ทรงรับทรมานสมัยปอนทิอัสปิลาต
ทรงถูกตรึงกางเขน สิ้นพระชนม์และถูกฝังไว้
เรื่องราวต่อไปนี้เป็นเหตุการณ์ในช่วงสุดท้ายของพระชนม์ชีพความเป็นมนุษย์ขององค์พระเยซูคริสตเจ้าบนโลกนี้
เริ่มกันด้วยการเสด็จเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่า เพื่อเดินเข้าสู่พระทรมานและความตายที่น่าสังเกตคือ การเสด็จเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็มเป็นเสมือนการเสด็จกลับมาของจอมทัพผู้เกรียงไกรที่รบชนะข้าศึกศัตรู ได้รับการโห่ร้องต้อนรับจากประชาชน… (เราคุ้นเคยกันดีกับพิธีกรรมในวันอาทิตย์ใบลาน)
สำหรับพระเยซูเจ้า การเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มเป็นการเสด็จเข้าไปหาความตาย ในสายตาของคนทั่วไปน่าจะเป็นความพ่ายแพ้สูญเสีย... แต่ในความเป็นจริงของประวัติศาสตร์แห่งความรอดนั้น มันเป็นการเริ่มต้นแห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ นั่นคือ การชนะบาปและความตายฝ่ายวิญญาณซึ่งปรากฏชัดแจ้งในการเสด็จกลับเป็นขึ้นมาจากความตายของพระองค์นั่นเอง
ถือกันว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2000 ปีมาแล้ว สมัยนั้นประเทศอิสราเอลตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรโรมัน หมายถึง เป็นเมืองขึ้นของชาวโรมัน ชาวโรมันแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการให้ปกครองดูแลแทนจักรพรรดิ...
เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็มได้ไม่นาน พระองค์ก็ทรงถูกทหารโรมันจับในข้อหา “กบฏ” ซึ่งเราทราบดีว่าเป็นข้อกล่าวหาซึ่งมาจากบรรดาฟาริสีและคัมภีราจารย์ที่ใส่ร้ายพระองค์เพื่อต้องการกำจัดพระองค์ออกไปจากสังคมของพวกเขา เพราะมีลูกศิษย์ลูกหาของพวกเขาจำนวนมากมายหันมาเลื่อมใสและติดตามพระเยซูเจ้า ส่งผลให้พวกเขาต้องเสียผลประโยชน์ (รายได้ลดลง) และที่สำคัญ คือ พวกเขาเกิดความเคียดแค้นที่พระองค์ทรงทำให้พวกเขา เสียหน้า หลายต่อหลายครั้งเมื่อพบปะกัน
แน่นอนว่าโทษของการเป็นกบฏนั้น มีสถานเดียวคือประหารชีวิต เมื่อพวกเขานำพระองค์ไปสอบสวน ถึงแม้ว่าปิลาตจะไม่เห็นว่าพระองค์ทรงกระทำอะไรผิด แต่ด้วยแรงกดดันจากฟาริสีและคัมภีราจารย์ ปิลาตก็ปล่อยให้พวกเขานำไปตัดสินกันเองและที่สุดเราก็ทราบกันดี พระองค์ทรงถูกตัดสินให้รับโทษประหารด้วยการตรึงกางเขน ซึ่งถือเป็นวิธีการลงโทษกับนักโทษสถานหนักที่สุด (ลก 23 : 1-25)
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อจากนี้คือ พระองค์ทรงเข้าสู่พระมหาทรมานซึ่งเราทราบและเข้าใจดี ในขณะที่เราระลึกถึงพระมรรคาศักดิ์สิทธิ์ (เดินรูป 14 ภาค) ในช่วงเทศกาลมหาพรตของทุกๆ ปี
