ข้อเท็จจริงง่ายๆที่หลายคนมักมองข้ามคือ สุขภาพกายและสุขภาพจิตเกี่ยวโยงกัน ทั้งสองอย่างส่งผลต่อกันและกันโดยตรง เมื่อสุขภาพกายสมบูรณ์แข็งแรง จิตใจย่อมสดใส เมื่ออารมณ์ดี ร่างกายก็สดชื่น มีพละกำลังจะทำสิ่งต่างๆ ในทางกลับกัน หากร่างกายอ่อนแอ ย่อมเกิดความทุกข์ ความไม่สบายใจ ก่อให้เกิดความเครียด สุขภาพจิตย่อมเสีย และแม้จะเป็นคนที่สุขภาพกายแข็งแรง หากมีความเครียดก็ป่วยได้ เช่น อาหารไม่ย่อย นอนไม่หลับ เพลีย และอ่อนล้า เป็นต้น
- การจะยับยั้งวัฏจักรกายอ่อนแอ-จิตอ่อนแรงนี้ คนส่วนใหญ่จะแก้ที่การดูแลสุขภาพกาย เช่น ทานอาหารบำรุงสุขภาพ ออกกำลังกาย เป็นต้น แต่หากคนที่ทำงานหนักจนไม่มีเวลาออกกำลังกายเลยจะไม่สามารถมีสุขภาพที่แข็งแรงได้เลยหรือ? ผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่ไม่มีทางรักษาให้หายจะมีแต่อาการที่ทรุดลงไปเช่นนั้นหรือ? คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะ “ใจร่าเริงเป็นยาขนานเอก จิตโศกเศร้าทำให้กระดูกแห้ง” (สุภาษิต 17:22) เราสามารถแก้ได้ที่จิตใจของเรา ปรับมุมมองใหม่กับสิ่งรอบข้าง คิดบวก อาจจดสิ่งเล็กๆน้อยๆที่ทำให้เรายิ้มได้ในแต่ละวันไว้ เมื่อจิตใจซึมเศร้าจะได้รู้ว่า ยังมีสิ่งดีๆอีกมากมายที่เราได้รับ สุขภาพจิตที่ดีช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้ดี นอกจากนี้ยังส่งผลให้สดใสถึงภายนอก สร้างบุคลิกภาพที่ดีและความประทับใจแก่ผู้พบเห็น “ใจยินดีทำให้ใบหน้าเบิกบาน แต่ความเสียใจทำให้จิตซึมเศร้า” (สุภาษิต 15:13)
- การส่งผลต่อกันของสุขภาพกายและสุขภาพจิตต้องอาศัยระยะเวลา ไม่ใช่ว่า ทำจิตใจให้ร่าเริงได้ไม่กี่วันก็หวังจะให้โรคทางกายหายไป เมื่อไม่หายก็อารมณ์เสีย ส่งผลให้ป่วยหนักกว่าเดิมทั้งกายและใจ ต้องมีความสม่ำเสมอและอดทน ดูแลร่างกายและจิตใจให้ดี สุดท้ายคือ มีความหวังและความศรัทธา “พระองค์ประทานอภัยความผิดทั้งหลายของท่าน ทรงรักษาโรคภัยทั้งปวงของท่าน” (สดุดี 103:3)
ขอพระเจ้าทรงอำนวยพระพรให้ท่านทั้งหลายมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง