เศรษฐีคนหนึ่ง ชอบใจลูกสาว ชาวนายากไร้ผู้หนึ่ง เขาเชิญชาวนากับลูกสาว ไปที่สวนในคฤหาสน์ของเขา เป็นสวนกรวดกว้างใหญ่ ที่มีแต่กรวดสีดำกับสีขาว
เศรษฐีบอกชาวนาว่า "ท่านเป็นหนี้สินข้าจำนวนหนึ่ง แต่หากท่านยกลูกสาวให้ข้า จะยกเลิกหนี้สินทั้งหมดให้"
ชาวนาไม่ตกลง
เศรษฐี บอกว่า "ถ้าเช่นนั้นเรามาพนันกันดีไหม ข้าจะหยิบกรวดสองก้อน ขึ้นมาจากสวนกรวด ใส่ในถุงผ้านี้ ก้อนหนึ่งสีดำ ก้อนหนึ่งสีขาว ให้ลูกสาวของท่าน หยิบก้อนกรวดจากถุงนี้ หากนางหยิบได้ก้อนสีขาว ข้าจะยกหนี้สินให้ท่าน และนางไม่ต้องแต่งงานกับข้า แต่หากนางหยิบได้ก้อนสีดำ นางต้องแต่งงานกับข้า และแน่นอน ข้าจะยกหนี้ให้ท่านด้วย"
ชาวนาตกลง
เศรษฐีหยิบกรวดสองก้อน ใส่ในถุงผ้า หญิงสาวเหลือบไปเห็นว่า กรวดทั้งสองก้อนนั้นเป็นสีดำ
เธอจะทำอย่างไร?
หากเธอไม่เปิดโปงความจริง ก็ต้องแต่งงาน กับเศรษฐีขี้โกง
หากเธอเปิดโปงความจริง เศรษฐีย่อมเสียหน้า และยกเลิกเกมนี้ แต่บิดาของเธอ ก็จะยังคงเป็นหนี้เศรษฐี ต่อไปอีกนาน
เราส่วนใหญ่ถูกสอนมาให้มอง ปัญหาแบบขาวกับดำ แต่ไม่ใช่ทุกปัญหา สามารถแก้ไขได้อย่างขาวกับดำ เสมอไป
ในทางตรงข้าม หากเราลองมองต่างมุม จะพบว่าหนทางการแก้ปัญหา มีมากกว่าหนึ่งสายเสมอ และการยืดหยุ่นพลิกแพลง ไปตามสถานการณ์เป็นวิธีการหนึ่ง
บางครั้งในการแก้ปัญหา เราอาจต้องสร้างเครื่องมือ ในการแก้ปัญหาขึ้นมาใหม่
โลกไม่ได้มีเพียงแค่สีขาวกับดำ
ลูกสาวชาวนา เอื้อมมือลงไปในถุงผ้า หยิบกรวดขึ้นมาหนึ่งก้อน พลันเธอปล่อยกรวด ในมือร่วงลงสู่พื้น กลืนหายไปในสีดำและขาว ของสวนกรวด
เธอมองหน้าเศรษฐี เอ่ยว่า "ขอ อภัยที่ข้าพลั้งเผลอ ปล่อยหินร่วงหล่น แต่ไม่เป็นไร ในเมื่อท่านใส่กรวดสีขาวกับสีดำ อย่างละหนึ่งก้อนลงไปในถุงนี้ ดังนั้นเมื่อเรา เปิดถุงออก ดูสีกรวดก้อนที่เหลือ ก็ย่อมรู้ทันทีว่า กรวดที่ข้าหยิบไป เมื่อครู่เป็นสีอะไร"
ที่ก้นถุงเป็นกรวดสีดำ
"ดังนั้นกรวดก้อนที่ข้าทำตก ย่อมเป็นสีขาว"
ชาวนาพ้นสภาพลูกหนี้ และลูกสาวไม่ต้องแต่งงาน กับเศรษฐีขี้โกงคนนั้น
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า "หากเราพยายามมากพอ ที่จะแก้ไขปัญหา เราจะพบว่าทุกปัญหา ย่อมมีวิถีทางแก้ไขเสมอ"