การให้อภัยคืออะไร คำตอบจากพระคัมภีร์
การให้อภัย คือ การยกโทษให้คนที่ทำผิด ในพระคัมภีร์ คำภาษากรีกที่แปลว่า “การให้อภัย” มีความหมายตรงตัวว่า “ปล่อยไป” เหมือนเจ้าหนี้ยอมยกหนี้ให้ลูกหนี้ พระเยซูเจ้าทรงใช้การเปรียบเทียบนี้เมื่อพระอง์ทรงสอนบรรดาสานุศิษย์ให้ภาวนาว่า “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย เหมือนข้าพเจ้าทั้งหลายให้อภัยแก่ผู้อื่น” (ลูกา 11:3-4) เมื่อพระองค์เล่าตัวอย่างเรื่องทาสที่ไม่ยอมยกหนี้ พระองค์ทรงเปรียบเทียบการให้อภัยว่าเหมือนการยกหนี้ (มัทธิว 18:23-35)
เราให้อภัยคนอื่น เมื่อเราไม่ถือโทษและไม่เรียกร้องให้เขามาขอโทษหรือชดใช้ พระคัมภีร์สอนว่า ความรักแบบไม่เห็นแก่ตัวเป็นหัวใจสำคัญของการให้อภัยอย่างแท้จริง เพราะความรัก “ไม่จดจำความผิดที่ได้รับ ไม่ยินดีในความชั่ว แต่ร่วมยินดีในความถูกต้อง ความรักให้อภัยทุกอย่าง” (1โครินธ์ 13:5-7)
การให้อภัยไม่ได้หมายความว่า
• เห็นด้วยกับการกระทำนั้น พระคัมภีร์ตำหนิคนที่เห็นชั่วเป็นดี เพราะเขาคิดว่าไม่เสียหายอะไร หรือเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ (อิสยาห์ 5:20)
• ทำเป็นไม่เห็น พระเจ้าทรงให้อภัยกษัตริย์ดาวิดที่ทำบาปร้ายแรง แต่พระเจ้ามิได้ทำเป็นไม่เห็นแล้วปกป้องดาวิดไม่ให้ต้องเจอกับเรื่องร้ายๆ ที่ตามมา พระเจ้าถึงกับให้มีการบันทึกเรื่องราวของดาวิดไว้เป็นเครื่องเตือนใจเราทุกวันนี้ด้วย (2 ซามูแอล 12:9-13)
ถ้ามีใครทำกับคุณอย่างเลวร้าย แล้วเขาไม่ยอมขอโทษหรือไม่ยอมรับผิด คุณจะทำอย่างไร พระคัมภีร์แนะนำว่า “จงอดกลั้นความโกรธไว้ และระงับความโทโสเสีย” (สดุดี 37:8) แม้คุณไม่ได้มองข้ามความผิดที่เขาทำ แต่คุณไม่จำเป็นต้องโกรธ นอกจากนี้ คุณอาจรู้สึกสบายใจขึ้น เมื่อรู้ว่าวันหนึ่งพระเจ้าจะทำให้ความเจ็บปวดหรือความทุกข์ที่เราแบกรับอยู่ทุกวันนี้หมดสิ้นไป (วิวรณ์ 21:4)
“ให้อภัย” ในเรื่องที่เราคิดไปเองว่าเป็นความผิดของเขา บางครั้งเราอาจต้องยอมรับว่า ไม่มีเหตุผลที่เราจะโกรธด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่จะยกโทษให้คนที่เราคิดว่าเขาทำผิดต่อเราเลย พระคัมภีร์สอนว่า “อย่าปล่อยให้ใจของเจ้าโกรธเร็ว เพราะความโกรธอยู่ในใจของคนโง่” (ปัญญาจารย์ 7:9)
จะให้อภัยได้อย่างไร
1. จำความหมายของการให้อภัยไว้เสมอ การให้อภัยไม่ได้หมายความว่า คุณยอมให้กับการทำผิดหรือทำเหมือนว่าความผิดนั้นไม่ได้เกิดขึ้น คุณเพียงแต่ยอมให้เรื่องนั้นผ่านไป
2. นึกถึงข้อดีของการให้อภัย การไม่ถือโทษหรือแค้นเคืองช่วยให้คุณมีใจสงบ ไม่ร้อนรุ่ม ไม่เสียสุขภาพ และทำให้คุณมีความสุขมากขึ้น (สุภาษิต 14:30; มัทธิว 5:9) ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น หากคุณให้อภัยคนอื่น พระเจ้าก็จะทรงให้อภัยคุณ (มัทธิว 6:14,15)
3. เอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่มีใครเป็นคนสมบูรณ์แบบ (ยากอบ 3:2) หากเรารู้สึกขอบคุณ เมื่อมีคนยอมยกโทษให้เรา เราก็น่าจะยกโทษให้คนที่ทำผิดต่อเราด้วย (มัทธิว 7:12)
4. เป็นคนมีเหตุผล แม้มีเหตุผลที่จะบ่นได้ แต่เราควรเอาคำแนะนำในพระคัมภีร์มาใช้ “จงผ่อนหนักผ่อนเบาซึ่งกันและกัน หากมีเรื่องผิดใจกัน ก็จงยกโทษกัน องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงให้อภัยความผิดของท่านอย่างไร ท่านก็จงให้อภัยแก่เขาอย่างนั้นเถิด” (โคโลสี 3:13)
5. ทำทันที ให้อภัยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดีกว่าเก็บความโกรธไว้ในใจ “แม้ท่านจะโกรธ ก็อย่าให้เป็นบาป จงเลิกโกรธก่อนดวงอาทิตย์ตก” (เอเฟซัส 4:26)
ที่มา: นิตยสารแม่พระยุคใหม่ ฉบับที่ 211