เริ่มกันด้วยทรงถูกตัดสินประหารชีวิต ถูกเยาะเย้ยด้วยการเอาขดหนามมาทำเป็นมงกุฎสวมพระเศียร เอาเสื้อคลุมสีแดงมาสวมเป็น ชุดทรงของพระราชา และให้ทรงแบบเครื่องประหาร คือ กางเขน ไปยังเนินเขาที่จะใช้เป็นสถานที่ประหาร ระหว่างทางทรงรับทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ถูกเฆี่ยนตี ถ่มน้ำลายรด ฉุดกระชากลากถูไปตลอดทาง ทรงล้มลงถึง 3 ครั้งด้วยความเจ็บปวด และดูเหมือนว่าจะทำให้เกิดความโศกเศร้าที่สุด นั่นคือ ระหว่างทางกางเขนนั้น ทรงพบกับพระมารดาคือพระแม่มารีย์... แน่นอนความระทมทุกข์ของแม่พระเป็นอีกหนึ่งความทุกข์หนึ่งที่ยากแก่การบรรยายจริงๆ
เมื่อถึงสถานที่ประหาร ร่างอันบอบช้ำเต็มไปด้วยคราบโลหิต เหงื่อและฝุ่นดินติดเต็มไปหมด ที่สำคัญบาดแผลที่มีอยู่ทั่วพระวรกาย ยังคงมีเลือดไหลซึมอยู่...ไม่ต้องอธิบายว่าในความเป็นมนุษย์นั้นพระองค์ทรงเจ็บปวดรวดร้าวทรมานเพียงใด พวกเขานำร่างของพระองค์ทาบลงบนกางเขนและไม่รีรอที่จะเอาตะปูเหล็กแหลมคม ตอกที่พระหัตถ์และพระบาทให้ติดกับกางเขนพร้อมทั้งยกกางเขนขึ้น ปักลงหลุมที่ขุดเตรียมไว้ น้ำหนักพระวรกายกระแทกลงทำให้รอยตะปูที่พระหัตถ์และพระบาทฉีกขาดออกไปอีก... ผู้คนที่อยู่บริเวณนั้นคงจะแบ่งเป็น 2 พวก คือ พวกหนึ่งคงสะใจ อันได้แก่พวกฟาริสีและคัมภีราจารย์ อีกพวกหนึ่งคงโศกเศร้าระทมทุกข์อย่างยิ่งเมื่อเห็นสภาพเช่นนี้ อันได้แก่ พระแม่มารีย์ บรรดาศิษย์ของพระองค์ และแม้กระทั่งผู้ที่ไม่รู้เรื่องราว แต่เมื่อได้เห็นสภาพเช่นนี้ก็คงรู้สึกหดหู่สลดใจไปด้วย
ที่น่าสนใจ คือ ณ เชิงกางเขนนั้นมีเพียงพระแม่มารีย์พระมารดาและนักบุญยอห์นศิษย์ที่พระองค์ทรงรักเป็นพิเศษและศิษย์ที่เป็นหญิงอีกคน สองคน พระเยซูคริสตเจ้าทรงสิ้นพระชนม์ต่อพระพักตร์พระมารดา... ถ้าคิดกันดีๆ ตั้งแต่แรกจะเห็นว่าพระแม่มารีย์นี้เอง ที่อยู่ใกล้ชิดกับพระเยซูเจ้ามากกว่ามนุษย์ทั้งหลาย เรียกว่าตั้งแต่ในครรภ์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ และนำพระศพไปฝังในคูหา
หลังจากที่ทรงสิ้นพระชนม์แล้ว ยังทรงถูกทหารเอาหอกแทงเข้าในพระอุระของพระองค์ เพื่อให้แน่ใจว่าพระองค์สิ้นพระชนม์จริงๆ ในพระวรสารบอกว่าพระโลหิตและน้ำไหลออกมาทันที เมื่อเขากระชากหอกออกมา (ยน 19 : 31-36) ประหนึ่งว่าพระองค์ทรงมอบทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่โลหิตหยดสุดท้ายเพื่อมนุษย์จริงๆ และในความเชื่อของเราจึงบอกว่า พระองค์ทรงไถ่กู้เราให้พ้นจากบาปความตายและการเป็นทาสของความชั่วร้ายด้วยพระโลหิตคือด้วยพระชนม์ชีพของพระองค์ ด้วยการนำเรากลับไปเป็นหนึ่งกับพระเป็นเจ้าอีกครั้ง
บรรดาศิษย์ของพระองค์นำพระศพของพระองค์ไปบรรจุไว้ในคูหาแห่งหนึ่ง ที่อยู่ไม่ไกลจากเนินกัลวาริโอสถานที่ประหารมากนัก
ที่มา : หนังสือ หลักธรรมคำสอนคาทอลิก (คุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม)