แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

มาตรฐานอันเป็นแรงบันดาลใจในการฝึกอบรมครูคำสอน
237    ความคิดที่มีความรอบคอบเพียงพอในการจัดการฝึกอบรมครูคำสอนจะต้องมีความสนใจในเรื่องมาตรฐานบางอย่างที่ดลใจ  และจัดการกับความสนใจพิเศษที่สัมพันธ์กับการฝึกอบรมครูคำสอนซึ่งมีความแตกต่างกันไป (ในการอบรมแต่ละแบบ) ดังนี้
    - หัวข้อที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับแรกคือ เรื่องการฝึกฝนครูคำสอนเพื่อสนองตอบความต้องการที่จะประกาศพระวรสารในบริบทของประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันเกี่ยวกับคุณค่า  การท้าทายและความผิดหวังทั้งหลายของประวัติศาสตร์นั้น  และเพื่อให้งานนี้บรรลุผลสำเร็จ ครูคำสอนจะต้องมีความเชื่อที่ลึกซึ้ง (GCD (1971) 114) มีเอกลักษณ์ของคริสตชนและเอกลักษณ์ของพระศาสนจักรที่ชัดเจน (อ้างถึง คู่มือครูคำสอน ข้อ 7) พร้อมกับความมีไหวพริบทางสังคมอย่างมาก (อ้างถึง คู่มือครูคำสอน ข้อ 13)  โครงการฝึกอบรมทั้งหมดจะต้องปรับให้เหมาะกับความคิดหลักเหล่านี้

    - ในการฝึกอบรม ยังจะต้องคำนึงถึงเรื่องข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการสอนคำสอนที่พระศาสนจักรนำเสนอในปัจจุบัน อันได้แก่ ประเด็นเรื่องการฝึกอบรมครูคำสอนเพื่อให้สามารถถ่ายทอดได้ทั้งคำสั่งสอนและการฝึกอบรมคริสตชนอย่างสมบูรณ์แบบโดยการพัฒนา “ภารกิจทั้งหลายอันเกี่ยวกับการนำเข้าสู่ชีวิตคริสตชน  การให้การศึกษา  และการอบรมด้านจิตใจ” (GCD (1971) 31)  ครูคำสอนทั้งหลายจะต้องทำหน้าที่ทั้งในฐานะครู  ผู้ฝึกอบรม และประจักษ์พยานเรื่องความเชื่อในเวลาเดียวกัน 
    - โอกาสสอนคำสอนที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็นไปตามพระศาสนจักรกำหนด  ต้องการครูคำสอนที่สามารถ “รวบรวม” (integrate)  สามารถเอาชนะ “ความโน้มเอียงที่จะแตกแยกออกไปสู่การให้ความสำคัญเพียงด้านเดียว” (unilateral divergent tendencies) (CT 52; อ้างถึง CT 22)  และผู้ที่สามารถจัดการสอนคำสอนอย่างสมบูรณ์เต็มที่  พวกเขาต้องรู้วิธีการเชื่อมโยงรูปการณ์แห่งความจริงกับความหมายเกี่ยวกับความเชื่อ  ความคิดที่ได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ว่าถูกต้องกับการกระทำที่ได้รับการยอมรับเป็นมาตรฐาน  ความหมายทางด้านพระศาสนจักรกับความหมายทางด้านสังคม  การฝึกอบรมต้องสนับสนุนให้มีการพัฒนาองค์ประกอบเหล่านี้ให้สมบูรณ์ขึ้น  เพื่อไม่ให้เกิดความตึงเครียดระหว่างองค์ประกอบแต่ละคู่
    -การฝึกอบรมครูคำสอนฆราวาส มิอาจละเลยลักษณะเฉพาะของฆราวาสในพระศาสนจักร  และไม่สามารถพิจารณาได้ว่า การฝึกอบรมนี้เป็นเพียงการสังเคราะห์จากพันธกิจซึ่งพระสงฆ์และนักบวชทั้งหลายได้รับเท่านั้น  ในทางตรงกันข้าม “การฝึกอบรมเรื่องการเผยแผ่ธรรมของครูคำสอนฆราวาส ได้รับลักษณะพิเศษอย่างแน่นอนทั้งจากธรรมชาติฝ่ายโลกของฐานะฆราวาสและจากรูปแบบเฉพาะแห่งสภาพชีวิตจิตของฐานะฆราวาส
    - สุดท้าย วิธีสอนที่ใช้การฝึกอบรมนี้เป็นวิธีที่มีความสำคัญขั้นพื้นฐาน  ในฐานะที่เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปประการหนึ่ง จึงจำเป็นต้องเน้นถึงความต้องการในเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างวิธีสอนแบบทั่วไปของการฝึกอบรมครูคำสอนกับวิธีสอนที่เหมาะสำหรับกระบวนการการสอนคำสอน   ครูคำสอนอาจจะมีความยุ่งยากมากในงานของเขาเพราะเขาจะต้องหารูปแบบและใช้ไหวพริบในการสอนซึ่งเขามิได้รับการเตรียมการไว้ก่อนในช่วงที่รับการฝึกอบรม