลอกตัวเอง เช่น นกกระจอกเทศเอาหัวมุดดินเพราะมันมั่นใจว่าเมื่อมันมองไม่เห็นศัตรู ศัตรูก็ย่อมไม่เห็นมัน หรือ เมื่อคนไปจ้องหน้าแมวนานๆ มันจะหลับตาและมั่นใจว่าเราไม่ได้อยู่ตรงนั้นอีกต่อไป แต่คนซึ่งมีสมองที่ใหญ่กว่าและระดับสติปัญญาที่สูงกว่าจะหลอกตัวเองได้เหมือนสัตว์หรือไม่?
ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ได้อธิบายถึงกลไกทางจิตไว้ว่า เป็นจิตไร้สำนึกที่จะทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อบุคคลเผชิญความเครียด ความวิตกกังวล ยิ่งปัญหาที่เกิดขึ้นสร้างความขัดแย้งให้จิตใจมากเท่าไร กลไกการป้องกันตนเองทางจิตก็ยิ่งทำงานเพิ่มขึ้นเท่านั้น กลไกที่ว่านี้มีหลายประเภท เช่น
- ปฏิเสธไม่ยอมรับความจริง เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นมันใหญ่เกินกว่าจะยอมรับไหว จิตใจจะปฏิเสธว่ามันไม่เป็นจริง หรือไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่งยิ่งเป็นการหลีกหนีปัญหา
- การหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง หรือสำนวน “องุ่นเปรี้ยว มะนาวหวาน” เมื่อพลาดหวังจากอะไร ย่อมมองว่ามันไม่ดี
- การโยนความผิดให้คนอื่น โดยตนเองเชื่อเช่นนั้นจริงๆว่าตนไม่ผิด แต่ผู้อื่นเป็นคนผิด
- การแสดงอาการตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตนต้องการ เพราะค่านิยมของสังคมบีบบังคับ และหลอกตนเองว่าตนชอบในสิ่งที่ฝืนทำอยู่ เป็นการสร้างบาดแผลทางใจให้ตนเองโดยไม่รู้ตัว เป็นต้น
- กลไกการป้องกันตนเองทางจิตนี้มีประโยชน์เมื่อเราเผชิญกับปัญหาระดับเล็กน้อย แต่เมื่อปัญหานั้นใหญ่จนกลไกทางจิตทำงานหนัก ก็จะกลายเป็นการหลอกตัวเอง
1. ทำความรู้จักตนเอง สำรวจว่าตนรู้สึกอย่างไร ต้องการอะไร ชอบอะไร ไม่พอใจอะไร ให้เกียรติตนเองโดยการยอมรับตนเองและการกระทำของตนเอง “ปรีชาญาณของคนฉลาดคือการเข้าใจพฤติกรรมของตน ความโง่เขลาของคนโง่เป็นการหลอกลวง” (สุภาษิต 14:8)
2. เข้มแข็งและเผชิญหน้ากับปัญหา ยอมรับความผิดพลาดและพร้อมที่จะแก้ไข “จงอย่าหลอกลวงตนเอง ถ้าท่านใดคิดว่าตนเองเป็นคนฉลาดในโลกนี้ ก็จงยอมเป็นคนโง่ จึงจะเป็นคนฉลาดอย่างแท้จริง” (1โครินธ์ 3:18)
3. ‘ฟัง’ และ ‘ปฏิบัติตาม’ คำสอน “จงปฏิบัติตามพระวาจา มิใช่เพียงแต่ฟัง ซึ่งเท่ากับหลอกตนเอง เพราะถ้าผู้ใดฟังพระวาจาแล้วไม่ปฏิบัติตาม ก็เหมือนคนที่มองใบหน้าของตนในกระจกเงา เมื่อมองตนเอง และจากไปแล้ว ก็ลืมทันทีว่าตนเป็นอย่างไร” (ยากอบ 1:22-24)