ครอบครัวในฐานะที่เป็นสภาพแวดล้อมหรือวิถีทางแห่งการเติบโตในความเชื่อ
255 บิดามารดา คือผู้อบรมเรื่องความเชื่ออันดับแรก เป็นพิเศษสำหรับบางวัฒนธรรมที่สมาชิกครอบครัวทุกคนมีบทบาทหน้าที่ส่วนหนึ่งในการให้การศึกษาอบรมแก่สมาชิกที่อ่อนวัยกว่าควบคู่ไปกับบิดามารดา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกำหนดให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นถึงความคิดที่ว่า ชุมชนครอบครัวคริสตชนเป็นสถานที่หนึ่ง (locus) ที่ใช้สอนคำสอน ครอบครัวได้ถูกกำหนดให้เป็นเหมือน “พระศาสนจักรระดับบ้าน” (อ้างถึง LG 11; อ้างถึง AA 11; FC 49)
หมายความว่า ในทุกๆ ครอบครัวคริสตชนควรจะสะท้อนภาพของลักษณะและหน้าที่ต่างๆ แห่งการดำรงชีวิตของพระศาสนจักรทั้งหมด คือการเผยแผ่ธรรม การสอนคำสอน การเป็นประจักษ์พยานชีวิต การภาวนา ฯลฯ อันที่จริง ครอบครัวก็เป็นเช่นเดียวกับพระศาสนจักร คือ “เป็นที่ซึ่งพระวรสารได้รับการถ่ายทอดและแผ่ขยายออกไป” (EN 71) ครอบครัวในฐานะที่เป็นสถานที่ใช้สอนคำสอน มีข้อได้เปรียบที่มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือ การถ่ายทอดพระวรสารได้รับการพัฒนาขึ้นในสิ่งแวดล้อมอันประกอบด้วยคุณค่าที่แท้จริงของมนุษย์ (อ้างถึง GS 52; FC 37a) บนพื้นฐานความเป็นมนุษย์นี้เองที่ทำให้การนำเข้าสู่ชีวิตคริสตชนอันประกอบด้วยเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นคือ การปลุกความสำนึกถึงพระเป็นเจ้า บันไดขั้นแรกในการสวดภาวนา การสั่งสอนในเรื่องคุณธรรมทางด้านศีลธรรม การอบรมเรื่องความรักของมนุษย์ในความสำนึกแบบคริสตชน ที่เข้าใจว่าเป็นการสะท้อนถึงความรักของพระเป็นเจ้าผู้ทรงเป็นพระบิดาและพระผู้สร้าง เพราะอันที่จริงแล้วการอบรมชีวิตคริสตชนนั้นคือ การได้ประสบกับเหตุการณ์ที่สำคัญมากกว่าการได้รับการสอน เป็นไปตามโอกาสมากกว่าเป็นระบบ เป็นไปอย่างต่อเนื่องประจำวันมากกว่าการจัดเป็นช่วงเวลา ในการสอนคำสอนของครอบครัวนี้ บทบาทของปู่ย่าตายายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้น ปัญญาและความสำนึกในทางศาสนาของพวกท่านมักจะเป็นสิ่งที่ชี้ขาดในการสร้างประเพณีนิยมแบบคริสตชนที่แท้จริงที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ช่วงเวลาเตรียมตัวรับศีลล้างบาปของผู้ใหญ่ (ดูภาคที่ 1 บทที่ 3)
256 ช่วงเวลาเตรียมตัวรับศีลล้างบาปเป็นสถานที่ (locus) ที่เป็นแบบฉบับของการสอนคำสอนซึ่งพระศาสนจักรจัดตั้งขึ้น เพื่อเตรียมตัวผู้ใหญ่ทั้งหลายผู้ประสงค์จะเป็นคริสตชนและต้องการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แห่งการเริ่มต้นชีวิตคริสตชน (อ้างถึง GCD(1971) 130, อ้างถึง RCIA 4) ในช่วงการเตรียมตัวเป็นคริสตชน เป็นที่เข้าใจได้ว่า “การอบรมที่เฉพาะ โดยวิธีซึ่งผู้ใหญ่ที่ได้กลับใจมาเชื่อนั้นจะถูกนำไปสู่การประกาศยืนยันความเชื่อแห่งการล้างบาปในวันเตรียมฉลองปัสกา (วันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์) การสอนคำสอนในช่วงเตรียมตัวเป็นคริสตชนจึงเชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นกับชุมชนคริสตชน (อ้างถึง RCIA 4,41) นับจากช่วงที่บรรดาผู้ใหญ่ทั้งหลายเข้าสู่ช่วงเตรียมตัวเป็นคริสตชน พระศาสนจักรก็ได้โอบอุ้มพวกเขาด้วย “ความเมตตารักใคร่ การเอาใจใส่ดูแล เหมือนกับพวกเขาเป็นบุตรและเข้ามาอยู่ในพระศาสนจักรเรียบร้อยแล้ว อันที่จริงพวกเขาเข้ามาเป็นสมาชิกครอบครัวของพระคริสตเจ้า” (RCIA 18) ดังนั้น ชุมชนคริสตชนจึงช่วย “บรรดาผู้สมัครและผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชนระหว่างกระบวนการนำเข้าสู่ ชีวิตคริสตชนของพวกเขา คือตั้งแต่ช่วงก่อนเตรียมตัวเป็นคริสตชนไปสู่ช่วงเตรียมตัวเป็นคริสตชน จนถึงช่วงการสอนคำสอนหลังรับศีลล้างบาป (RCIA 41) การเข้าร่วมของคริสตชนอย่างต่อเนื่องเป็นความคิดที่ถูกแสดงให้เห็นในหลายวิธีที่ถูกระบุไว้อย่างเหมาะควรในพิธีการรับผู้ใหญ่เป็นคริสตชน (The Rite of Christian Initiation of Adults) (อ้างถึง RCIA 41)