แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

นานาอุปสรรคต่อครอบครัวที่อบอุ่น (Blocks to a Loving Family)


illustration of unhappy family 1821844การแสดงความรักช่วยทำให้มีช่วงเวลาที่คุณรู้สึกใกล้ชิด  ความรักเป็นสิ่งสำคัญกว่าสิ่งใดซึ่งก็คือ ความใกล้ชิดในครอบครัวนั่นเอง  ความรักเป็นตัวเลือกที่สำคัญ  คุณไม่ต้องรอจนคุณรู้สึกว่าชอบเป็นคนมีความรัก  คุณสามารถตัดสินใจเป็นคนที่มีความรักได้ทุกวันหากคุณต้องการ
พิจารณาดูว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญสำหรับคุณ  อะไรคือสิ่งที่คุณให้ค่า  คุณจะดำเนินชีวิตเพื่อแสดงถึงสิ่งที่คุณให้ค่าได้อย่างไร  เมื่อคุณให้ค่ากับความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในครอบครัว  คุณสามารถแสดงสิ่งนั้นได้โดยการมีส่วนร่วมทำกิจกรรมที่นี่ในสุดสัปดาห์นี้  แน่นอนคุณต้องการค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่ดึงคุณไว้ไม่ให้ใกล้ชิดกับครอบครัว  และนั่นก็คือ  นานาอุปสรรคต่อความสัมพันธ์อันแนบแน่นของครอบครัว

1. การจับผิด (criticism)
การจับผิดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของพื้นฐานแห่ง “กำแพงของนานาอุปสรรค” โปรดจำไว้เสมอว่า การจับผิดกับการแก้ไขนั้นไม่เหมือนกัน  การแก้ไขเป็นการพูดอย่างเรียบๆ คือการพูดเพื่อ “ไม่ให้ทำบางสิ่งบางอย่าง” เช่น “อย่าใช้มีดตักถั่ว” หรือ “อย่าเช็ดล้างหินสีแดงด้วยผ้าขาวผืนใหญ่”

การจับผิดเป็นสิ่งที่ต่างจากการแก้ไขอย่างสิ้นเชิง  การจับผิดเกิดขึ้นเมื่อคุณโจมตีคนอื่น  ซึ่งอาจเป็นเพราะจำเป็นต้องมีการแก้ไข เช่น คุณแม่พูดว่า “เป็นเวลาที่ลูกจะต้องทำความสะอาดห้องของตัวเองแล้ว” นี่เป็นการแก้ไขและอาจจะเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก แต่ถ้าเธอพูดว่า “คนไหนที่คิดว่านี่เป็นห้องที่สะอาดก็เป็นคนโง่สกปรกแน่ๆ” คุณคิดว่านี่เป็นการจับผิดหรือการแก้ไข การจับผิดนั้นจะเป็นการชี้นิ้วด่าว่าอีกคนหนึ่ง

2. ความมีเจตนาร้าย (hostility)
ความมีเจตนาร้ายเป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่งของการมีครอบครัวที่อบอุ่น  ความมีเจตนาร้ายก็คือความต้องการทำให้เจ็บปวด  เป็นการรอคอยที่จะพูดหรือทำสิ่งที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน  บางทีคุณอาจจะรอคอยทั้งวันเพื่อจะได้แก้แค้นใครสักคน  สมมติว่าพี่สาวสร้างปราสาททรายบนชายหาด  เธอต้องใช้เวลาครึ่งชั่วโมงกว่าจะทำเสร็จ  ส่วนน้องชายได้แต่เฝ้าดูจนพี่สาวทำเสร็จ  แล้วก็แกล้งวิ่งผ่านปราสาททรายของพี่สาวและเตะทุกส่วนพังหมด สิ่งนี้เป็นเพราะความมีเจตนาร้ายใช่หรือไม่

3. การไม่ให้เกียรติ (disrespect)
การไม่ให้เกียรติก็เป็นอุปสรรคเช่นกัน  เพราะนั่นหมายถึง คุณไม่ได้ให้เกียรติซึ่งเป็นสิ่งที่คุณต้องการแก่คนอื่น  แสดงให้เห็นว่า คุณไม่ได้คำนึงถึงคนอื่นและความรู้สึกของเขา  เช่น  คุณแม่รู้ว่าลูกสาวของเธอคือ นิดหน่อยกำลังทำบันทึกประจำวัน  และคุณแม่ก็ไม่ควรคิดที่จะอ่านบันทึกประจำวันส่วนตัวของคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว  แต่เธอคิดว่าการอ่านบันทึกของนิดหน่อยน่าจะไม่เสียหายอะไร  เพราะนิดหน่อยเป็นเพียงเด็กเท่านั้น  นั่นคือ คุณแม่เหมือนกับจะพูดว่า นิดหน่อยยังไม่มีค่าควรแก่การเคารพเหมือนกับคนรุ่นเดียวกับคุณแม่  หรือบุคคลอื่นที่อยู่นอกครอบครัว   ดังนั้นเธอจึงอ่านบันทึกนั้น และนี่คือการไม่ให้เกียรติ คุณแม่กำลังทำกับนิดหน่อยเหมือนกับว่านิดหน่อยเป็นคนน้อยกว่าคนอื่นๆ คุณแม่ไม่ได้คำนึงถึงนิดหน่อยและความรู้สึกของนิดหน่อย  แล้วคุณจะรู้สึกอย่างไรเมื่อคนบางคนกดคุณให้ต่ำลงโดยทำกับคุณเหมือนกับว่าคุณเป็นคนน้อยกว่าคนอื่นๆ

4. ความพยายามเป็นนาย (trying to be boss)
การควบคุมเป็นอีกอุปสรรคหนึ่งต่อความสัมพันธ์ที่อบอุ่น การควบคุมเกิดจากคนที่พยายามจะเป็นนาย  คุณพยายามที่จะควบคุมคนอื่นๆ ในหลายๆ วิธี  สมมติอ้วนกับอ้นกำลังเล่นเกมด้วยกัน  อ้นต้องการที่จะเป็นผู้เริ่มก่อน แต่ทั้งคู่ต้องจับฉลากกัน และอ้นไม่ได้เป็นผู้เริ่มก่อน อ้นพูดกับอ้วนว่า “ฉันจะไม่เล่นหากฉันไม่ได้เริ่มก่อน!”  อ้นพยายามที่จะควบคุมอ้วน  เธอพยายามให้อ้วนทำในสิ่งที่เธอต้องการ  แล้วคุณเคยได้ยินใครพูดทำนองว่า “ฉันจะไม่เล่นด้วย” หรือ “ฉันจะไม่เป็นเพื่อนกับคุณถ้าคุณไม่ทำตามวิธีของฉัน” หากเป็นเช่นนี้คุณยังรู้สึกเป็นมิตรกับคนที่พยายามทำกับคุณเช่นนี้ไหม

5. ความระแวง (suspicion)
ความระแวงคือ การคิดว่าเป้าหมายของคนอื่นเป็นสิ่งที่เลวเสมอ  เช่น แม่ทำอาหารที่มีแต่ของที่พ่อชอบทั้งนั้นเลย  และยังปฏิเสธที่พ่อจะช่วยทำความสะอาดอีก  ทั้งยังเรียกร้องให้พ่อนั่งดูโทรทัศน์  หรืออ่านหนังสือหรือทำอะไรก็ได้  ในที่สุดแม่ก็เสร็จธุระทั้งหลาย  แล้วนั่งลงใกล้ๆ พ่อ  พ่อจึงพูดว่า “เรียบร้อย” และคิดต่อไปว่า “จะมีข่าวร้ายอะไรนะ   เธอต้องการเกลี้ยกล่อมฉันเพื่ออะไรอีก” การที่พ่อคิดเพียงว่าการทำดีมากๆ ของแม่มีสาเหตุมาจากความต้องการบางสิ่งบางอย่างเท่านั้น   นั่นคือความระแวง

6. การต่อสู้ (fighting)
แล้วก็ถึงการต่อสู้  เราทุกคนรู้จักการต่อสู้ดี  บางทีอาจจะอยู่ในรูปแบบการตีกับคนอื่น  เช่น น้องชายของก้องเอาของเล่นของเขาไป  ก้องก็บอกให้น้องชายเอามาคืนแต่น้องชายกลับชกเขาแล้วก็เกิดการต่อสู้
แต่เรายังสามารถสู้กันด้วยคำพูด เช่น ปูพูดว่า “อย่ามาจับเสื้อผ้าของฉันนะ  เธอทำให้เสื้อผ้าของฉันสกปรกเสมอ เอามือออกไปนะ”  และน้องของเธอคือ กุ้ง ตะโกนกลับว่า “ใครต้องการเสื้อผ้าสกปรกของเธอล่ะ  ไม่มีใครต้องการใส่เสื้อผ้าของเธอหรอก  เธอคิดว่าเสื้อผ้าของเธอมีค่ามากนักหรือ”
“เธอไม่ต้องการเสื้อผ้าของฉันใช่ไหม  ถ้าอย่างนั้นก็ออกไปให้ห่างจากตู้เสื้อผ้าของฉันและชีวิตของฉันด้วย”
และมันก็จะต่อไปเช่นนั้น  ไม่มีใครเลิกรา  ไม่มีใครต้องการพักรบ  จนในที่สุดทั้งสองก็ลืมไปว่าพวกเขาทะเลาะกันทำไมและเริ่มต้นอย่างไร  แต่ทั้งคู่ยังโต้เถียงกันอย่างรุนแรงและไม่หยุดยั้ง และนี่คือการต่อสู้

7. ความเมินเฉย (indifference)
นอกจากที่กล่าวมาก็ยังมีขั้วที่ตรงกันข้ามกับการต่อสู้ นั่นคือ ความเมินเฉย  ซึ่งเป็นอุปสรรคอีกแบบหนึ่ง  ความเมินเฉยเกิดขึ้นเมื่อเราแสดงเหมือนว่า เราไม่สนใจอีกคนหนึ่ง
พ่อกำลังดูการแข่งขันทางโทรทัศน์  ลูกสาวของเขาเข้ามาดึงแขนเสื้อของเขาและพูดว่า “ในห้องเรียนวันนี้  หนูได้ A ตัวหนึ่งนะคะ”  “ดีมาก น่ายินดีจริงๆ นะ”พ่อพูดพร้อมกับดูโทรทัศน์ไปด้วย
“มันเป็น A ตัวแรกในวิชาคณิตศาสตร์”  ลูกสาวพูดอีก
    “อืม – อืม”พ่อพูด  “ดูเขาส่งลูกสิ”  พ่อพูดเป็นนัยเพื่อให้ลูกสาวออกไป  แต่เธอไม่ต้องการออกไป เธอต้องการให้พ่อฟังเรื่องของเธอ “พ่ออยากดูคะแนนของหนูไหมคะ” ลูกสาวพูด
    “แน่นอน” พ่อพูด  “แต่เอาไว้ก่อนนะ”  ลูกสาวจึงเดินจากไปอย่างเลื่อนลอย  ดูเหมือนว่าการได้ A ไม่ใช่เรื่องสำคัญมากในขณะนี้  เพราะพ่อของเขาไม่สนใจ

8. ความเห็นแก่ตัว (selfishness)
อุปสรรคอีกประการหนึ่งที่เราทุกคนรู้จักคือ ความเห็นแก่ตัว  แม่กำลังตัดพายที่เธอเพิ่งจะเอาออกจากเตาอบ  มันอุ่นและหอมกรุ่นทีเดียว แล้วเธอก็บอกต้อมว่า “มาเอาพายนี่ไปไว้ที่โต๊ะได้แล้วจ้ะ”
“ได้เลยครับ” ต้อมพูด  เขาดูแม่ตัดพายด้วยใจจดจ่อ  เขาเอาชิ้นเล็กๆ ไปที่โต๊ะก่อน  ในที่สุดทุกคนได้รับขนมพายเรียบร้อยยกเว้นเขากับแม่ของเขา “ผมจะเอาพายของแม่มาให้นะครับ” เขาพูด  และขณะที่แม่ถือกาแฟเข้ามา  ต้อมก็เอาพายชิ้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่สองมาให้เธอ  และเก็บชิ้นที่ใหญ่ที่สุดไว้ให้ตัวเอง  และนี่แหละคือ ความเห็นแก่ตัว