แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

การฝึกอบรมด้านวิชาครู
244    การฝึกอบรมครูคำสอนยังต้องพัฒนาเรื่องเทคนิค (การสอน) ให้ดีขึ้นพร้อมกับรูปการต่างๆ ของการฝึกอบรมดังที่กล่าวมาแล้ว  ซึ่งอ้างถึงการเป็นและความรู้    ครูคำสอนคือครูท่านหนึ่งผู้ซึ่งก่อให้เกิดการบรรลุวุฒิภาวะทางความเชื่อ ซึ่งผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชนและผู้ที่กำลังเรียนคำสอนอยู่ได้รับโดยความช่วยเหลือของพระจิตเจ้า (มีการเน้นถึงความสำคัญของวิธีสอนใน CT 58 ว่า “ในบรรดาวิชาที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญของมนุษย์  ซึ่งทุกวันนี้กำลังเจริญก้าวหน้าอย่างไม่มีขอบเขต  วิชาการอบรมหรือวิชาครูเป็นวิชาที่สำคัญที่สุดวิชาหนึ่ง...วิชาศึกษาศาสตร์และศิลปะการสอนได้รับการเสนอให้มีการทบทวนอย่างต่อเนื่อง  เพื่อปรับปรุงให้ง่ายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  เพื่อความสำเร็จในระดับต่างๆ”) 

ความเป็นจริงประการแรกที่จะต้องคำนึงถึงในขอบเขตของการอบรมซึ่งถูกกำหนดนี้ ก็คือ ความจริงเกี่ยวกับวิธีสอนความเชื่อแบบดั้งเดิม  ครูคำสอนได้รับการเตรียมตัวหรือได้รับการฝึกอบรมเพื่อที่จะส่งเสริมการเติบโตในประสบการณ์เกี่ยวกับความเชื่อซึ่งครูคำสอนเองมิได้เป็นผู้ปลูกฝังเอาไว้  แต่เป็นเพราะพระเป็นเจ้าได้ทรงหว่านความเชื่อในจิตใจของมนุษย์   ความรับผิดชอบของครูคำสอนมีเพียงคอยทำให้พระพรนี้เพิ่มพูนขึ้นโดยการบำรุงเลี้ยง และช่วยให้งอกงาม (อ้างถึง CT 58)   การฝึกอบรมมุ่งหาทางช่วยครูคำสอนให้มีศักยภาพในการให้การศึกษาอย่างสมบูรณ์  ซึ่งหมายความว่า ความสามารถในการเอาใจใส่ดูแลประชาชน  ความสามารถในการตีความ  หรือตอบสนองงานต่างๆ ด้านการให้การศึกษา หรือแผนสำคัญต่างๆ ในการจัดระบบกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งหลาย  และความสามารถในการนำกลุ่มคนไปสู่การบรรลุวุฒิภาวะ  การสอนคำสอนก็เหมือนกับศิลปะอื่นๆ ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดอยู่ที่รูปแบบเฉพาะตัวในการให้การสอนคำสอน อันเป็นสิ่งที่ครูคำสอนควรได้รับจากการปรับหลักเกณฑ์ทั่วไปของวิธีสอนคำสอนให้เข้ากับบุคลิกภาพของตัวเอง (อ้างถึง GCD(1971) 113)

245    เพื่อให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น  การฝึกอบรมต้องทำให้ครูคำสอนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งครูคำสอนเต็มเวลาสามารถรู้จักวิธีจัดระบบภายในกลุ่มครูคำสอน  จัดกิจกรรมทางการศึกษา  โดยการพิจารณาสถานการณ์ต่างๆ อย่างรอบคอบ  โดยการวางแผนการสอนคำสอนที่ตรงตามสภาพความเป็นจริงอย่างละเอียด และ -เมื่อร่างแผนเสร็จเรียบร้อยแล้ว- ต้องเรียนรู้วิธีการประเมินผลเชิงวิเคราะห์ด้วย (อ้างถึง GCD(1971) 113)   การฝึกอบรมนี้ยังต้องสามารถทำให้กลุ่มที่รับการอบรมมีชีวิตชีวาได้ด้วยการประยุกต์เทคนิคในเรื่องกระบวนการกลุ่มที่มีอยู่ในจิตวิทยาตามความเข้าใจอย่างดี ศักยภาพในการให้การศึกษาและ “การรู้จักวิธีการกระทำ” (know-how) นี้  ตามความรู้  ทัศนคติต่างๆ และเทคนิคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมนี้  “เป็นสิ่งที่ครูคำสอนจะได้รับมากขึ้นถ้าพวกเขาได้รับการสอนไปในเวลาเดียวกันกับที่พวกเขาดำเนินงานเผยแผ่ธรรม (ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการเตรียมและทดลองใช้บทเรียนต่างๆ ที่จะใช้สอนคำสอนระหว่างภาคการศึกษาต่างๆ) (GCD(1971) 112)  เป้าหมายหรืออุดมคติในการฝึกอบรมนี้ก็คือ ให้ครูคำสอนสามารถเป็นบุคคลสำคัญในการเรียนรู้ของตนเองโดยไม่เพียงแต่เป็นผู้ที่ใช้ประโยชน์จากกฎระเบียบภายนอกทั้งหลายเท่านั้น  แต่ยังเป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ในการฝึกอบรม   การฝึกอบรมนี้จะต้องเกี่ยวพันแนบแน่นกับการปฏิบัติ  หมายความว่า แต่ละคนต้องเริ่มต้นด้วยการปฏิบัติเชิงประยุกต์  เพื่อจะได้สามารถบรรลุถึงการประยุกต์เชิงปฏิบัติการ (อ้างถึง คู่มือครูคำสอน ข้อ 28)